Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กรกฎาคม 2549








 
นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2549
20 ปี "เผา" แทนทาลัม จุดเปลี่ยนของ "ภูเก็ต"             
โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์
 


   
search resources

ไทยแลนด์แทนทาลัม อินดัสตรี
Mining




การที่เกาะกูเก็ตได้กลายเป็นเกาะสวรรค์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และเป็นแหล่งสร้างรายได้จำนวนมหาศาลให้กับผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งประเภทโรงแรม คอนโดมิเนียม และรีสอร์ตระดับหรูได้อย่างในทุกวันนี้ย่อมต้องมีที่มาที่ไป

และที่มาที่ไปที่ว่า เพิ่งเกิดขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อ 20 ปีที่แล้วมานี้เอง

ก่อนหน้านี้นับ 100 ปี ภูเก็ตถือเป็นเมืองของการทำแร่ เพราะมีแหล่งแร่ดีบุกอยู่เป็นจำนวนมากทั่วทั้งเกาะ จนย่างเข้าสู่ยุค พ.ศ.2500 การทำเหมืองแร่ดีบุกเริ่มซบเซาลง เพราะราคาแร่ดีบุกในตลาดโลกตกต่ำ ผู้คนจึงเริ่มมองเห็นถึงคุณค่าของทรัพยากรตัวใหม่ที่สามารถทำเงินได้ คือการท่องเที่ยว

เพียงแต่ในช่วง 3 ทศวรรษแรก การท่องเที่ยวยังไม่บูมเต็มที่ และยังมีการทำเหมืองแร่กระจายอยู่ตามขุมเหมืองต่างๆ รอบๆ เกาะภูเก็ต ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

จุดเปลี่ยนที่แท้จริง ซึ่งทำให้ภูเก็ตเปลี่ยนบุคลิกจากเมืองการทำแร่ มาสู่เมืองท่องเที่ยว คือเหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานของบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัม เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2529

นิตยสารผู้จัดการได้ลงพื้นที่เพื่อสืบค้นเบื้องหน้าเบื้องหลังเหตุการณ์นี้ และนำเสนอเป็นเรื่องจากปก "แค้นสั่งฟ้าที่ภูเก็ต" ในฉบับเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน

"อาจจะเริ่มได้ตั้งแต่ช่วงต้นๆ ปี 2529 เมื่อมีการเคลื่อนไหวศึกษาปัญหามลพิษจากโรงงานบริษัทไทยแลนด์แทนทาลัมอินดัสทรีย์ (ทีทีไอซี) ของนิสิตนักศึกษาและนักวิชาการทางด้านสิ่งแวดล้อมกลุ่มหนึ่ง ผลการศึกษาแม้ว่าจะไม่ได้คำตอบอะไรชัดเจนมากนัก แต่ก็มีการตั้งข้อสงสัยว่ากรรมวิธีการผลิตทางเคมีของโรงงานจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูเก็ต

ต่อมามีกลุ่มนิสิตนักศึกษาในนามชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกลุ่ม 24 สถาบัน ซึ่งหลายคนเป็นคนท้องถิ่นที่ขึ้นไปเรียนในระดับอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ นำข้อสงสัยนี้มาเผยแพร่และทำงานความคิดให้ประชาชนชาวภูเก็ตได้ร่วมรับทราบ

มีการนำวิดีโอเกี่ยวกับหายนะของโรงงานยูเนียนคาร์ไบด์ในอินเดีย และภาพยนตร์เรื่อง "เดอะ เดย์ อาฟเตอร์" เข้ามาประกอบให้สมเหตุสมผล พร้อมๆ กับการจัดตั้งแกนเคลื่อนไหวในนามกลุ่มประสานงานฯ ดึงปัญญาชนและผู้นำระดับท้องถิ่นเข้าร่วม และเผอิญช่วงนั้นก็มีข่าวดาวเทียมในจอทีวีเกี่ยวกับการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีจากโรงงานไฟฟ้าปรมาณูเชนเนอบิลของโซเวียตพอเหมาะพอเจาะด้วย

เพียงการเคลื่อนไหวช่วงสั้นๆ อย่างต่อเนื่องและเป็นระบบก็ทำให้บรรยากาศแห่งความกลัวตายเริ่มแพร่คลุมไปทั่วทั้งเกาะ

หัวข้อการบ่นสนทนาในช่วงนั้นก็ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากเรื่องโรงงานนรกแห่งนี้?

หน่วยงานของทางการที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ก็ให้คำตอบไม่ได้ว่าโรงงานแทนทาลัมจะเป็นพิษเป็นภัยจริงหรือไม่? เนื่องจากเอาเข้าจริง ทั้งคนของกระทรวงอุตสาหกรรมและสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติก็บอกว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่จะต้องไปเรียนรู้จากเยอรมันเสียก่อนจึงให้คำตอบได้

ส่วนฝ่ายโรงงานต้นเหตุก็แสดงท่าทีและกล่าวแก้ต่างอย่างกำกวม ตัวผู้บริหารโรงงานที่มีหน้าที่จะต้องแถลงข้อเท็จจริงกันอย่างเปิดใจนั้นก็อยู่ในสภาพที่ยิ่งพูดยิ่งพัง ยิ่งออกความเห็นก็เหมือนกับยิ่งยั่วยุ

มีนักข่าวท้องถิ่นคนหนึ่งเคยถามอาทร ต้องวัฒนา ผู้ถือหุ้นของโรงงานและมีตำแหน่งเป็นประธานสภาจังหวัดภูเก็ตว่า จะแก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างไร? อาทรก็ยืดอกตอบว่าไม่ต้องห่วง หากถึงวันเปิดโรงงานเมื่อไร? จะเช่าเครื่องบินแอร์บัสเอานักข่าวจากส่วนกลางมาดูโรงงานด้วยตาตัวเอง รับรองว่าหนังสือพิมพ์ส่วนกลางจะกระพือข่าวไปทั่วประเทศแล้วทุกอย่างก็จะหมดปัญหา นักข่าวท้องถิ่นคนนั้นได้ฟังแล้วก็กัดฟันกรอดๆ

หรือเมื่อภายหลังการชุมนุมใหญ่คัดค้านโรงงานแทนทาลัมเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่มีคนมาร่วมราวๆ 6 หมื่นคนนั้น นักข่าวส่วนกลางฉบับหนึ่งถามธรรมเรศน์ สุวรรณภาณุ ผู้จัดการฝ่ายบริหารของโรงงานว่ารู้สึกอย่างไร? ธรรมเรศน์ก็บอกทำนองว่า ไม่ยั่น เพราะเชื่อว่าคนที่มาชุมนุมส่วนมากมากันแบบไม่รู้เรื่องก็เข้าทำนองตามแห่นั่นแหละ

ตามคำบอกเล่าของคนภูเก็ตจำนวนมากที่ "ผู้จัดการ" ลงไปสัมผัสโดยตรง ก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า "พูดดูถูกกันอย่างนี้เจ็บใจอย่างยิ่ง"

จากการชุมนุมแสดงพลังครั้งแรกที่จัดโดยกลุ่มประสานงานฯ กลุ่ม 24 สถาบัน และกลุ่มตลาดสดกับกลุ่มบางเหนียว (กลุ่มตลาดสดกับกลุ่มบางเหนียวเป็นกลุ่มพลังที่ถือว่ามีพลังมากในภูเก็ต) ฯลฯ ซึ่งเป็นการชุมนุมคนที่ยิ่งใหญ่อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แม้ในเทศกาลกินเจที่ลือลั่นของภูเก็ตก็ดูเหมือนว่า แนวร่วมของกลุ่มคัดค้านจะขยายตัวกว้างขวางขึ้น และเมื่อขยายตัว การนำที่เคยเป็นเอกภาพก็เริ่มเข้าสู่จุดที่ไร้การจัดตั้ง เป็นช่วงที่นักการเมืองที่ลงสมัคร ส.ส.บางคนก็พยายามเข้าแทรกด้วยความหวังว่าจะได้คะแนนเสียง

และก็เริ่มจะมีเป้าหมายการคัดค้านต่างๆ กันออกไปตามจุดยืนหรือผลประโยชน์ของแต่ละกลุ่ม

บางกลุ่มระบุว่าไม่ต้องการโรงงานแทนทาลัมตั้งอยู่บนเกาะภูเก็ต

บางกลุ่มก็ว่าไม่ต้องการโรงงานแทนทาลัมในประเทศไทย

ส่วนบางกลุ่มอย่างเช่นกลุ่มของผู้สมัคร ส.ส.หมายเลข 6 พรรคพลังใหม่ที่ชื่อเรวุฒิ จินดาพล ก็มาในมาดแปลกด้วยการประกาศอย่างชัดถ้อยชัดคำว่าถ้าเขาได้รับเลือกเข้าสภาเป็น ส.ส. ก็จะต่อสู้เรื่องแทนทาลัมอย่างหัวชนฝาไม่ให้โรงงานนี้เปิดได้ และหากทำไม่สำเร็จเขาก็เตรียมโลงศพเอาไว้แล้ว 3 โลง โลงหนึ่งสำหรับผู้อนุญาตให้ตั้งโรงงานฯ อีกโลงหนึ่งสำหรับเจ้าของโรงงานนายเอี๊ยบ ซุน อัน และโลงสุดท้ายสำหรับตัวเขา เพราะเขาจะยิงตัวตายทันทีที่หน้ารัฐสภา

และเพื่อเชิดชูจุดยืนให้ดูสมจริง ในวันที่รัฐมนตรีอุตสาหกรรม ดร.จิรายุ อิศรางกูรฯ เดินทางมาภูเก็ต เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนนั้น เรวุฒิ จินดาพล ลูกชายเศรษฐีใหญ่เจ้าของสวนยางนับพันไร่คนนี้ก็พาสมัครพรรคพวกแบกโลงศพจริงๆ ทั้ง 3 โลงมาต้อนรับรัฐมนตรีจิรายุถึงสนามบิน และเหตุการณ์ก็เริ่มวุ่นวายตั้งแต่สนามบินเรื่อยมาจนถึงตัวเมืองภูเก็ต

ว่ากันว่าการกระทำของเรวุฒิ ผู้สมัครเบอร์ 6 ก็เพื่อดัดหลังซ้อนแผนของบันลือ ตันติวิทย์ ผู้สมัครพรรคราษฎรที่วันนั้น ผู้ว่าฯ จะให้ความร่วมมือเพื่อทำให้บันลือเป็นขวัญใจประชาชนต่อสู้เรียกร้องให้ปิดโรงงานได้สำเร็จ ซึ่งแผนของบันลือได้มีการตระเตรียมถึงขั้นจัดพวงมาลัยไว้ให้คล้องคอและมีคนชุดหนึ่งจะเอาบันลือแบกขึ้นบ่าแห่ไปรอบเมือง แต่ก็น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้คล้องพวงมาลัย แผนก็มาเริ่มเสียเมื่อเจอกับโลงศพของเรวุฒิเข้า

พร้อมๆ กับการขยายตัวของแนวร่วมคัดค้านโรงงานแทนทาลัมนี้เอง ผู้ว่าราชการจังหวัด สนอง รอดโพธิ์ทอง ก็กระโดดเข้ามาอย่างไม่มีต้นมีปลาย ผู้ว่าฯ สนองได้ทำหนังสือเชิญชวนกลุ่มพลังมวลชน 18 กลุ่ม ทั้งกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่เดิมและกลุ่มใหม่ๆ อย่างเช่น ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านให้มาชุมนุมเสนอปัญหาให้รัฐมนตรีจิรายุรับทราบ และฟังคำตอบว่ารัฐบาลจะจัดการปัญหาเช่นไรจากปากของรัฐมนตรีจิรายุ

จากนั้นก็เกิดเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 23 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันชุมนุมมีคนมาร่วมเป็นจำนวนแสน มีการเผาโรงงานและโรงแรมเมอร์ลิน ขว้างปาศาลาประชาคมและทำลายป้อมสัญญาณไฟจราจรทั่วเมือง เพราะเหตุจากความไม่สามารถควบคุมฝูงชนให้อยู่ในระเบียบ ขาดการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ปล่อยให้ฝูงชนเฝ้าคอยรัฐมนตรีจิรายุ ตั้งแต่เช้าจนบ่ายด้วยความกระวนกระวาย หิว เหนื่อย และคิดว่าตนถูกหลอกให้ต้องมานั่งตากแดดอย่างขาดความรับผิดชอบ

เรื่องที่ไม่น่าเกิดก็เลยต้องเกิดและเป็นการเปิดโอกาสให้ "มือที่สาม" เข้าแทรกแซงก่อความวุ่นวายขึ้น"

(จากเรื่อง "เบื้องหลัง "แทนทาลัม" ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์" เรื่องจากปก นิตยสารผู้จัดการ กรกฎาคม 2529)

มีการวิเคราะห์กันถึงเหตุผลที่คนภูเก็ตถึงขั้นลุกฮือขึ้นในครั้งนั้นว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังจากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งคือไม่พอใจที่ตนเองเหมือนกับถูกหลอกมาตลอดเวลาหลายสิบปี

"นับแต่โบราณกาลนั้น ความลับเรื่องตะกรันแร่ดีบุกจะมีราคาค่างวดอย่างไรยังไม่มีใครทราบ คนงานเหมืองแร่, คนภูเก็ต พังงา ตลอดจนนายเหมืองชาวจีนที่ร่ำรวยขึ้นมาจากกิจการเหมืองแร่ทั้งหลาย ทราบกันแต่ว่ามันเป็นของที่ไร้ค่าจะใช้ประโยชน์บ้างก็เพียงการถมถนนหรือถมบริเวณบ้าน ทุกคนล้วนไม่ทราบว่าแทนทาลัมเพนต๊อกไซด์ที่ผสมอยู่ในตะกรันดีบุกคืออะไรด้วยซ้ำ?

ล่วงเข้าปี 2497 มีนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยาของไทยบางคนที่ทราบว่าพื้นดินภาคใต้มีแร่แทนทาไลต์ในรูปของแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ปะปนอยู่กับแร่ดีบุก แต่เผอิญช่วงนั้นราคาแทนทาลัมเพนต็อกไซด์ยังไม่สูงมาก และไม่ใช่แหล่งแร่แทนทาไลต์โดดๆ เหมือนเช่นบางประเทศในยุโรป การให้ความสำคัญในทางพาณิชย์ก็เลยไม่ปรากฏชัด คงมีเพียงการบันทึกทางด้านวิชาการไว้เท่านั้น

"จากการวิเคราะห์ทางวิชาการก็พบว่า ดีบุกในประเทศไทยจะประกอบด้วยดีบุกบริสุทธิ์ 73.4 เปอร์เซ็นต์ แทนทาลัมเพนต็อกไซด์ 1.1 เปอร์เซ็นต์ เหล็ก 0.5 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นมลทินอื่นๆ" บันทึกทางวิชาการของกรมทรัพยากรธรณีระบุ

และในช่วงหลังๆ ก็มีการประมาณการว่าแทนทาลัมชนิดที่เกิดขึ้นในแหล่งแร่ดีบุกของไทยนี้มีปริมาณถึง 16 ล้านปอนด์ (หมายถึงเนื้อของแทนทาลัม) ซึ่งมากที่สุดในโลก (ประมาณ 27 เปอร์เซ็นต์ของแทนทาลัมในโลกนี้) ทีเดียว

แต่ทุกอย่างก็ยังเป็นความลับมาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคที่มีเตาถลุงแร่แบบโบราณในรัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวงที่ภูเก็ต พังงา ยุคที่มีการส่งแร่ไปถลุงในปีนังและมาเลเซีย หรือยุคที่มีการก่อตั้งโรงถลุงแร่เพียงแห่งเดียวของไทยในปัจจุบันเมื่อปี 2508 บริเวณอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ตที่รู้จักกันในนามของไทยซาร์โก้แล้วก็ตาม

"คือนอกจากจะไม่เห็นคุณค่าของตะกรันแล้ว เวลาเอาแร่ไปขายก็ยังถูกหักค่ามลทินของดีบุกอีก โดยโรงถลุงเขาอ้างว่าแร่ธาตุที่เจือปนอยู่ทำให้ดีบุกมีความริสุทธิ์น้อยลงและยุ่งยากในการถลุง เขาก็หักราคาไป โดยที่เจ้าของเหมืองก็ไม่ทราบว่าตัวแร่ธาตุที่โดนหักนั้นมันมีความลับมูลค่ามหาศาลแฝงอยู่..." คนที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการเหมืองแร่มานานเล่าให้ฟัง

กล่าวสำหรับไทยซาร์โก้หรือบริษัทไทยแลนด์สเมลติ้งแอนด์รีไฟนิ่ง นับแต่ปี 2508 เป็นต้นมา ก็ต้องยอมรับว่าเป็นผู้ที่กินชิ้นปลามันโดยตลอด และก็ไม่มีใครสามารถทราบแน่ชัดว่าไทยซาร์โก้มีรายได้มหาศาลขนาดไหนจากการขายตะกรันแร่ไปต่างประเทศ?

ทุกคนทราบแน่ชัดเท่านั้นว่า ความลับเรื่องคุณค่าของตะกรันนี้ ไทยซาร์โก้รู้เรื่องมานานแล้ว"

(เนื้อหาอีกตอนหนึ่งของเรื่องเดียวกัน)

"สำหรับนายเหมืองทั้งหลายที่เพิ่งจะตาสว่าง ก็เจ็บใจมากที่ตลอดเวลาถูกไทยซาร์โก้ปิดบังมาเรื่อย ดูเหมือนสัญชาตญาณแห่งการต่อสู้ได้เริ่มขึ้นแล้วในใจของนายเหมืองคนไทยเชื้อสายจีนเหล่านี้ เพียงแต่การผูกขาดโรงงานถลุงแร่ไว้เพียงโรงเดียว พร้อมๆ กับมาตรการห้ามนำสินแร่ออกขายต่างประเทศก็ยังทำให้พูดอะไรไม่ได้มาก

ในปี 2517 เรื่อยมาจนถึงปี 2520 ราคาแทนทาลัม (เพนต็อกไซด์) ก็ยังสูงต่อไปเรื่อยๆ คือในปี 2519 อยู่ในระดับราคาปอนด์ละ 25 เหรียญยูเอส แล้วก็ขึ้นเป็นเกือบ 30 เหรียญยูเอส ในปี 2520

ซึ่งในช่วงปี 2520 นี้เอง ที่ตะกรันโบราณบนเกาะภูเก็ตที่ถูกทอดทิ้งนับเป็นร้อยๆ ปี เริ่มกลายเป็น "สมบัติเจ้าคุณปู่" ที่มีค่าขึ้นมาทันตาเห็น"

(เป็นเนื้อหาในอีกตอนหนึ่ง)

"เรารู้ว่าแทนทาลัมใช้กับคอมพิวเตอร์ได้ดีที่สุดในการทำเป็นตัว CAPACITOR เรารู้ว่าแทนทาลัมรวมกับคาร์บอนจะได้แทนทาลัมคาร์ไบด์ที่แข็งจนสามารถใช้เป็นเครื่องมือตัดเจาะเหล็กกล้าได้ และเรายังรู้ว่าธาตุตัวนี้ยังถูกนำไปใช้ในโครงการอวกาศ เครื่องบิน ขีปนาวุธและเตาอุปกรณ์ปรมาณู แต่เราไม่รู้ว่าเขาเอาไปใช้กับเครื่องมือที่โคตรแพงเหล่านี้ในสภาพของสารประกอบแทนทาลัมบวกกับธาตุตัวไหน แล้วราคามันเท่าไร?"

(จากเรื่อง "แทนทาลัม : ธาตุที่รู้ว่าเอาไปใช้ทำอะไร?" ประกอบเรื่องจากปก นิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดียวกัน)

ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์จลาจลเผาโรงงานไทยแลนด์แทนทาลัม เริ่มมีกลุ่มทุนท้องถิ่นบางกลุ่มที่เบนเข็มทิศการทำธุรกิจมาสู่การท่องเที่ยว เนื่องจากเห็นแล้วว่า ถึงที่สุดอนาคตของภูเก็ต หนีไม่พ้นที่ต้องเปลี่ยนบุคลิกจากเมืองที่ทำแร่ มาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยว

"ณ ระนอง หลังจากร่ำรวยอู้ฟู่จากกิจการเหมืองแร่ต่อมาภายหลังก็ DIVERSIFIED สู่กิจการโรงแรม อันได้แก่ โรงแรมเพิร์ล โรงแรมที่ใหญ่ที่สุดของภูเก็ตปัจจุบัน รวมทั้งรีสอร์ตที่หาดราไว

วิจิตร ณ ระนอง คนหนุ่มผู้มีอนาคตไกล ผู้กุมบังเหียนของตระกูลนี้ เน้นธุรกิจโรงแรมเป็นจุดหนัก อย่างไรก็ตาม เขาเองก็ไม่ทิ้งกลิ่นอายของเศรษฐีภูเก็ตทั่วไปคือ มีกิจการสวนยาง และสวนปาล์มที่สุราษฎร์ฯ ในจำนวนไม่น้อยไม่มาก

ถาวรว่องวงศ์ คนจีนฮกเกี้ยนแซ่อ๋อง ต้นตระกูลคืออ๋องซิมพ่าย นับเป็นแบบฉบับนักธุรกิจใหญ่ที่ปักหลักปักฐานที่เมืองภูเก็ตอย่างแท้จริง ปัจจุบัน ติลก ถาวรว่องวงศ์ คือผู้นำกลุ่มธุรกิจนี้

เขาโตมาจากเหมือง และติลกร่ำเรียนที่ปีนังเหมือนๆ ทายาทของผู้มีอันจะกินคนอื่นๆ ทั่วไปบนเกาะภูเก็ต ตระกูลถาวรว่องวงศ์ถือเป็น "นายหัว" เหมืองแร่คนแรกที่กระโจนมาจับธุรกิจโรงแรม

ภูมิหลังแรงจูงใจนี้มีการเล่าปากต่อปากมาจนทุกวันนี้ว่า ผู้ที่ผลักดันให้อ๋องซิมพ่าย สร้างโรงแรมได้แก่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้มีอำนาจล้นฟ้าในช่วงกึ่งพุทธกาล

โรงแรมถาวร สูง 5 ชั้น เปิดกิจการเมื่อปี 2506 ก่อสร้างด้วยเงินประมาณ 10 ล้านบาท ในสมัยนั้นถือเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งที่โอ่อ่ามาก"

(จากเรื่อง "แผ่นดินภูเก็ตสมรภูมิการต่อสู้กลางเหมืองแร่ของคนจีนฮกเกี้ยน" ประกอบเรื่องจากปก นิตยสารผู้จัดการฉบับเดียวกัน)

หลังเหตุการณ์จลาจล ทำให้การทำเหมืองแร่บนเกาะภูเก็ตแทบจะยุติลงไปโดยสิ้นเชิง

พื้นที่ที่เคยเป็นขุมเหมือง ถูกพัฒนาใหม่ขึ้นมาเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรือขุดแร่กลางทะเลที่เคยบดบังทัศนียภาพความสวยงามของชายหาด เริ่มหายไป ก่อสร้างโรงแรม และรีสอร์ตตามชายหาดต่างๆ เริ่มขยายตัวขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่

ที่สำคัญเม็ดเงินจากหลายหลายแหล่ง "ทุน" เริ่มต้นหลั่งไหลเข้ามาจับจองพื้นที่ในภูเก็ต

""ผู้จัดการ" นั้นอยากจะเชื่ออย่างยิ่งว่า เฉพาะเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 23 มิถุนายนโดยพื้นฐานแล้วเกิดขึ้นอย่างไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ มันเป็นอุบัติเหตุของม็อบที่อยู่ภายใต้สถานการณ์กดดันหลายๆ ด้านแล้วความบ้าคลั่งก็ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างอัตโนมัติ

เชื่อว่าผู้ว่าฯ สนองกระทำการไปด้วยเจตนาบริสุทธิ์ อยากให้รัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ตก และก็อยากให้คนภูเก็ตได้สบายใจว่าผู้ว่าฯ คนนี้ถ้าจะทำอะไรแล้วทำได้และทำจริง

เชื่อว่าผู้สมัครจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นจรูญ เสรีถวัลย์ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ บันลือ ตันติวิทย์ ที่ขอลงประชาธิปัตย์แล้วไม่ได้ลง ต้องมาลงพรรคราษฎร ตลอดจนเกษม สุทธางกูล พรรคกิจสังคม ก็ล้วนแล้วแต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวคัดค้านนี้อย่างบริสุทธิ์ใจและพยายามเล่นในเกมมาโดยตลอด

และก็เชื่อว่าแกนนำทุกๆ กลุ่มนั้นโดยเฉพาะระดับผู้ปฏิบัติงาน เป็นคนประเภทไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังใดๆ ทั้งสิ้น

ที่ "ผู้จัดการ" จะยังตะขิดตะขวงใจอยู่นิด ก็เห็นจะเป็นคำถามที่ว่า

หลังจากทุกคนทำกันลงไปด้วยความบริสุทธิ์ใจเช่นนี้แล้ว

ใครกันที่ได้ประโยชน์?"

บททิ้งท้ายของเรื่อง "เบื้องหลัง "แทนทาลัม" ความขัดแย้งทางธุรกิจตามวิถีทางประวัติศาสตร์" ที่ถูกตั้งเป็นคำถามเอาไว้เมื่อ 20 ปีก่อน

(รายละเอียดของเรื่องทั้งหมดสามารถอ่านได้จาก www.gotomanager.com)   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us