|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
การที่แบรนด์ของ Home Entertainment ซึ่งได้ชื่อว่ามีราคาแพงลิบลิ่วจะได้รับความเชื่อถือมายาวนานเกือบ 100 ปี คงไม่ได้มีจุดเด่นเพียงแค่เทคโนโลยี หรือดีไซน์เท่านั้น
เครื่องเล่น CD ดีไซน์เก๋ร่วมสมัย โปร่งใส โชว์ให้เห็นจังหวะและกลไกการเปลี่ยนเพลงจากแผ่นหนึ่งไปยังแผ่นอื่น 6 แผ่น ตั้งอยู่บนสแตนด์อะลูมิเนียม เปลี่ยนอารมณ์เครื่องใช้ให้ดูเป็นงานประติมากรรม ถัดไปไม่ไกล ทีวีจอพลาสมาสีดำขับให้เด่นด้วยกรอบอะลูมิเนียมประดับผนังห้องราวภาพเขียนศิลปิน ส่วนลำโพงสไตล์มินิมัลลิสต์ทรงกระบอกเพรียวบางถูกตั้งโชว์กลางห้อง ดูผิดวิสัยลำโพงทั่วไปที่มักถูกซ่อนให้ไกลสายตาแขก
นี่คือบรรยากาศทั่วไปที่หาดูได้ในห้องนั่งเล่นราคาแพงของสาวก Bang & Olufsen แบรนด์ผู้ผลิตสินค้า Home Entertainment System รายใหญ่จากประเทศเดนมาร์ก
แม้ราคาสินค้าจะสูงลิบลิ่ว ตัวอย่างเช่น เครื่องเล่น CD ราคาเกือบครึ่งล้าน ทีวีพร้อมเซตลำโพงราคากว่าล้าน หรือชุดลำโพงหลากหลายรูปแบบที่มีสนนราคาเริ่มต้นเหยียบ 3 หมื่นไปจนถึงเรือนแสน แต่เหตุใดสินค้าของ B&O ก็ยังได้รับความนิยมจากผู้ใช้ทั่วโลก จนสามารถสืบทอดตำนานความหรูมาได้นานร่วม 80 ปี
แนวคิดในการดีไซน์และปรัชญาในการทำงานของ B&O คือคำตอบสุดท้าย
"เวลาเปิดทีวี คุณภาพของภาพและการมองเห็นเป็นเรื่องสำคัญ แต่เวลาที่ปิดทีวี ดีไซน์ของทีวีกลายเป็นสิ่งสำคัญขึ้นมาทันที ไม่เช่นนั้นทีวีก็กลายเป็นแค่กล่องดำที่ทำลายความงามของห้อง" เป็นมุมมองของ David Lewis ดีไซเนอร์ระดับโลก หัวหน้าแผนกดีไซน์ของ B&O ที่มีต่อบทบาทของทีวีในห้องนั่งเล่น
แนวคิดที่มองว่าดีไซน์และฟังก์ชันต้องโดดเด่นไปพร้อมกัน จึงเป็นบรรทัดฐานการทำงานที่ทำให้ดีไซเนอร์และผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคนิคต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ขั้นตอนแรกในการผลิตสินค้าใหม่ ซึ่งปรัชญาการทำงานเช่นนี้เองที่สั่งสมกลายเป็นคุณสมบัติสินค้า นั่นคือ Craftsmanship และ Integration ที่เพิ่มความเป็นอมตะให้กับ B&O มาจนทุกวันนี้
"สินค้าของเราถูกสร้างขึ้นด้วยความเข้าใจในลูกค้าของเรา พวกเป็นคนมีเงินแต่ไม่มีเวลาเพราะต้องทำงานหนักมาก พวกเขารู้ต้องการความแตกต่างและรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร ถ้าต้องพักผ่อนอยู่บ้าน เขาก็ต้องการความสะดวกที่สุด พื้นฐานธุรกิจของเราก็คือ ทำให้โฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ของเขาง่ายขึ้นและสมบูรณ์แบบขึ้นด้วย total solution จากสินค้าเรา" แคร์ล เลียง ผู้จัดการทั่วไป รีเทลและการตลาด เอเชียแปซิฟิก บริษัทแบงแอนด์โอลูฟเซ่น กล่าวในวันแถลงข่าวครบรอบ 80 ปีที่สยามพารากอน
ลำโพง BeoLab 5 ที่ออกแบบตั้งแต่ 3 ปีก่อน ได้นำเทคโนโลยี Acoustic Lens Technology ที่ให้เสียงราวกับยกวงออร์เคสตรามาเล่นที่บ้าน หรือ Adaptive Bass Control เทคโนโลยีแก้ปัญหาคุณภาพเสียง ระดับเสียง bass เสียงคมชัด และตำแหน่งจัดวางที่อาจทำให้เสียงไม่สม่ำเสมอ โดยลำโพงจะส่งสัญญาณไปวัดขนาดห้อง วัสดุกรุผนัง เฟอร์นิเจอร์ในห้อง เพื่อคำนวณหาแรงสั่นสะเทือนในแต่ละทิศทาง เพื่อให้เกิดระดับเสียงชัดเจนและสม่ำเสมอเท่ากันทั่วห้อง
BeoVision 6 ทีวีแอลซีดีที่มีเครื่องเล่นดีวีดี built-in มาพร้อมกับเทคโนโลยี anti-reflection ซึ่งช่วยลดปัญหาหน้าจอสะท้อนแสงไม่ว่าจะดูในช่วงเวลาแสงใดก็ตาม ในตัวเครื่องยังมีลำโพงคุณภาพเสียงชั้นดี built-in อยู่ที่ฐาน หลายรุ่นมี Dolby digital & surround sound system ซึ่งเป็นระบบเสียงที่นิยมใช้ในโรงหนัง ช่วยเติมเต็มอารมณ์โฮมเธียเตอร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
เหล่านี้คือโซลูชั่นที่เป็นผลิตผลทางความคิดของ B&O ที่ต้องผ่านการระดมสมองจากดีไซเนอร์ตั้งแต่ 5-10 คน ร่วมกับช่างเทคนิคและผู้เกี่ยวข้องในการทดลองระบบอีกนับร้อย
กว่าจะออกมาเป็นสินค้าใหม่แต่ละชิ้น B&O ต้องอาศัยการวิจัยจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นวิจัยทางด้านเทคโนโลยีด้านดีไซน์ ยังรวมถึงการศึกษาและวิเคราะห์พฤติกรรมตลาด ซึ่งผลการวิจัยทั้งหมดจะต้องผสมกันออกมาเป็นสินค้าใหม่ที่ "breakthrough" ทางด้านดีไซน์ เทคโนโลยี และพฤติกรรมการใช้งานของผู้บริโภคที่ช่วยให้ง่ายขึ้น
เช่น BeoSound 9000 เครื่องเสียงที่โชว์ให้เห็นซีดีพร้อมกัน 6 แผ่น ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ไม่ต้องเปลี่ยนแผ่นบ่อยๆ บวกกับความไม่เห็นด้วยของเดวิดเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ที่ว่าเครื่องเล่นมักซ่อนแผ่นซีดีไว้ และผลศึกษาพบว่า คนส่วนใหญ่จะมีเพลงโปรดไม่มาก และแต่ละครั้งมักฟังเพลงไม่เกิน 5-6 แผ่น แต่ถึงกระนั้น BeoSound 9000 ก็ยังสามารถเก็บเพลงในหน่วยความจำได้มากถึง 200 แผ่น รวมถึงต่อเข้า PC และเป็นวิทยุได้ด้วย
"ผู้ผลิตหลายรายมุ่งผลิตสินค้าที่เน้นเทคโนโลยีสมัยใหม่ แข่งกันออกสินค้าให้เร็วกว่าและบ่อยกว่า หลายครั้งที่ปรับปรุงเพียงเล็กน้อยแล้วก็รีบออกรุ่นใหม่ โดยลืมไปว่าสิ่งที่ปรับไม่ได้ทำให้คุณสมบัติสินค้าดีขึ้น แต่ B&O เราใช้ระยะเวลาวิจัย สำรวจ ค้นหาจนกว่าจะพบ feature ใหม่ที่ลูกค้าต้องการจริงๆ แล้วพัฒนาดีไซน์และเทคโนโลยีขึ้นมาเป็นสินค้าใหม่ ซึ่งทำให้สินค้าเรามี lifespan ที่นาน" แคร์ล เลียง ให้ความเห็น
อาจดูเหมือนเป็นข้ออ้างแต่ก็ให้เหตุผลที่ B&O ออกสินค้าใหม่ได้เพียง 5 ชิ้นต่อปี พร้อมกับสะท้อนจุดยืนที่แตกต่างกับ Sony, Samsung, Panasonic, Toshiba และแบรนด์เครื่องเสียงอื่นได้ดีทีเดียว
อีกจุดเด่นของ B&O คือการผนวก ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่หนีไม่พ้นวิถีชีวิตออนไลน์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในประสบการณ์ดูหนังฟังเพลง โดยเครื่องเสียงรุ่นหลังๆ ของ B&O นอกจากฟังวิทยุ FM/AM ได้แล้ว ทุกเครื่องยังเชื่อมต่อกับ PC โหลดเพลงจากอินเทอร์เน็ต ก๊อบปี้ไฟล์จากฮาร์ดดิสก์ แผ่นซีดี หรือ MMC และ SD card ได้หลายพันเพลง
ความโดดเด่นและร่วมสมัยทั้งด้านดีไซน์และฟังก์ชันการใช้งาน ทำให้ผู้รักเครื่องเสียงพากันหลงใหล B&O จากเดนมาร์ก กระจายไปทั่วยุโรปแล้วข้ามฝั่งไปโด่งดังในอเมริกา และกระจายมาเอเชียและทั่วโลก
โรงแรมหรูหลายแห่งในยุโรปและเครือใหญ่อย่าง Starwood เลือกใช้สินค้า B&O เพื่อเพิ่มความหรูเป็นพิเศษ และสินค้าหลายตัวของ B&O ยังเข้าไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Modern Art) ในมหานครแห่งศิลปะและแฟชั่นอย่างนิวยอร์กอีกด้วย
"ปัญหาในโลกที่เต็มไปด้วยการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ก็คือมีเทคโนโลยีมากมายให้เราได้เลือกใช้เกินความต้องการ บ่อยครั้ง แทนที่เทคโนโลยีเหล่านั้นจะช่วยทำให้ชีวิตง่ายขึ้น มันกลับทำให้สับสนขึ้นไปอีก" เดวิดให้ความเห็น ก่อนจะถึงข้อสรุป "โลกยุคนี้ เราควรกลับไปสู่ไอเดียดั้งเดิม ทำให้ง่าย แล้วก็ลบ technology mess ออกให้หมด"
ทั้งหมดนี้ก็คือวิถีทางที่ทำให้ B&O ยืนหยัดข้ามยุคสมัยมาได้อย่างภาคภูมิบนปรัชญา พื้นฐานที่ว่า "B&O is for those who consider taste and quality before price"
|
|
|
|
|