การตัดสินใจของ "ยามาฮ่า" ประเทศญี่ปุ่น ในการจับมือเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเคพีเอ็นของเกษม
และคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ถือเป็นเรื่องรวดเร็ว และเกินคาดหมาย อีกทั้งยังเป็นช่วง
"ร้อนระอุ" ของสงครามระหว่างสองพี่น้อง การกระทำดังกล่าวจึงเป็นทั้งการ
"ฉีกหน้า" และท้าทาย "พรเทพ พรประภา" อย่างรุนแรง
ทำไมยามาฮ่าจึงตัดสินใจเช่นนั้น อนาคตเคพีเอ็นในตลาดรถจักรยานยนต์จะเป็นเช่นไรและพรเทพกับสยามกลการจะหาทางออกอย่างไร
?
"ยามาฮ่า" ไพ่เด็ดเคพีเอ็น
กำลังสั่นสะเทือนสยามกลการ
แม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าบริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ทั้งนี้จากการประกาศอย่างเปิดเผยของนายทาดาโยชิ ซูกานุมา กรรมการบริษัท ยามาฮ่า
มอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปลายปี 2537 ที่ผ่านมาว่า บริษัทมีแผนจะเข้ามาร่วมทุนกับสยามยามาฮ่า
เพื่อให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าป้อนตลาดในประเทศและส่งออกในภูมิภาคนี้
แต่คงต้องใช้เวลาในการศึกษาข้อกฎหมาย เงื่อนไขสิทธิประโยชน์ในการเข้ามาลงทุน
ตลอดจนความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ และแรงงาน อีก 2-3 ปีจึงจะสามารถสรุปผลและเริ่มเข้ามาร่วมทุนได้
ดังนั้นการแถลงข่าวประกาศความร่วมมือด้านการผลิตและจัดจำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่าระหว่างญี่ปุ่นกับไทยเมื่อวันศุกร์ที่
17 มีนาคม 2537 จึงกลายเป็นเรื่องล็อกถล่ม เพราะนอกจากว่าการร่วมมือทางธุรกิจจะเกิดขึ้นเร็วกว่ากำหนดแล้ว
ยังปรากฏว่า ยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น เลือกที่จะร่วมทุนกับกลุ่มเคพีเอ็น
ฐานธุรกิจสำคัญของนายเกษมและคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช แทนคู่ค้าเก่าอย่างบริษัท
สยามยามาฮ่า จำกัด ซึ่งมีบริษัท สยามกลการ จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อยู่ถึง
67.8% และร่วมธุรกิจกันมากว่า 30 ปี
อะไรเป็นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดเรื่องแปลก แต่จริงเช่นนี้ในวงการธุรกิจไทย
ทั้งๆ ที่เรื่องความต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยยามาฮ่า มอเตอร์ เป็นเรื่องที่รู้ๆ
กันอยู่แล้ว และอะไรที่ทำให้ฝ่ายเคพีเอ็นเป็นผู้กำชัยเหนือสยามกลการ
ยามาฮ่าแจงเลือกเคพีเอ็น
เพราะมีศักยภาพกว่า
นายซาโตชิ วาตานาเบ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ยามาฮ่า มอเตอร์ จำกัด
ประเทศญี่ปุ่น กล่าวถึงสาเหตุที่บริษัทเลือกร่วมธุรกิจกับกลุ่มเคพีเอ็นว่าเพราะนายเกษม
และคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช มีความคุ้นเคยกับยามาฮ่า มอเตอร์ มากกว่า และบริษัทเชื่อว่ากลุ่มเคพีเอ็นมีศักยภาพที่เหนือกว่ากลุ่มสยามกลการ
นอกจากนี้กลุ่มเคพีเอ็นยังเป็นผู้ดูแลผลิตภัณฑ์ของยามาฮ่ามากว่า 20 ปี
และได้แสดงให้เห็นว่าสามารถทำส่วนแบ่งการตลาด และกำไรให้แก่ยามาฮ่าได้ รวมทั้งยังสามารถวางรากฐาน
เพื่อการเติบโตได้อย่างมั่นคงอีกด้วย
ดังนั้นยามาฮ่า มอเตอร์ จึงได้แจ้งไปยังบริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด ในการที่จะไม่ต่อสัญญาการร่วมมือทางเทคนิคกับสยามยามาฮ่าอีกต่อไป
เมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในเดือนเมษายน 2539 โดยบริษัทจะดำเนินธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องกับกลุ่มเคพีเอ็น
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เหลือของสัญญาร่วมมือทางเทคนิค ยามาฮ่า มอเตอร์
จะยังคงให้ความร่วมมือกับสยามยามาฮ่าต่อไป
สำหรับสาเหตุที่ยามาฮ่า มอเตอร์ หวนกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอีกครั้งหลังจากถอนทุนไปเมื่อเกือบ
25 ปีก่อนนั้น นายซาโตชิกล่าวว่า เนื่องจากฐานการผลิตของบริษัทในญี่ปุ่นไม่สามารถเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกได้อีกต่อไป
เพราะปัญหาการแข็งตัวของค่าเงินเยน ประกอบกับตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศญี่ปุ่นยังมีระดับการขยายตัวที่ทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง
รวมทั้งยังมีปัญหาในเรื่องต้นทุนที่สูงขึ้นด้วย
ดังนั้นยามาฮ่าจึงต้องสร้างฐานการผลิตในประเทศที่มีความพร้อมในเรื่องคุณภาพของสินค้าและราคาที่สามารถแข่งขันได้
ซึ่งไทยนับเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย
อินโดนีเซีย และไต้หวัน รวมทั้งยังถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงเมื่อเทียบกับทวีปอื่นๆ
เช่น อเมริกา แอฟริกาใต้ ยุโรป และญี่ปุ่น
ด้านนายเกษม ณรงค์เดช ประธานกลุ่มเคพีเอ็น กล่าวว่า กลุ่มมีความพร้อมและมั่นใจอย่างมากที่จะบริหารงานและดำเนินธุรกิจรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
เพราะคณะผู้บริหารของเคพีเอ็นล้วนแล้วแต่มีความชำนาญ และความคุ้นเคยในการประกอบธุรกิจจักรยานยนต์ในประเทศไทยมากว่า
20 ปี
อีกทั้งบริษัทต่างๆ ในกลุ่มเคพีเอ็นก็มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการที่จะรองรับ
และสนับสนุนการผลิตรถจักรยายนต์ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเทคโนโลยีและด้านบุคลากร
นายเกษมกล่าวต่อไปว่า การร่วมกันดำเนินธุรกิจที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้จะเป็นการร่วมทุนกับยามาฮ่า
มอเตอร์ มากกว่าการรับสิทธิการผลิตและจัดจำหน่ายแต่เพียงอย่างเดียว โดยฝ่ายเคพีเอ็นจะถือหุ้นมากกว่าฝ่ายญี่ปุ่น
และจะมีการจัดตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมารองรับ แต่ขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดในเรื่องนี้
เนื่องจากยังเหลือเวลาอีก 1 ปี กว่าที่สัญญาระหว่างสยามยามาฮ่าและยามาฮ่า
มอเตอร์ ญี่ปุ่น จะสิ้นสุดลง เคพีเอ็นจึงยังมีเวลาเตรียมตัว
ก่อนที่จะมาเป็นวันนี้
รถจักรยานยนต์ยามาฮ่าเริ่มเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อปี 2502 โดยบริษัท
สยามกลการ จำกัด ช่วง 5 ปีแรกเป็นการนำเข้าสำเร็จรูปจากญี่ปุ่น มียอดขายปีละประมาณ
200 คันต่อปี ด้วยวิธีการฝากขายกับห้างร้านต่างๆ
ปี 2507 บริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด จึงถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบเรื่องการประกอบรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
โดยเป็นการร่วมลงทุนระหว่างยามาฮ่า มอเตอร์ ญี่ปุ่นและสยามกลการ ด้วยสัดส่วน
30% และ 70% ตามลำดับ มีนายพรชลิต พรประภา เป็นผู้ดูแลการบริหารงาน
อย่างไรก็ดี การร่วมธุรกิจของทั้งคู่ดำเนินไปได้เพียง 7 ปี เพราะปี 2514
ยามาฮ่า ญี่ปุ่นก็ถอนหุ้น 30% จากสยามยามาฮ่า เนื่องจากไม่พอใจในการดำเนินกิจการที่ผ่านมา
ในจังหวะนี้เองที่ถาวร พรประภา ได้มอบหมายให้เกษม ณรงค์เดช สามีของลูกสาวคนโปรดเข้ามาดูแลและช่วยพลิกฟื้นสถานการณ์ในสยามยามาฮ่า
นัยว่าเพื่อเป็นของขวัญวันแต่งงานสำหรับคนทั้งสอง
ปี 2515 เกษม ณรงค์เดช ได้ทำการแยกงานขายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าจากสยามกลการมาอยู่ภายใต้การดูแลของสยามยามาฮ่า
ซึ่งทำให้สยามยามาฮ่ากลายเป็นทั้งผู้ผลิตและผู้แทนจำหน่ายด้วยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ปี 2520 สยามยามาฮ่าภายใต้การบริหารของเกษม ณรงค์เดช เริ่มไต่อันดับขึ้นมาในตลาดรถจักรยานยนต์ประเทศไทย
มีตัวเลขยอดขายมากที่สุดถึง 7.4 หมื่นคัน ปี 2531 รัฐบาลประกาศห้ามนำเข้ารถจักรยานยนต์ทั้งคันจากต่างประเทศ
ทำให้การผลิตเครื่องยนต์เป็นสิ่งจำเป็น การก่อตั้งบริษัทยามาฮ่าเอ็นยิ่นส์
เพื่อผลิตเครื่องยนต์สำหรับจักรยานยนต์ยามาฮ่าจึงเริ่มขึ้น โดยเกษมเป็นผู้บุกเบิกและควักเงินลงทุน
520 ล้านบาท ฝ่ายสยามยามาฮ่าถือหุ้น 125 ล้านบาท ของทุนจดทะเบียน 645 ล้านบาท
ปี 2533 สยามยามาฮ่ามียอดการจำหน่ายจักรยานยนต์ทุกรุ่น 2.2 แสนคัน
ล่าสุดปี 2537 ยามาฮ่ามียอดขายเป็นอันดับ 2 ในตลาดรถจักรยานยนต์รองจากค่ายฮอนด้า
โดยมีตัวเลขการจำหน่าย 338,232 คันถีบตัวสูงขึ้นจากอันดับ 3 ในปี 2536
ขณะเดียวกันก็เป็นปีที่สยามยามาฮ่าระอุไปด้วยกระแสข่าวว่าพรเทพ พรประภา
น้องชายร่วมสายโลหิตของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เตรียมรุกคืบเข้ามายึดอำนาจการบริหารงานในสยามยามาฮ่า
สมบัติชิ้นสุดท้ายของสยามกลการที่เกษมและคุณหญิงพรทิพย์เป็นผู้ดูแลคืนไปบริหารเอง
กระแสข่าวนี้เองที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวหลายๆ อย่างจากฝ่ายเกษมและคุณหญิงพรทิพย์
ณรงค์เดช ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับอิตาลีก่อตั้งบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล
วีฮิเคิล ขึ้นมาเพื่อผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ "คาจีว่า"
รวมทั้งการเดินแผนดึงยามาฮ่า มอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่นให้เข้ามาร่วมลงทุนในสยามยามาฮ่าอีกครั้ง
หลังจากที่ถอนตัวไปเมื่อ 20ปีก่อน และพยายามจะกลับเข้ามาร่วมทุนใหม่ในตอนหลังแต่ก็ไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นฝ่ายไทย
ทั้งนี้เพื่อลดอำนาจของสยามกลการในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่
ขณะเดียวกันก็มีความพยายามที่จะเจรจาขอซื้อหุ้นในสยามยสมาฮ่าที่สยามกลการถือไว้
67.8% มาไว้ในมือ เพราะเดิมกลุ่มเคพีเอ็นมีหุ้นอยู่เพียง 13.3% เพื่อที่จะได้มีอำนาจในการบริหารงานเต็มที่
แต่ปรากฏว่าการเจรจาซื้อขายหุ้นดังกล่าวไม่สามารถตกลงกันได้ในเรื่องราคาซื้อขาย
โดยกลุ่มเคพีเอ็นเสนอซื้อที่ราคา 500 ล้านบาท ก่อนที่จะขยับไปที่ 800 ล้านบาท
ฝ่ายสยามกลการมีข่าวว่าต้องการจะขายที่ราคาสูงถึง 5,000 ล้านบาท ซึ่งพรเทพออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
เขาต้องการขายในราคา 1,200 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่สามารถตกลงกันได้ก็เกิดเรื่องยามาฮ่า
มอเตอร์ ญี่ปุ่น ไม่ยอมต่อสัญญากับสยามยามาฮ่าและหันไปจับมือกับกลุ่มเคพีเอ็นเสียก่อน
นับย้อนหลังสยามยามาฮ่า
ถ้าสยามกลการไม่ยอมขาย
สิงห์ชัย ภู่วโรดม ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ด้านการตลาด บริษัท สยามยามาฮ่า
จำกัด เปิดเผยถึงสภาพตลาดรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า เมื่อปี 2537 ที่ผ่านมาว่า
รถจักรยานยนต์ยามาฮ่ามียอดจำหน่าย 338,739 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 26.54%
ของตลาดรวม 1,276.448 คัน หรือเป็นอันดับสองรองจากฮอนด้า ซึ่งมียอดขาย 530,683
คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 41.57% อันดับสาม คือรถจักรยานยนต์ซูซูกิ 320,695
คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด 25.13% สุดท้ายคือคาวาซากิ 86,331 คัน คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาด
6.76%
ในปี 2538 นี้คาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์รวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.4 ล้านคัน โดยยามาฮ่าคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็น
4.2 แสนคัน หรือประมาณ 33% ซึ่งผลการดำเนินงานช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาเป็นไปตามการคาดการณ์
จึงไม่น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
ปัจจุบันยามาฮ่ามีกำลังการผลิตประมาณ 4 แสนคันต่อปี แต่ยังสามารถเพิ่มกะทำงานได้
หากต้องการกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องกำลังการผลิตไม่พออย่างแน่นอน
สำหรับแนวทางการขยายตลาดนั้นสิงห์ชัยกล่าวว่า บริษัทจะเน้นไปในเรื่องการบริการและการขยายจุดขายออกไปในอำเภอเศรษฐกิจตามต่างจังหวัด
และปริมณฑล โดยคาดว่าจะเพิ่มดีลเลอร์จาก 250 แห่งเป็น 290-300 แห่ง นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ออกสู่ตลาดอีกประมาณ
1-2 รุ่น
แต่ 1 ปีหลังจากนี้คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า บริษัท สยามยามาฮ่า จำกัด หากยังมีสยามกลการเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ก็คงจะกลายเป็นบริษัทที่เหลือแต่บริษัทเปล่าๆ เพราะสินค้าสำคัญ คือรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
ซึ่งคาดว่าจะทำยอดขายในปีนี้ประมาณ 15,000 ล้านบาท จะต้องตกไปอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทใหม่ที่เป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มเคพีเอ็นและยามาฮ่า
มอเตอร์ ญี่ปุ่น เว้นเสียแต่ว่าสยามกลการจะยอมขายหุ้นเพื่อถอนทุนคืนก่อนสายเกินไป
การเปลี่ยนแปลงของสยามยามาฮ่าซึ่งจะมีผลในเดือนเมษายน ปี 2539 นั้นจึงเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องมีทั้งผู้ได้รับผลประโยชน์และผู้สูญเสียผลประโยชน์
จับตาอนาคตยามาฮ่า
ในอ้อมอกเคพีเอ็น
ถ้าจะวิเคราะห์ถึงอนาคตของรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า ภายหลังจากตกเป็นของบริษัทร่วมทุนใหม่ระหว่างกลุ่มเคพีเอ็นและยามาฮ่า
มอเตอร์แล้วคงจะมองเห็นได้ไม่ยากว่า ยามาฮ่าภายใต้การดูแลของบริษัทใหม่น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจและการตลาดที่ดีกว่าปัจจุบัน
ทั้งนี้เนื่องจากยามาฮ่า มอเตอร์ คงต้องทุ่มเทและทุ่มทุน ทั้งในด้านกำลังทรัพย์การพัฒนาบุคลากร
การช่วยพัฒนาสินค้า ช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้า การหาช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มการแข่งขันให้มากขึ้น
จากเดิมที่สยามยามาฮ่าต้องต่อสู้กับคู่แข่งตามลำพัง ไม่ว่าจะในเรื่องการจัดจำหน่ายหรือการผลิต
เพราะในอดีตยามาฮ่า มอเตอร์ให้ความช่วยเหลือเฉพาะด้านเทคนิคการผลิตเท่านั้น
ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาสินค้าใหม่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่กลุ่มเคพีเอ็นต้องการมากที่สุด
เพราะแน่นอนว่าเมื่อสินค้าดีแล้วก็ย่อมง่ายที่จะประสบความสำเร็จ
ที่ผ่านมาการพัฒนาสินค้าใหม่ได้รับความช่วยเหลือจากยามาฮ่าน้อยมาก แต่เมื่อยามาฮ่าเข้ามาลงทุนเองทั้งในด้านการผลิตและการจำหน่าย
คงจะต้องนำเทคโนโลยีการพัฒนาสินค้าใหม่เข้ามาช่วยเหลืออย่างแน่นอน ยิ่งประกอบกับการได้เข้ามาเห็นตลาด
เห็นสภาพการใช้งานอย่างจริงจังก็จะยิ่งสามารถปรับปรุงสินค้าใก้ใกล้เคียงกับความต้องการของผู้ใช้ในประเทศได้มากที่สุด
โดยอาจจะมีการลดการใช้ชิ้นส่วนที่ไม่มีความจำเป็นออกไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้อีก
ประการสำคัญคือเมื่อโรงงานผลิตรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าในประเทศไทยกลายเป็นฐานการส่งออก
ซึ่งจะหมายถึงปริมาณการผลิตที่มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลงตามหลักของ
Economy of Scale
สำหรับพนักงานและดีลเลอร์ของสยามยามาฮ่านั้น คงไม่ได้รับผลกระทบเพราะบริษัทใหม่ที่จัดตั้งขึ้นประกาศแล้วว่าจะรับโอนทั้งหมดหากสมัครใจ
ผลกระทบต่อตลาดโดยรวม
หารที่ยามาฮ่า มอเตอร์ จะเข้ามาช่วยสนับสนุนสินค้าของตัวเองอย่างเต็มที่ในปีหน้า
ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า ยามาฮ่าอาจจะมีโอกาสขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยก็ตาม
แต่คงต้องใช้ความพยายามอย่างมาก รวมทั้งคงต้องใช้ระยะเวลาในการไต่เต้าขึ้นมาอีกหลายปี
เพราะคู่แข่งสำคัญอย่างฮอนด้านั้นนอกจากจะเป็นคู่แข่งที่เข้มแข็ง ด้วยความพร้อมในทุกๆ
เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการได้รับความสนับสนุนจากบริษัทแม่ ภาพพจน์ที่แข็งแกร่งแล้ว
ที่สำคัญส่วนแบ่งการตลาดของฮอนด้าทิ้งห่างจากยามาฮ่าชนิดค่อนข้างขาดลอย กล่าวคือ
ฮอนด้ามีส่วนแบ่งการตลาดในปี 2537 อยู่ 41.57% ส่วนยามาฮ่ามีส่วนแบ่งอยู่
26.54%
แต่ถ้าเทียบกับซูซูกิ ซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดที่ใกล้เคียงกับยามาฮ่าในปีที่ผ่านมาคือซูซูกิครองส่วนแบ่งตลาดอยู่
25.13% แล้วน่าจะมีโอกาสเป็นไปได้สูงที่ยามาฮ่าจะยึดตำแหน่งเบอร์สองของตลาดรถจักรยานยนต์จากซูซูกิได้ค่อนข้างถาวร
หลังจากที่คู่คี่สูสีกันมาตลอด เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ยามาฮ่าได้รับผลกระทบทางบวก
คือได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทแม่เต็มรูปแบบ แตกต่างจากเดิมที่คนไทยต้องต่อสู้เพียงลำพัง
สำหรับคาวาซากิซึ่งเป็นเจ้าที่ครองส่วนแบ่งทางการตลาดน้อยที่สุดอยู่ในขณะนี้เพียง
6.76% นั้นคงเป็นคู่แข่งที่ยามาฮ่าไม่ให้ความสำคัญที่จะแข่งขันด้วยมากนัก
แต่คงมองหาวิธีที่จะแย่งส่วนแบ่งการตลาดมาให้ได้มากที่สุดมากกว่า
อนาคตเคพีเอ็น
เจ้าตลาดจักรยานยนต์ ?
กลุ่มเคพีเอ็น ของเกษมและคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช เริ่มต้นธุรกิจรถจักรยานยนต์ด้วยการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์เป็นหลัก
ก่อนที่จะก้าวเข้ามาส่ธุรกิจการตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาโดยเคพีเอ็นนับเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์
ที่ผลิตชิ้นส่วนได้เกือบครบ 100% ขาดเพียงแค่คลัตช์และเกียร์ ซึ่งกำลังจะมีการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท
ซูมิโตโมของญี่ปุ่นในเร็วๆ นี้เท่านั้น
เคพีเอ็นเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลประโยชน์จากการร่วมธุรกิจกับยามาฮ่า
มอเตอร์ สูงสุด เพราะนอกจากจะผันตัวเองจากการเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์มาสู่ผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ยามาฮ่า
เพื่อจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังเป็นโอกาสที่กลุ่มเคพีเอ็นจะสามารถขายชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์ได้มากขึ้น
เพราะฐานการผลิตของบริษัทร่วมทุนใหม่นี้จะเป็นฐานการผลิตรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าเพื่อการส่งออกด้วย
นี่ยังไม่นับรวมถึงโอกาสในการที่ได้เรียนรู้เทคโนโลยีการผลิต และพัฒนาสินค้ารถจักรยานยนต์จากยอดวิชา
คือยามาฮ่า มอเตอร์ด้วย
ที่สำคัญเคพีเอ็นยังมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาดรถจักรยานยนต์ในอนาคต
เพราะนอกจากจะมีรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าอยู่ในมือแล้ว เคพีเอ็นยังเป็นผู้ผลิตรถจักรยานยนต์
"คาจีว่า" ซึ่งเป็นความร่วมมือทางธุรกิจกับอิตาลีอีกด้วย
ดังนั้นหากยามาฮ่ากับคาจีว่าไม่มัวมากินส่วนแบ่งการตลาดกันเอง โอกาสที่จะเป็นผู้นำตลาดก็เป็นไปได้สูง
ทางออกสยามกลการ
ขายทิ้งหรือหาสินค้าใหม่
ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้น "สยามกลการ"
ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสยามยามาฮ่า ขณะนี้กำลังเป็นที่จับตามองกันว่าพรเทพ
พรประภา กรรมการผู้จัดการใหญ่ของสยามกลการ ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นจะเดินเกมอย่างไรต่อไป
เพราะเดิมพรเทพกล่าวภายหลังการประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่ของสยามกลการเมื่อวันที่
22 มีนาคมว่า ผู้ถือหุ้นสยามกลการมีมติมอบอำนาจให้ฝ่ายบริหารบริษัทสยามกลการ
สยามยามาฮ่า เพื่อขอรับทราบข้อเท็จจริง หรือปัญหาที่เกิดขึ้นและรักษาผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของบริษัทสยามกลการ
"ผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ของบริษัทสยามกลการ" ที่ผู้ถือหุ้นเอ่ยอ้างถึงนั้น
แบ่งได้เป็นประการแรก เงินปันผล 35% ของผลกำไรจากการบริหารงานของสยามยามาฮ่าซึ่งปีที่ผ่านมามียอดขายประมาณ
12,000 ล้านบาท
ประการที่สอง การต้องยุติกิจการของสยามยามาฮ่า หลังจากที่สัญญาความร่วมมือกับยามาฮ่า
มอเตอร์ ต้องสิ้นสุดลงในเดือนเมษายนปีหน้า อันหมายถึงบริษัทสยามยามาฮ่า จะไม่มีสินค้าที่ทำรายได้หลักให้กับบริษัทอยู่ในมืออีกต่อไป
สำหรับทางออกก็คือ การหาสินค้าใหม่มาจำหน่ายแทนหรือไม่ก็ต้องขายหุ้น 67.8%
ที่ถืออยู่ให้กับกลุ่มเคพีเอ็น เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นเจ้าของบริษัทที่ไม่มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจ
ประการสำคัญ อาณาจักรสยามกลการที่เคยกว้างใหญ่ไพศาลในอดีต ถึงขนาดเคยติดอันดับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ทอปเท็นในเอเชีย
กำลังจะถูกลบเลือนไปเรื่อยๆ ซึ่งก็คงต้องติดตามกันดูว่าสยามกลการจะแก้ปัญหานี้อย่างไร
นอกจากนั้นความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มเคพีเอ็นกับสยามกลการก็อาจจะค่อยๆ ยุติกันโดยสิ้นเชิง
เพราะนอกจากความสัมพันธ์ในสยามยามาฮ่าแล้ว ยังน่าจับตาบริษัทผลิตชิ้นส่วนอีก
8 บริษัท ที่สยามกลการเข้าไปถือหุ้นในนามสยามยามาฮ่า แม้ว่าทั้งหมดจะเป็นหุ้นส่วนน้อย
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ยามาฮ่าเอ็นยิ่นส์ จำกัด บริษัท ไทยคลังสินค้า จำกัด
บริษัท วี.อาร์. วิคเตอร์ จำกัด บริษัท วี.อาร์.(ไทยแลนด์) จำกัด บริษัท
อินเตอร์เนชั่นแนลคาสติ้ง จำกัด บริษัท สยามอีเล็คทริเคิลพาร์ท จำกัด บริษัท
ณรงค์อุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) และบริษัท เค.อี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่