รัฐใช้สูตรเดิมแก้ปัญหาเศรษฐกิจฝืด หาช่องทางคืนเงินให้ผู้มีเงินได้ผ่านสิทธิหักลดหย่อน หวังนำเงินได้คืนจับจ่าย แต่อุปสรรคเพียบจากนโยบายเดิมหนี้เก่าใช้ไม่หมด แถมเงินออมถูกแบงก์พาณิชย์ล็อกเงินฝาก
ในยามที่ภาวะเศรษฐกิจของไทยโดนมรสุมจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น เร่งให้อัตราดอกเบี้ยต้องปรับตามขึ้นไปด้วยนั้น ส่งผลให้กำลังซื้อของคนในประเทศเสื่อมถอยลงทุกขณะ มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนภาคประชาชนที่เคยกำหนดกรอบไว้เมื่อ 29 พฤษภาคม 2549 ขณะนี้มีความคืบหน้าเพียงการให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ลดดอกเบี้ยเงินกู้แก่ลูกค้าที่เงินกู้ไม่เกิน 1 แสนบาทเท่านั้น ให้มีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2549
ส่วนเรื่องการลดดอกเบี้ยสำหรับข้าราชการที่กู้ซื้อบ้าน ทางธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้ตอบปฏิเสธมาแล้ว โดยระบุว่าไม่มีข้าราชการที่ได้รับผลกระทบเนื่องจากส่วนใหญ่ใช้อัตราดอกเบี้ยกู้ยืมแบบคงที่ เรื่องลดค่าไฟฟ้าให้ภาคเกษตรกรและเรื่องอื่น ๆ ยังเงียบหายไป
สูตรเดิมเพิ่มหักลดหย่อน
ล่าสุดคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการภาษีสนับสนุนนโยบายพัฒนาสังคม โดยยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับบุคคลธรรมดาที่จ่ายเป็นเบี้ยประกันสุขภาพให้บิดามารดา ตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาทต่อบิดามารดา 1 ท่าน รวมแล้วนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30,000 บาท
พร้อมทั้งการเริ่มเปิดแนวคิดที่จะเพิ่มการหักลดหย่อนผู้มีเงินได้ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ 40% ของรายได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท โดยจะเพิ่มเพดานการหักลดหย่อนเป็น 100,000 บาท แม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปตามตัวเลขดังกล่าว แต่แนวทางดังกล่าวถือเป็นการบ่งบอกถึงแนวทางในการแก้ปัญหาวิกฤติที่เกิดขึ้นในเวลานี้ด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อภาคประชาชน
วิธีการนี้รัฐบาลเคยใช้เมื่อช่วงที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศครั้งแรกในปี 2544 ครั้งนั้นก็กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยวิธีการสร้างความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่จะแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ ระดมทีมงานจัดงานต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนได้ออกมาจับจ่ายใช้สอย พร้อมกับการส่งเสริมให้ประชาชนใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือใช้บริการสินเชื่อบุคคลมากขึ้น ภายใต้พรีเซนเตอร์ชั้นดีอย่างนายกรัฐมนตรีที่กล่าวเชิญชวนว่าตัวเขาเป็นหนี้มาก่อนเป็นนักธุรกิจใหญ่อย่างนี้
จากคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ที่จะถือบัตรเครดิตได้ที่ 15,000 บาทต่อเดือนในเวลานั้น ปรับลดลงมาที่ 7,500 บาท ทำให้ธุรกิจบัตรเครดิตเพิ่มจำนวนลูกค้าได้มากมาย รวมถึงการเติบโตของผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลที่คนมีรายได้เพียง 5,000-6,000 บาทก็สามารถใช้บริการสินเชื่อบุคคลที่ไม่ต้องมีหลักประกันได้
หลังจากที่เกิดการเอารัดเอาเปรียบของผู้ให้บริการที่คิดดอกเบี้ยกู้ยืมสูง ประกอบกับตัวเลขหนี้สินภาคครัวเรือนขยับขึ้นมาจาก 8 หมื่นกว่าบาทขึ้นเป็น 1 แสนกว่าบาทต่อครัวเรือน ทำให้ทางการจึงเริ่มเข้ามาควบคุมโดยปรับรายได้ขั้นต่ำของผู้สมัครบัตรเครดิตกลับไปที่ 15,000 บาทตามเดิม และคุมเพดานดอกเบี้ยสำหรับบัตรเครดิตไว้ไม่เกิน 18% ต่อปี และให้คิดดอกเบี้ยด้วยวิธีลดต้นลดดอก ส่วนสินเชื่อบุคคลเข้ามาควบคุมอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 28% ต่อปีคิดแบบลดต้นลดดอกเช่นเดียวกันในช่วงปีสุดท้ายของการเป็นรัฐบาลไทยรักไทย 1
ขาลงบีบแบงก์ชาติไม่ได้
เมื่อเห็นว่าวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นกำลังซื้อก่อให้เกิดปัญหาหนี้สิน จึงเปลี่ยนมาเป็นการใช้เม็ดเงินจากภาครัฐเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจแทน โดยผุดโครงการเมกกะโปรเจคนับแสนล้านบาท
พร้อมกับการออกมารณรงค์ให้ประชาชนออมเงิน เพราะต้องการใช้เงินในประเทศส่วนหนึ่งเพื่อใช้สร้างรถไฟฟ้า 7 เส้นทางหลักในเวลานั้น แต่สุดท้ายก็ต้องเจอมรสุมทางการเมืองต้องยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ เมื่อราคาน้ำมันเบนซินเฉียด 30 บาทต่อลิตรในเวลานี้ รัฐบาลเลือกใช้มาตรการทางภาษีเข้ามาแก้ปัญหา เป็นผลมาจากการไม่สามารถประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทยได้ เนื่องจากมีมุมมองในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจคนละมุม โดยแบงก์ชาติให้ความสำคัญกับการคุมเงินเฟ้อจึงต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่รัฐบาลไม่อยากให้ขึ้นดอกเบี้ยเพราะจะทำให้เศรษฐกิจแย่กว่าเดิม แต่เวลานั้นรัฐบาลโดนมรสุมทางการเมืองอำนาจต่อรองกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยจึงน้อย
จะเห็นได้ว่ามาตรการที่ผลักดันออกมา ล้วนแล้วต้องใช้กระทรวงการคลังเข้ามาเป็นตัวหลักในการแก้ปัญหา โดยใช้หลักการเดิมคือหาวิธีการคืนเงินให้กับผู้มีเงินได้ ซึ่งเดิมก็เคยใช้วิธีการนี้มาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการให้สิทธิหักค่าลดหย่อนบิดามารดาอายุ 60 ปีขึ้นไปที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ผู้มีเงินได้สามารถหักลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาได้คนละ 30,000 บาท หรือการเปิดให้ผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ(RMF)และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว(LTF) นำมาหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 300,000 บาทต่อกองทุน หากลงทุนทั้ง 2 กองทุนก็หักลดหย่อนได้ถึง 600,000 บาท
แม้ว่าหลักการดังกล่าวจะทำให้กรมสรรพากรขาดรายได้ไปไม่น้อย เนื่องจากต้องคืนเงินให้กับผู้เสียภาษีเป็นจำนวนมากจากสิทธิในการหักค่าลดหย่อน แต่เงินขอคืนภาษีเหล่านั้นเมื่อได้กลับมาส่วนใหญ่มักจะนำไปใช้จ่ายแทบทั้งสิ้น ซึ่งเงินในส่วนนี้จะสร้างรายได้ให้กับรัฐเป็นอย่างมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บได้จากตัวสินค้าที่มีการซื้อขาย
ขณะนี้ปัญหาในการกระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนอีกครั้ง ถูกจำกัดด้วยภาระหนี้สินเดิมจากนโยบายครั้งก่อน ทำให้ประชาชนบางกลุ่มยังต้องรับภาระชำระหนี้เดิมที่เคยก่อไว้ ขณะเดียวกันในช่วงที่รัฐบาลเปลี่ยนนโยบายส่งเสริมการออม เม็ดเงินส่วนใหญ่ถูกล็อกโดยเงื่อนไขของธนาคารพาณิชย์ที่แข่งขันกันระดมเงินฝากไปก่อนหน้านี้
กรณีนี้เห็นได้ชัดว่ากระทรวงการคลังก็ไม่สามารถหาเม็ดเงินจากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาให้กับผู้ที่เดือดร้อนจากภาวะดอกเบี้ยสูงได้
นี่คือสิ่งที่ท้าทายต่อความสำเร็จในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลรักษาการชุดนี้
|