ชื่อของณัฐวุฒ จิตะสมบัติ ถูกรือฟื้นสู่ความทรงจำอีกครั้งในงานแถลงข่าวการดำเนินโครงการโทรทัศน์เสร
ระบบยูเอชเอฟ ของกลุ่มสยามทีวี ด้วยตำแหน่งผู้อำนวยการบริหาร โครงการสถานีโทรทัศน์ยูเอชเอฟ
หลังจากที่เงียบหายไปเกือบ 1 ปี พร้อมกับการถูกปลดออกจากตำแหน่งผู้จัดการใหญ่/ซีอีโอ
กลุ่มสยามของคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
งานใหม่ในครั้งนี้นับเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่งสำหรับเขา
ณัฐวุฒ เป็นหนึ่งใน "สมอง" ที่ไหลออกจากไอบีเอ็ม ประเทศไทย ในช่วง
5 ปีที่แล้ว เพื่อนร่วมรุ่นของเขาที่ออกมาในช่วงเวลาเดียวกัน และโลดแล่นอยู่ในแวดวงธุรกิจไอทีมีหลายคน
เช่น สมประสงค์ บุญยะชัย กรรมการผู้อำนวยการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส
จำกัด (เอไอเอส) บริษัทในเครือชินวัตร รับสัมปทานโทรศัพท์มือถือระบบเซลลูลาร์
900 พัลลภ นาคพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทล็อกซบิท ในเครือล็อกซเล่ย์
ตลอดชีวิตการทำงาน 10 ปีในไอบีเอ็ม ณัฐวุฒยืนยันว่าเขาไม่ใช่เทคนิคัล แต่เขาเติบโตมาจากเซลส์แมนโดยภาคราชการเป็นลูกค้ากลุ่มแรกที่ถูกมอบหมายให้
ซึ่งในเวลานั้นนิวัฒน์ บุญทรง ที่ปัจจุบันนั่งเก้าอี้ใหญ่ในบริษัทชินวัตรเป็นผู้ดูแลกลุ่มลูกค้านี้อยู่
หลังจากนั้นได้รับมอบหมายให้ดูแลกลุ่มลูกค้าอื่นๆ ทั้งภาคธนาคาร ตลอดจนบริษัทคู่ค้า
สินค้าพีซี และลูกค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกคือ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดภาคอุตสาหกรรม
"ผมเป็นหนึ่งในพนักงานของไอบีเอ็มไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้รับผิดชอบลูกค้าทุกกลุ่มของไอบีเอ็ม"
ณัฐวุฒเล่า
กรณีการไปร่วมงานกับกลุ่มสยามกลการ เนื่องมาจากการที่เขาได้มอบหมายให้ดูแลกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งจะต้องรับผิดชอบกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นทุกกลุ่มที่เข้ามาลงทุนในไทย รวมทั้งสยามกลการด้วย
จากจุดนี้เองทำให้เขาได้พบกับคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช และถูกชักชวนให้มาร่วมงานในบริษัทสยามกลการ
ซึ่งกำลังมีโครงการใหม่เกิดขึ้น
ชื่อเสียงของณัฐวุฒเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการพร้อมกับกิจกรรมใหม่ของสยามกลการ
เพราะเขาได้รับความไว้วางใจจากคุณหญิงพรทิพย์ให้เป็นผู้บุกเบิกโครงการสำคัญๆ
อาทิ การจัดตั้งกลุ่มสยาม, การวางระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อให้คุณหญิงสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดเวลา
แต่ในที่สุดความขัดแย้งระหว่างพี่น้องในตระกูลพรประภา ทำให้คุณหญิงพรทิพย์ต้องพ้นไปจากสยามกลการ
ซึ่งส่งผลให้ชีวิตการทำงานของณัฐวุฒในสยามกลการต้องสิ้นสุดไปด้วย
หลังลาออกจากกลุ่มสยาม ณัฐวุฒได้ใช้เวลา 1 ปีเต็มช่วยงานคุณหญิงพรทิพย์ดูแลกิจการสยามซูบารุ,
สยามวิลสัน, เอสซีเอสคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นกิจการของคุณหญิงและเกษม ณรงค์เดช
ผู้เป็นสามี
กลุ่มสยามทีวี แอนด์ แมเนจเมนต์ เป็นสถานที่ทำงานแห่งที่ 4 ที่ณัฐวุฒได้เลือกเริ่มต้นชีวิตการทำงานอีกครั้งตามการชักชวนของบรรณวิทย์
บุญญรัตน์ ประธานกรรมการบริหารของสยามทีวี ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่สำนักทรัพย์สินได้พุ่งเป้าขยายกิจการทางด้านธุรกิจมีเดีย
และสื่อสารโทรคมนาคมอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการทีวีเสรีระบบยูเอชเอฟ
อันเป็นธุรกิจหลักของกลุ่มสยามทีวีเพื่อก้าวไปสู่ธุรกิจมัลติมีเดียจึงต้องการบุคลากรไปร่วมบุกเบิกกิจการใหม่ๆ
นี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งบรรณวิทย์ได้ใช้สายสัมพันธ์เดิมดึงมืออาชีพไว้ได้หลายวงการ
ณัฐวุฒได้รู้จักกับบรรณวิทย์มานานแล้ว ตั้งแต่สมัยทำงานอยู่ในไอบีเอ็ม
และถูกมอบหมายให้ดูแลลูกค้าธนาคาร ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับโครงการเอทีเอ็มของธนาคารไทยพาณิชย์
ที่บรรณวิทย์เป็นเจ้าของไอเดียเกิดขึ้นและไอบีเอ็มได้ถูกเลือกให้เป็นผู้วางระบบงาน
ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ มูลค่าหลายหมื่นล้าน คือ ภารกิจที่ณัฐวุฒได้รับมอบหมายซึ่งได้สร้างความแปลกใจให้กับใครหลายคน
เพราะเขาไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้มาก่อน
ทีวีช่องใหม่ระบบยูเอชเอฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะต้องมีสถานีถ่ายทอด
30 สถานี ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ ให้ประชาชนรับชมได้ถึง 96.7% ของทั้งหมดและต้องทดลองออกอากาศภายใน
18 เดือน และแพร่ภาพอย่างเป็นทางการภายใน 24 เดือน รวมทั้งการวางผังรูปแบบรายการให้สอดคล้องกับผู้ชม
เพื่อหาผลประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐ รวม 25,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน 30
ปีไม่รวมรายได้ที่ต้องมีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งสำหรับกลุ่มสยามทีวี
และตัวณัฐวุฒเอง
ณัฐวุฒชี้แจงกับ "ผู้จัดการ" ว่าภารกิจของเขานั้นไม่ใช่นายสถานีโทรทัศน์
หรือผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ แต่เขาเป็นผู้ประสานงาน และจัดการโครงการเพื่อให้ทีวีเสรีเกิดขึ้นได้ตามที่ระยะเวลาที่กำหนดไว้เท่านั้น
หน้าที่ของผู้ประสานงาน คือ การที่ต้องจัดการให้แต่ละฝ่ายที่จะประกอบมาเป็นสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ
อาทิ ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายรายการ ฝ่ายอุปกรณ์ ฝ่ายการตลาดที่มีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่แล้วนั้น
ทำงานไปตามที่กำหนดไว้
"ฝ่ายเทคนิคจะมีผู้เชี่ยวชาญจากภายในองค์กรและได้ฝ่ายวิศวกรรมจากบีบีซีลอนดอน
มาช่วยในการวางแผนติดตั้งทั่วประเทศ รวมทั้งการคัดเลือกอุปกรณ์ จะมีผู้ชำนาญมาช่วยในการคัดเลือก
หรือฝ่ายรายการจะมีผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ จะมาจากกลุ่มและผู้ถือหุ้นที่จะตั้งเป็นคณะอนุกรรมการขึ้นมา
เพื่อคัดเลือกรายการและการตลาดจะต้องวางแผนไว้ว่า จะทำอย่างไรที่จะให้มีการผลิตโทรทัศน์ที่จะรับสัญญาระบบยูเอชเอฟหรือมีการผลิตเสาอากาศระบบนี้
และให้ประชาชนติดตั้งซึ่งผมต้องเป็นผู้ประสานงานให้กับแต่ละฝ่ายเดินหน้าไปตามที่กำหนดไว้
เพราะแต่ละฝ่ายทำหน้าที่ของเขาเอง" ณัฐวุฒชี้แจง
แม้จะไม่ต้องลงมือปฏิบัติงาน แต่การเป็นผู้บริหารโครงการใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นให้เดินหน้าไปอย่างลงตัว
และต้องเปิดบริการให้ทันภายใน 24 เดือนจึงไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
แต่ณัฐวุฒเชื่อว่าไม่ได้เป็นอุปสรรคนัก เพราะจากประสบการณ์ในการบริหารโครงการใหญ่ๆ
ในสมัยที่อยู่ไอบีเอ็มจะเป็นประโยชน์ที่ทำให้เขาสามารถทำงานในตำแหน่งนี้ได้
ภารกิจของเขากับการบริหารโครงการโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟนี้จะเริ่มหมดลง เมื่อเริ่มเปิดให้บริการในอีก
24 เดือนข้างหน้านี้ และเมื่อบริษัทสยามอินโฟร์เทนเมนท์ ซึ่งเป็นบริษัทร่วมลงทุนระหว่างผู้ถือหุ้น
12 ราย ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นมารับหน้าที่บริหารโครงการทีวีระบบยูเอชเอฟต่ออย่างเป็นทางการ
ทว่า หน้าที่ของเขาในบริษัทสยามทีวี แอนด์ แมเนจเมนท์ ยังไม่หมด เพราะเขาจะต้องไปเริ่มต้นบริหารโครงการใหม่ในสายธุรกิจมีเดีย
ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต และคงหนีไม่พ้นเคเบิลทีวี และเมื่อถึงวันนี้ชื่อของณัฐวุฒคงปรากฏขึ้นอีกครั้งในภารกิจที่คล้ายคลึงกันนี้