"ว้าว!..." เสียงอุทานดังขึ้นเบาๆ เมื่อเอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ เจ้าของธุรกิจ AKA เชียงใหม่ ได้เห็นผลงานแจกัน "MoVase" ซึ่งประกอบด้วย Puzzle 3 ชิ้นงานประกบเป็นกล่องสี่เหลี่ยม ถือเป็นความลงตัวที่น่าคิดต่อยอดสำหรับเขา
งานดังกล่าวเป็นหนึ่งในผลงานของหนุ่มสาว 28 คน คือจากอังกฤษ 21 คน และจากไทย 7 คน ทั้งหมดต่างเชื้อชาติ ต่างเผ่าพันธุ์ และต่างวัฒนธรรม มาร่วมกันทำงาน workshop ภายใต้โมเดลโครงงานชื่อ "Northern Craft : The Endless Thailand" ที่เปิดโอกาสให้นักออกแบบไทยกับนักศึกษาปริญญาโทจาก Royal College of Art แห่งอังกฤษร่วมกันค้นหาความเป็นไปได้ของการนำวัสดุตกแต่ง และทักษะในงานหัตถกรรมภาคเหนือมาใช้ในงานสร้างสรรค์ออกแบบ จนกระทั่งสามารถผลิตแล้วตีตรา "made in Thailand" เพื่อนำผลงานสุดยอดนี้ที่คัดสรรแล้วไปจำหน่ายที่ร้านหรูเลิศอลังการของโลก ได้แก่ Thomas Goode, The Conran Shop และ Heal's ด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 300 ปอนด์ต่อชิ้น
ดังนั้น โมเดลการสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่ TCDC ร่วมกับ Royal College of Art และ Arts Council แห่งอังกฤษ ร่วมกันสร้างโอกาสให้กับนักออกแบบไทย สามารถสร้างฝันให้เป็นไปได้จริงได้ จึงเป็นสิ่งพิเศษอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
นับตั้งแต่การเลือกนักออกแบบไทย 7 คนจากผู้สมัครนับร้อยคน ซึ่งทั้งเจ็ดต้องเป็นดีไซเนอร์บวกกับความชำนาญด้านอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น เจ็ท หรือ "พิเศษ วิรังคบุตร" ทำงานด้าน Industrial Product Design + งานสอนหนังสือ นอกจากนี้ ทั้งหมดจะต้องมีศักยภาพในการตั้งคำถาม สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล แสดงความคิดเห็นกับต่างชาติได้ถูกต้องชัดเจน
"ที่สำคัญที่สุดคือ ทั้งเจ็ดคนนี้จะต้องเป็นคนดูดข้อมูลต่างๆ ที่เราไม่เคยเห็น ไม่เคยเจอมารวบรวม เพื่อเอาไปเผยแพร่ต่อไป" กิติรัตน์ ปิติพานิช ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมและพัฒนาการออกแบบ TCDC กล่าว
งานนี้ วิพร ฐิติพงศ์ หรือ "วิป" เจ้าของผลงาน MoVase ที่ได้รับคัดเลือก เล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำ workshop นี้ เธอพอใจและได้ประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะในฐานะน้องใหม่ที่เพิ่งจบจากรั้วศิลปากรอย่างเธอ ได้รับการเติมเต็มองค์ความรู้และกระบวนการคิดการทำงานร่วมกันแลกเปลี่ยนจากครู RCA ของอังกฤษ ที่มีระบบทำงาน discipline ชัดเจน รวมถึงวิธีสอนที่กระตุกต่อมคิดและคั้นหัวกะทิออกมาได้อย่างน่าคิด
workshop สองสัปดาห์ในไทย และอีกสองสัปดาห์ที่อังกฤษ ได้สร้างความสัมพันธ์และประสบการณ์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรม รวมถึงความรู้ความเข้าใจแนวคิดการบริหารจัดการการตลาดระดับสากล ซึ่งมีกระบวนทัศนศิลป์ต่างวัฒนธรรมที่กำหนดพฤติกรรมการเลือกซื้อผลงาน
"สองสัปดาห์แรกเราไปดูรอบๆ กรุงเทพฯ โดย RCA กลุ่มหนึ่งจะมีคนไทยหนึ่งคน พอกลับมาก็ present พอวันที่ไปดอยตุงก็มีการ brief แบ่งกลุ่ม 2 กลุ่ม คือกลุ่ม Looker กับกลุ่ม DNA เราแชร์สมองทั้งสองกลุ่มว่าทำอะไร พอสองวันก็มานำเสนอหน้าชั้น เวลาที่ทำต้องหาไอเดียให้เร็วที่สุด โดนใจมากที่สุด เราคนไทยจะคิดแบบให้เป็นไปได้มากที่สุด แต่ฝรั่งเขาจะคิดนอกกรอบ เช่น อดัมไปเดินตลาดสด เห็นตีนไก่กองเยอะๆ เขาเกิดแรงบันดาลใจเอาตีนไก่มาคิดตกแต่งถ้วยซุป หรืออีกคนเขาเหม็นท่อไอเสียบ้านเรา เขาก็เอาธูปหอมแท่งเล็กมาดับกลิ่นไอเสียก็มี" วิปเล่าให้ฟัง
การแบ่งกลุ่ม LOOKER และ DNA เพื่อสำรวจวิถีวัฒนธรรมไทย และหาแรงบันดาลใจที่กรุงเทพฯ, เชียงราย และเชียงใหม่ ทั้งนี้องค์ประกอบของ DNA ตามที่ Tom Barker หัวหน้าภาควิชา Industrial Design Engineering ของ RCA กำหนดขึ้น ประกอบด้วย 9 องค์ประกอบ ได้แก่ Massclusivity,Branding/Packaging, Wow!, Semiotics, Manufacture, Innovation, Narrative, Costing & pricing, Ethics & Sustainment
"คำว่า Massclusitivity เกิดจากคำสองคำคือ mass+ exclusive หมายถึงการผลิตเป็น mass แต่ว่าชิ้นงานสร้าง สรรค์ชั้นเลิศ ซึ่งผมมองว่าน่าจะมีช่องทางตลาดประเภทนี้อยู่ โดยมองว่าศักยภาพนี้น่าจะหาได้จากประเทศไทย เนื่องจากมีวัฒนธรรมและเรื่องราวศิลปหัตถกรรมที่มีทักษะโดดเด่น" Tom Barker เล่ามุมมองให้ฟัง
เบื้องต้นการทำงานสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อตอบโจทย์ ให้ได้ผล 2 ประการ คือคะแนนเป็นพริกกี่เม็ด มะนาวกี่ลูก (Chilly & Lime Theory) ถือเป็นเรื่องท้าทายหนุ่มสาวทั้ง 28 คน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเอา 'งานของผู้อื่น' มาทำ เช่น วิปเลือกงานของคิม ที่ริเริ่มความคิดจะทำ puzzle vase คล้ายๆ เลโก้ วิปคิดว่าแนวคิดงานนี้กระตุกต่อมคิดของเธอได้มากกว่าชิ้นอื่นๆ ขณะที่งานที่วิปคิด คือเครื่องนวดตัวขนาดกระชับมือนั้น ก็ตกไปอยู่ในมือของนิมาวดี นักออกแบบไทยที่มีผลงานผลิตภัณฑ์ในแม่ฟ้าหลวงอีกคนหนึ่งทำต่อ
งานใครได้ Chilly หรือพริก ถือว่าสวยสร้างสรรค์ชนิดร้อง Wow!! ได้ แต่ถ้าใครได้ Lime หรือมะนาวก็ถือว่า "เจ๋ง" ในแง่ function หรือบางงานอาจจะได้ทั้งพริกและมะนาวก็ถือว่าเข้าตาคณะกรรมการ ซึ่งมาจาก RCA สามคนคือ Tom Barker, Sam Buxton และ Garick Jones และจากไทยอีกสามคน คือเอกฤทธิ์ ประดิษฐ์สุวรรณ เจ้าของร้าน AKA, ต่อ สันติสิริ CEO เอเยนซี่ TBWA และวินัย ฉัยรักษ์พงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายโครงการ บริษัท BUG Studio
เมื่อนำเบื้องหลังการ presentation ของทั้งหมด 28 ชิ้นงานมาพิจารณา จะพบว่าพื้นฐานความเป็นนักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์เกือบทั้งหมดได้สร้างสรรค์ชิ้นงานแบบแข็งเกร็ง ต่อมาเมื่อบางชิ้นงานได้ถูกนักออกแบบไทยระดับมืออาชีพ 7 คน นำทัศนศิลป์เชิงสุนทรียศาสตร์ต่อเติมสร้างสรรค์งานให้เปลี่ยนไปอย่างเร้าใจ
"นกช่วยคนหนึ่งทำกราฟิก เขาเรียน Industrial Engineering แต่สีที่เขาออกแบบมันแข็งเกร็ง ชนิดดำ 100% นกถามว่าทำไมไม่เพิ่มสีเหลืองเข้าไปสัก 10% หรือหยอดแดงอีกนิด ก็จะทำให้สีมันอุ่นขึ้น" พชรพรรณ ตั้งมติธรรม หรือ "นก" นักออกแบบที่มีผลงาน magazine rack ที่ร้าน Heal's ซื้อไอเดีย เล่าให้ฟัง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ วินัย ฉัยรักษ์พงศ์ โปรเจ็กต์ไดเรคเตอร์ของ BUG Studio ซึ่งมีผลงานระยะหลังเด่นทาง exhibition design มืออาชีพ เป็นหนึ่งในกรรมการคนไทย ได้ให้ความเห็นว่า
"ตอนแรกก็ตกใจและงงว่า เป็น engineer จะมาทำงานดีไซน์? แต่ engineer ที่ RCA เขาเรียนดีไซน์ในลักษณะใช้ digital ช่วย และบางอันเขามีมุมมองที่เราคิดไม่ถึง เช่น บางคนเห็นตีนไก่กองเต็มตลาด เขาก็เอาอารมณ์นั้นมาทำเป็นงานดีไซน์ที่สนุก ส่วนผมจะซื้อไอเดียไหน ผมว่าผมค่อนข้างแปลกๆ กับขาไก่สวยดี ผมมีภาพในหัว แต่ไม่รู้ว่าเขาจะ develop แต่สำหรับผมคิดว่าน่าจะทำเป็นทอง 24K เป็น bowl ขายสักราคาแสนสองแสน ผมเชื่อว่ามีคนซื้อขาไก่ทองคำ ผมคิดว่าคนเรามีอารมณ์ dark แบบตลกร้ายที่เป็นเทรนด์ใหม่ มุกนี้คนนำมาใช้มาก โดยเฉพาะฟิลิป สตาร์ก" นี่คือหนึ่งในความเห็นของวินัยที่น่าฟัง
ปรากฏว่าผลงานที่คณะกรรมการนำโดย Tom Barker และ Garick Jones ร่วมกับคนอื่นๆ ตัดสินให้เข้ารอบมีเพียง 14 ชิ้น เป็นผลงานของคนไทยเกือบครึ่งหรือ 6 ผลงาน
จากนั้นทั้งหมดได้บินกลับอังกฤษ โดยนักออกแบบไทยทั้งเจ็ด ใช้เวลาสองสัปดาห์ที่อังกฤษ พัฒนาทักษะการใช้วัสดุและเรียนรู้ด้านการตลาดระดับสากล เช่น การตั้งราคาที่สัมพันธ์กับ creative value ที่มีคุณภาพระดับสูงกว่าที่เคยเป็นมา
เจ็ท หรือ "พิเศษ วิรังคบุตร" เล่าว่า ช่วงที่ไปอากาศหนาวมาก และเป็นช่วงปลายปีการศึกษาของนักศึกษาอังกฤษ ที่ต้องเร่งส่งงาน ขณะเดียวกันก็ต้องให้ความช่วยเหลือนักออกแบบไทยที่ขี้เกรงใจ แต่ทุกอย่างก็ผ่านพ้นไปด้วยดี เจ็ทได้ทำงานร่วมกับเดวิด และตั้งใจพัฒนาผลงานแจกัน "ชีวิต" ที่มีธีมอยู่ที่น้ำเป็นตัวสร้างเรื่องราว โดยที่อังกฤษ เขาได้ใช้วัสดุ Uriol ซึ่งเป็นโฟมที่มีเนื้อแข็งเหมือนไม้ สามารถนำมา สกัดและขัดผิวได้เรียบสะอาด และมีน้ำหนักที่เหมาะกับการออกแบบ ให้น้ำสัมพันธ์กับการโน้มหรือเอียงของแจกัน ถ้าน้ำแห้ง แจกันจะนอน แต่ถ้าน้ำเต็ม ก็ชุบให้แจกันฟื้น
"ผมคิดว่านี่เป็นการตอบโจทย์ที่ให้มีความเป็นไทยหรือ Asia Exotic ในตัวเอง ซึ่งเขาก็ซื้อ" พิเศษกล่าว
อย่างไรก็ตาม มีชิ้นงาน MoVase ที่ได้ใช้ Rapid Phototyping Machine สร้างต้นแบบเป็นภาพ 3 มิติ ส่วนของคนอื่นๆ เช่น magazine rack ที่ทำด้วยกระดาษ ใช้มือพับทำ
"งานแจกันของวิปทำด้วยดีบุก แต่เมื่ออยู่ในอังกฤษ ความรู้สึกที่มีต่อดีบุกมันดูเย็น ที่ปรึกษาบอกว่าถ้าเปลี่ยนเป็นไม้จะดูอบอุ่นกว่า และไม่ต้องใส่ลายข้างใน ทั้งๆ ที่ใจเราอยากจะใส่ เพราะนี่คือ narrative ที่เราอยากให้มีเรื่องราว ขณะที่เครื่องนวดที่วิปคิดมีคนพูดถึง เป็นเพราะสิ่งใหม่ แต่คนซื้อจะรู้ไหมว่าเอาไปทำอะไร ส่วนของพี่นกที่เป็น magazine rack ใส่หนังสือแฟชั่นทาง Heal's ชอบมาก ส่วนชามถั่วก็ดีหรือตีนไก่ เขาไม่ได้มองว่า Wow! แต่เขามองว่าขายได้ไหม? ส่วนโคมไฟของพี่อานนท์ แจกันของพี่นัทและของวิ เขาก็สนใจ" วิพรเล่าให้ฟัง
ผลงานต้นแบบทั้งหมด 14 ชิ้น จะได้รับการผลิต Made in Thailand โดยมีความพิเศษที่จำกัดจำนวน และทำเป็นลักษณะคอลเลกชั่นที่จะนำไปจัดนิทรรศการที่ Thomas Goode, The Conran Shop และ Heal's ซึ่งเป็น the great buyer
"ทั้งสามแห่งซื้อไอเดียทั้งหมด โดย Thomas Goode เขาต้องการเอาโปรดักส์ร่วมสมัยนี้ไปสร้างพื้นที่อิมเมจ ส่วน The Conran เขาจะนำไปขายในลักษณะ limited edition ส่วนการตั้ง Branding เป็นอะไร ยังไม่ได้สรุปกัน" กิติรัตน์ แห่ง TCDC เล่าให้ฟัง
ตุลาคมที่จะถึงนี้ ผลงานของนักออกแบบไทยก้าวสู่ระดับสากล จะเป็นความเป็นไป ได้ก้าวแรกของการสร้างองค์ความรู้สำคัญที่มีคุณค่าและมูลค่าแท้จริง อันจะนำไปสู่การกระตุกต่อมคิดของผู้ผลิตและคนในวงการให้พัฒนาศักยภาพการแข่งขันเพื่ออนาคต แต่จะไปได้ไกลสูงสุดเพียงใด ยังเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่รู้จบ
|