|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
ธุรกิจโมเดิร์นเทรดไม่ได้แข่งขันกันที่ทำเลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น การมีลอจิสติกส์ที่ดียังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มโอกาสในการขายได้อีกด้วย
ตั้งแต่วันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประชาชนในละแวกใกล้เคียงสำนักงานขนส่งทางบกที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี อาจแปลกใจกับจำนวนรถบรรทุกสินค้าที่วิ่งเข้าออกพื้นที่สำนักงานแห่งนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืน ความคึกคักที่เกิดขึ้นเช่นนี้ก็เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของศูนย์กระจายสินค้าของบริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ซึ่งทำงานกันตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงเสาร์
"เราจะเริ่มรับสินค้าที่ซัปพลายเออร์มาส่งตั้งแต่ตี 2 จนถึง 4 โมงเย็น จากนั้นจะเริ่มคัดแยกสินค้าออกเป็นแต่ละสาขา ประมาณ 3 ทุ่มก็จะเริ่มมีรถมารับเพื่อกระจายสินค้าออก ซึ่งจะไปถึงสาขาตั้งแต่ตอนเที่ยงคืนจนถึงเย็นของวันรุ่งขึ้น ขึ้นอยู่กับระยะทาง" กิตตินันท์ รัชนีกรไกรลาศ ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายซัปพลายเชน อธิบายถึงการทำงานของศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้
สยามแม็คโครทำธุรกิจศูนย์ค้าส่งสินค้าในระบบสมาชิก ในชื่อ MAKRO ปัจจุบันมีจำนวนสาขา 29 แห่งทั่วประเทศและมีสมาชิกราว 1.8 ล้าน ราย
ศูนย์กระจายสินค้าที่คลองหลวงมีพื้นที่ 7,000 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 30 ล้านบาท ปัจจุบันมีซัปพลายเออร์มาใช้บริการแล้ว 160 ราย จากจำนวนซัปพลายเออร์ทั้งหมดกว่า 1,000 ราย ทำการกระจายสินค้าวันละกว่า 45,000 กล่อง และใช้รถขนสินค้าวันละ 50-60 เที่ยว นอกจากศูนย์กระจายสินค้าแห่งนี้แล้ว แม็คโครยังมีศูนย์กระจายสินค้าอีกแห่งที่วังน้อย ใช้สำหรับกระจายสินค้าที่เป็นอาหารสดและอาหารแช่แข็งโดยเฉพาะ
การบริหารสินค้าและจัดส่งสินค้าไปยังสาขา ถือเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งสำหรับธุรกิจโมเดิร์นเทรดในลักษณะที่สยามแม็คโครดำเนินการอยู่ เพราะนอกจากจะมีผลต่อต้นทุนการดำเนินงานแล้ว ยังส่งผลต่อโอกาสทางธุรกิจอีกด้วย
"สิ่งสำคัญของธุรกิจเราก็คือต้องมีของขาย ถ้าลูกค้ามาแล้วของไม่มี โอกาสมันหายไปเลย" สุชาดา อิทธิจารุกุล กรรมการผู้จัดการสยามแม็คโครกล่าว
ก่อนหน้าที่จะนำระบบศูนย์กระจายสินค้ามาใช้สยามแม็คโคร ให้แต่ละสาขาสั่งสินค้าไปยังซัปพลายเออร์แต่ละรายโดยตรง และซัปพลายเออร์จะเป็นผู้ส่งสินค้าไปยังแต่ละสาขาเอง ซึ่งวิธีดังกล่าวทำให้ซัปพลายเออร์ต้องออกใบสั่งซื้อ 1 ใบต่อสาขา ขณะเดียวกัน แต่ละซัปพลายเออร์มีการกำหนดปริมาณการสั่งสินค้าขั้นต่ำ เพราะฉะนั้นการจะสั่งสินค้าจึงจำเป็นต้องรอให้ครบตามจำนวน ทำให้ในบางครั้งเกิดปัญหาสินค้าขาด นับเป็นการสูญเสียโอกาสของสยามแม็คโคร
การนำระบบศูนย์กระจายสินค้ามาใช้จะช่วยลดปัญหาดังกล่าว โดยศูนย์กระจายสินค้าจะรวบรวมการสั่งสินค้าจากทุกสาขารวมเป็นหนึ่งออร์เดอร์ ช่วยลดต้นทุนด้านธุรการให้กับซัปพลายเออร์และสยามแม็คโครด้วย โดยซัปพลายเออร์จะส่งสินค้ามาที่ศูนย์กระจายสินค้าเพียงแห่งเดียว หลังจากนั้นศูนย์จะจัดส่งสินค้าไปยังแต่ละสาขาเอง
"จากการศึกษา ซัปพลายเออร์ที่มาใช้ระบบนี้จะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้เกือบ 2%" กิตตินันท์กล่าว
ในส่วนของสยามแม็คโคร นอกจากการแก้ปัญหาสินค้าขาดสต็อกแล้ว การใช้ศูนย์กระจายสินค้ายังมีส่วนช่วยเพิ่มโอกาสในการขาย ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มยอดขายมากขึ้น ขณะเดียวกันยังลดเวลาในการจัดส่งสินค้าจากซัปพลายเออร์อีกด้วย
การลงทุนของสยามแม็คโครในปีนี้ไม่ได้มีเพียงศูนย์กระจายสินค้าเท่านั้น คาดว่าปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าจะเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่ง คือ เกาะสมุยและสระแก้ว ใช้งบลงทุนประมาณ 600 ล้านบาท โดยสาขาสมุยจะเป็นสาขารูปแบบใหม่แห่งแรกของสยามแม็คโคร (Eco Store) มีขนาดพื้นที่เล็กกว่าสาขาทั่วไป คือ 5,000 ตารางเมตร มุ่งเน้นสินค้าในหมวดอาหาร เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการโรงแรม ภัตตาคาร และร้านอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของสยามแม็คโครที่เน้นขยายฐานลูกค้ากลุ่มนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
ถึงแม้ปีที่ผ่านมาจะไม่มีการเปิดสาขาเพิ่ม แต่สยามแม็คโครมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบสาขามาตั้งแต่ปี 2546 ด้วยการเพิ่มพื้นที่ขายอาหารสดให้กว้างขึ้นและเพิ่มสินค้าอาหารแช่แข็งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น รวมทั้งเพิ่มความหลากหลายของอาหารแห้งและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ตลอดจนสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจอาหาร ทำให้ยอดขายสินค้าในหมวดอาหารในปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 83% ของสินค้าทั้งหมด
ผู้บริหารสยามแม็คโครตั้งความหวังว่าการปรับปรุงสาขาที่เสร็จครบทั้งหมดเมื่อต้นปีนี้และการเปิดสาขาใหม่อีก 2 แห่งจะเป็นแรงหนุนสำคัญในการสร้างอัตราเติบโตให้กับยอดขายและกำไรของบริษัทได้ เพราะผลการดำเนินงานงวดไตรมาสแรกที่ประกาศออกมา แม้ยอดขายจะเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ 8.7% แต่กำไรสุทธิกลับเพิ่มขึ้นเพียง 0.9% เท่านั้น
|
|
|
|
|