Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์3 กรกฎาคม 2549
สภาพัฒน์ฯปรับยุทธศาสตร์แผน 10 สร้างสมดุลประเทศไทยทุนนิยม-เศรษฐกิจพอเพียง             
 


   
www resources

โฮมเพจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

   
search resources

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
อำพน กิตติอำพน
สมชัย สัจจพงษ์
Economics




* แผนชาติฉบับที่ 10 ชี้ชัดๆ ว่าประเทศไทยจะต้องเติบโตแบบยั่งยืน
* ภายใต้การบริหารที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นกรอบในการพัฒนาประเทศ
* นี่คือกลไกที่จะสร้างความสมดุลระหว่างทุนทางเศรษฐกิจหรือโลกของทุนนิยม กับ ทุนทางสังคม...และทุนทรัพยากรธรรมชาติให้เติบโต เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของโลก Gobalization ในยุคนี้ได้ โดยไม่ก่อให้เกิดวิกฤตด้านสังคม
* วันนี้หน่วยงานรัฐต่าง ๆ กำลังเร่งผุดโครงการตามกระแสพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการทำงาน

ท่ามกลางสภาพสังคมไทยที่เสื่อมทรามลงทุกขณะ ปัญหาทางสังคมกลายเป็นข่าวให้เราเห็นกันแทบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนหญิงทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกัน อาจารย์ขอมีความสัมพันธ์กับศิษย์เพื่อแลกกับเกรด หรือพ่อขืนใจลูกสาวของตัวเอง เหตุการณ์เหล่านี้นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมารับผิดชอบปัญหาทางสังคม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงวัฒนธรรม แต่ปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่มีทีท่าจะลดลงแต่อย่างใด แต่กลับเพิ่มขึ้นมาจนน่าเป็นห่วงกับสภาพสังคมไทยในปัจจุบัน

ด้วยความห่างและขาดหายจากศีลธรรมอันดีงาม จนเกิดวิกฤติการณ์ทางสังคมไทยในทุกวันนี้ ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยที่เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเป็นหลัก ทำให้เกิดผลที่ตามมาคือขาดความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและทรัพยากรธรรมชาติ สังคมไทยมีภูมิคุ้มกันลดลง ทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและทุนที่มีอยู่ถูกใช้ไปในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ

แม้ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่รัฐบาลมักใช้เป็นแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศ มีการให้ความสำคัญในเรื่องทางสังคมมาตั้งแต่ฉบับที่ 8 ต่อเนื่องมาถึงแผนที่ 9 ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้ดำเนินการในเรื่องเหล่านี้บ้าง แต่ขาดความต่อเนื่องและจริงจังมาถึงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10 (พ.ศ.2550-2554) ที่จะเริ่มใช้ในเดือนตุลาคมนี้ได้ให้ความสำคัญกับปัญหาทางสังคมที่เสื่อมถอย โดยมุ่งความสำคัญในการแก้ปัญหานี้ไปที่ตัวบุคคลและครอบครัวเป็นหลัก พร้อมทั้งมีการอัญเชิญปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางปฏิบัติ

คนเป็นศูนย์กลาง

"ในแผน 10 นี้เราใช้คนเป็นศูนย์กลาง ยึดความรู้มาเป็นอันดับ 1 ดึงศักยภาพของคนออกมา โดยกลับมาดูที่คน ครอบครัว ชุมชน โครงสร้างทางสังคม ให้ใช้การพึ่งพาตัวเอง ทรัพยากรธรรมชาติที่ยั่งยืนและเป็นธรรม" อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เล่าถึงที่มาที่ไปของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 กับ"ผู้จัดการรายสัปดาห์"

เด็ก เยาวชนในปัจจุบันขาดคุณธรรม ศีลธรรม ขาดหิริโอตัปปะจากครอบครัวไม่อบอุ่น ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

กรอบแนวคิดของแผน 10 ที่นำเอาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งเน้นทางสายกลาง ให้คนรู้จักพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนเงื่อนไขความรอบรู้รอบคอบและระมัดระวัง เงื่อนไขคุณธรรมที่ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตและเงื่อนไขความเพียรที่มีความขยัน อดทน มีสติ เพื่อนำไปสู่วิถีชีวิต เศรษฐกิจ สังคมการเมืองที่สมดุล มั่นคงและยั่งยืน

เลขาธิการสภาพัฒน์กล่าวต่อว่า ในแผน 8-9 จริง ๆ แล้วดี แต่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับทางสังคม เศรษฐกิจและทุนทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งภูมิคุ้มกันมนุษย์ที่ดีที่สุดอยู่ที่สังคม ที่ประกอบด้วย ครอบครัวและหมู่บ้าน สังคมก็เหมือนประเทศ วัฎจักรของธรรมชาติสอนให้คนเราต้องพึ่งพากัน และในหมู่บ้านก็มีทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ดึงเอาทุนเหล่านี้มาใช้

ดังนั้น เป้าหมายของแผน 10 เน้นที่คุณภาพไม่ใช่ปริมาณ ไม่เน้นเป็นตัวเลข เช่น การส่งออก แต่เน้นการพึ่งพาตัวเอง พึ่งความรู้ของตัวเราเองในการแข่งขัน ด้วยการยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาและเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน

คนคุณภาพขับเศรษฐกิจโต

แนวทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 นับเป็นการพลิกโฉมแนวทางในการพัฒนาประเทศ แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งหรือลดความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจลงไป สามารถเดินคู่กันไปกับกระแสโลกาภิวัฒน์(Gobalization) ได้อย่างลงตัว

เพียงแต่ยกระดับและให้ความสำคัญกับภาคสังคมขึ้นมามากขึ้น จากเดิมที่ประเทศไทยมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาทางสังคมตามมามากมาย อีกทั้งผลของการพัฒนาที่ผ่านมาเศรษฐกิจของไทยเติบโตบนความเปราะบาง เนื่องจากการพึ่งพิงต่างประเทศมากเกินไป

ในแผนพัฒนาฉบับนี้ให้ความสำคัญกับทุนทั้ง 3 คือทุนทางเศรษฐกิจ ทุนทางสังคมและทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3 ทุนจะขับเคลื่อนภายใต้คนที่มีคุณภาพ มีความรู้ และมีจริยธรรม

จัดสมดุล 3ทุนหนุนศกโตแบบมีคุณภาพ

เริ่มจากทุนทางเศรษฐกิจ : แผนพัฒนาฉบับนี้ยังคงมุ่งไปที่ตัวคน เน้นการสร้างคนที่มีคุณภาพในทางวิชาชีพ จากการพัฒนาทักษะ ความรู้ทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร เพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มุ่งเน้นการสร้างอาชีพ

หนึ่งในแนวทางที่เสนอไว้ได้แก่การให้ความสำคัญกับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) ให้มากขึ้น เช่น กลุ่มคนที่เรียนจบในระดับ ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นต้นหรือชั้นสูง ก็ไม่จำเป็นต้องมาหางานในเมืองใหญ่ด้วยการเป็นลูกจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรมเสมอไป แต่จะมีการส่งเสริมให้ผู้ที่จบการศึกษาระดับนี้สร้างงาน สร้างอาชีพเป็นของตนเอง ไม่ต้องทิ้งถิ่นฐานและครอบครัวเข้ามาหางานทำในเมือง ทำให้สายใยของโครงสร้างสังคมยังคงอยู่

แนวทางดังกล่าวภาครัฐจะต้องเข้ามาให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวบรรลุผล ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนให้ความรู้ทางด้านวิชาชีพและการช่วยเหลือทางด้านเงินทุน

ขณะเดียวกันได้ให้ความสำคัญกับการผลักดันให้ภาคการเกษตรของไทย เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกทางหนึ่ง ด้วยการอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยที่เพิ่มมูลค่าผลผลิตให้สูงขึ้น อย่างเช่น โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP) ที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้

ไม่เพียงแค่นั้นการดึงเอาเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น มาเป็นจุดขายในภาคบริการ ทั้งด้านการท่องเที่ยว สปา หรืออาหารไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยสามารถช่วยผลักดันภาคเศรษฐกิจของไทยได้แทนที่จะพึ่งพาการส่งออกเพียงอย่างเดียว ที่อาจมีอุปสรรคด้านอุปสงค์และอุปทานในตลาดโลก หรือมาตรการการกีดกันทางการค้า

ทุนทางด้านสังคม : ที่ถือเป็นหัวใจหลักของแผนพัฒนาฉบับนี้ ได้ให้ความสำคัญกับครอบครัว ชุมชนเป็นหลัก เพื่อช่วยพัฒนาด้านจิตใจของคนในครอบครัวและชุมชน หลังจากที่ปัญหาทางสังคมปัจจุบันเกิดขึ้นมามากมาย ในแผนนี้ชัดเจนว่าเน้นการส่งเสริมสถาบันทางสังคม ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ และฟื้นฟู อนุรักษ์วัฒนธรรมที่ดีงาม รวมถึงภูมิปัญญาของไทยที่คนรุ่นใหม่ไม่ให้ความสำคัญ

การพัฒนาทุนทางสังคมด้วยการยึดครอบครัวและชุมชนเป็นศูนย์กลาง และการให้ความสำคัญกับประเพณี วัฒนธรรมที่หลากหลายในแต่ละชุมชน จะเป็นเกราะป้องกันให้เด็ก เยาวชนและคนไทยสามารถต่อสู้กับโลกทุนนิยมในปัจจุบันได้อย่างเข้มแข็ง

ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม : เป็นการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากที่ผ่านมามีการใช้อย่างสิ้นเปลืองไม่คุ้มค่า เท่ากับเป็นการอนุรักษ์ภาคเกษตรกรรมให้สามารถเป็นทุนเศรษฐกิจที่สำคัญต่อไป และเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ตามเป้าหมายที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นครัวของโลก เป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย ที่อาหาร เริ่มตั้งแต่การให้ความรู้กับเกษตรกร กระบวนการปลูกพืช ไร่ การใช้ปุ๋ยที่เน้นผลิตภัณฑ์ทางด้านชีวภาพมาทดแทนปุ๋ยเคมี

"ประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และประชาชนภาคการเกษตรจะมีรายได้และผลผลิตที่ดีขึ้น ส่งผลไปถึงลูกหลาน ส่วนพื้นที่การเกษตรที่กลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม จะถูกพัฒนา พร้อม ๆกับจะมีการปลูกไม้ตามสภาวะการณ์ของแต่ละพื้นที่ชัดเจน"

รัฐ-เอกชนต้องมีธรรมาภิบาล

นับจากนี้ไปการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย จะเริ่มที่การพัฒนาคนเป็นหัวใจหลัก เพื่อนำคนที่มีความรู้ คุณภาพและจริยธรรมเข้าไปสู่ภาคการผลิตและระบบเศรษฐกิจของไทย ด้วยการเพิ่มความรู้และส่งเสริมผู้ประกอบการใหม่ในประเทศให้มากขึ้น เพื่อเป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศไปในตัว โดยต้องพัฒนาจิตสำนึกของคนควบคู่กันไป ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวที่ต้องปลูกฝังแนวคิดที่ถูกต้องให้สมาชิก ภาครัฐก็ต้องเปิดโอกาสให้มีการเรียนรู้ที่มากขึ้น รวมถึงภาคเอกชนต้องมีกิจกรรมสนับสนุนแนวทางดังกล่าว

ประการต่อมาเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน สนับสนุนและส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ หากทางลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานจากต่างประเทศ พร้อมการหาแหล่งพลังงานทดแทน สำหรับในส่วนที่ไม่สามารถลดการพึ่งพาได้ก็ต้องหาทางใช้พลังงานเหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น การจัดการระบบ Logistic ทั้งหมด เพื่อให้การขนส่งคนหรือสินค้าไปถึงที่หมายด้วยการใช้พลังงานที่น้อยที่สุด จากนั้นจะส่งเสริมงานทางด้านบริการให้มากขึ้นกว่าการเป็นผู้ผลิต เช่น การท่องเที่ยว ที่จะเน้นเอกลักษณ์ของความเป็นไทย

สุดท้ายเป็นการส่งเสริมระบบธรรมาภิบาลให้กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเริ่มสร้างจากภายในคน คือสำนึกรับผิดชอบและคุณธรรม รวมถึงการสร้างระบบธรรมาภิบาลผ่านกระบวนการตรวจสอบ

รัฐไม่ใช่แกนนำ

แนวทางในการพัฒนาประเทศตามแผน 10 จะเป็นการร่วมกันทำงานกันในทุกภาคส่วนในรูปของภาคีการพัฒนา ที่ต้องทำงานร่วมกันภายใต้จุดมุ่งหมายเดียวกัน ไม่ใช่มีภาครัฐเป็นตัวนำเหมือนในอดีต หน่วยงานที่ต้องร่วมกันทำงานเพื่อให้แผนประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย
ภาครัฐ เป็นแกนจัดทำนโยบายแผนยุทธศาสตร์ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ผลักดันสู่ปฏิบัติติดตามผล สนับสนุนข้อมูลวิชาการ ประชาชน มีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาและติดตามตรวจสอบ มีสำนึกความเป็นพลเมือง รับผิดชอบต่อหน้าที่ เคารพในสิทธิของตนเองและผู้อื่น

วิชาการ สร้างความรู้ เป็นแหล่งข้อมูลให้สังคม จุดประกายความคิด สร้างความเข้าใจทางวิชาการ

การเมือง ดำเนินนโยบายต่อเนื่อง โปร่งใส เป็นธรรม ผลักดันให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

เอกชน สนับสนุนทรัพยากรสร้างประโยชน์และความเป็นธรรมแก่สังคม คืนกำไรสู่สังคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ

สื่อมวลชน เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อเท็จจริง ความรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างมีคุณภาพ สร้างสรรค์ ร่วมติดตามตรวจสอบและรณรงค์สร้างจิตสำนึกสาธารณะ

จะเห็นได้ว่าแผนดังกล่าวเป็นการบูรณาการเอาทุนทางสังคม ทุนเศรษฐกิจและทุนทรัพยากรมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศแทนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบเดิม

ความสุขวัดได้

เลขาธิการสภาพัฒน์ ยืนยันว่า สภาพัฒน์ ยังไม่ทิ้ง Concept ในการบริหารประเทศ คงบทบาทเสนอแนะความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาให้กับรัฐบาล ไม่มีวันบิดเบือนตัวเลข เพราะถือเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม

"ทุนวัฒนธรรมเป็นการป้องกันโลกาภิวัฒน์ได้เป็นอย่างดี หากสามารถดำเนินงานได้ตามแผนตามแนวทางนี้ คิดว่าประเทศไทยขนาดไม่เล็กไม่ใหญ่เกินไป มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม มีเอกราช เอกลักษณ์ของความเป็นไทย มีฐานเศรษฐกิจเข้มแข็งพอควร มีฐานทางสังคมดีไม่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป"

แม้ว่าแผนพัฒนาฉบับนี้หลายฝ่ายมองว่ามีการวัดและประเมินผลออกมาเป็นรูปธรรมยาก แต่ อำพล กิตติอำพล บอกว่าสามารถวัดผลได้ตามหลักของพระพุทธเจ้า หากวัดจากทางกายก็ดูจากปัจจัย 4 ตัวเลขความยากจนที่ลดลง หรือมีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงก็ชี้วัดได้เป็นอย่างดี

หากวัดทางด้านจิตใจหรือทางสังคม สถิติการหย่าร้าง จำนวนผู้จบการศึกษา คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือตัวเลขอาชญากรรม เหล่านี้ช่วยชี้วัดได้ว่าผู้คนในสังคมไทยมีความสุขทางด้านจิตใจมากน้อยเพียงใด

ความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี บนความรู้คู่จริยธรรม ถือเห็นหัวใจหลักของแผน 10 โดยเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือความกินดีอยู่ดีของประชาชน

*************

แบไต๋ไม่ทุ่มงบสังคมเท่าเศรษฐกิจ แค่ให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

สศค. แจงทุนทางสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้เงินสูง เมื่อเทียบกับทุนทางเศรษฐกิจ แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับ 10 จะเน้นไปที่การพัฒนาคน ไม่ใช้เงินงบประมาณมาก อาศัยความร่วมมือชุมชนและสังคมแทน

แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คือแนวทางการเดินของประเทศในระยะ 5 ปี โดยในแผน 10 มุ่งเน้นที่การสร้างและพัฒนาคนที่มีคุณภาพควบคู่กับจริยธรรม ทำให้คาดหมายกันว่า งบประมาณที่เคยจัดสรรให้กับกระทรวงที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาน่าจะได้รับงบประมาณมากขึ้นกว่าในอดีต ที่งบส่วนใหญ่ตกอยู่กับกระทรวงที่มุ่งสร้างเศรษฐกิจโดยตรง

งบประมาณประจำปี 2550 ที่ยังไม่คลอดจากความวุ่นวายทางการเมือง ทำให้ยังไม่ทราบถึงทิศทางของจัดสรรงบประมาณของแต่ละกระทรวงว่าสอดคล้องกับแนวทางของแผนพัฒนาฉบับที่ 10 หรือไม่

สมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เล่าว่า ความเป็นจริงนั้นแม่แผนพัฒนาฉบับที่ 10 จะเน้นทุนทางสังคมอันดับหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่างบของทุนทางสังคมจะถูกจัดสรรเพิ่มขึ้น นั่นเพราะการพัฒนาทุนทางสังคมไม่จำเป็นของใช้งบประมาณมาก เหมือนทุนเศรษฐกิจที่ต้องมีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ

"ถ้ายกตัวอย่างแล้วจะเห็นได้ว่าการลงทุนทางด้านเศรษฐกิจ ต้องใช้เม็ดเงินมากกว่า เพราะเป็นการพัฒนาที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ถ้าเป็นการพัฒนาทุนทางสังคม ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเยอะ เพราะเป็นการปลูกฝังสร้างวัฒนธรรม จริยธรรม และคุณธรรมในสังคม ซึ่งถ้าจะเพิ่มทุนด้านสังคมอาจขอความร่วมมือจากคนในชุมชนและสังคมได้ เช่นการปลูกฝังเรื่องจริยธรรม อาจขอความร่วมมือกับทางวัดให้เข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตในสังคมมากขึ้น"

สมชัย เปรียบเทียบว่าอย่างการสร้างสะพาน ถนน เป็นส่วนของการลงทุนเพื่อเศรษฐกิจ เมื่อเทียบเม็ดเงินลงทุนยังไงก็สูงกว่าทุนทางสังคมอยู่ดี เพราะโครงการดังกล่าวต้องใช้เม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ทุนทางสังคม การจัดระบบการศึกษา หรือแม้แต่การอบรมให้ความรู้ประชาชนงบประมาณก็คงไม่สูงเป็นหมื่นล้านบาทแน่ ดังนั้นถ้าจะบอกว่างบปี 50 จะไหลเข้ากระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมมากกว่า การพัฒนาเศรษฐกิจคงเป็นได้ยาก

"หากแต่ว่าความสำคัญของแผนฉบับที่ 10 นั้น ให้ความสำคัญทางด้านสังคมเป็นที่ 1 ซึ่งหมายความว่า การจัดสรรเงินนั้นจะลงไปทางสังคมเป็นอันดับแรก และตามด้วย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งท้ายสุดก็เป็นในส่วนของทุนทางเศรษฐกิจ ดังนั้น ความสำคัญของการจัดสรรงบไม่ได้หมายความว่าทุนสังคมจะได้มากสุด แต่หมายถึงทุนทางสังคมเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญในอันดับแรก"

สมชัย บอกต่อว่า งบประมาณปี 50 ยังไม่สรุปตายตัว แต่เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 1.47 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้าจะให้จัดสรรว่าแต่ละกระทรวงจะได้รับงบประมาณเท่าไรนั้นคงยังไม่สามารถบอกๆได้ เพราะงบยังไม่สรุป บวกกับภาวะสุญญากาศทางการเมืองเช่นจึงยังไม่สามารถสรุปได้

ส่วนกระแสข่าวว่าจะมีการทบทวนงบประมาณประจำปี 50 ใหม่นั้น ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับลดลงตามที่กระแสข่าวออกไปหรือไม่ และจะเป็นการจัดทำงบแบบขาดทุนหรือไม่ ส่วน งบประมาณ 49 เชื่อว่าจะทำให้สมดุลได้เนื่องจากรายได้การจัดเก็บภาษี 3 กรมยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจแม้ว่า 2-3 เดือนที่ผ่านมาจะมีสัญญาณการจัดเก็บลดลงก็ตาม

สมชัย เล่าอีกว่า หากเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนา อย่างสิงคโปร์จะเห็นว่า หรือประเทศอื่น ๆ ก็ตาม งบในส่วนของทุนเศรษฐกิจยังคงมีมากสุดเช่นกัน แม้ว่าสิงคโปร์จะมีประชาชนและบุคลากรที่มีคุณภาพ ฉลาดและมีระเบียบวินัยสูงก็ตาม แต่จะเห็นได้ว่า สิงคโปร์ก็ไม่ได้ทุ่มงบในส่วนของทุนทางสังคมและทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากเท่ากับงบทางเศรษฐกิจ

ถ้าจะให้มองสิงคโปร์แทบไม่มีทรัพยากรธรรมชาติเลย แต่ก็สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและประชากรในประเทศให้มีคุณภาพได้

"ดังนั้นปัญหาไม่ได้อยู่ที่การจัดสรรงบ แต่อยู่ที่การวางแผนให้ประเทศเดินไปอย่างไร และในแผนที่ 10 ก็เน้นที่สังคม การสร้างบุคลากรที่ฉลาด มีคุณภาพ แต่อีกอย่างที่เน้นคือ ฉลาดมีคุณภาพแล้วต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมด้วย ไม่ใช่พัฒนาให้คนฉลาดอย่างเดียวแต่ไม่คำนึงถึงจริยธรรม"

ที่ผ่านมาแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจะเน้นความสำคัญที่ทุนเศรษฐกิจ ดังนั้นเงินงบประมาณส่วนใหญ่จึงกระจายไปสู่กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่นกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงคมนาคม เป็นต้น แต่ในแผน 10 ที่จะเกิดขึ้นและเริ่มใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 49นี้ ถูกปรับเปลี่ยนให้เน้นความสำคัญทางด้านสังคม รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดในปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาใช้ในแผนล่าสุดนี้ เสมือนสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคม ที่นับวันจะเจริญเพียงด้านวัตถุอย่างเดียว หากแต่ด้านจิตใจนั้นขาดการขัดเกลาจนกลายเป็นปัญหาสังคมหากยิ่งสั่งสมมากขึ้นก็ยิ่งกลายเป็นปัญหาเรื้องรังและยากต่อการรักษา

ดังนั้นปรัชญาแห่งแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงจึงเป็นแผนการพัฒนาชาติที่นำไปสู่ความยั่งยืน และเข้มแข็งทางสังคมด้วยปัจจัยหลักที่เกิดจากการมีแต่พอประมาณ มีเหตุผล ภายใต้การสร้างความรู้ คู่คุณธรรม รวมถึงความเพียรพยายาม ซึ่งจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนในวิถีการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมือง ในที่สุดอย่างจะมีความสมดุล มั่นคง และยั่งยืน

*************

รัฐเดินตามยุทธศาสตร์แผน 10 ผุดโครงการศก.พอเพียงเพียบ-"นิด้า"จัดทำหลักสูตร ป.โท

รัฐเร่งผุดโครงการตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน ตามยุทธศาสตร์ชาติ ที่สศช.กำหนดในแผน 10 " ก.เกษตร" ทุ่มกว่า 1.7 หมื่นล้าน ทำ 4 โครงการ ด้านมหาดไทยใช้หลักชุมชนเข้มแข็งเลี้ยงประเทศขจัดยากจน "พาณิชย์" นำหลักการทำแผนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทย ส่วนบัวแก้วเน้นเชิญประเทศกำลังพัฒนาศึกษาโครงการพระราชดำริฯ ขณะที่ แปลงสินทรัพย์เป็นทุนเน้นให้กู้แบบพอเพียง "นิด้า" จัดทำเป็นหลักสูตรปริญญาโท ส่วนเกมเพื่อเปลี่ยนค่านิยมคนไทยแท้งก่อน

ปีนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นปีแห่งความปลื้มปิติในการครองสิริราชย์สมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เป็นปีที่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาครัฐบาลต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจตามปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" ตามพระราชดำรัสฯ อย่างเต็มที่

เริ่มจากหน่วยงานระดับวางแผนอย่างสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. นอกจากจะนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาแปลงออกเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับ 10 แล้ว ยังได้ตั้งคณะคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เป็นประธาน

คณะอนุกรรมการฯ นี้มีหน้าที่สำคัญที่จะเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน ปัจจุบันต้องยอมรับว่าแต่ละหน่วยงาน ไม่ว่าภาครัฐบาลหรือเอกชน ยังมีความเข้าใจที่ไม่ชัดเจน มีการตีความที่หลากหลาย จากการทำงานที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดกิจกรรมผ่านทางกระทรวง และหน่วยงานต่าง ๆ ประกอบด้วย กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ จัดทำโครงการชุมชนพอเพียงบนพื้นฐานทางวัฒนธรรม ปี 2548-2551

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมพัฒนาชุมชน จัดโครงการส่งเสริมวิถีชิวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจแบบพอเพียงในชุมชนเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี (2548-2550) เป้าหมายครอบคลุม 967 หมู่บ้าน ครัวเรือนยากจน 992,471 ครัวเรือน และกลุ่มเศรษฐกิจชุมชน 10,000 กลุ่ม

กระทรวงกลาโหม โดยกองทัพบก จัดโครงการ 80 พรรษา 80 ตำบลเศรษฐกิจพอเพียง ดำเนินการในพื้นที่ชายแดน 20 ตำบลในปี 2548 และขยายเป็น 60 ตำบลในปี 2549-2550

ศูนย์ศึกษาเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) จัดกิจกรรมการพัฒนาวิชาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักสูตรการเรียนทั้งในและนอกระบบการศึกษา โดยคัดเลือกโรงเรียนนำร่อง 9 โรงเรียนจากทั่วประเทศ,พัฒนาหลักสูตรปริญญาโทด้านการจัดการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยจัดทำวิชาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงกับการพัฒนาเป็นวิชาโทของนิด้า และทางคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดทำเกมเพื่อเป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งที่จะเปลี่ยนค่านิยมคนไทย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้มีการจ้างบ.Selemi ของประเทศสวีเดนมาพัฒนาเกม เนื่องจากบริษัทนี้เคยทำเกมในการเปลี่ยนค่านิยมคนจีน และประสบความสำเร็จ แต่เมื่อทำสำเร็จแล้ว และมีการนำเกมมาทดลองใช้ ปรากฏว่าเกมมีลักษณะที่ยากและมีความเป็นวิชาการเกินไป โครงการนี้จึงไม่มีการพัฒนาต่อ

ก.เกษตรทุ่ม 1.7 หมื่นล. เดิน 4 โครงการ

ส่วนในภาครัฐบาล หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักหน่วยงานหนึ่งได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

โดยจากข้อมูลของสำนักแผนงานโครงการพิเศษ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ระบุว่ากระทรวงฯได้เดินเคลื่อนทำงานเศรษฐกิจพอเพียง มีโครงการสำคัญ ต่อจากโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ที่ได้จัดทำตั้งแต่ปี 2544-2547 ที่สำคัญ 4 โครงการ ได้แก่ โครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง โครงการตั้งศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจชุมชน โครงการยุวเกษตรต้นกล้า และโครงการปลูกสบู่ดำ

โดยโครงการนิคมเศรษฐกิจพอเพียง (2549-2551)จะมีการนำร่องนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่งเป็นต้นแบบ ในการจัดการบริหารนิคมให้เป็นรูปแบบสหกรณ์ มีการทำ Contract Farming กับเอกชน มีการแบ่งงานกันทำทั้งด้านการผลิต การแปรรูปและบรรจุภัณฑ์ให้เป็น Brand ของแต่ละนิคม ตลอดจนมีการบูรณาการทั้งภาครัฐ เอกชนและเกษตรกรในรูปของไตรภาคี จากนั้นก็ค่อยขยายโครงการให้ครอบคลุมไปทุกอำเภอทั่วประเทศ

โครงการนี้จะใช้นิคมต้นแบบจากทุกภูมิภาค ได้แก่ ขอนแก่น กาญจนบุรี พะเยา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เชียงใหม่ กาฬสินธุ์ เชียงราย ศรีสะเกษและปัตตานี ใช้งบประมาณ 100 ล้านบาท มีเป้าหมายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม 2 แสนไร่

ศูนย์เศรษฐกิจพอเพียงชุมชนในระดับหมู่บ้าน โครงการนี้มีเป้าหมายในการรวบรวมโครงการส่งเสริมและพัฒนาอาชีพของกระทรวงเกษตรฯ ทั้งหมดที่ดำเนินการมา อาทิ โครงการหนึ่งตำบลหนึ่งฟาร์ม โรงเรียนเกษตรกร ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยี ฯ ให้มาดำเนินการร่วมกันในลักษณะบูรณาการ โดยให้เกษตรกรที่ประสบความสำเร็จด้านการเกษตรในแต่ละอาชีพเป็นตัวอย่าง

โครงการนี้มีเป้าหมายในหมู่บ้าน 70,000 แห่ง ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยใช้งบประมาณจากโครงการพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน (SML) และองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้กับหมู่บ้านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะดำเนินการก่อน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการสร้างงานและดำเนินงาน ศูนย์ฯละประมาณ 2 - 2.5 แสน

โครงการยุวเกษตรต้นกล้าปี 2549 เป็นโครงการจัดทำพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง โดยจะมีการจัดอบรมด้านเศรษฐกิจพอเพียงให้กับนักเรียนระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และลูกหลายเกษตรกรในเขตกรุงเทพมหานคร ใช้งบประมาณจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล 88 ล้านบาท

โครงการปลูกสบู่ดำทดแทนน้ำมัน (2549-2551) มีเป้าหมายให้เกษตรกรปลูกสบู่ดำให้ได้ 400 ล้านตันต่อปี เพื่อทดแทนการนำเข้าน้ำมัน มีกลุ่มเป้าหมาย 80,000 กลุ่มทั่วประเทศ โดยกลุ่มเกษตรกรจะต้องเขียนแผนโครงการผ่านทางอบต.ใช้งบประมาณ 87 ล้านบาท

มหาดไทยใช้หลักชุมชนเลี้ยงประเทศ

ด้านกระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำโครงการมหาดไทยกับการขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อขจัดความยากจน มีหลักการทำงานแบบ เศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงชุมชน ชุมชนพอเพียงเลี้ยงตำบล ตำบลพอเพียงเลี้ยงอำเภอ อำเภอพอเพียงเลี้ยงจังหวัด จังหวัดพอเพียงเลี้ยงประเทศ

มีเป้าหมายการสร้างชุมชนเข้มแข็ง ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ปี 2549 อำเภอละ 1 ตำบล รวม 876 ตำบล รวม 5,000 หมู่บ้าน ปี 2550 เพิ่มความเข้มแข็งของชุมชนเป็นร้อยละ 50 ของหมู่บ้านทั้งหมด ปี 2551 เพิ่มความเข้มแข็งเป็นร้อยละ 100 ของหมู่บ้านทั้งหมด

สมคิดดึง 10 บ.ร่วมงานศก.พอเพียง

ด้านกระทรวงพาณิชย์ โดยสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้เป็นประธานประชุมร่วมกันจัดทำแผนดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจไทยในอนาคต หรือ PPP Dialogue (PRIVATE PUBLIC PARTNERSHIP DIALOGUE) เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยทั้งระบบ มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยั่งยืนในอนาคต โดยจะมีการร่วมทำงานกับบริษัทเอกชน 10 บริษัท ร่วมทำงาน 4 กลุ่มงาน คือ 1. ภาคเอสเอ็มอี 2. กลุ่มพันธมิตรทางธุรกิจ (คลัสเตอร์) 3. การสร้างชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง และ 4. การประหยัดพลังงานในภาคธุรกิจ

พลังงานชุมชน-ปลูกสบู่ดำทำน้ำมันใช้เอง

ด้านกระทรวงพลังงาน มีโครงการพลังงานชุมชน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะเป็นผู้ลงไปช่วยวางแผนการใช้พลังงานในชุมชน โดยจะมีการรณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกต้นสบู่ดำ เพื่อนำมาสกัดเป็นน้ำมันใช้ในชุมชนตนเอง ทั้งนี้มีเป้าหมายพัฒนาให้ได้ 100 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้

สร้างภูมิปัญญาอุตุนิยมวิทยาหมู่บ้าน

ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ได้จัดโครงการเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงเช่นกัน โดยได้ทำโครงการอุตุนิยมวิทยาหมู่บ้าน โดยแนวคิดคือให้มีการเตือนภัยระดับหมู่บ้าน โดยทางกรมฯ จะสนับสนุนด้านเครื่องมือและวิชาการ เพื่อสร้างภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องทางอุตุนิยมวิทยาในระดับหมู่บ้านขึ้น ซึ่งถือเป็นการพึ่งตนเอง และเป็นการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียงด้วย

บัวแก้วเชิญ 30 ประเทศทั่วโลกศึกษา

ทั้งหมดนี้ไม่เพียงแต่จะมีการทำงานในระดับในประเทศไทย แต่มีการเผยแพร่แนวคิดนี้สู่ต่างประเทศ โดย สำนักงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ ได้จัดทำโครงงานการจัดการศึกษาดูงานโครงการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ : ทางเลือกใหม่เศรษฐกิจพอเพียง 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 16-20 มิ.ย.49 มีผู้บริหารระดับรัฐมนตรีเข้าร่วม 16 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน บังคลาเทศ กัมพูชา โคลอมเบีย จีน อินโดนีเซีย อิหร่าน เคนยา เกาหลีใต้ มาดากัสการ์ มัลดีฟส์ พม่า ศรีลังกา ซูดาน แทนซาเนีย และเวียดนาม

ครั้งที่ 2 วันที่ 24-28 ก.ค. 49 โดยได้เชิญผู้บริหารระดับสูงของแต่ละประเทศ มีผู้ตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 30 ประเทศ ทั้งประเทศในภูมิภาคเอเชีย และแอฟริกา

"เราเน้นเชิญไปที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศกำลังพัฒนาในโลก มาศึกษาเพื่อนำหลักการไปปรับใช้ในประเทศต่าง ๆ ซึ่งการจัดในครั้งแรก ได้รับความสนใจ และได้รับผลตอบรับที่ดีมาก บางประเทศสนใจเรื่องการปลูกป่าทดแทน การปลูกพืชเศรษฐกิจทดแทนพืชเสพติด การปลูกหญ้าแฝกพื้นฟูดิน การใช้ปุ๋ยธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี การพัฒนาแหล่งสัตว์น้ำชายทะเล ซึ่งก็ประสบความสำเร็จ" หัวหน้าโครงการฯ กล่าว

แปลงสินทรัพย์ฯเน้นกู้น้อย-ขยายทีหลัง

นอกจากหน่วยงานรัฐบาลในระดับกระทรวงแล้ว ยังมีหน่วยงานพิเศษ อย่าง สำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน ที่นำหลักการเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เป็นหลักให้ผู้เข้าร่วมโครงการทุกคนต้องปฏิบัติ

นที ขลิบทอง ผู้อำนวยงานสำนักงานแปลงสินทรัพย์เป็นทุน กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า สำนักงานฯ ได้เน้นหลักการ 3 หลักการกับผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 2.7 แสนคน มีการกู้เงินไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท และผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการใหม่ ๆ ปฏิบัติตาม ได้แก่ การลงทุนอย่างพอเพียง ทำโครงการอย่างพอเพียง และมีกระบวนการพอเพียงมารองรับ

โดยการลงทุนอย่างพอเพียง จะเน้นให้ผู้ลงทุนมีสติในการใช้เม็ดเงินที่ขอไปอย่างคุ้มค่า และมีคุณค่า โดยจะพิจารณาจากความงอกเงยของเงิน

การจัดทำโครงการอย่างพอเพียง เป็นการให้ผู้ลงทุนทำโครงการที่พอเหมาะพอดีกับตัวเอง ไม่หวังรวย เน้นไม่ให้มีการลงทุนมากเกินไป เพราะหากล้มเหลวจะเจ็บหนัก เน้นให้ลงทุนน้อยแต่ค่อยขยายกิจการภายหลัง และต้องคำนึงถึงประโยชน์ผู้บริโภคเป็นหลัก ส่วนนี้ได้ให้นโยบายกับสถาบันการเงินผู้ให้กู้ไว้แล้วว่าให้พิจารณาโครงการตามหลักนี้

กระบวนการพอเพียงรองรับ จะเน้นการทำบัญชีการออมเป็นตัวชี้วัดการประสบความสำเร็จของโครงการเพื่อตัดสินใจในการปล่อยกู้งวดต่อไป ที่สำคัญคือ เมื่อมีผลตอบแทนกลับมาแล้ว ผู้ลงทุนมีการแบ่งผลตอบแทนเป็น 4 ส่วนได้แก่ ส่วนดำเนินงานต่อ ส่วนการดำรงชีพ ส่วนเงินหมุนเวียน และส่วนเงินออมในอนาคต ซึ่งการให้กู้ครั้งต่อไปจะเน้นดูรายละเอียดด้านการเงินของผู้ลงทุนเป็นสำคัญด้วย เพราะการออมจะมีส่วนสำคัญในการป้องกันความเสี่ยงของผู้ลงทุนเอง

"ไม่เน้นเฉพาะคนด้อยโอกาส หลักการนี้จะใช้กับกลุ่ม SME ที่มีความแข็งแรงมากกว่าด้วย ที่สำคัญที่เราเน้น ต้องลงทุนแบบมีสติ และพอเพียง ไม่ใช่จะทำแต่กิจการใหญ่ ๆ และหวังรวยเร็วเท่านั้น”   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us