ข่าวการประนีประนอมกันระหว่างกลุ่มเคพีเอ็นของเกษมและคุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช
กับพรเทพ พรประภา ผู้บริหารของสยามกลการในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่สยามยามาฮ่า
เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2538 ซึ่งมีนายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ
จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ไกล่เกลี่ย ผลลัพธ์ก็คือ กลุ่มเคพีเอ็นยอมตกลงซื้อหุ้นในบริษัท
สยามยามาฮ่า จำนวน 67.78% จากสยามกลการ และ 16.09% จากดร.ถาวร พรประภา ในราคาร
1,217 ล้านบาท และ 289 ล้านบาท ตามลำดับ
ความสำเร็จในการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ส่งผลให้กลุ่มเคพีเอ็น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสยามยามาฮ่า
และสยามยามาฮ่าก็จะยังคงเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่าในประเทศไทยต่อไป
เพียงแต่เปลี่ยนจากการอยู่ภายใต้ร่มเงาของสยามกลการมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรเคพีเอ็น
และคงต้องมียามาฮ่ามอเตอร์เข้ามาถือหุ้นด้วย
อย่างไรก็ดี แม้ทุกฝ่ายจะมองว่าการตกลงซื้อขายหุ้นครั้งนี้ เป็นการปิดเกมที่ค่อนข้างสวยงาม
แต่ก็ปรากฏว่ามีผู้ถือหุ้นสยามกลการ 5 คน ซึ่งผู้ถือหุ้นรวมกันประมาณ 40%
อันประกอบไปด้วย ชุมพล, ไพโรจน์, ปรีชา, ปริญญา พรประภา และพรรณี จรัญวาศน์
ไม่พอใจกับราคาขายจำนวน 1,217 ล้านบาท
หลังการตกลงซื้อขายหุ้นหลายวัน
ชุมพล พรประภา ก็นัดผู้สื่อข่าวหลายสิบฉบับไปพบปะกันเพื่อให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกของเขา
ชุมพลกล่าวว่าพรเทพยังไม่ได้ใช้ความพยายามมากเพียงพอในเรื่องการต่อรองราคาซื้อขาย
พูดง่ายๆ ราคาซื้อขาย พูดง่ายๆ ราคาซื้อขายหุ้นควรเป็นจำนวนเงินที่มากกว่านี้
"ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นสยามกลการและมีนามสกุลพรประภา ผมอยากเห็นเรื่องนี้จบไปด้วยดี
แต่จะต้องโปร่งใส ยุติธรรมและผู้บริหารสยามกลการจะต้องจัดการอย่างมืออาชีพ"
ชุมพลกล่าว
สิ่งที่ชุมพลคลางแคลงใจก็คือ การตกลงขายหุ้นตามราคา book value คือบริษัทนี้ตั้งมานานเท่าไรก็ตาม
ซื้อที่ไว้กี่แปลง ซื้อเมื่อไร ก็คิดมูลค่าไปตามราคาซื้อ ไม่ได้ประเมินเป็นราคาปัจจุบัน
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ถือหุ้นอยากให้ผู้บริหารสยามกลการส่งมืออาชีพเข้าไปตรวจสอบมูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมด
อีกประเด็นหนึ่งที่ชุมพลต้องการให้ตรวจสอบก็คือเงินที่สยามยามาฮ่าได้นำไปลงทุนในบริษัทอื่นๆ
500 กว่าล้านบาทมีดอกผลงอกเงยขึ้นมาเป็นเท่าไรแล้ว และควรมีมูลค่าเท่าไรในปัจจุบัน
หลฃังจากตรวจสอบเสร็จแล้วจึงค่อยมาพิจารณาราคาซื้อขายกันว่าควรจะเป็นเท่าไร
"การประนีประนอมระหว่างพี่กับน้องเป็นของดีแต่ต้องประนีประนอมให้มันโปร่งใส
ทำให้มีหลักเกณฑ์อย่างมืออาชีพ ประหนึ่งเป็นบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพราะไม่ว่าสยามกลการก็ดี สยามยามาฮ่าก็ดี เท่าที่ได้ยินข่าวก็มีแผนที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
ทั้งสิ้น จึงควรฝึกทำการบ้านเสียตั้งแต่เนิ่นๆ" ชุมพลกล่าวพร้อมกับย้ำว่าการขายหุ้นถือว่าเป็นการจบอย่างสวยงาม
แต่ต้องขายในราคายุติธรรมเพราะถ้าขายในราคาที่ตกลงกันไปแล้วส่วนตัวเขาคิดว่าไม่ขายดีกว่า
สำหรับพรเทพ พรประภา ปัญหาต่างๆ นานาที่เกิดขึ้นในยุคที่เขาเข้ามาเป็นผู้บริหารสยามกลการนั้น
เป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกอยู่มาก
เขานัดนักข่าวที่ตามสัมภาษณ์เขาหลายฉบับไปพูดคุยกัน แต่เผอิญเป็นวันถัดจากวันเดียวที่ชุมพลนัดนักข่าวเพียง
1 วัน พรเทพก็เลยไม่พูดอะไรมาก เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นการออกข่าวโต้เถียงกับญาติผู้พี่
"ผมถูกอุปโลกน์ขึ้นมาเป็นผู้จัดการใหญ่ของสยามกลการ จึงต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่พี่กับน้องสายเลือดเดียวกันฟาดกันเองนี่ผิดจะเป็นใครขึ้นมานั่งก็ได้
ตำแหน่งมันบังคับเอง ไม่จำเป็นต้องเป็นพรเทพ แต่บังเอิญเกิดเป็นพรเทพ พรประภา
และเป็นน้องคุณหญิง อันนี้ขอเคลียร์ว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องศึกสายเลือด
เพราะคำว่าศึกสายเลือดหมายความว่าผมต้องการเข้าไปยึดและเอามาทำเอง แต่ไม่ใช่
สยามกลการแต่ตั้งผม ผมก็เลยต้องเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้"
พรเทพยอมรับว่าเขาเป็นผู้ติดต่อนายชาตรี โสภณพนิช ให้มาช่วยเจรจาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น
"ผมนั่งคิดว่า คนที่สนิทกับคุณหญิงและพอจะคุยรู้เรื่องมีใครบ้าง ซึ่งก็มีผู้หลักผู้ใหญ่เยอะแยะ
แต่ผมต้องการคนที่คุยกันแบบนักธุรกิจได้ ผมเป็นคนเดินเข้าไปหาคุณชาตรีเองแล้วขอให้เรียกมาคุยกันฉันมิตร
ไม่ใช่เรื่องที่คุณชาตรีเป็นเจ้าหนี้ เพราะมีรายอื่นที่เป็นเจ้าหนี้ใหญ่กว่า
แต่เพราะความสนิทสนมของทั้งสองฝ่าย"
จากคำพูดของพรเทพดูออกว่าเขาลำบากใจมาก ที่ไม่สามารถทำให้การเจรจาซื้อขายหุ้นครั้งนี้เป็นที่พอใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะราคาซื้อขายหุ้นที่กลุ่มผู้ถือหุ้นจำนวน
40% ในสยามกลการไม่พอใจ พรเทพยอมรับว่าราคาขายที่กำหนดขึ้นนั้น เป็นราคาที่คำนวณจาก
book value เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรเป็นมาตรฐานได้ดีเท่านี้ รวมทั้งยังยอมรับว่าเป็นราคาแบบพี่น้องอีกด้วย
เพราะงานนี้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้เป็นมืออาชีพทั้งคู่แต่เป็นพี่น้อง
"การเจรจาระหว่างมืออาชีพกับมืออาชีพน่ะมันง่าย แต่เมื่อผู้ซื้อไม่ใช่มืออาชีพกลายเป็นพี่สาวผม
ประธานกิตติมศักดิ์ของบริษัทก็เป็นเตี่ยผมแล้วผู้ถือหุ้นก็เป็นญาติๆ ผมเพราะฉะนั้นการใช้อารมณ์ในการเจรจานี่มันมี
ทั้งๆ ที่ตอนทำ ตอนคิด ผมไม่ได้คิดว่าผมเป็นผู้ถือหุ้น ผมคิดว่าผมเป็นมืออาชีพ
ตอนพรีเซ็นต์ก็พรีเซ็นต์แบบมืออาชีพ แต่ผู้ถือหุ้นเป็นญาติผม มันจึงมีอารมณ์เข้ามาก็มั่วเลย"
อย่างไรก็ดี ในสายตาของพรเทพ เขาไม่คิดว่าผู้ถือหุ้นได้รับผลกระทบจากการขายหุ้นในราคา
1,200 ล้านบาทแต่อย่างใด หรือพูดง่ายๆ สยามกลการไม่เดือดร้อนที่ขายหุ้นในสยามยามาฮ่าทิ้งไป
"ผมไปค้นมาหมดแล้วที่ว่าเขาจ่ายเงินปันผล 44% น่ะไม่จริง สยามกลการได้รับเงินปันผลจากสยามยามาฮ่าไม่ถึงปีละ
20 ล้านบาท ถ้าเอาตัวเลขนี้มาคำนวณดู เชื่อไหมอีก 30 ปีผมตายแล้วเกิดใหม่เงินปันผลที่สยามกลการได้จากสยามยามาฮ่าก็ยังไม่ได้ครึ่งหนึ่งของราคาที่ขายเลย
ผู้ถือหุ้นเสียหายตรงไหน อาจจะเสียก็ตรงที่ความรู้สึก ซึ่งผมก็รู้สึกเสียเหมือนกัน"
มองอีกด้านผู้ที่เสียหายน่าจะเป็นกลุ่มเคพีเอ็น
"เรามีการตั้งตุ๊กตากันว่าถ้าคุณหญิงนั่งเฉยๆ ไม่ดิ้นเลยนะ ก็จะไม่เสียสักบาท
เพราะว่าตราบใดที่นายพรเทพจากสยามกลการยืนยันว่าไม่ยุ่งคุณก็จ่ายเงินปันผลไปเรื่อยๆ
คุณก็ไม่ต้องจ่ายพันสองร้อยล้านบาท สรุปแล้วความคิดที่ดีที่สุดคือ ขาย จะได้จบ"
โดยสรุปแล้วปัจจัยสำคัญ ซึ่งมีน้ำหนักมากถึงหนึ่งในสามที่ทำให้พรเทพต้องตัดสินใจขายสยามยามาฮ่าก็คือ
การที่ยามาฮ่า มอเตอร์ไม่ต่อสัญญาความช่วยเหลือทางด้านเทคโนโลยีกับสยามยามาฮ่า
ส่วนอีก 2 ส่วนที่เหลือก็เพื่อจะยืนยันเจตนารมณ์ที่เคยประกาศเอาไว้ตั้งแต่วันแรกที่เข้าบริหารสยามกลการว่า
ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับสยามยามาฮ่า บวกกับผลประโยชน์ที่สยามกลการได้รับจากสยามยามาฮ่าซึ่งหากตีความคำพูดของพรเทพ
คือ "กระจอกมาก"
ดังนั้น 17 พฤษภาคมที่ผ่านมาจะมีการเซ็นสัญญาหรือไม่ ไม่สำคัญ ถ้าเตรียมการด้านต่างๆ
ทันก็เซ็น ถ้าไม่ทันก็คงต้องเลื่อนไปจนกว่าจะพร้อมแต่ที่แน่ๆ มีการซื้อขายเกิดขึ้นเพื่อปิดเกมนี้ค่อนข้างแน่นอน