|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
ภาพของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนแนวอนุรักษนิยมของ K-Assets ที่คนส่วนใหญ่เคยรู้สึก กำลังจะถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่ความทันสมัย
หลัง วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ
4 เดือนเศษในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนกสิกรไทย (K-Assets) ของวิวรรณ ธาราหิรัญโชติในสายตาคนภายนอกอาจยังมองไม่เห็นความแปลกใหม่ที่เป็นรูปธรรม มากไปกว่าการเปลี่ยนตัวบุคคลที่เข้ามาบริหาร แต่แท้จริงแล้ว บุคลิกซึ่งเป็นแกนกลางที่สำคัญของธุรกิจใน บลจ.แห่งนี้กำลังถูกสร้างขึ้นใหม่ โดยภาพลักษณ์เดิมกำลังถูกทำให้เลือนรางออกไปทีละจุดทีละจุด
หลังเข้ารับตำแหน่ง วิวรรณใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการลงพื้นที่พบปะพูดคุยโดยตรงกับลูกค้าผู้ถือหน่วยลงทุน เหตุผลหนึ่งที่ต้องทำเช่นนี้ ก็เพื่อแนะนำตัวเอง และให้คำปรึกษาในการลงทุนแก่ลูกค้าเหล่านั้น
"เราต้องการให้ลูกค้าเห็นเราเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา มากกว่าเห็นเราเป็นแค่คนขายของ ที่เจอหน้าก็ถามว่า วันนี้มีอะไรมาขาย" วิวรรณกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เหตุผลที่สำคัญกว่านั้นคือเธอต้องการเก็บข้อมูลจากภาคสนาม นั่นก็คือความรู้สึกที่ลูกค้ามีต่อ K-Assets จนได้พบประเด็นสำคัญบางประการ ที่อาจถูกพัฒนาให้กลายเป็นจุดอ่อนขององค์กรในอนาคต หากปล่อยทิ้งให้เนิ่นนานเกินไป
ที่สำคัญประเด็นนี้ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อแผนการขยายฐานลูกค้าผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ไปสู่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ K-Assets หมายตาเอาไว้
ประเด็นนี้ก็คือ บุคลิกขององค์กรที่ K-Assets ถูกมองว่าอนุรักษนิยมเกินไป และยังมีภาพเก่าๆ ของความเป็นบริษัทในเครือธนาคารกสิกรไทย ตั้งแต่ครั้งยังใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Thai Farmers Bank" ทั้งๆ ที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารเป็น Kasikorn Bank มาได้ 3 ปีแล้ว
การเปลี่ยนชื่อภาษาอังกฤษของธนาคารกสิกรไทย มาเป็น Kasikorn Bank ถือเป็นจุดเริ่มต้นยุทธศาสตร์สำคัญ คือการบูรณาการร่วมกันของธุรกิจในเครือธนาคารกสิกรไทยทั้งหมด ในนาม KBank Group ตามคอนเซ็ปต์ของการเป็น universal banking มีการสร้าง K Heros ขึ้นมา เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนธุรกิจต่างๆ ในเครือ ซึ่งนอกจากเพื่อมุ่งสื่อข้อมูลให้ผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าเข้าใจถึงบูรณาการดังกล่าวแล้ว ยังสื่อให้เห็นถึงภาพความทันสมัย การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับบริการทางการเงินในกลุ่ม ซึ่งตรงกับวิถีชีวิตปัจจุบันของคนในยุคดิจิตอล
แต่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินของ K-Assets กลับยังคงชื่อเดิมเอาไว้ คือกองทุนรวงข้าว
"คือฐานลูกค้าเดิมของแบงก์กสิกรไทย ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นเก่าที่คอนเซอร์เวทีฟ ชื่อกองทุนของเราเลยมีแต่รวงข้าวนั่น รวงข้าวนี่ พอมาตอนนี้คนก็คิดว่า ตายล่ะ รวงข้าว เชย คอนเซอร์เวทีฟ ซื้อแล้วต่อไปมันจะโตได้ไหม" วิวรรณอธิบาย
"เรื่องชื่อนั้นมันเป็นอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่เราเองไม่เคย คิดเลยว่าลูกค้าจะรู้สึกกันมาก จากนี้ไปกองทุนใหม่ของเรา คงไม่ใช้ชื่อรวงข้าวแล้ว แต่จะหาชื่อที่ทันสมัยมาใช้แทน เพราะเราเองก็อยากได้กลุ่มลูกค้าที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาด้วย"
สำหรับกองทุนแรกของ K-Assets ที่ถูกตั้งชื่อใหม่ให้ฟังดูดี มีความทันสมัย น่าลงทุน ตามคำเรียกร้องของลูกค้าดังกล่าว วิวรรณใช้ชื่อว่า K-STAR หรือ K Strategic Trading Automatic Redemption เป็นกองทุนหุ้นทุนคืนกำไรแบบอัตโนมัติ ซึ่งเปิดขายหน่วยลงทุนไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ที่ผ่านมา
"ตอนที่เราจะออก K-STAR เราก็คิดกันมากเลยว่าจะตั้งชื่ออย่างไรดี พอดีเรามี K-series อยู่แล้ว ก็เลยเอาตัว K มา แล้วก็หาอะไรมาต่อท้าย กลายเป็น K-STAR"
การเปลี่ยนแปลงชื่อกองทุนครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับแต่ บลจ.กสิกรไทยถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อปี 2535
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการขยับตัวของ K-Assets ครั้งนี้ ย่อมมีนัยสำคัญอย่างมากต่อการปรับกระบวนทัศน์ทางธุรกิจครั้งใหม่ในวันข้างหน้า ที่ต้องมุ่งสู่การสร้างแบรนด์ใหม่ของตนเอง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการ re-branding สินค้าในเครือธนาคารกสิกรไทยทั้งหมด ภายใต้สัญลักษณ์ K Excellence ที่ บัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทยเคยประกาศไว้ตั้งแต่กลางปี 2548 เกิดความสมบูรณ์ชัดเจนยิ่งขึ้น
(รายละเอียดอ่าน "New Era of Banking Industry" นิตยสาร "ผู้จัดการ" ฉบับเดือนกรกฎาคม 2548 หรือ www.gotomanager.com)
ที่สำคัญยังเป็นการเปิดพื้นที่ทางการตลาด ให้กับกลุ่มลูกค้าซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ เพราะสามารถพัฒนาสินค้าประเภทใหม่ๆ ในแบบที่เหมาะสมกับสไตล์การลงทุนของคนในรุ่นนี้ ที่มองเรื่องความเสี่ยง เป็นเรื่องที่ท้าทาย
แม้ K-Assets จะมีกองทุนหุ้นออกมาขายอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่มีฐานลูกค้าเดิมส่วนใหญ่ เป็นคนรุ่นเก่าที่นิยมกองทุนประเภท low risk low return ทำให้การขายกองทุนหุ้นที่ในลักษณะ high risk high return จึงไม่เป็นที่นิยม
ผลต่อเนื่องที่ตามมาก็คือ การทำหน้าที่ของพนักงานตามสาขาของธนาคารกสิกรไทย ที่ K-Assets ใช้เป็นช่องทางหลักในการกระจายสินค้ามาตลอด จึงไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร
"พอเจ้าหน้าที่เห็นว่าลูกค้าไม่ชอบ เลยคิดว่าไม่ขายก็ได้ ทั้งที่จริงๆ แล้วควรแนะนำว่า ทำไม เขาน่าจะมีติดพอร์ตไว้บ้าง นิดหน่อยก็ยังดี แต่ถ้ายังไม่อยากซื้อตอนนั้นก็ไม่เป็นไร แต่หากวันหลังอยากได้ ค่อยกลับมาหาเราใหม่ก็ได้"
หากพิจารณาถึงความหลากหลายของกองทุนที่ K-Assets ดูแลอยู่แล้ว แทบไม่น่าเชื่อว่า K-Assets ซึ่งเป็น บลจ.ที่มีสินทรัพย์สุทธิในความรับผิดชอบสูงที่สุดในระบบ กลับมีประเภทสินค้าที่ไม่หลากหลาย เมื่อเทียบกับ บลจ.อื่นๆ โดยเฉพาะ อยุธยา เจเอฟ ที่อยู่อันดับรองลงมา ไม่ว่าจะเป็นกองทุนอสังหาริมทรัพย์ หรือกองทุนที่นำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ฯลฯ
วิวรรณบอกว่าความหลากหลายของประเภทกองทุน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเร่งพัฒนา ในปีนี้จึงจะเป็นครั้งแรกที่คนในตลาดจะได้เห็น K-Assets เปิดตัวกองทุนประเภทใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนที่นำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ซึ่งกองทุนประเภทหลังได้รับการตั้งชื่อไว้แล้วว่า K-Globe
วิวรรณเป็นอดีตนักเรียนทุนของธนาคารกสิกรไทย โดยได้รับทุนให้ไปเรียนระดับปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจที่ Kellogg Graduate School of Management มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสต์เทิร์น สหรัฐอเมริกา หลังจากจบปริญญาตรีจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปี 2526 และกลับมาทำงานในฝ่ายวาณิชธนกิจที่ธนาคารกสิกรไทย จนเมื่อทางการเปิดเสรีใบอนุญาตประกอบกิจการจัดการกองทุนในปี 2535 จึงได้ลาออก เพื่อมาเป็นผู้บริหารของ บลจ.วรรณ ในตำแหน่งเบอร์ 2 รองจากกิตติรัตน์ ณ ระนอง และได้ขึ้นเป็นเบอร์ 1 ในอีกไม่กี่ปีต่อมา
ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เธอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.วรรณ ที่เธอทำงานมาเกือบ 14 ปี และใช้เวลา 1 เดือนในการเดินทางไปพักผ่อนยังต่างประเทศ ซึ่งเธอเคยบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นการพักผ่อนครั้งแรกในชีวิต นับจากเรียนจบ ก่อนที่จะกลับมาเริ่มงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย ในต้นเดือนมีนาคม แทนดัยนา บุนนาค กรรมการผู้จัดการคนเก่า ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้า
มีหลายช่วงหลายตอนในการสัมภาษณ์ ที่วิวรรณออกตัวว่า ทุกสิ่งที่เธอกำลังทำอยู่ใน K-Assets ไม่ได้หมายความว่า เธอกำลังจะเปลี่ยนแปลงภาพใหม่ให้กับองค์กรแห่งนี้ แต่เธอกำลังต่อยอดการพัฒนาธุรกิจของ K-Assets ในฐานะที่เป็นกรรมการผู้จัดการคนใหม่ และถือเป็นเรื่องธรรมดาที่องค์กรแต่ละแห่งที่ต้องปรับปรุงพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
|
|
|
|
|