|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
ฉบับก่อนเขียนเรื่อง Immigrants in Canada ที่ต้องการให้สังคมเห็นถึงการเข้ามามีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่เข้ามาตั้งรกรากและเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแคนาดา หากแต่ข่าวพาดหัวในสื่อมวลชนของแคนาดาตอนนี้กลับสวนทางกับเป้าหมายของกลุ่ม Immigrants ส่วนใหญ่ที่นี่
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐเข้าจับกุมผู้ต้องสงสัยในการก่อการร้ายจำนวน 17 คนที่เมืองโตรอนโต พร้อมหลักฐานวัตถุสำคัญในการทำระเบิด นั่นคือ ปุ๋ยแอมโมเนียมไนเตรต จำนวน 3 ตัน ซึ่งถือว่ามีจำนวนมากถึง 3 เท่าที่พบในผู้ก่อการร้ายเคยใช้ถล่มอาคารศาลาว่าการเมืองโอคลาโฮมาซิตี เมื่อปี 1995 ในสหรัฐอเมริกา และทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 168 คน
เป้าหมายสำคัญของกลุ่มผู้ต้องสงสัยดังกล่าวนั้น เจ้าหน้าที่รัฐตั้งข้อกล่าวหาว่า พยายามวางแผนในการก่อการร้ายในสถานที่สำคัญของเมืองโตรอนโต ซึ่งถือเป็นเมืองสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของแคนาดา เพราะเป็นศูนย์กลางของการคมนาคม อาคาร CN Tower ที่มีระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าใต้ดินที่สามารถรองรับผู้โดยสารได้ถึง 800,000 คนต่อวัน ตลาดหลักทรัพย์และอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานข่าวกรองทางด้านความมั่นคงของประเทศแคนาดา
เจ้าหน้าที่รัฐยังออกมาเตือนว่า อาจจะมีการจับกุมตัวเพิ่มอีก เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้สอบสวนกลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่ให้ข้อมูลว่า พวกเขาได้แรงบันดาลใจมาจากแนวความนึกคิดของเครือข่ายกลุ่มอัลกออิดะห์
ดูแล้วคล้ายกับความพยายามในแผนการก่อเหตุการร้าย 9/11 ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์กและกรุงวอชิงตันเมื่อเดือนกันยายน 2001 ข้อมูลทางด้านเอฟบีไอของสหรัฐฯ ยังออกมายืนยันว่า ผู้ต้องสงสัยบางคนนั้นเคยเดินทางไปสหรัฐอเมริกา และมีการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มก่อการร้ายในบางประเทศ
เจ้าหน้าที่สอบสวนของสหรัฐอเมริกากำลังมองหาความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มผู้ที่ถูกจับกุมตัวในแคนาดา กับกลุ่มติดอาวุธต้องสงสัยชาวมุสลิมที่ถูกจับในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา บังกลาเทศ บอสเนีย เดนมาร์ก และสวีเดน
การจับกุมผู้ต้องสงสัยดังกล่าวภายใต้กฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายสากลของแคนาดาหรือ The Anti-terrorism Act ที่ผ่านร่างกฎหมายอย่างเร่งด่วนหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 โดย Osama bin Laden ระบุว่า แคนาดาเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่จะถูกโจมตีเช่นเดียวกับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ สเปน และออสเตรเลีย
พรรคเสรีนิยมได้ผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวเมื่อปลายปี 2001 และเปิดช่วงเวลาในการพิจารณาแก้ไขในอีก 5 ปี โดย Anne McLellan อดีตรัฐมนตรียุติธรรมให้ความเห็นในการผ่านร่างกฎหมายคราวนั้นว่า เป็นการสร้างความเชื่อมั่นว่า ประชาชนทุกคนควรอยู่กันร่วมกันได้อย่างปลอดภัยและบนพื้นฐานของความสงบ
ไฮไลต์ของ The Anti-terrorism Act มีเนื้อหาที่น่าสนใจว่า เจ้าหน้าที่รัฐสามารถระบุผู้หนึ่งผู้ใด หรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งว่าเป็นผู้ก่อการร้ายได้ หรือเจ้าหน้าที่รัฐสามารถเพิ่มโทษแก่ผู้ต้องสงสัยที่เกี่ยวข้อง หรือมีกิจกรรมใดๆ กับองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการก่อการร้ายได้
เจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการจับกุมผู้ต้องหาในการก่อการร้าย และควบคุมได้นาน ถึง 3 วันโดยปราศจากหลักฐาน รวมทั้งสามารถใช้อุปกรณ์เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ในการเข้าจับกุมผู้ต้องหาได้ ที่สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายนี้ได้เพิ่มอำนาจผู้พิพากษาที่จะให้พยานที่เกี่ยวข้องกับคดีให้ปากคำ ข้อมูล หลักฐานในการพิจารณาคดี
ผลจากร่างกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายครั้งนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงของแคนาดา และหลายประเทศมีความเชื่อมโยงและเกิดเส้นทางในการตอบโต้ การก่อการร้ายอย่างกว้างขวาง ดังที่มีข่าวการจับกุมผู้ต้องสงสัยในการก่อการร้ายที่ออสเตรเลีย อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาตลอดมา
ประเด็นร้อนในรัฐสภาเกิดขึ้นทันทีภายหลังการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากนักการเมืองหลายฝ่าย และบรรดาผู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มต่างๆ ต่างออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และกังวลว่าจะเป็นข้ออ้างของรัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมในการหาหนทาง ในการแก้ไขกฎหมายการต่อต้านการก่อการร้ายที่จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากขึ้นกว่าเดิม
การรายงานข่าวของสื่อมวลชนแคนาดาตามติดเข้าไปถึงห้องการพิจารณาคดี ที่ทำให้ชาวแคนาเดียนเกิดความวิตกไม่น้อย เช่น รายงานแจ้งว่าผู้ต้องหามีการวางแผนในการจับตัวนักการเมือง การข่มขู่เอาชีวิตนายกรัฐมนตรีแคนาดา เพื่อกดดันให้รัฐบาลแคนาดาถอนทหารออกจากอัฟกานิสถาน
ความหวาดผวาของนักชอปปิ้งที่ Mississauga Mall ในโตรอนโตที่เจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งให้ออกจากอาคารด่วน เนื่องจากอาจมีการก่อเหตุร้ายขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยมีกำลังตำรวจจำนวนมากเข้าเคลียร์พื้นที่ เพียงเพราะมีรถแวนที่คนขับพยายามใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในการหลีกเลี่ยงการเสียค่าปรับจากทางการ
การติดตามข่าวของคนที่นี่ไม่ต่างไปจากผู้คนในบ้านเมืองเรานัก หลายคนเปิดใจกว้างและเข้าใจว่าเป็นความพยายามของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่อ้างศาสนามาบังหน้า อีกจำนวนหนึ่งกังวลต่อความปลอดภัย และต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ชาวแคนาเดียนจำนวนไม่น้อยเล็งเห็นถึงผลการจับกุมคราวนี้เป็นประเด็นของสังคมโลกที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจ และการให้การศึกษาแก่ประชาชนส่วนรวม โดยเฉพาะเยาวชนไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มผู้ไม่หวังดี
แคนาดาได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีหลากหลายของความแตกต่างในสังคม อันสืบเนื่องมาจากผู้คนที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานนั้นต่างมีที่มาทั้งทางเชื้อชาติ ศาสนา และสังคมของตนเอง หากแต่ความต่างนั้นแทบเรียกได้ว่าไม่ก่อให้เกิดปัญหาเหมือนชาติอื่นๆ เช่นที่เกิดขึ้นในออสเตรเลีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส จนได้ชื่อว่าเป็น Multi-culture Country
ความคล้ายคลึงกันของเหตุการณ์นี้ อาจเป็นตัวอย่างหนึ่งของบ้านเราที่อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐสามารถบังเกิดผลต่อส่วนรวม หรืออาจก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามได้เสมอ ถ้าผู้รักษากฎหมายไม่คำนึงถึงข้อกฎหมาย หรือใช้ช่องว่างของเนื้อหากฎหมายในการลิดรอนพื้นฐานเสรีภาพของประชาชน ซึ่งนำไปสู่ความแปลกแยกของสังคมตามมา
หวังว่าเหตุการณ์ในการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐครั้งนี้ จะไม่ก่อเหตุทำให้แคนาดาตกอันดับในความเชื่อมั่นของการเป็นประเทศที่สามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของความแตกต่างกันอย่างสันติ
ข้อมูลจาก :
Canadian Press, CBC News,
CanWest News Service,
Edmonton Journal, Toronto Star
|
|
|
|
|