|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
เงียบหายไป 2-3 ปี Propaganda เปิดตัวอีกครั้งหลังปรับองค์กรขนานใหญ่ พร้อมการกลับมาของตัวการ์ตูนขี้เล่นแฝงความทะลึ่งทะเล้น เจ้าของชื่อ Mr.P พระเอกดาวรุ่งหน้าเก่าที่จะมาชูธงนำ Propaganda ก้าวเข้าสู่ศักราชใหม่ ปีที่ 13
One Man Shy โคมไฟร่างผู้ชายเปลือยกายมีฝาครอบศีรษะ ปุ่มสวิตช์อยู่ที่อวัยวะเพศ ทำให้หลายคนอมยิ้ม นั่นคือสินค้าเปิดตัว Mr.P ครั้งแรกในปี 2002 ก่อนจะมีคอลเลกชั่น Mr.P ตามออกมาเต็มชั้น
ที่ตัดเทปกาว One Man Try พวงกุญแจ One Man Key สายคล้องมือถือ Mr.P Strap ที่วางเทียน One Man Lonely ที่กั้นประตู One Man Cry แก้วกาแฟ Mr.P Break ฯลฯ เป็นสินค้าคอลเลกชั่น Mr.P ที่ทยอยออกมาสร้างรอยยิ้มเคล้าเสียงหัวเราะและความฮือฮาอย่างมากในร้านพร็อพพาแกนดา
หลังวางตลาดเพียงไม่นาน ปรากฏการณ์ "Mr.P Fever" ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เมื่อ 3 ปีก่อน ส่งผลให้พร็อพพาแกนดาเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างมากและรวดเร็ว จนผู้บริหารและทีมงานต่างก็ตั้งรับไม่ทัน
และนี่ก็คือการก้าวเข้าสู่ห้วงสุญญากาศของพร็อพพาแกนดาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
กัญธลีวัลย์ ช่วยบุญ ในฐานะโฆษกแห่งพร็อพพาแกนดา เล่าย้อนเหตุการณ์ช่วงนั้นว่า "คนหันมามองเราเยอะ ตลาดอื่นเริ่มสนใจนำดีไซน์ไปพัฒนาสินค้า มีคนจ้างให้เราออกแบบแพ็กเกจ ของแถม ฯลฯ เยอะมาก จากที่เคยติดต่อภายในทำกันเอง แต่พอมีลูกค้าภายนอกหลายราย องค์กรก็เลยขยายจาก 20 คนเพิ่มไปถึง 60 คน พอคนเยอะ ขั้นตอนเยอะ ปัญหาก็เยอะ ผู้บริหารยอมให้ถอยกลับไปเริ่มต้นใหม่ 2 ปีที่ผ่านมาก็เลยไม่มีสินค้าออก"
ช่วงปรับลดคนและจัดสรรองค์กรใหม่ ยังเป็นเวลาเดียวกับที่ชัยยุทธ พลายเพ็ชร์ ดีไซเนอร์ผู้ให้กำเนิด Mr.P (อ่านล้อมกรอบ "ต้นแบบ Mr.P") ต้องเข้าผ่าตัดเนื้อร้ายที่นิ้ว ช่วงนี้จึงเป็นหลุมดำสำหรับ Mr.P ด้วยเหมือนกัน
การกลับมาทำงานของชัยยุทธและการเปิดตัวครั้งใหม่ของพร็อพพาแกนดาครั้งนี้ อาจถือเป็นจุดเริ่มต้นของคลื่นสึนามิ Mr.P ระลอกใหม่ เพราะครั้งนี้ Mr.P ได้รับสัญญาณไฟเขียวจากผู้บริหารที่ยอมให้ Mr.P แรงได้เต็มที่โดยไม่ต้องห่วงแบรนด์แม่ ด้วยเห็นว่า Mr.P ยังมีทางไปที่น่าสนใจอีกมาก
"ตอนนั้น Mr.P ดังมากๆ เราก็คุยกันว่าจะให้ Mr.P แซงแบรนด์พร็อพพาแกนดาไม่ได้ แต่พอมาถึงนาทีนี้ ทุกคนยอมรับว่า ความแรงของ Mr.P หยุดไม่ได้จริงๆ บวกกับไอเดียที่หลั่งไหลพรั่งพรูของดีไซเนอร์ (ชัยยุทธ พลายเพ็ชร์) เราน่าจะส่งให้โตให้สุดแรง" กัญธลีวัลย์กล่าว
สำหรับสาธิต กาลวันตวาณิช Creative Director และหนึ่งในผู้ก่อตั้งและบุกเบิกแบรนด์พร็อพพาแกนดา ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Mr.P ที่มีต่อแบรนด์แม่ก็คือ สินค้า Mr.P สามารถสื่อสารเกี่ยวกับอารมณ์ขันที่ฉลาด อันเป็นจุดยืนของแบรนด์พร็อพพาแกนดาได้อย่างรุนแรง รวดเร็ว และชัดเจนมาก
ประสิทธิภาพการสื่อสารและความนิยมใน Mr.P ช่วงแรกกลายเป็น Big Step ของพร็อพพาแกนดา ที่ทำให้กลุ่มลูกค้าขยายวงจากกลุ่มคนในวงการครีเอทีฟ โฆษณา และผู้ชอบงานดีไซน์ เข้าสู่กลุ่มลูกค้าวัยรุ่นและคนทั่วไปที่มองหาของขวัญชิ้นพิเศษ
สาธิตเล่าประสบการณ์ตรงว่า "ขนาดสาวญี่ปุ่นหน้านิ่ง เรียบ พอเห็น Mr.P ตั้งอยู่ พวกเธอก็หลุดหัวเราะฮาก๊ากออกมา นี่แสดงให้เห็นว่า การสื่อสารของ Mr.P ได้ผลมาก"
แรกเริ่ม Mr.P ก็เหมือนสินค้าอื่นที่ถูกพัฒนาบนพื้นฐานปรัชญาการทำงาน ความพยายามมองหาสิ่งใหม่ และไม่ซ้ำรอยตัวเอง โดยเน้นที่ฟังก์ชันทางด้านอารมณ์ เพราะสาธิตเชื่อว่าสินค้าที่ผลิตออกมาเพื่อประโยชน์ใช้สอยมีหนาแน่นเต็มโลกไปหมดแล้ว
"Marcel Wanders ดีไซเนอร์ระดับโลกพูดว่า การคิดถึงฟังก์ชันมากนั่นแสดงว่าคุณไม่มีอะไรจะเล่น ลองถ้าคนรักสินค้าแล้วไม่ว่าจะมีฟังก์ชันหรือไม่ หัวใจก็เปิดเลย เพราะคนเราวันนี้ต้องการสิ่งของที่เล่าความเป็นตัวตนเขา ทำให้เขาทึ่ง และรู้สึกว่านี่แหละสินค้าของเขา นั่นคือหน้าที่ของ emotional design"
นิยามที่ปรากฏหราที่เซกชั่นตัว P ใน Design Encyclopedia ของ Museum of Modern Art ช่วยตอกย้ำจุดยืนของพร็อพพาแกนดาได้อย่างหนักแน่น ในแง่มุมของการสร้างความหมายใหม่ในสเปซ (space) และชีวิตประจำวัน ด้วยอารมณ์ขันและความสนุกสนาน ที่นึกไม่ถึงซึ่งสอดแทรกในดีไซน์
ตัวอย่างเช่น One Man Float จุกปิดอ่างล้างจานรูป Mr.P นอนลอยคอในห่วงยาง
"ความหมายแฝงของอ่างล้างชามคือน่าเบื่อ มันมี subconscious ซ่อนอยู่ แต่พอเอา Mr.P ไปลอยปุ๊บ มันก็ทำให้สเปซตรงนี้สนุกขึ้น ก็ทำให้อารมณ์ในช่วงเวลานั้นดีขึ้น สุดท้ายก็ตอบโจทย์หน้าที่เบื้องต้นที่ว่า สินค้าเกิดมาเพื่อทำให้ชีวิตคนดีขึ้น"
One Man Tie ผลิตภัณฑ์เก็บสายไฟรูป Mr.P ในสภาพที่ถูกพันตัว รัดคอ มัดมือ ปิดปาก ด้วยสายไฟ สายโทรศัพท์ ราวกับถูกมัดตราสังต้องทนทุกข์ทรมานกลางโต๊ะทำงาน นี่ก็คืออีกแง่มุมที่ดีไซเนอร์สะท้อนความอึดอัด สับสนยุ่งเหยิงในวิถีชีวิตคนทำงาน ซึ่งเป็นตลกร้ายที่สอดแทรกในไอเดียสินค้า
"เซ็กซ์ ความขี้เกียจ ความโง่ ความลามก ความทรมาน ฯลฯ ถูกเรียกว่าด้านมืดที่สังคมเลี่ยงไม่พูดถึง ทั้งที่มันเป็นอยู่ในมนุษย์ทุกคน Mr.P เป็นวิธีที่เราพูดถึงด้านมืดของคนอย่างตรงไปตรงมา แต่เปลี่ยนวิธีพูดให้ดูน่ารักด้วยดีไซน์และแฝงอารมณ์ขันแบบส่อเสียดสไตล์คนไทย" สาธิตอธิบาย
Conceptual Design ของ Mr.P ถูกวางให้เป็นตัวการ์ตูนที่ภายนอกดูมีปมด้อย เช่น ไหล่ตก ก้นเล็ก พุงป่อง หัวกลมโต แต่ก็ชดเชยความน่าสงสารด้วยบุคลิกทะเล้นขี้เล่น และอาการทะลึ่งตึงตัง ซึ่งช่วยเปลี่ยนความหมายการใช้งานในชีวิตประจำวันได้อย่างฉลาด จนหลายคนอมยิ้มและอดระเบิดเสียงหัวเราะออกมาไม่ได้
สาธิตให้เหตุผลที่ Mr.P สามารถสร้างเสียงหัวเราะดังข้ามพรมแดนไปในหลายประเทศ ว่า "dirty joke, black comedy หรือตลกเจ็บตัวเป็นเรื่องสากล เอาถาดตีหัวปุ๊บก็ขำกันตั้งแต่แอฟริกันยันเซี่ยงไฮ้ เพราะความขำเป็นภาษาสากล ทุกคนชอบตลกกันอยู่แล้ว Mr.P จึงสื่อสารถึงคนทั่วโลกได้ง่ายมาก"
เรียกว่า นี่คือกลวิธีที่ฉลาดและแยบยลในการสะท้อนด้านมืดที่มีอยู่ในปุถุชนทุกเชื้อชาติออกมา ทำให้ทุกคนยอมรับด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ โดยลดทอนความล่อแหลม รวมทั้งใช้ดีไซน์และฟังก์ชันมาเปลี่ยนมุมมอง ทัศนคติ และความรู้สึก จนดูเป็นเรื่องน่ารัก
"ทุกวันนี้มนุษย์เราเริ่มกลับมาตรวจสอบ life vision หรือทัศนคติต่อโลกและชีวิต ในแง่มุมและความหมายใหม่ๆ สตูดิโอออกแบบของพร็อพพาแกนดาก็เปรียบเหมือนห้องแล็บในการมองชีวิต ซึ่งเต็มไปด้วยความหมายที่เปิดประเด็นและมุมมองใหม่ๆ ให้กับสินค้าและรายละเอียดในชีวิต"
|
|
|
|
|