|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ค่ายรถยนต์ "นิสสัน"หวนคืนเวที ผลักดัน "นิสสัน ลีสซิ่ง" น้องใหม่หมาดๆ ตีโอบตลาดรถใหม่ป้ายแดง ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือธุรกิจเช่าซื้อในเครือแบงก์ ขณะที่สายสัมพันธ์กับดีลเลอร์ยังคงเปราะบาง เปิดศึกท้ารบด้วยสงครามออนไลน์อนุมัติด่วนใน 4 ชั่วโมง ถอยรถจากโชว์รูมได้ทันที ตามประกบด้วยการนำระบบให้บริการสินเชื่อครบเครื่อง ทั้งอุปกรณ์ตกแต่ง และประกันภัยดึงดูดความสนใจ ปีนี้จะทวงพื้นที่รถป้ายแดงคิดเป็น 10% ของยอดขาย ก่อนจะขยับเป็น 24 และ 35% ในปีถัดไป ยืนยันคู่แข่งคือเช่าซื้อที่จับตลาดเดียวกับค่ายรถยนต์นิสสันเท่านั้น...
การเปิดตัวสมาชิกใหม่ "นิสสัน ลีสซิ่ง" น้องใหม่ในเครือ สยามนิสสันอย่างเป็นทางการเมื่อ 24 เม.ย.2549 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียนถึง 300 ล้านบาท นอกจากจะบอกให้รู้ถึงสถานภาพ "ผู้เล่นหน้าใหม่" ในตลาด ส่วนหนึ่งยังเป็นการถือโอกาสฝากข้อความไปถึงธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในเครือแบงก์ ที่ให้สินเชื่อกับค่ายรถยนต์นิสสันโดยตรง
ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจแต่อย่างใด ถ้าจะบอกว่า "นิสสัน ลีสซิ่ง" คือน้องใหม่ในวงการเช่าซื้อรถยนต์รายล่าสุด ในขณะที่ค่ายรถทุกแบรนด์ที่วิ่งอยู่บนท้องถนนเมืองไทยต่างก็มีธุรกิจเช่าซื้อเป็นของตัวเองไปก่อนหน้านี้นานแล้ว
ในอดีต ค่ายรถนิสสันก็เคยมีพอร์ตเช่าซื้อเป็นของตัวเองอยู่พักหนึ่ง ในยุคที่ตระกูล "พรประภา" ถือหุ้นใหญ่ จนกระทั่งถูกขายออกไป จากนั้นดีลเลอร์ค่ายรถนิสสันก็ต้องอาศัยสายสัมพันธ์โดยตรงกับไฟแนนซ์ ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นคนในชายคาเดียวกับแบงก์ จนเกือบจะครบทุกเจ้าแล้ว
กระทั่งในภายหลังนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น เข้ามาเทกโอเวอร์ สยามนิสสันก็เริ่มหันมาทวงคืนอาณาบริเวณที่สูญเสียไป การเปิดตัวนิสสัน ลีสซิ่งในช่วงที่มูลค่าตลาดรถยนต์คาดจะมียอดสูงถึง 7.3-7.5 แสนคันเป็นเดิมพัน จึงถือเสมือนการเตรียมซุ่มโจมตีเพื่อยึดเอาพื้นที่ ที่เคยครอบครองกลับคืน
"นิสสัน ลีสซิ่ง" ปัจจุบันมีผู้ถือหุ้นทั้ง 100% เป็นนิสสัน มอเตอร์ ญี่ปุ่น คล้ายกับค่ายอื่นที่มีบริษัทแม่ถือหุ้นทั้งหมด อาทิ ฟอร์ด มาสด้า จีเอ็ม อีซูซุ บีเอ็มดับเบิลยู เดมเลอร์ไครสเลอร์ ฮอนด้า และโตโยต้าที่มีพันธมิตรเป็นสถาบันการเงินในประเทศร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย
กมลเดช บุนนาค กรรมการผู้จัดการ นิสสัน ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) บอกว่าปีแรกจะมียอดเช่าซื้อ 5,450 สัญญา หรือคิดเป็น 10%ของยอดขายรถยนต์นิสสันทั้งหมดในประเทศ ก่อนจะวิ่งขึ้นไปถึง 24 และ35% ตามลำดับในปีถัดๆไป
เหมือนกำลังจะประกาศทวงคืนพื้นที่ที่เคยยกให้กับเช่าซื้อค่ายอื่นให้กับมาเป็นของตัวเองอีกครั้ง....
การเอาจริงเอาจังกับธุรกิจน้องใหม่ สังเกตุได้จากการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ที่จะทยอยเปิดตัวให้ครบ 10 รุ่นในปี 2551 เริ่มจากปีนี้เพียง 2-3 รุ่น รถรุ่นใหม่ๆจึงจำเป็นต้องพึ่งระบบไฟแนนซ์เพื่อให้ตลาดเคลื่อนไปได้คล่องตัว หรือแม้แต่จะระบายรถโมเดลเก่าในสต็อคก็ต้องใช้การไฟแนนซ์เป็นเครื่องมือหลัก
โปรแกรมการทำตลาด เริ่มต้นด้วยความแตกต่าง... "นิสสัน ลีสซิ่ง" เปิดตัวด้วยการให้บริการสินเชื่อผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ที่ทำการวางระบบซอฟท์แวร์เชื่อมต่อกับผู้แทนจำหน่ายกับบริษัททั่วประเทศ
ผู้จำหน่ายจึงสามารถตรวจสอบสถานะคำขอสินเชื่อด้วยตัวเองได้ตลอดเวลา และส่งผลการอนุมัติด่วนภายใน 4 ชั่วโมง หลังบริษัทได้รับเอกสารครบถ้วนก็จะส่งคำสั่งอนุมัติผ่านระบบอีเมล์หรือแฟกซ์ วิธีนี้นอกจากจะขยายตลาดได้มากขึ้น ก็ยังช่วยปิดการขายได้เร็วขึ้นด้วย
นอกจากนั้น นิสสันลีสซิ่งยังนำระบบ F&I(Finance & Insurance) ซึ่งนิยมกันในยุโรปมาใช้ เพื่อให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อ ที่พ่วงกับการจัดสินเชื่อสำหรับอุปกรณ์ตกแต่งและประกันภัยรถยนต์รวมไว้ในชุดเดียวกัน
กมลบอกว่า สมัยก่อนซื้อประกันภัยหรืออุปกรณ์ตกแต่งต้องจ่ายเป็นเงินสด แต่รายการนี้ลูกค้าสามารถผ่อนขั้นต่ำของมูลค่ารถได้ รูปแบบนี้จะช่วยทำให้ประกันภัยยอมให้รถเข้าห้างหรือซ่อมกับศูนย์รถยนต์นิสสันได้ บริษัทก็จะได้ยอดขายอะไหล่ พร้อมกับค่าแรงเพิ่ม
" เราได้นำโมเดลในเม็กซิโกมาใช้ในประเทศไทย เพราะลักษณะกฎหมาย ระบบบัญชี และลูกค้าใกล้เคียงกัน เช่น ลูกค้าสามารถเลือกจะชำระเบี้ยได้เอง"
ปัจจุบันกำลังการผลิตรถยนต์นิสสันอยู่ที่ 4.6-4.8 หมื่นคัน ขณะเดียวกันก็ประมาณการว่าจะขยายเป้าหมายจาก 4.8 หมื่นคันเป็น 5.2 หมื่นคัน
" เราจะเข้าไปดูแลลูกค้าเอง ดังนั้นอิมเมจ บริษัทและข้อมูลลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ควรให้ไปอยู่ในมือธุรกิจคู่แข่งอื่นๆ"
กมล เล่าถึงสภาพแข่งขันในธุรกิจเช่าซื้อ ฟาดฟันกันด้วยสงครามราคาหรือหั่นดอกเบี้ยจนมาร์จิ้นลดเหลือน้อย ขณะเดียวกันดีลเลอร์แต่ละรายก็มีสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจเช่าซื้อมากหน้าหลายตา โดยบริษัทไม่สามารถบีบบังคับให้ทำไฟแนนซ์กับบริษัทได้เพียงเจ้าเดียว
" ถ้าเป็นไปได้ เราก็อยากให้เขาทำกับเรา เพราะกำลังของเรารองรับได้เต็มที่ เพียงแต่ดีลเลอร์แต่ละแห่งก็จะมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับไฟแนนซ์หลายแห่ง"
กมลบอกว่า นิสสันหรือแม้แต่ค่ายรถทุกแห่งที่มีธุรกิจเช่าซื้อเป็นของตัวเอง ต่างก็ไม่ใช่คู่แข่งกันโดยตรง เพราะแต่ละค่ายก็พยายามจะซัพพอร์ตลูกค้าที่ซื้อรถยนต์แบรนด์นั้นๆให้อยู่กับตัวมากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ก็จะปล่อยสินเชื่อได้สูงสุดเพียง 40% ของยอดขายรถยนต์ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นค่ายรถยนต์ขนาดเล็ก ขณะที่ค่ายใหญ่มักจะไฟแนนซ์ได้ในระดับไม่เกิน30%
ส่วนศัตรูคู่แข่งโดยตรง ก็คือไฟแนนซ์ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับค่ายรถยนต์นิสสันเท่านั้น...
กมลเดช บอกว่า ในสนามแข่งขันยังแข่งหนักเรื่องดอกเบี้ย และระยะเวลาการผ่อนชำระที่ยาวนานขึ้น แต่ถ้าเป็นแคมเปญที่หนักหน่วงก็จะเป็นรุ่นโละสต็อค
การเข้ามาจับธุรกิจเช่าซื้อของค่ายรถ จึงอธิบายได้ว่า แต่ละค่ายพร้อมจะเพิ่มการปิดยอด สนับสนุนการขายในกลุ่มดีลเลอร์ ขณะเดียวกันก็พยายามรุกไล่เพื่อทวงคืนพื้นที่ที่เคยถูกยึดครองโดยธุรกิจเช่าซื้อภายใต้แบรนด์เดียวกับแบงก์
แบงก์ในสมัยนี้อาจจะต่างไปจากอดีต กลุ่มก้อนของแบงก์มีบริษัทในเครือมากมายก่ายกอง รวมถึงเช่าซื้อ ธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้ให้อย่างงดงามในแต่ละปี
เจ้าตลาดในปัจจุบันก็ยังคงเป็นบริษัทในเครือแบงก์ ไม่ว่าจะเป็น จีอี มันนี่ แบงก์ธนชาต ทิสโก้ สยามพาณิชย์ลีสซิ่งภายใต้โลโก้ธงสีม่วงของแบงก์ไทยพาณิชย์ รวมถึงธุรกิจเช่าซื้อ ที่แบงก์ต่างๆตั้งหน้าตั้งตาออกไปกว้านซื้อมาอยู่ใต้อาณัติตัวเองจนนับไม่ถ้วน
ไม่ว่าจะเป็นนครหลวงไทย ที่ไล่ซื้อราชธานีลีสซิ่ง ไทยธนาคาร ทหารไทย กรุงศรีอยุธยา เคแบงก์ ที่มีลีสซิ่งเป็นของตัวเอง ยังไม่นับแบงก์ทุนนอกสแตนดาร์ดชาร์ดเตอร์ ซิตี้แบงก์และยูโอบี ที่จับจองตลาดอย่างเงียบๆ
ภาพแบงก์ทุกวันนี้จึงผิดแผกไปจากเมื่อก่อน ในอดีตบริษัทเงินทุนอาจจะเบ่งบานด้วยยอดเช่าซื้อที่มีสัดส่วนพอร์ตมหาศาล แต่ตอนจบของเรื่องบริษัทเงินทุนที่เหลือรอดมาได้ ต่างก็ยกฐานะเป็นแบงก์ และยังมีบางส่วนที่ถูกเทคโอเวอร์ จนไม่เหลือเค้าโครงเดิมให้เห็น
ดังนั้นเมื่อเอ่ยถึงแบงก์ จึงน่าเกรงขามกว่าเมื่อก่อนเกิดวิกฤตหลายขุม...
ในขณะที่ การเข้ามาถือหุ้นใหญ่แบบเบ็ดเสร็จของบรรดาค่ายรถชั้นนำทั่วโลก ก็ ต่างไปจากสมัยที่ตระกูลใหญ่หลายตระกูลรับหน้าที่เป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
เพราะการเข้ามาถือหุ้นทั้งหมด 100% ในธุรกิจของผู้เคยเป็นเพียงตัวแทนจำหน่าย และธุรกิจอื่นที่มีอยู่ ก็น่าจะบอกได้ถึง ความพยายามสานสัมพันธ์กับดีลเลอร์ให้แข็งแกร่ง
เพราะความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งเท่านั้นที่จะทลายกำแพงความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างดีลเลอร์และธุรกิจเช่าซื้อที่กระจายอยู่ทุกซอกมุมให้เปราะบางได้....จากนั้น ก็จะเป็นขั้นตอน การบุกเข้ายึดอาณาบริเวณที่เคยหายไปกลับคืนมา....ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ....
|
|
 |
|
|