|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กรกฎาคม 2549
|
|
นอกจากจะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการขยายตัวของเครือเซ็นทรัลแล้ว เซ็นทรัลเวิลด์ยังเป็นโครงการที่มีการผสมผสานผลงาน และแหล่งถ่ายทอดประสบการณ์ของคนในครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ระหว่างรุ่นต่อรุ่น และระหว่างรุ่นที่ 2 สู่รุ่นที่ 3
"จิราธิวัฒน์" เป็นครอบครัวใหญ่ ปัจจุบันจำนวนสมาชิกในครอบครัวนี้มีรวมกันทั้งสิ้นกว่า 170 คน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องวางระบบการจัดการเรื่องราวภายในครอบครัวอย่างเป็นระบบ โดยแยกเรื่องการวางกำลังคนเข้าไปสู่หน่วยธุรกิจต่างๆ ของเครือเซ็นทรัลทั้ง 5 กลุ่มออกจากกันโดยเด็ดขาด
เรื่องราวของครอบครัวให้อยู่ภายใต้การดูแลของ family counsil (อ่าน "จิราธิวัฒน์ รากฐานของตระกูลที่เป็นระบบ" นิตยสารผู้จัดการ ธันวาคม 2543 หรือ www.gotomanager.com ประกอบ)
ส่วนเรื่องงาน โดยภาพกว้างระดับนโยบายให้อยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการบริหาร (Executive Committee : Ex Com) ของเซ็นทรัล กรุ๊ป
ส่วนระดับล่างลงมา ให้อยู่ภายใต้การตัดสินใจของ CEO ของแต่ละกลุ่ม
แต่ที่ชัดเจน คือการวางกำลังคนในครอบครัวเพื่อลงยังตำแหน่งต่างๆ ให้ยึดจากความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ และผลงานเป็นหลัก ไม่ยึดติดกับรุ่น หรือว่าเป็นลูกของใคร หรือเคยมีแบ็กกราวน์อยู่ในกลุ่มธุรกิจไหนมาก่อน
คนที่มีความสามารถเข้าตา Ex Com อาจถูกโยกย้ายข้ามกลุ่ม เพื่อไปรับงานที่ตรงกับความสามารถของเขาหรือเธอมากกว่า
วัลยา จิราธิวัฒน์ เป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับกรณีนี้
วัลยา เป็น "จิราธิวัฒน์" รุ่น 2 ช่วงปลาย เธอเป็นบุตรีคนที่ 21 (ในจำนวนทั้งหมด 25 คน) ของเตียง ที่เกิดกับวิภา จิราธิวัฒน์
หลังเรียนจบปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาร์ทฟอร์ด สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2528 เธอเริ่มงานกับกลุ่มค้าปลีก (CRC) และทำงานอยู่ในกลุ่มนี้มาตลอด จนถึงสิ้นปี 2547 จึงค่อยย้ายมาอยู่ CPN
"วันที่เรียนจบ พี่สัมฤทธิ์บอกเลยให้รีบกลับบ้าน เรียนจบวันนี้ พรุ่งนี้ก็รีบแพ็กกระเป๋ากลับบ้านแล้ว มาถึงเมืองไทย วันรุ่งขึ้นก็ออกไปทำงานต่อเลย ไม่ได้พักร้อนเลย เด็กสมัยนี้จะได้อย่างน้อย 1 เดือน แต่ของเรา วันนี้เรียนจบ พรุ่งนี้กลับบ้าน วันรุ่งขึ้นทำงาน เพราะตอนนั้นคนไม่มี คนน้อยมาก" เธอบอก
บุคลิกของวัลยาเป็นคนชอบงานท้าทาย ตอนอยู่กับกลุ่มค้าปลีกเธอเป็นคนดูแลกิจการซูเปอร์มาร์เก็ต จนในภายหลังได้แยกตัวออกมาเป็นอีก 1 หน่วยธุรกิจ คือ Tops
แต่ผลงานที่โดดเด่นและเข้าตา Ex Com มากที่สุดคือตอนที่เธอผลักดันโครงการ เซ็นทรัล เฟสติวัล ที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเธอเป็นคนดูแลโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ และเปิดให้บริการได้ในเดือนกันยายน 2547
จุดสำคัญของโครงการนี้คือเป็นการลงทุนสร้างศูนย์การค้าด้วยตนเองครั้งแรกของ CRC เพราะขณะนั้น CPN ซึ่งน่าจะเป็นหลักกำลังวุ่นวายอยู่กับโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ จนไม่มีเวลาและกำลังคนเพียงพอที่จะแบ่งไปดูแลโครงการนี้
ความสำเร็จของโครงการเซ็นทรัล เฟสติวัล ภูเก็ต ทำให้ Ex Com ตัดสินใจดึงเธอให้ย้ายกลุ่มจาก CRC มาอยู่ CPN ในตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่รับผิดชอบโครงการเซ็นทรัลเวิลด์โดยเฉพาะ
"เสร็จจากที่ภูเก็ต ทางผู้ใหญ่ก็เลยขอตัวมา ขอให้ย้ายบริษัทจาก CRC มาอยู่ CPN เราก็ยินดี ก็ดีใจว่าผู้ใหญ่เห็นถึงความสามารถ และความตั้งใจของเรา และคงจะพอใจในผลงานที่เราทำมา"
ทุกวันนี้วัลยาเข้ามาช่วยงานสุทธิเดชในการจัดการให้การก่อสร้างโครงการเซ็นทรัลเวิลด์ ตลอดจนการตกแต่ง วางแผนผังร้านค้า เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่ได้ถูกวางเอาไว้ตั้งแต่ต้น
กรณีของวัลยาอาจตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับกรณีของชาติ จิราธิวัฒน์ บุตรชายคนโตของสุทธิชาติ รองประธานเครือเซ็นทรัล
เพราะขั้นตอนการเข้ามาทำงานใน CPN ของชาติ ไม่แตกต่างจากการสมัครงานของคนทั่วไปที่ต้องเขียนใบสมัคร กรอกรายละเอียดประวัติการศึกษา การทำงาน ผ่านการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งเขาต้องเล่าแนวคิด ว่ามีแนวทางการทำงานอย่างไรกับตำแหน่งงานที่สมัคร โดยมีกอบชัย และคณะกรรมการสอบเป็นผู้สัมภาษณ์
พื้นฐานการศึกษาปริญญาตรีด้านการตลาด จาก Trinity College และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก INSEAD ตลอดจนประสบการณ์ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการตลาดของ Marks & Spencer ในกลุ่ม CRC และผู้จัดการผลิตภัณฑ์แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ของ CMG ทำให้คนนอกหลายคนอาจมองว่า เขาไม่จำเป็นต้องผ่านขั้นตอนเหล่านี้ก็ได้
แต่เขาก็จำเป็นต้องผ่าน
งานหลักของชาติในโครงการเซ็นทรัลเวิลด์วันนี้ คือการชักชวนให้เจ้าของสินค้าแบรนด์ดังต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ ทั้งสินค้าแฟชั่นและอาหาร แต่ยังไม่เคยมีสาขาในประเทศไทย ให้มาเปิดสาขาในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์เป็นแห่งแรก
ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญ เพราะแบรนด์เหล่านี้ถือเป็นจุดขายหลักของโครงการเซ็นทรัลเวิลด์อีกจุดหนึ่ง สำหรับใช้ในการก้าวกระโดดออกไปเป็น International Player ของเครือเซ็นทรัลในต่างประเทศ
ณ วันนี้ในจำนวนพนักงานที่มีอยู่กว่า 1,600 คน ใน CPN เป็นคนในตระกูล "จิราธิวัฒน์" เพียง 8 คนเท่านั้น (รายละเอียด ดู "จิราธิวัฒน์" ที่อยู่ใน CPN ประกอบ)
แม้ว่าระบบการจัดวางสับเปลี่ยนกำลังคน ซึ่งมี Ex Com และ CEO ของกลุ่มคอยดูแล แต่กระบวนการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ของคนจากรุ่นสู่รุ่น รูปแบบการถ่ายทอดผ่านการทำงานจริง ยังถือเป็นสูตรสำเร็จของคนในครอบครัวนี้ ที่ใช้กันมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้น
หากนับจากยุคที่เตียง จิราธิวัฒน์ เริ่มต้นสร้างกิจการ โดยมีสัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร ลูกชาย 3 คนแรก เป็นเรี่ยวแรงหลัก สัมฤทธิ์ วันชัย และสุทธิพร คือผู้ที่ต้องถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ต่อไปยังน้องๆ อย่างสุทธิเกียรติ สุทธิชาติ หรือสุทธิธรรม
เมื่อเข้าสู่ยุคของการขยายตัว สุทธิชาติคือผู้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านค้าปลีกให้กับทศ ขณะที่สุทธิธรรมถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์เรื่องศูนย์การค้าลงมาสู่สุทธิเดช และกอบชัย ส่วนสุทธิชัย (บุตรชายคนโตของเตียงกับบุญศรี) ที่ถ่ายทอดประสบการณ์ด้านการเงิน ให้กับปริญญ์ (ลูกชายของสัมฤทธิ์ พี่ชายของทศ ซึ่งปัจจุบันเป็น CFO ให้กับเครือเซ็นทรัล)
มาถึงในยุคนี้ ซึ่ง CPN กำลังดำรงบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกของการขยายตัวของเครือเซ็นทรัล โดยเฉพาะการออกไปสู่ต่างประเทศ สุทธิเดชก็กำลังทำหน้าที่ถ่ายทอดประสบการณ์ในการวางคอนเซ็ปต์ศูนย์การค้า และดูแลการก่อสร้างให้เป็นไปตามคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ให้กับน้องอย่างวัลยา และหลานคือชนวัฒน์ เอื้อวัฒนะสกุล (ลูกชายของมุกดา (จิราธิวัฒน์ และเสรี เอื้อวัฒนะสกุล) รวมถึงอิศเรส (ลูกชายของสุทธิศักดิ์) และสรรคนนท์ ลูกชายของเขาเองที่กำลังจะเข้ามาทำงานในฝ่าย Business Development ในอีกไม่ถึง 2 เดือน ข้างหน้า
ฝ่ายนี้นับว่าเป็นฝ่ายที่น่าจับตา เพราะนอกจากจะเป็นผู้คุมคอนเซ็ปต์ของศูนย์การค้าที่จะเกิดขึ้นใหม่ต่อไปในอนาคตแล้ว พื้นฐานการศึกษาของผู้บริหารจากครอบครัว "จิราธิวัฒน์" ที่เข้ามาอยู่ในฝ่ายนี้ก็หลากหลายและตรงกับสายงานมากที่สุด
โดยชนวัฒน์ถือเป็นคนในครอบครัวจิราธิวัฒน์คนที่ 2 ที่มีพื้นฐานการศึกษามาทางด้านวิศวกรรม (อีกคนหนึ่งคือ พงศ์ ศกุนตนาค ลูกชายของลิดา (จิราธิวัฒน์) กับพิชัย ศกุนตนาค ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซีอาร์ซี เพาเวอร์ รีเทล ที่ดูแลห้าง Home Work ของกลุ่มค้าปลีก)
สรรคนนท์ที่กำลังจะเข้ามาใหม่ก็เป็นสถาปนิก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการออกแบบก่อสร้างศูนย์การค้าในอนาคต
ขณะที่สุทธิภัคกำลังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ทางด้านการขายให้กับชาติ
ปริญญ์ในฐานะกรรมการบริหาร-การเงินของ CPN อีกตำแหน่งหนึ่งก็กำลังถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้กับไท (น้องของชาติ) และน่าจะเป็นประสบการณ์ที่เข้มข้น เพราะ CPN เป็นบริษัทเดียวในเครือที่ต้องอาศัยวิศวกรรมทางการเงินสูงที่สุด
กระบวนการเชื่อมต่อ knowhow ระหว่าง Generations จึงเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ สำหรับการขยายตัวของเครือเซ็นทรัลในยุคที่ 3 คือการก้าวกระโดดออกไปสู่ต่างประเทศ ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่นานนี้
|
|
|
|
|