Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์3 มิถุนายน 2549
Brand Development :ยุทธศาสตร์สร้างอาณาจักรหนังสือ SE-ED Model             
 


   
www resources

โฮมเพจ ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด (มหาชน)

   
search resources

ซีเอ็ดยูเคชั่น, บมจ.
Marketing
ทนง โชติสรยุทธ์
Book Stores




ใครเลยจะนึกว่าธุรกิจร้านหนังสือจะกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการแข่งขันกันรุนแรงไม่แพ้สินค้าหมวดคอนซูเมอร์โพรดักส์เลย หากลองให้ผู้บริโภคนึกชื่อร้านหนังสือท็อปฮิตที่ติดอยู่ในหัวพวกเขา หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ “ซีเอ็ด” อย่างแน่นอน แต่หนทางกว่าจะก้าวขึ้นมาเป็นร้านหนังสือแถวหน้าที่มีสาขามากที่สุดและยอดขายมากที่สุดในเมืองไทยไม่ได้โรยด้วยกุหลาบเสมอไป แม้ในปัจจุบันซีเอ็ดจะขึ้นแท่นเป็นร้านหนังสืออันดับหนึ่งแล้วก็ตาม แต่ “บีทูเอส” ร้านหนังสือที่พร้อมสรรพไปด้วยเครื่องเขียนและเสียงเพลง กำลังจะก้าวเข้ามาชิงความเป็นหนึ่งกับยักษ์ใหญ่ซีเอ็ด

ตลาดหนังสือไทยยังไม่ตาย

แม้ว่าที่ผ่านมา ผลงานวิจัยจากทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะยืนยันตรงกันว่า พฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยมีน้อย โดยมีตัวเลขเฉลี่ยพฤติกรรมการอ่านหนังสือของคนไทยต่อหัวต่อปีอยู่ที่ 5 บรรทัดต่อคนก็ตาม แต่ทางซีเอ็ดกลับมองในมุมที่ต่างออกไป

“ตลาดหนังสือมันยังโตได้อย่างแน่นอน ถ้าเรามีตัวกระตุ้นที่ดี คือ การมีร้านหนังสือที่มากขึ้น ในอดีตร้านหนังสือมีน้อย คนก็อ่านน้อย แต่สังเกตดูในปัจจุบัน พอร้านหนังสือมีมากขึ้น คนก็แห่เข้าร้านหนังสือกันมากขึ้น พูดง่าย ๆ คือ คนสะดวกที่จะมาเจอหนังสือกว่าแต่ก่อน จากที่ไม่เคยคิดที่จะซื้อหนังสือ ก็คิดซื้อ จากซื้อคนที่นาน ๆ ทีซื้อครั้ง ก็หันมาซื้อถี่ขึ้น จำนวนหนังสือที่ถูกซื้อต่อหัวก็สูงขึ้นตาม ตัวเลขคนอ่านประจำมีแค่ 4% สำหรับประเทศไทย แต่ในต่างประเทศมีถึง 30% ซึ่งเราขอมากกว่าปัจจุบัน 5 เท่าคือ 20% ก็พอ” ทนง โชติสรยุทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทซีเอ็ด ยูเคชั่น จำกัด (มหาชน) พูดถึงอัตราการเติบโตของตลาดหนังสือในประเทศโดยรวม

จากนิสิต...สู่นักธุรกิจ

SE-ED (ซีเอ็ด) เป็นตัวอักษรย่อจากชื่อเต็มว่า Science Engineering and Education ซึ่งเป็นชื่อที่กลุ่มนิสิตจุฬาฯ ใช้เป็นสำนักพิมพ์ที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ก่อตั้งไว้ “จะดำเนินธุรกิจการเผยแพร่ความรู้ โดยเน้นการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนไทยในสาขาที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยจะเน้นด้าน วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาตร์ และการศึกษา” แรกเริ่มเดิมทีซีเอ็ดจะจัดพิมพ์เฉพาะแต่ “วารสาร” เท่านั้น เหตุเพราะจุดประสงค์ในการก่อตั้งสำนักพิมพ์ไม่ได้มีไว้เพื่อบันเทิง แต่เป็นไปเพื่อทางวิชาการ ดังนั้นคำว่า “วารสาร” จึงเหมาะที่สุดที่จะใช้สื่อถึงความเป็นวิชาการของซีเอ็ด

“ตอนนั้นพวกผมเป็นนิสิตจุฬาฯ เราทำหนังสือ พิมพ์หนังสือกันมาตั้งแต่สมัยเรียนแล้ว พอเรียนจบก็คิดว่าใครจะมาสานตรงนี้ต่อ ถ้าทิ้งไปมันน่าเสียดาย บวกกับเห็นว่าความต้องการของคนอ่านหนังสือแนวที่เป็นสาระ แนววิชาการ วิทยาศาสตร์มันยังมีอยู่อีกมาก ดังนั้นทีมที่ผมฟอร์มขึ้นมาจึงได้มาร่วมกันทำธุรกิจกัน” ทนง โชติสรยุทธ์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของซีเอ็ด

แต่ทว่าการทำธุรกิจสำนักพิมพ์ ต่างจากการทำหนังสือในสมัยเรียนอย่างสิ้นเชิง เพราะในโลกของธุรกิจสปอนเซอร์และโฆษณาหายากกว่าสมัยที่ทำหนังสือในฐานะที่เป็นกิจกรรมหนึ่งของเหล่านิสิต

“ช่วง 2-3 ปีแรกลำบากมาก จะล้มก็หลายรอบ สำนักพิมพ์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนี้กัน อาศัยว่าใครอึดกว่ากันเท่านั้นเอง แต่ของเราโชคดีกว่าคนอื่นอย่างหนึ่งคือ ทุกคนมาทำด้วยใจ เป็นเพื่อนฝูงกันมา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันมาจนเข้าใจกันดี”

การออกแบบผลิตภัณฑ์ชุดฝึกทดลองด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเข้าประมูลกับกระทรวงศึกษาธิการซึ่งต้องแข่งกับสินค้าต่างชาติ ท้ายสุดการชนะการประมูลครั้งนี้จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางรอดของซีเอ็ด ตลอดระยะเวลาที่สำนักพิมพ์ซีเอ็ดต้องคลุกคลีอยู่กับครูที่สอนทางด้านไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ได้พบปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การขาดแคลนหนังสือที่มีคุณภาพในด้านนี้อย่างมาก

“ซีเอ็ดเริ่มพลิกจากการเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์วารสารทางวิชาการ ทางด้านวิศวะ มาเป็นหนังสือสายวิศวะ โดยเริ่มต้นที่สายอิเล็กทรอนิกส์ก่อน เพราะคิดว่ามันน่าจะเป็นตัวหนึ่งที่ช่วยเหลือการศึกษาของชาติได้”

แน่นอนว่าซีเอ็ดไม่ได้หยุดอยู่แค่หนังสือเรียนทางด้านวิศวะแต่เพียงอย่างเดียว บวกกับการกระโดดเข้ามาทำธุรกิจอย่างเต็มตัวของเหล่าบรรดาวิศวกรที่ไม่มีความรู้เรื่องการตลาด การเงิน การบริหารการจัดการมาก่อน การขยายไลน์หนังสือประเภท “How to” จึงเกิดขึ้น

“ตอนนั้นคิดว่าแค่ความอยากทำหนังสืออย่างเดียวมันไม่พอ มันต้องมีความรู้ทางการทำธุรกิจด้วย ดังนั้นจึงส่งทีมงานไปเข้าคอร์สอบรมตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ขณะเดียวกันเพื่อกวดวิชาตัวเองไปด้วย เราก็ต้องหาหนังสือต่างประเทศมาอ่านเพิ่มด้วย อ่านมากเข้าจน ผมแปลกใจว่า ทำไมเราไม่ซื้อลิขสิทธิ์หนังสือจากต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้คนไทยได้อ่าน”

นับจากวันนั้นจนถึงปัจจุบันนี้ ซีเอ็ดได้กลายเป็นสำนักพิมพ์รายใหญ่ในการซื้อลิขสิทธิ์จากต่างประเทศมาแปลเป็นภาษาไทย และขยายวงผู้อ่านให้กว้างขึ้น จากระดับผู้ใหญ่ก็ขยายลงไปหาผู้อ่านที่เป็นเด็กซึ่งมีเพียงวัตถุประสงค์เดียวคือ ต้องการทำหนังสือที่พัฒนาให้เด็กเก่งวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมากขึ้น

ปฏิวัติวงการจัดจำหน่าย แก้ปัญหาคอขวด

การกระโดดเข้ามาเป็นสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือแนววิชาการ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตลอดเวลา ภาพของสำนักพิมพ์เพื่อสาระและความรู้ของคนไทยจึงชัดเจนและแข็งแกร่งมากขึ้น ทว่าธุรกิจที่เติบโตอยู่เวลาต้องประสบปัญหาทางด้านการดำเนินธุรกิจอีกครั้ง

“ปัญหาที่เจอตอนนั้นมันเหมือน คอขวดน่ะ มันเป็นปัญหาของกช่องทางการจัดจำหน่าย เป็นปัญหาการจัดจำหน่ายเป็นหลัก ซึ่งผู้จัดจำหน่ายหนังสือ หรือแม้แต่ผู้จัดจำหน่ายนิตยสารทั่ว ๆ ไปต้องเจออยู่แล้ว เราต้องการปฏิวัติระบบการจัดจำหน่ายขึ้นมาใหม่ และต้องทำด้วยตัวเอง”

ปัญหาดังกล่าวได้บีบให้ซีเอ็ดขยายไลน์ธุรกิจกระโดดจากสำนักพิมพ์ เข้าสู่การเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่แม้จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิม แต่ซีเอ็ดต้องนับหนึ่งใหม่ทันที

“Standing Order” คือกุญแจแห่งความสำเร็จในการแก้ปัญหาช่องทางการจัดจำหน่าย โดยซีเอ็ดเข้ามาวางระบบการจัดข้อมูลบนแผงหนังสือใหม่ทั้งหมด จากเดิมระบบธุรกิจหนังสือเกือบทั้งหมด คือการฝากขาย ทันทีที่สำนักพิมพ์ส่งหนังสือให้กับร้านค้าเสร็จ สำนักพิมพ์จะเช็คยอดขายได้ก็ต่อเมื่อส่งคนเข้าไปเก็บหนังสือคืน เพราะในร้านหนังสือไม่มีการจัดข้อมูลการขายหนังสือที่เป็นระบบ

“เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่า หนังสือเราขายไปกี่เล่ม ทางร้านค้าจะไม่มีการบันทึกไว้ให้เรา ลำพังหนังสือเขาก็เต็มร้านแล้ว วางระเกะระกะไปหมด เราจะทราบได้ว่าหนังสือของเราเหลือกี่เล่มก็ตอนที่เราเข้าไปเก็บเงินค่าหนังสือ นั่นหมายความว่า หนังสือของเรามีอายุที่สั้นลงทันที”

ระบบที่ซีเอ็ดพัฒนาและปรับปรุงขึ้นมาใหม่ จะเน้นให้คนเข้าไปเช็คหนังสือที่สำนักพิมพ์ส่งไปทุกอาทิตย์ เพื่อเช็คปริมาณหนังสือที่พร่องไป ซึ่งจะสะดวกกับสำนักพิมพ์ที่จะตัดสินใจเติมหนังสือให้เต็มอยู่ตลอดเวลา ในส่วนของร้านค้าก็ได้รับประโยชน์ในแง่ที่ มีคนมาช่วยเช็คสต็อกและจัดวางสินค้าให้เป็นระเบียบมากขึ้น

ทันทีที่ระบบนี้ได้ผล บรรดาสำนักพิมพ์อื่นจึงหันมาให้ซีเอ็ดเป็นผู้จัดจำหน่ายแทน จนกระทั่งปี 2530 ทั้งธุรกิจสำนักพิมพ์และธุรกิจจัดจำหน่ายของซีเอ็ดขึ้นแท่นเป็นที่หนึ่งของประเทศ

ก้าวสู่ธุรกิจมหาชน

จากปี 2517 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการรวมตัวกลุ่มนิสิตวิศวกรรม จุฬาฯ และก่อตัวเป็นบริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด ภายใต้ทุนจดทะเบียนเริ่มแรก 99,000 บาท

หลังจากนั้นซีเอ็ดบุกเบิกและเติบโตมาในธุรกิจหนังสือมายาวนานกว่า 16 ปี และได้ตัดสินใจผันตัวเองเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในปี 2534 และเป็นเพียงบริษัทเดียวในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นผู้ผลิตหนังสือเป็นหลักและไม่ผลิตหนังสือพิมพ์เลย ปัจจุบัน ซีเอ็ดมีธุรกิจหลักอยู่ 3 ส่วนคือ ธุรกิจสำนักพิมพ์, ธุรกิจรับจัดจำหน่ายหนังสือ และธุรกิจร้านหนังสือ โดยประเภทสุดท้าย ได้แตกไลน์ขยายธุรกิจออกเป็น “ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์” , “บุ๊ค วาไรตี้ (Book Variety) และร้านในเครือกว่าอีก เกือบ 200 สาขา

ดอกหญ้า คู่แข่งที่ ‘เคย’ น่ากลัว

ย้อนกลับไปในสมัยที่ดอกหญ้าเฟื่องฟู สำหรับดอกหญ้าแล้ว ซีเอ็ดคือซัปพลายเออร์หมายเลขหนึ่งที่ส่งหนังสือให้ หรือถ้ามองกันในภาพของร้านหนังสือด้วยกัน ความแข็งแกร่งของแบรนด์ซีเอ็ดก็สามารถแข่งกับดอกหญ้าได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ทว่าเกมการแข่งขันระหว่างดอกหญ้ากับซีเอ็ดโอเวอร์เร็วกว่าที่นักการตลาดทั้งหลายคาดการณ์ไว้ เพราะผู้บริหารของดอกหญ้าขาดทุนจากธุรกิจด้านอื่น ๆ อย่างยับเยิน รวมไปถึงธุรกิจร้านหนังสือที่เดินเกมกลยุทธ์ราคาที่ผิดพลาดมาตลอด กลายเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ลบความยิ่งใหญ่ของดอกหญ้าออกจากวงการร้านหนังสือไป

จุดแข็งและความโชคดีทางการตลาด

“เรามีเงินสดหมุนเวียนจำนวนมาก เพราะอยู่ในกลุ่มธุรกิจค้าปลีก และเรายังมีโมเดลทางธุรกิจที่ลงตัวแล้ว เราสามารถรุกได้รวดเร็ว หากเราเห็นว่าทำเลไหนมีโอกาสที่ดี โดยไม่จำเป็นต้องสร้างแฟรนไชส์เลย ในทางกลับกัน ศูนย์การค้าต่างหากที่มีให้เราไม่พอและทันกับการขยายตัวของเรา”

ไม่เพียงแค่จุดแข็งในเรื่องสภาพคล่องทางด้านการเงิน และการมีโมเดลธุรกิจที่ลงตัวแล้ว ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษของซีเอ็ด การสั่งสมองค์ความรู้ในธุรกิจนี้ย่อมไม่เป็นรองใคร ตลอดจนการวางระบบทางด้านข้อมูลที่รัดกุมพอที่จะใช้เป็นฐานข้อมูลในการวางแผนและลดความเสี่ยงธุรกิจลง

แม้แต่ร้านหนังสือพร้อมสรรพอย่าง ‘บีทูเอส’ ที่กำลังผงาดอยู่ในวงการหนังสือตอนนี้ มีครบทุกความต้องการของผู้บริโภคทั้งแผนกเครื่องเขียน แผนกซีดีเพลงและกลุ่มบันเทิง รวมไปถึงร้านกาแฟขนาดย่อมในร้านซึ่งทางซีเอ็ดกลับมองว่า บีทูเอสเต็มไปด้วยจำกัดในการขยายสาขามากมาก เพราะที่ผ่านมา บีทูเอสไม่สามารถลงในพื้นที่ของกลุ่มเดอะมอลล์ได้ แต่จะลงได้แค่พื้นที่ในกลุ่มของเซ็นทรัลเท่านั้น ซึ่งตรงข้ามกับซีเอ็ดที่สามารถแผ่ขยายสาขาเข้าไปได้ทั้ง 2 อาณาจักร

“เราโชคดีที่ไม่มีศัตรูที่แรงพอจะหยุดการเติบโตของเราได้ เราสามารถขยายสาขาไปได้ทุกที่ แถมเรายังได้รับการสนับสนุนที่ดีจากลูกค้า จากคู่ค้าของเราให้โตได้ เพราะเราไม่ได้แข่งกับเจ้าของพื้นที่ และทุกคนบอกว่าเราไม่มีพิษไม่มีภัยกับเค้าเลย และธุรกิจของเราก็เป็นหมายเลขหนึ่งของลูกค้าตลอดมา”

โมเดลธุรกิจใหม่ จับพฤติกรรมผู้บริโภคได้อยู่หมัด

ปัจจุบันซีเอ็ดมีเว็บไซต์สำหรับค้นหนังสือภายในคลังสินค้าของซีเอ็ด ซึ่งปัจจุบันยอดจำนวนคนเข้ามาใช้บริการมีสูงมาก และอนาคตเว็บไซต์นี้จะกลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดรูปแบบหนึ่งของซีเอ็ดไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตาม หมากเด็ดทางการตลาดที่ซีเอ็ดวางแผนเพื่อครองความเป็นที่หนึ่งตลอดกาลในธุรกิจหนังสือ คือ “การเป็นวันสต็อปเซอร์วิส”

“ไม่ว่าผู้อ่านจะอยู่ที่ไหนในเมืองไทยก็ตาม เค้าสามารถสั่งหนังสือวันนี้ และรับได้ในวันพรุ่งนี้ทันที พร้อมทั้งมีการบริการส่งหนังสือให้ถึงที่ด้วย นี่คือโจทย์ที่ทางเราตั้งไว้ หรือแม้แต่ในสถานีรถไฟฟ้าก็ตาม เพียงคุณมาสั่งหนังสือที่คุณต้องการไว้ตอนเช้า คุณสามารถมารับหนังสือเล่มที่คุณต้องการได้ทันทีในตอนเย็น ซึ่งเป็นบริการที่ไม่คิดค่าขนส่ง ค่าบริการแต่อย่างใด คาดว่าจุดเซอร์วิสนี้จะมีประมาณ 100 จุดทั่วกรุงเทพ”

การทำเช่นนี้ของซีเอ็ดทำให้ไม่ต้องพะวงเรื่องการขยายสาขาซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่าทำได้ยากยิ่งในขณะนี้ เนื่องจากอัตราการขยายตัวของห้างสรรพสินค้า และโมเดิร์นเทรด เริ่มชะลอตัว และการทำเช่นนี้จะทำให้ซีเอ็ดเข้าไปใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม อีกทั้งไม่ต้องมีภาระเรื่องการจัดเก็บสต็อก ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบายได้อีก เมื่อเป็นเช่นนี้จึงยากยิ่งนักที่คู่แข่งจะไล่ตาม หรือแม้แต่จะโค่นซีเอ็ดให้ร่วงจากบัลลังก์ได้ง่ายดาย   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us