Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2549
เมื่อมดต้องสู้กับช้าง             
โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
 


   
www resources

โฮมเพจ เอคเซนเชอร์

   
search resources

เอคเซนเชอร์
Economics
Consultants and Professional Services




การแข่งขันในเวทีธุรกิจระดับโลกนับวันจะยิ่งเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งสร้างความแตกต่างเพื่อหนีจากคู่แข่ง เพื่อรักษาตลาดในประเทศและเพิ่มโอกาสในระดับภูมิภาค

อุตสาหกรรมภาคการผลิตของไทยเคยมีจุดเด่นในเรื่องต้นทุนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรงหรือปัจจัยการผลิตด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้สินค้าของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก รวมทั้งดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม จุดเด่นดังกล่าวเริ่มหดหายไปหลังจากที่จีนเริ่มปฏิรูประบบเศรษฐกิจและเปิดประเทศรับการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศจีนได้กลายเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกและส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อผู้ผลิตสินค้าทั่วโลก รวมทั้งผู้ประกอบการไทยด้วย ลัดดา หญิงสาววัยต้น 30 ตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะหลังจากที่เข้ามาสานต่อธุรกิจรับจ้างผลิตเสื้อยืดให้กับเจ้าของแบรนด์ต่างๆ ของครอบครัวได้ไม่นาน แรงกระเพื่อมจากการขยับตัวจีนก็ส่งผลมาถึงเธอพอดี

"มีลูกค้าหลายรายที่ทำธุรกิจกับเรามานาน อยู่ๆ ก็มาขอให้เราลดราคาลง แล้วเขาบอกมาเลยว่าจะเอาราคานี้ ทำได้ไหม เพราะที่จีนยังทำได้เลย สุดท้ายเราก็ต้องปล่อยไปเพราะทำไปก็ขาดทุน"

ไม่เฉพาะธุรกิจของลัดดาเท่านั้น เธอเล่าว่าผู้ผลิตเสื้อผ้าขายตามศูนย์ค้าส่งก็ลำบากไม่แตกต่างกัน โดยเฉพาะตลาดโบ๊เบ๊ซึ่งเคยมีลูกค้าจากยุโรปตะวันออกและตะวันออกกลางมาหอบหิ้วเสื้อผ้าจากที่นี่ไปขายต่อ ทุกวันนี้ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวหายไปเกือบหมด ขณะเดียวกันผู้ค้าจำนวนมาก ก็ต้องปรับตัวโดยหันไปรับเสื้อผ้าราคาถูกจากจีนเข้ามาขายแทนสินค้าจากโรงงานไทย

ผลกระทบจากจีนไม่ได้หยุดอยู่ที่สินค้าที่มีมูลค่าต่ำเท่านั้น ทุกวันนี้จีนเริ่มขยับเข้าไป สู่สินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือไปจนถึงชิ้นส่วนยานยนต์ และไม่เพียงแค่จีนรายเดียว ทุกวันนี้ยังมีประเทศอื่นที่เริ่มมีบทบาทในระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น อินเดีย ซึ่งปัจจุบันเป็นฐานรองรับการ outsource ธุรกิจจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปรายใหญ่ของโลก

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาในหัวข้อ The World in 2012 ของ Accenture ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาในด้านการจัดการและเทคโนโลยีระดับโลก เชื่อว่า ในปี 2012 กลุ่มประเทศ BRIC ที่ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน จะก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างมากในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศเหล่านี้ด้วยปัจจัยที่แตกต่างกัน

โดยประเทศจีนมีการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานและโครงการสาธารณูปโภคจำนวนมาก ซึ่งเป็นผลมาจากเงินทุนที่ไหลเข้าไปในประเทศ ส่วนอินเดียมีความได้เปรียบจากเทคโนโลยีด้านไอทีที่บริษัทไฮเทคทั้งซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ได้เข้าไปตั้งฐานการผลิต รวมทั้งลงทุนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนา ด้านบราซิลปัจจุบันเป็นฐานสำคัญในการผลิตรถยนต์ในทวีปอเมริกาใต้ ในขณะที่รัสเซียมีฐานะแข็งแกร่งขึ้นจากการปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันและทองคำ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของรัสเซีย

แนวโน้มอีกประการหนึ่งที่ผลการศึกษาของ Accenture ชี้ให้เห็นก็คือ อิทธิพลของบริษัทข้ามชาติจะทวีสูงขึ้น ทุนต่างชาติจะสามารถยึดครองส่วนแบ่งตลาดที่เคยเป็นของผู้ประกอบการท้องถิ่นได้มากขึ้น

อรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ Accenture ประเทศไทย แนะนำบริษัทไทยให้เตรียมพร้อมรับมือกับแนวโน้มดังกล่าว โดยมี 4 ประเด็นที่สำคัญ ประการแรก ต้องศึกษาให้เข้าใจถึงผลกระทบและโอกาสในการทำธุรกิจกับจีน โดยต้องมองหาโอกาสที่จะก่อให้เกิดประโยชน์จากการขยายตัวของจีน ขณะเดียวกันต้องกำหนดยุทธศาสตร์ในการจะเป็นพันธมิตรหรือแข่งขันกับบริษัทจีนให้ชัดเจน

"ธุรกิจของจีนในบางอุตสาหกรรมเข้ามาในไทยก็ต้องมีพาร์ตเนอร์ เพราะจะช่วยเรื่องฐานลูกค้า หรือถ้าบริษัทไทยไปทำธุรกิจในจีนก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะไปหาพาร์ตเนอร์ อย่างไร"

ประการถัดมาคือ ต้องพยายามยกระดับขึ้นเป็นบริษัทในระดับภูมิภาคหรือระดับโลก โดยการมุ่งสู่ความเป็นเลิศทางธุรกิจและนำนวัตกรรมเข้ามาสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสร้างแบรนด์ให้แข็งแกร่งเพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีระดับโลกได้

"บริษัทไทยที่มีแบรนด์แข็งแรงในระดับภูมิภาคตอนนี้คือ ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเป็น regional player" อรพงศ์กล่าว

ประการที่สาม ได้แก่ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจมากขึ้น โดยต้องมองว่าเทคโนโลยีไม่ได้เป็นเพียงแค่ปัจจัยในการดำเนินธุรกิจ แต่เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของธุรกิจ

ประการสุดท้าย ต้องมีความเข้าใจในลูกค้าอย่างถ่องแท้และสามารถนำความรู้ความเข้าใจนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ด้วยเหตุนี้กระบวนการ CRM (Customer Relationship Management) จึงมีความสำคัญอย่างมากสำหรับแต่ละองค์กรนับจากนี้เป็นต้นไป

บริการ Serenade ของเอไอเอส ซึ่งเป็นลูกค้ารายหนึ่งที่ Accenture นำมายกตัวอย่างแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำ CRM และการสร้างแบรนด์ ซึ่งนำไปสู่การสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ จนสามารถหลุดพ้นจากการแข่งขันด้านราคาได้

"Serenade ทำให้ลูกค้าเห็นได้ว่าคุ้มค่าเมื่อใช้บริการนี้ เพราะสามารถจองตั๋วหนังให้ได้ จองตั๋วเครื่องบินในช่วงเวลาที่หายากได้ ลูกค้าก็ยินดีที่จะจ่ายเพิ่มขึ้น"

เอไอเอสอาจจะประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่สำหรับลัดดา วันนี้เธอยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะลุยต่อในธุรกิจเสื้อผ้าโดยที่ยังไม่เห็นโอกาสที่จะชนะ หรือจะหันไปทำอย่างอื่นดี   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us