"ความที่เป็นองค์กรของรัฐ นโยบายและทิศทางขององค์กรจึงไม่มีแผนแม่บทที่ชัดเจนว่าควรจะมีภารกิจอะไรบ้าง และมักเปลี่ยนไปตามรัฐบาลยุคนั้นสมัยนั้น และด้วยความผิดที่ผิดทางมาทุกยุคทุกสมัยของนโยบายเหล่านี้นี่เอง ทำให้วันนี้หลงเหลือแต่ความภาคภูมิใจให้กับคนไทยว่า "การบินไทย คือสายการบินของไทย" สมศักดิ์ สีนวล ประธานสหภาพแรงงานการบินไทย และบุญช่วย จันทร์เพ็ญแสง รองประธานสหภาพแรงงานการบินไทย กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งกับ "ผู้จัดการ" เมื่อเดือนที่ผ่านมา
ทั้งสมศักดิ์ และบุญช่วย นับเป็นเรี่ยวแรงและปากเสียงสำคัญของคนการบินไทยในการผลักดันให้สังคมโดยรอบเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับการบินไทยจากนโยบายของภาครัฐและการแข่งขันรอบด้านที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมการบิน
ทั้งคู่พยายามตั้งคำถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับการบินไทยในฐานะที่เป็นคนไทยคนหนึ่งว่า "ท้ายที่สุดแล้ว คนไทยอยากให้สายการบินไทยอยู่ในสถานะใดกันแน่?" เพราะคำตอบที่ได้ เขาเชื่อว่าจะเป็นการกำหนดทิศทางของการบินไทยได้ชัดเจนในที่สุด
บุญช่วย จันทร์เพ็ญแสง รองประธานสหภาพแรงงานการบินไทย บอกว่า "มันปฏิเสธไม่ได้หากคุณบอกว่าคุณเลือกข้อหนึ่ง คือเลือกให้รายได้ทั้งหมดของการบินไทยตกเป็นของคนไทยทั้งชาติ นั่นหมายถึงว่าต้องวางการบินไทยให้เป็นรัฐวิสาหกิจ แต่หากว่าคุณต้องการให้รายได้ของการบินไทยแก่ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีเงินมาลงทุน การบินไทยก็ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์อย่างเต็มตัว แต่ ณ วันนี้การบินไทยอยู่ตรงกลางของคำตอบทั้งสองข้อ"
สหภาพแรงงานการบินไทย พยายามชี้ให้เห็นโอกาสของการหายไปของสายการบินแห่งชาตินี้ เช่นที่เกิดขึ้นกับสายการบินเพื่อนบ้านอย่าง Malaysia Airlines ซึ่งท้ายที่สุดก็ต้องยอมสละเส้นทางการบินในประเทศให้กับสายการบินต้นทุนต่ำอย่าง AirAsia ซึ่งปัจจุบันเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยเช่นกัน และหวังมาตลอดว่าจะให้การต่อสู้ของคนกลุ่มหนึ่งอย่างพวกเขาจะเป็นประโยชน์ และให้คนไทยไม่มีโอกาสได้เห็นคำพูดที่ว่า "ครั้งหนึ่งประเทศไทยเคยมีบริษัทการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ"
เมื่อปี 2535 การบินไทยได้รับการแปรรูปเป็นครั้งแรก โดยมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,000 ล้านบาท จากเพียง 1,100 บาทเมื่อปี 2524 ซึ่งรัฐบาลไทยได้ซื้อหุ้นการบินไทยคืนมาจาก SAS และให้การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจโดยรัฐบาลถือหุ้นเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์
ในปีเดียวกันมีการนำหุ้น 100 ล้านหุ้นของการบินไทย ออกขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ และสามารถระดมทุนได้มากถึง 14,000 ล้านบาท
มีความเปลี่ยนแปลงอีกครั้งเมื่อมีแนวความคิดในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดหนี้สาธารณะและให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ของรัฐบาล
หนึ่งในนั้นคือการบินไทย ซึ่งจัดอยู่ในหมวดของวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินกลุ่มเดียวกันกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), การทางพิเศษแห่งประเทศไทย, รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, การรถไฟแห่งประเทศไทย, บริษัท ทศท คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน), การประปานครหลวง, บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
สหภาพแรงงานพยายามมาตลอดที่จะคัดค้านการแปรรูปครั้งนี้ และพยายามตั้งคำถามว่า คนไทยคิดอย่างไรกับสายการบินไทย หากต้องการให้เป็นเพียงธุรกิจก็ให้การบินไทยแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ขายหุ้นกันอย่างเปิดเผย แต่หากจะให้การบินไทยยังคงสภาพเป็นสายการบินแห่งชาติ เขาทั้งคู่มองว่า ตราบใดที่เป็นเช่นนั้น ระบบการบริหารต้องเปลี่ยนแปลงไปจากที่เป็นอยู่
"หากวันนี้คนไทยไม่สามารถฟันธงได้ว่าการบินไทยอยู่ในสถานะไหน การบินไทยเองก็คงบินไปลำบาก ว่าจะไปทางไหน" ทั้งคู่ทิ้งท้ายเอาไว้
|