Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2549
ตามรอยสึนามิ             
โดย มานิตา เข็มทอง
 





กลับมาเยี่ยมบ้านครานี้ คิดไว้ว่า อย่างไรก็ตามจะต้องหาทางลงไปทางใต้ให้ได้ โดยเฉพาะเจาะจงที่เขาหลัก จังหวัดพังงา ต้องการไปให้เห็นกับตาของตัวเอง เพราะลำพังจะหาข้อมูลเอาจากข่าวก็ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันแล้ว "สึนามิ" และผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน ณ ที่นั้นที่มีต่อไปในระยะยาวและไม่มีวันจะกลับมาเหมือนเดิม...

"เดิมบ้านป้าอยู่หน้าวัดคึกคัก ตอนที่น้ำมา ป้าก็วิ่งทั้งกระโจมอกเลย โชคดีนะที่เรามีรถกระบะ ถ้าให้วิ่งเองก็วิ่งไม่ทันหรอก ลุงแกขับหนีขึ้นไปทางเขาโน่น อยู่บนเขาตั้งหลายคืนกว่าจะลงมา เพราะยังกลัวว่าน้ำจะมาอีก ตอนนี้ก็ยังกลัว ทางการเขามาสร้างบ้านให้ใหม่ แต่ก็ไม่กล้าไปอยู่แล้ว กลัว ขออยู่บนนี้ดีกว่า" เป็นคำบอกเล่าของป้าฮีดผู้ที่เผชิญกับเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ 2 ปีก่อน พร้อมกับครอบครัวของเธอที่อยู่รอดปลอดภัย ทุกคนแต่ยังมีญาติและเพื่อนพ้องของเธออีกหลายคนที่ไม่มีโอกาสกลับมาเล่าความทรงจำในครั้งนั้นได้อีก

ปัจจุบันป้าฮีดย้ายมาปลูกบ้านหลังเล็กๆ อยู่ที่เชิงเขาตรงที่ที่เรือบุเรศผดุงกิจ ซึ่งเป็นเรือตรวจการณ์ตำรวจน้ำ 813 ถูกพัดเข้ามาจากกลางทะเล มาตั้งตระหง่านอยู่บนบกริมถนนสาย 4 ที่บ้านบางเนียง ถ้าใครไม่ทราบมาก่อนว่า ณ ดินแดนแห่งนี้ได้เกิดภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนมากนับหมื่นๆ คน คงจะนึกว่า มีใครลากเรือมาตั้งไว้เป็นแน่ แต่แท้จริงแล้ว เป็นพลังของน้ำต่างหากที่พัดม้วนเอาเรือลำนี้มาไกลหลายกิโลเมตร

ภาพที่ป้าฮีดเห็นในวันนั้นไม่ได้สงบเงียบเหมือนวันนี้ "ที่ตรงนี้เคยเป็นเหมืองมาก่อน ตอนนี้เขาถมดินทำเป็นพื้นเรียบไปหมดแล้ว วันนั้นนะ ตรงนี้หน้าเรือและรอบๆ เรือ เต็มไปด้วยศพนับร้อยๆ พันๆ ศพ ป้ายังเจอหลานของป้าตรงนี้เลย หน้าสวนยาง ตอนนี้เห็นทางการเขาว่าจะมาสร้างเป็นอนุสรณ์สถานนะ มันเศร้านะ เมื่อก่อนนี้ แถบนี้มีคนเยอะแยะ นักท่องเที่ยวเต็มไปหมด ไม่เงียบสงัดเหมือนตอนนี้หรอก วันก่อนเกิดสึนามิ ป้ายังไปขายของที่หาดอยู่เลย พอกลางคืนเราก็ปาร์ตี้กันกับพวกแขกทั้งฝรั่ง ทั้งไทย โอ๊ย สนุกมาก มีแต่เสียงหัวเราะ แต่ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิมแล้ว ป้าอยากให้มันกลับมาเหมือนเดิมนะ" ป้าฮีดเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความหวังว่า วันหนึ่งเขาหลักจะกลับมาคึกคักเหมือนเดิม ให้สมกับหาดที่ชื่อว่า "หาดคึกคัก"

"วันนั้นอากาศดีมาก ฟ้าใสสวย ไม่มีใครนึกว่าจะเกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้น ผมอยู่ที่ Coco Palm ตอนประมาณสิบโมงกว่าๆ แฟนเพื่อนผมทำงานอยู่ที่รีสอร์ตบริเวณแหลมปะการัง โทรมาบอกให้หนี เพราะน้ำมาถึงแหลมปะการังแล้ว ผมยังขำและบอกเพื่อนผมว่า ไม่ต้องหนีหรอก อย่างมากก็มาแค่เข่า แต่พอมองออกไป มันไม่แค่เข่านะสิ เท่านั้นแหละ วิ่งกันเลย พวกผมรอดมาได้เพราะแฟนเพื่อนผมนะ" พนักงานหนุ่มคนหนึ่งในห้องอาหาร The Edge ของสโรจินรีสอร์ท (Sarojin) ในเขาหลักเล่าอย่างตื่นเต้น และเขายังเศร้าไม่หายที่เพื่อนเขาต้องสูญเสียแฟนพร้อมลูกน้อยในครรภ์ เพียงเพราะเธอกลับไปช่วยแขกอีกคน... อย่างไรก็ตาม แหลมปะการังเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดอย่างที่หลายๆ ท่านคงได้เห็นภาพถ่ายดาวเทียมที่เปรียบเทียบลักษณะภูมิประเทศก่อนและหลังสึนามิไปบ้างแล้ว จากคำบอกเล่าของชาวบ้าน หาดทรายนั้นไม่เหมือนเดิม จากที่เคยเป็นหาดทอดยาวสวย กลายเป็นหาดสั้น ตัดตกลึกประมาณ 2-3 เมตรในบางช่วง ไม่ใช่ค่อยๆ ลาดยาวออกไปเช่นเดิม แต่ความสวยของธรรมชาติยังคงมีให้เห็นอยู่...

วรรณเป็นอีกคนหนึ่งที่รอดภัยครั้งนั้นมาได้อย่างหวุดหวิด เริ่มแรก วรรณเคยทำงานอยู่ที่โรงแรมโซฟิเทล เขาหลัก เธอเล่าว่า เช้าวันนั้นเธอเข้าเวรอยู่ที่บริเวณล็อบบี้ ซึ่งสูงประมาณตึก 3 ชั้น พอน้ำมาเธอก็ปีนขึ้นเก้าอี้และเกาะเสาไม้ต้นใหญ่ไว้ กระนั้นความสูงของน้ำขึ้นมาถึงบริเวณลำคอของเธอ เธอรอดชีวิต แต่ก็ต้องสูญเสียเพื่อนร่วมงานนับร้อยที่ไม่สามารถหนีได้ทัน "หนีอย่างไรก็หนีไม่ทัน เพราะพื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ราบ วิ่งไปก็หนีน้ำไม่พ้น" วรรณเล่าด้วยน้ำเสียงเครือ ปัจจุบันเธอและเพื่อนร่วมงานที่รอดชีวิตจากที่อื่นๆ ได้เข้ามาร่วมงานกับสโรจิน ซึ่งถือเป็นรีสอร์ตแห่งแรกที่เปิดให้บริการหลังจากเหตุการณ์สึนามิ

"ตอนนั้นรีสอร์ตยังไม่เปิดให้บริการ แต่เตรียมจะเปิดในไม่กี่วันข้างหน้า จึงยังไม่มีแขก แต่รีสอร์ตก็ต้องเลื่อนการเปิดออกไป เพราะต้องปิดเพื่อซ่อมแซมส่วนชั้นหนึ่งทั้งหมด และเริ่มเปิดให้บริการเมื่อปลายปีที่แล้ว ก่อนวันครบรอบ 1 ปี สึนามิ" วรรณและเพื่อนๆ อีกหลายคนโชคดีที่มีงานทำ เพราะจากตัวเลขที่ไม่เป็นทางการนั้นพบว่าขณะนี้ (เดือนพฤษภาคม 2549) มีโรงแรมและรีสอร์ตบริเวณเขาหลักเพียง 13 แห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการแล้วจากในอดีตที่มีถึง 80 แห่ง

จากวันนั้นถึงวันนี้ เวลา 1 ปีครึ่ง ภาพที่เห็นริมหาดเขาหลักหลายๆ หาดยังคงเต็มไปด้วยซากปรักหักพังของอาคาร ต้นไม้เหลือแต่ตอ เหลือแต่ยอดกุด และยิ่งหดหู่ใจเข้าไปอีก เมื่อเดินทอดน่องริมหาด แลเหลือบเห็นรองเท้าแตะข้างแล้วข้างเล่าที่ถูกซัดเข้ามาที่ริมฝั่ง... ใจหาย เมื่อนึกถึงวันนั้น... วันนี้ สำหรับผู้ที่ยังคงอยู่ ยังต้องการอาชีพที่จะสร้างรายได้ให้กับพวกเขา ร้านค้า โรงแรมที่พัก ต้องการแขกผู้มาเยือน แม้จะไม่เหมือนเดิม แต่พวกเราคนไทยกันเองก็น่าจะพอช่วยกันได้บ้างมิใช่หรือ... มาช่วยกันเที่ยวไทย ช่วยไทย กันดีกว่า... ไปกันเถอะค่ะ ช่วยกันไปเที่ยว แต่ขอให้เป็นการไปเที่ยวอย่างสุภาพและให้เกียรติต่อผู้ที่ประสบภัยนะคะ อย่างน้อยก็เป็นการให้กำลังใจกับหลายชีวิตที่ยังต้องการความหวังและแรงใจ เพื่อจะสู้ต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us