Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2549
Murakami Fund             
โดย สมศักดิ์ ดำรงสุนทรชัย
 


   
search resources

Funds
Yoshiaki Murakami
MAC Asset Management




ข่าวการจับกุม Yoshiaki Murakami ภายใต้ข้อหา insider trading เมื่อช่วงต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อาจไม่ได้ปรากฏผลกระเทือนต่อตลาดหลักทรัพย์โตเกียวมากนัก หากเทียบกับคดีอื้อฉาว Livedoor แต่กรณีดังกล่าวได้ส่งแรงสั่นไหวไปสู่ผู้คนทั่วทั้งปริมณฑลของเศรษฐกิจการเมืองและสังคมญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง

เนื่องเพราะมูลความผิดของ Yoshiaki Murakami ดังกล่าว มิได้ก่อให้เกิดคำถามต่อเฉพาะกรณีการบังคับใช้กฎหมายต่อนักธุรกิจที่มุ่งแสวงหาผลกำไรจากการลงทุนเท่านั้น หากยังเกี่ยวเนื่องกับประเด็นว่าด้วยการขัดกันของผลประโยชน์ (conflict of interest) ในหมู่บุคลากรระดับที่เป็นผู้กำหนดนโยบายของรัฐ ขณะที่ค่านิยมและมาตรฐานทางจริยธรรมแบบญี่ปุ่นกำลังถูกท้าทายอย่างหนักด้วย

Yoshiaki Murakami เกิดและเติบโตขึ้นใน Osaka เมืองศูนย์กลางของเศรษฐกิจการค้าทางภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ในครอบครัวของนักธุรกิจการค้าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหาก Yoshiaki Murakami จะเก็บรับและมีทัศนะที่เข้ากันได้ดีกับโลกทุนนิยมในเวลาต่อมา

ขณะเดียวกัน ประวัติชีวิตในวัยเยาว์ของ Murakami ยังอุดมด้วยเรื่องราวกล่าวขานมากมาย โดยเฉพาะเรื่องที่บิดาของเขามอบเงินให้ 1 ล้านเยน พร้อมกับระบุให้นำเงินดังกล่าวไปเพิ่มมูลค่าด้วยการลงทุนอย่างไรก็ได้ตามแต่เห็นสมควร ทั้งที่ Murakami ยังเป็นเพียงเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 3 หรือมีอายุเพียง 10 ปีเท่านั้น โดยเขานำเงินดังกล่าวเข้าซื้อหุ้นบริษัท brewery และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการได้ลิ้มลองประสบการณ์การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ของ Murakami เลยทีเดียว

นอกจากนี้ผู้คนที่เคยได้ใกล้ชิดกับ Murakami เมื่อครั้งที่เขาศึกษาในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่าหัวข้อการสนทนาหลักของ Murakami ในกลุ่มเพื่อน มักเป็นเรื่องของการคุยอวดเรื่อง การทำกำไรจากการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่เสมอ

หลังสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ในปี 1983 Murakami เข้ารับราชการในกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Ministry of International Trade and Industry : MITI) ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) โดยตลอดเวลาของการรับราชการ Murakami ได้ชื่อว่าเป็นข้าราชการฝีปากดี ที่พร้อมจะโต้แย้งกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงกว่าอย่างเปิดเผย

แม้ว่าอนาคตของการก้าวหน้าเติบโต ไปสู่การเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงที่สำคัญจะเฉิดฉายและเต็มไปด้วยโอกาสอันเรืองรอง แต่ในเดือนกรกฎาคม 1999 ก่อนหน้าการครบรอบวันเกิดปีที่ 40 เล็กน้อย Murakami ตัดสินใจลาออกจากการเป็นข้าราชการกระทรวง METI เพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่ในสังคมธุรกิจ ด้วยการจัดตั้ง MAC Asset Management ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นแกนกลางของธุรกิจกองทุนที่ได้รับการเรียกขานในนาม Murakami Fund ในปัจจุบัน

ความน่าสนใจของ MAC Asset Management หรือ Murakami Fund อยู่ที่การเป็นภาพสะท้อนของการบริหารจัดการสายสัมพันธ์ของ Murakami ที่ได้รวบรวมอดีตผองเพื่อนทั้งจากระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย ซึ่งต่างทำงานและสั่งสมประสบการณ์ในบริษัทธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ชั้นนำ ให้เข้ามามีส่วนร่วมเป็นคณะผู้บริหารกองทุนที่กลายเป็น talk of the town แห่งนี้

ชื่อของ Yoshiaki Murakami ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ญี่ปุ่นอย่างรวดเร็วในเดือนมกราคม 2000 เมื่อ Murakami ประกาศที่จะเข้าครอบงำอย่างปฏิปักษ์ (hostile takeover bid) ด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ของบริษัท Shoei ผู้ประกอบการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกรณีดังกล่าวได้ส่งแรงกระเทือนไปทั่วทั้งสังคมธุรกิจญี่ปุ่นที่ไม่ปรากฏกรณีการครอบงำกิจการลักษณะเช่นนี้ ให้เห็นบ่อยนัก

Murakami Fund เป็นหัวข้อข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์อีกครั้งในปี 2002 เมื่อ Murakami ได้เข้าซื้อและกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ Tokyo Style ผู้ประกอบการเสื้อผ้าสตรี พร้อมกับเรียกร้องให้ปรับรูปแบบการบริหารด้วยการแต่งตั้งบุคคลภายนอกเข้าเป็นคณะกรรมการบริษัท รวมถึงการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวทำให้ Murakami ได้รับการกล่าวถึงในฐานะ outspoken shareholder ที่ช่วยเข้ามาดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยไปโดยปริยาย

ประเด็นว่าด้วยการได้มาซึ่งแหล่งเงินทุนที่เอื้ออำนวยให้ Murakami Fund มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาต่อมา เป็นอีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะท่ามกลางข้อจำกัดว่าด้วยการคงอัตราดอกเบี้ย เงินฝากไว้ในระดับที่ใกล้เคียงกับ 0.0% ผลตอบแทนที่คาดหวังจะได้จากการลงทุนดังกล่าวย่อมเป็นกรณีที่เย้ายวนให้สนใจอย่างยิ่ง และทำให้เพื่อนร่วมงานของ Murakami ในกระทรวง METI ต่างทยอยเข้าสมทบร่วมลงทุน ในกองทุนที่จัดแบ่งไว้กองทุนละ 10 ล้านเยนอย่างต่อเนื่อง

กระนั้นก็ดี การเติบโตของ Murakami Fund คงไม่สามารถดำเนินไปอย่างราบรื่นหากไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากทั้ง Orix Leasing ผู้ให้บริการด้านการเงินหลากหลายรูปแบบ และจาก Toshihiko Fukui อดีตประธาน Fujitsu Research Institute และปัจจุบันดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติ ญี่ปุ่น (Bank of Japan : BOJ) ซึ่งกลายเป็น หัวข้อหลักแห่งการวิพากษ์ภายหลังมีการจับกุม Murakami ในเวลาต่อมา

สายสัมพันธ์บนความต่างวัยระหว่าง Yoshiaki Murakami และ Toshihiko Fukui (เกิด 7 กันยายน 1935) เป็นกรณีที่น่าสนใจไม่น้อย เพราะนอกจากทั้งสองจะมีถิ่นฐานเป็นชาว Osaka เหมือนกันแล้ว ทั้งสองยังสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัย โตเกียวเช่นเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ดี ความเคลื่อนไหวของ Murakami แต่ละครั้ง แม้จะสร้างสีสันที่น่าตื่นตาตื่นใจให้กับแวดวงธุรกิจญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่าธุรกรรมของเขาจะได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ในเชิงลบจากผู้คนที่เกี่ยวข้อง มากกว่าคำชื่นชมสรรเสริญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาประกาศเข้าซื้อหุ้นของ Hanshin Electric Railway บรรษัทผู้ประกอบการรถไฟฟ้ารายใหญ่แห่งภูมิภาค Kansai เมื่อปลายเดือนกันยายน 2005 พร้อมกับดำริที่จะนำสโมสรเบสบอล Hanshin Tigers ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานและเป็นประหนึ่งสัญลักษณ์รวมใจประจำถิ่น เข้าจดทะเบียนระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์

แม้ว่าแนวความคิดของ Murakami ดังกล่าวจะได้รับแรงคัดค้านทั้งจากผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย รวมถึงบรรดาแฟนกีฬาเบสบอลผู้ภักดีกับเกมการแข่งขันอย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ Murakami ต้องแถลงขออภัยผู้สนับสนุนทีม แต่ทัศนะว่าด้วยการทำหน้าที่อย่างงอกเงยของทุนเป็นสิ่งที่ Murakami ไม่เคยละทิ้ง

นอกจากนี้การลงทุนเข้าซื้อหุ้น Hanshin Electric Railway จำนวนมากถึงกว่า 47% ทำให้ Murakami ก้าวไปสู่การเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารบริษัทใหม่ โดยระบุให้คณะกรรมการกว่าครึ่งหนึ่งเป็นบุคลากรที่ Murakami ขอใช้สิทธิในการเลือกและแต่งตั้งเอง ซึ่งประพฤติกรรมและทัศนะของ Murakami ดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดความกังวลต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับภูมิทัศน์ทางธุรกิจอย่างกว้างขวาง เพราะธุรกิจของ Hanshin ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรถไฟเอกชนรายใหญ่เป็นอันดับที่ 11 ของญี่ปุ่น ถือเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับรากฐานทางสังคมของญี่ปุ่นมากกว่า ในกรณีของ Shoei และ Tokyo Style อย่างไม่อาจเทียบ

ขณะเดียวกันสงครามระหว่าง Hanshin กับ Murakami Fund ได้สะท้อนให้เห็นการแข่งขันระหว่างกลุ่มทุนพื้นฐานเก่าและผู้ท้าทายรายใหม่อย่างไม่อาจเลี่ยง เมื่อ Hankyu Holdings Inc. ผู้ประกอบการรถไฟเอกชนรายใหญ่ อันดับ 6 ของญี่ปุ่นและมีฐานธุรกิจอยู่ในย่าน Kansai เช่นกัน ได้ประกาศเมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า สามารถบรรลุข้อตกลงกับ Hanshin ที่จะผนึกผสานกลไกการบริหาร ของทั้งสองบรรษัทเข้าด้วยกันภายใต้ชื่อ Hankyu Hanshin Holdings ภายในเดือนตุลาคมนี้

เงื่อนไขของการควบรวมกิจการดังกล่าว อยู่ที่ Hankyu จะทำการเสนอซื้อหุ้น Hanshin ในราคาหุ้นละ 930 เยน เพื่อเข้าครอบครองหุ้นของ Hanshin ให้ได้ในสัดส่วนที่ไม่น้อยกว่า 45% ซึ่งในด้านหนึ่งเป็นบอกกล่าวโดยนัยว่าการเข้ามาของ Murakami เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ขณะเดียวกันก็เป็นการกดดันให้ Murakami ต้องตัดสินใจดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนการใช้สิทธิผู้ถือหุ้นรายใหญ่กดดันคณะผู้บริหาร ของ Hanshin ที่ดำเนินต่อเนื่องมานานกว่า 8 เดือน

สิ่งที่น่าจับตาจากกรณีดังกล่าวอยู่ที่การเจรจากับ Murakami Fund จะได้ผลสรุปอย่างไร และหลังจาก Yoshiaki Murakami ต้องข้อหาว่าด้วย insider trading การควบรวมกิจการของบรรษัทรถไฟทั้งสองจะจำเป็นและสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่

ข้อกล่าวหาที่พุ่งเป้าเข้าสู่ Yoshiaki Murakami ครั้งนี้เป็นคดีสืบเนื่องที่ขยายผลมาจากคำให้การของคณะผู้บริหารของ Livedoor ที่ระบุว่า Yoshiaki Murakami ได้พบกับ Takafumi Horie ผู้ก่อตั้งและ CEO ของ Livedoor พร้อมกับเชิญชวนให้ Horie เข้าร่วมเป็นพันธมิตรในการซื้อหุ้นของ NBS (Nippon Broadcasting System) เพื่อครอบงำกิจการสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ เมื่อช่วงต้นปี 2005 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ในช่วงเดือนตุลาคม 2004 ถึงมกราคม 2005 กองทุนของ Murakami ได้ทยอยเข้าซื้อหุ้นของ NBS เป็นจำนวนมากกว่า 6.09 ล้านหุ้นหรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 18% ที่ระดับราคาเฉลี่ยประมาณ 5,000 เยนต่อหุ้น ไว้ก่อนแล้ว ซึ่งการเข้าซื้อหุ้น NBS ของ Livedoor ในเดือนกุมภาพันธ์ 2005 ส่งผลให้หุ้นของ NBS ปรับตัวทะยานขึ้นไปสู่ระดับราคา ที่มากกว่า 6,000 เยนต่อหุ้น ก่อนที่ Murakami จะขายหุ้น NBS กว่า 80% ของหุ้นที่ถืออยู่เพื่อทำกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ และทำให้สินทรัพย์ของ Murakami Fund เฟื่องฟูจากระดับ 87.2 พันล้านเยน เมื่อเดือนมีนาคม 2004 ไปสู่ระดับ 384.2 พันล้านเยนในเดือนธันวาคม 2005 หรือเติบโตกว่า 340% ภายในช่วงระยะเวลาเพียง 20 เดือน

Murakami ดูเหมือนจะตระหนักถึงบทบาทความเป็นคนนอกที่ต้องถูกปราบเป็นอย่างดี และได้เตรียมตัวที่จะรองรับเหตุไม่พึงประสงค์ไว้พอสมควร เมื่อเขาได้ย้ายฐานการดำเนินงานของ MAC Asset Management จากญี่ปุ่นไปสู่ฐานที่มั่นใหม่ในสิงคโปร์ ตั้งแต่ ช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะเดินทางกลับถึงญี่ปุ่นในวันที่ 31 พฤษภาคม และถูกเชิญตัวไปสอบปากคำที่นำไปสู่การจับกุมตัวและแจ้งข้อกล่าวหาในที่สุด

ผลพวงของการจับกุม Murakami ได้ขยายสู่การเปิดเผยข้อมูลใหม่ๆ ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับระบบค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นอย่างไม่อาจเลี่ยง เมื่อมีการระบุว่า Toshihiko Fukui ผู้ว่าการธนาคารแห่งชาติญี่ปุ่น (BOJ) รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงและนักการเมืองจำนวนมากมีส่วนร่วมใน Murakami Fund ด้วย

กรณีดังกล่าวส่งผลให้ Toshihiko Fukui ต้องเดินทางเข้าให้ปากคำกับคณะกรรมาธิการด้านการคลังของรัฐสภา ซึ่ง Fukui ระบุว่า เขาชื่นชม Murakami ที่กล้าหาญลาออกจากงานในกระทรวง METI เพื่อริเริ่มบุกเบิกธุรกิจใหม่

พร้อมกับยอมรับว่า เขาได้ให้ความช่วยเหลือ Murakami ด้วยการเสนอเงินทุนส่วนตัวเป็นจำนวน 10 ล้านเยน ให้กับ Murakami จริง แต่เป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อปี 1999 ซึ่งเขายังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งใน BOJ ซึ่งเมื่อรวมกับเงินทุนที่เจ้าหน้าที่ระดับนำอีกหลายรายของ Fujitsu Research Institute ที่ต่างได้ร่วมเสนอเงินลงทุนเป็นจำนวน 10 ล้านเยน ในแต่ละราย ทำให้ Murakami สามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ตามประสงค์

แม้คำให้การของ Toshihiko Fukui จะเป็นไปในมิติที่เปี่ยมด้วยความเมตตาและอุดมด้วยโอกาสที่หยิบยื่นให้กับ Murakami แต่ข้อเท็จจริงที่เจ็บปวดอยู่ที่ เมื่อ Toshihiko Fukui เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ ในปี 2003 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบต่อนโยบายการเงินโดยตรง Fukui ก็มิได้ถอนเงินลงทุนดังกล่าวออกจาก Murakami Fund แต่อย่างใด ขณะเดียวกัน Fukui ยังได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวเป็นเงินหลายล้านเยนในแต่ละปีอีกต่างหาก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ดูจะสอดรับกับสิ่งที่ Murakami เคยกล่าวไว้ครั้งหนึ่งที่ว่า "Financial rules and those in the Securities and Exchange Law are a matter of yes or no. It's not a world of ethics"

แม้ว่าโลกทุนนิยมจะถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุให้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะแสวงประโยชน์ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบวิธีการ แต่คำถามที่น่าสงสัยยิ่งไปกว่าอยู่ที่ในโลกแห่งความเป็นจริงนี้ เคยมีจริยธรรมสากลปรากฏขึ้นอยู่บ้างหรือไม่

หมายเหตุ:
อ่านเพิ่มเติมเรื่อง Knocking on the Livedoor : Japanatomy นิตยสารผู้จัดการ มีนาคม 2549
และ Nippon Professional Baseball 70 year Itch : นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2547   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us