ปลายปี 2547 ข่าวการประกาศซื้อและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions-M&A) บริษัทไอบีเอ็มในส่วน PC hardware ของบริษัทคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลอันดับหนึ่งของจีน อย่าง เหลียน เสี่ยง หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ เลโนโว (Lenovo) สร้างความตกตะลึงให้กับผู้คนในวงการธุรกิจทั่วโลก และนับจากนั้นเป็นต้นมาบริษัทจีนหลายต่อหลายแห่งก็พาเหรดมุ่งหน้าบุกตลาดโลกกันอย่างคึกคัก ตามกลยุทธ์ขั้นแรก-เรียนทางลัดของบริษัทจีนที่ใช้วิธีการควบรวมเพื่อขยายกิจการตามแบบการบริหารธุรกิจของตะวันตก
ต้นปี 2548 ผมเขียนรายงานเรื่อง "อนาคตมังกร Lenovo หลังเขมือบต้นตำรับ PC" ให้กับนิตยสาร Positioning โดยระบุว่า เส้นทางข้างหน้าของเลโนโวนั้นไม่ได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ทั้งยังเต็มไปด้วยขวากหนามแห่งปัญหา อย่างเช่น การปรับวัฒนธรรมองค์กร ระหว่างจีนกับตะวันตกให้ประสานกันให้ได้ การรักษายอดขายและผลกำไรของทั้งสองบริษัท รวมไปถึงประเด็นเรื่องการเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่บริษัทอย่างเลโนโวต้องรู้จัก "เล่น"
ถึงปัจจุบันการควบรวมของเลโนโวกับไอบีเอ็ม พีซี ผ่านมาได้ปีหนึ่งแล้ว ล่าสุดเมื่อไม่นานมานี้ รายงานผลประกอบการของเลโนโว ประจำปี 2548 ออกมาว่า ผลกำไรของบริษัทหลังการควบรวมกิจการนั้นตกลงถึงร้อยละ 85 จากกำไรกว่า 1,120 ล้านเหรียญฮ่องกง ในปี 2547 ลดลงเหลือเพียง 173.24 ล้านเหรียญฮ่องกงในปี 2548 แม้รายรับจะเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าเป็น 103,600 ล้านเหรียญสหรัฐก็ตามที โดยผลประกอบการดังกล่าวนั้นส่งผลให้ราคาหุ้นของเลโนโวนั้นตกลงไปด้วย
อย่างไรก็ตาม ภาวะการลดลงของกำไร หลังการควบรวมกิจการนั้นก็ได้รับการชี้แจงจากหยางหยวนชิ่ง ซีอีโอของเลโนโวว่า เป็นเรื่องปกติที่กำไรและมูลค่าธุรกิจโดยรวมของบริษัทที่เพิ่งควบกิจการจะลดลงบ้าง โดยเขาได้ยกตัวอย่างการควบรวมกิจการระหว่าง HP กับ Compaq ว่าปีแรกหลัง HP รวมกิจการกับ Compaq มูลค่าธุรกิจโดยรวมก็ลดลงถึงร้อยละ 18 เช่นกัน ทั้งยังชี้แจงด้วยว่า ผลประกอบการที่ย่ำแย่ลงนั้นมาจากการปรับโครงสร้างองค์กร ทั้งเรื่องพนักงานและการย้ายฐานการผลิต ที่ในระยะเริ่มต้นของการควบรวมกิจการ บริษัททุกบริษัทต่างก็ต้องมีต้นทุนด้วยกันทั้งสิ้น
กระนั้นต่อให้คำอธิบายของหยางหยวน ชิ่งเป็นจริงทั้งหมด แต่ปัญหาของเลโนโวกลับไม่ได้จบแค่เพียงปัญหาการบริหารงานภายในองค์กรเท่านั้น เนื่องจากเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ในระหว่างการทำสัญญาการซื้อคอมพิวเตอร์ 16,000 เครื่อง มูลค่ากว่า 13 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเลโนโว กระทรวงมหาดไทยของสหรัฐฯ ทางสหรัฐฯ ได้ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า จะไม่นำคอมพิวเตอร์ 16,000 เครื่องที่ซื้อจากเลโนโวเหล่านี้ไปใช้ในงานที่เกี่ยวข้องกับ "กิจการลับ" ของสหรัฐฯ ด้วยความหวั่นเกรงว่าทางการจีนจะสอดไส้ใส่ อุปกรณ์-โปรแกรมในการทำจารกรรมไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์เหล่านี้!
การออกมาประกาศดังกล่าวของกระทรวงมหาดไทยสหรัฐฯ ถือว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเลโนโวอย่างยิ่ง ทั้งยังคล้ายกับเป็นการตอกลิ่มว่ารัฐบาลจีนยังคงพยายามเข้ามามีอิทธิพลและแทรกแซงกิจการของบริษัทเอกชนจีนอยู่
กรณีปัญหาที่ตามมาเป็นพรวนทั้งก่อนและหลังของการควบรวมกิจการกับบริษัทต่างชาติเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับบริษัทเลโนโวเพียงแห่งเดียว แต่หากย้อนกลับไปดูความพยายามซื้อและควบรวมกิจการบริษัทตะวันตกของบริษัทจีนจะพบว่า มีหลายกรณีที่น่าสนใจและควรค่าแก่การศึกษา
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการเข้าไปฮุบกิจการบริษัทต่างชาติของบริษัทจีนนั้นเพิ่มขึ้นอย่างเป็นลำดับ จากปี 2546 ที่มีมูลค่า 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ปี 2547 เพิ่มเป็น 3,800 ล้านเหรียญสหรัฐ และในปี 2548 ที่ผ่านมามูลค่าในการฮุบกิจการบริษัทต่างชาติโดยบริษัทจีนก็เพิ่มขึ้นเป็น 9,180 ล้านเหรียญสหรัฐ
เมื่อเร็วๆ นี้นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้าน M&A ผู้หนึ่งกล่าวว่า หากพิจารณาความพยายามไล่ซื้อกิจการตะวันตกของบริษัทจีนในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่า ณ เวลานี้ บริษัทจีนยังถือว่าอ่อนหัดใน "เกมการควบรวมกิจการ" ไม่ว่าจะมองจากความล้มเหลวของ CNOOC (China National Offshore Oil Corp. หรือ ในการซื้อบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Unocal ความล้มเหลวของ Haier ในการซื้อ Maytag บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชื่อดังของสหรัฐฯ หรือความล้มเหลวของ China Minmetals ในการซื้อกิจการบริษัท Noranda (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น Falconbridge) บริษัทผู้ผลิตแร่ทองแดง สังกะสี นิกเกิล รายใหญ่ของแคนาดา
เมื่อวิเคราะห์และแจกแจงสาเหตุแห่งความล้มเหลวของความพยายามในซื้อกิจการบริษัทตะวันตกของบริษัทจีนแล้ว เราสามารถสรุปออกมาได้ดังนี้คือ ปัจจุบันจำนวนเงินไม่ได้เป็นประเด็นหลักในการซื้อกิจการบริษัทตะวันตกของบริษัทจีนอีกต่อไป สังเกตได้จากกรณีการซื้อบริษัท Unocal ที่แม้ CNOOC จะเสนอราคามากกว่า Chevron ถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ Chevron กลับเป็นผู้คว้า Unocal ไปในที่สุด แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ปัจจุบันบริษัทจีนขาดประสบการณ์ในเกม กติกา และแทคติกของการควบรวมกิจการในระดับสากลหลายๆ ประการ เช่น กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของแต่ละประเทศ การดำรงอยู่ของสหภาพแรงงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อม การประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ การล็อบบี้นักการเมือง ฯลฯ โดยสังเกตได้ว่าบรรดาปัจจัยที่บริษัทจีนขาดนี้ ต่างเป็นปัจจัยที่แต่ไหนแต่ไรมาในการทำธุรกิจในประเทศบริษัทจีนโดยเฉพาะบริษัทจีนที่เป็นและเคยเป็นรัฐวิสาหกิจไม่ต้องกังวล เพราะไม่ว่าจะทำอะไรก็ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาลจีนอย่างเต็มที่อยู่แล้ว
ทั้งนี้หากแยกแยะตัวอย่างของความล้มเหลวในเกม M&A ของบริษัทจีนแล้ว เราจะสามารถแจกแจงได้คร่าวๆ ดังนี้คือ
ความล้มเหลวของ CNOOC ในการเสนอซื้อบริษัท Unocal นั้นปัญหาด้านหนึ่งแม้จะอยู่ที่ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ แต่ในอีกด้านหนึ่งกรณีนี้เห็นได้ชัดว่า Chevron เล่นเกมเป็น โดยการล็อบบี้นักการเมืองสหรัฐฯ ให้ทำการคัดค้านการเทกโอเวอร์ Unocal ของ CNOOC ผูกโยงและตีกระแสเรื่องนี้ให้เกี่ยวพันกับปัญหาความมั่นคงทางด้านพลังงานของสหรัฐฯ ไปเสีย
ต่อมาความล้มเหลวของ Haier ในความพยายามที่จะเข้าเทกโอเวอร์ Maytag นั้น ปัญหาใหญ่ประการหนึ่งเกิดจากการที่มีความพยายามสร้างกระแสข่าวในหมู่สื่อมวลชนสหรัฐฯ ว่า หาก Haier ซื้อ Maytag ไปแล้ว Haier ก็วางแผนที่จะปิดโรงงานและปลดคนงาน Maytag ในสหรัฐฯ และย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศจีนแทน ซึ่งในที่สุดท่ามกลางกระแสข่าวดังกล่าว Whirlpool คู่แข่งของ Haier ก็คว้า Maytag ไปในที่สุดด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,700 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสำหรับ Haier สิ่งที่น่าเจ็บใจก็คือ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาทางผู้บริหารของ Whirlpool กลับประกาศออกมาว่าจะปิดโรงงาน Maytag ในสหรัฐฯ 3 แห่งและลดพนักงานลง 4,500 คน
นอกจากนี้ยังมีกรณีของ TCL ที่แม้จะทำการควบกิจการสำเร็จ แต่กลับประสบปัญหาในการบริหารโดยหลังจากที่ TCL ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตโทรทัศน์ของจีนเข้าซื้อส่วนการผลิตโทรทัศน์ของ Thomson SA และส่วนโทรศัพท์มือถือของ Alcatel ผลประกอบการในปี 2548 ของ TCL ก็ตกต่ำลงอย่างน่าตกใจคือ ขาดทุนสุทธิ 320.24 ล้านหยวน ผิดกับปีก่อนหน้า (2547) ที่มีกำไรถึง 245.21 ล้านหยวน ขณะที่ในไตรมาสแรกของปี 2549 ก็ยังขาดทุนเพิ่มไปอีก 130 ล้านหยวน
ปัญหาสำหรับ TCL นั้นอยู่ที่หลังการควบรวมกิจการ เมื่อผู้บริหาร TCL ต้องการลดต้นทุนกิจการด้วยการเลิกจ้างพนักงานส่วนการขายราว 80 คนที่อยู่ในฝรั่งเศส ก็พบว่าไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากขัดกับกฎหมายการจ้างงานของฝรั่งเศส นอกจากนี้ผู้บริหารชาวจีนกับพนักงานชาวฝรั่งเศสยังมีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องวัฒนธรรมในการทำงานอีกด้วย เช่น การทำงานในช่วงสุดสัปดาห์ที่พนักงานชาวฝรั่งเศสต่อต้าน
กลยุทธ์การก้าวกระโดดสู่ระดับโลกด้วยการควบรวมกิจการของชาวจีนและบริษัทจีนดังเช่นที่กล่าวมานี้นั้น ในยกแรกดูเหมือนว่าบริษัทจีนจะวิ่งชนตอและเจ็บตัวไม่น้อย แต่กระนั้นปัญหาเหล่านี้ที่บริษัทจีนประสบหากจะกล่าวไปก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก การเรียนรู้เกมธุรกิจในระดับโลกจำเป็นที่จะต้องมีราคาค่าใช้จ่าย และใช้เวลาในการศึกษาที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ชาวจีนและบริษัทจีนจะเรียนรู้เกมนี้ได้รวดเร็วแค่ไหนต่างหาก
|