รมช.คลังยัน เมกะโปรเจกต์ กระจายรายได้สู่ประชาชน กระตุ้นการบริโภค และอุตสาหกรรมก่อสร้าง สร้างความเชื่อมั่นดึงการลงทุนต่างชาติ ด้านนายกสมาคมการขายฯ ชี้ อสังหาปี49 ปีแห่งการปรับตัว ระบุจัดสรรรายใดยืนได้ถึงปี 50 รอด อยู่ไม่ได้ก็จบ สวค. คาดตลาดอสังหาฯ ปี48-52 บ้านเดี่ยว -ทาวน์เฮาส์-คอนโดฯ ซัพพลายล้นเกือบทุกตลาด เชื่อโครงการเกาะแนวระบบรางยังไปได้
นายไชยศ สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงานสัมมนาหัวข้อเรื่อง "จับทิศการตลาดปรับศาสตร์อสังหาฯฝ่าฟันเศรษฐกิจ" ซึ่งจัดขึ้นโดยสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ ร่วมกับศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดขึ้นวานนี้ (21 มิ.ย.) พร้อมกล่าวว่า การขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศปรับอัตราดอกเบี้ย
ซึ่งส่งผลกระทบต่อการชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และการบริโภคของประชาชน รวมถึงเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติให้มีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างดีมานด์ในตลาดด้วย
ดังนั้น เพื่อเป็นการกระจายรายได้ในกลุ่มประชาชน และเพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศ
ซึ่งจะช่วยให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้รัฐบาลต้องมีการอนุมัติการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจกต์ ในโครงการรถไฟฟ้าใน3 เส้นทาง เพื่อกระตุ้นตลาดอุตสาหกรรมก่อสร้างในประเทศไทย และตลาดอสังหาฯ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวตามไปด้วย หลังจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นบ้านมือสอง โดยแผนต่อไปคือการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในเส้นทางถนนสายหลัก นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความเชื่อมั่นกระตุ้นให้เกิดการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้น ซึ่งหากมาตรการการกระตุ้นตลาดมีศักยภาพจะทำให้ตลาดเดินไปได้
ด้านนายไพโรจน์ สุขจั่น นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ในปี 47 นับว่าเป็นปีแห่งการเติบโต แต่ในช่วงปี48-49 ถือว่าเป็นปีที่เกิดปัจจัยลบรอบด้านเข้ามากระทบตลาดอสังหาฯ ทำให้ต้องมีการปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างมาก ซึ่งหากผู้ประกอบการรายใดสามารถปรับตัวและยืนต่อจนผ่านปี 49 ไปได้ก็ถือว่าจะสามารถอยู่รอดต่อไปได้
ทั้งนี้ จากแบบจำรองการคาดการณ์ แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ปี48-52 ของสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยสร้างบ้านเองทั่วประเทศ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี49 จะมีการสร้างบ้านเอง ประมาณ 271,301 หน่วย ปี50 จะมีบ้านสร้างเอง 283,869 หน่วย ปี 51 จะมีการสร้างบ้านเอง 293,838 หน่วย และในปี 52 จะมีบ้านสร้างเองเพิ่มขึ้นเป็น 307,132 หน่วย ส่วนปริมาณการซื้อขายที่อยู่อาศัยบ้านมือใหม่คาดว่า ในปี49จะมีจำนวนการซื้อขาย 74,967 หน่วย ในปี50 จะมีการซื้อขาย 72,602 หน่วย ปี 51 จะมีการซื้อขาย 73,196 หน่วย และในปี 52 คาดว่าจะมีการซื้อขายประมาณ 73,600 หน่วย
อย่างไรก็ตามในช่วงที่ผ่านมาปัจจัยลบที่เข้ามากระทบตลาดอสังหาฯ ทำให้เกิดการชะลอการซื้อออกไป ในขณะที่ผู้ประกอบการยังมีการพัฒนาสินค้าออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะโอเวอร์ซัพพลายเกิดขึ้นในแต่ละเซ็กต์เม้นท์ โดยภาวะดังกล่าวเริ่มเห็นชัดเจน ตั้งแต่ปี 48 เป็นต้นมา ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ในปี 49 บ้านเดี่ยวระดับราคาสูงกว่า8 ล้านบาทมีซัพพลายสูงกว่าดีมานด์อยู่ 1.23% ส่วนบ้านเดี่ยวราคา 3-8 ล้านบาท พบว่ามีซัพพลายเกินอยู่ 9.28% ส่วนบ้านระดับต่ำกว่า 3 ล้านบาทยังไม่เกิดการโอเวอร์ซัพพลาย และคาดว่า ในปี50 - 51 จะมีซัพลายเกินอยู่ 10.5% และ1.10% ตามลำดับ
สำหรับตลาดทาวน์เฮาส์ในปี 49 พบว่า ทาวน์เฮาส์ระดับราคา 3-8 ล้านบาท มีซัพพลายเกินอยู่ 7.83% ในปี50,51และ52 คาดว่าจะมีจำนวนซัพพลายเกินอยู่ 4.85%,3.46,และ2.03 ตามลำดับ ในขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม ในปี 49 พบว่า ห้องชุดระดับราคาสูงกว่า 8 ล้านบาท มีซัพพลายเกินอยู่ 10.98% และคาดว่าในปี50,51และ52 จะมีซัพพลายเกินอยู่ประมาณ 7.71% , 4.57%, 3.62% ตามลำดับ ส่วนห้องชุด3-8 ล้าน ในปี49 มีจำนวนซัพพลายเกินอยู่ 43.21% ปี 50 เกินอยู่ 16.61% ปี51 เกินอยู่ 9.77% และปี52คาดว่าจะเกินอยู่7.79% สำหรับตลาด ห้องชุด ต่ำกว่า 3ล้านบาท พบว่าปี49 มีซัพพลายเกินอยู่ 58.69% ปี50เกินอยู่46.66% ปี51เกินอยู่ 28.67% และปี52คาดว่าจะมีซัพพลายเกินอยู่ 23.20%
อย่างไรก็ตามแม้ว่าตลาดจะมีซัพพลายโอเวอร์อยู่เกือบทุกเซ็กต์เมนท์ แต่ที่อยู่อาศัยที่ตั้งอยู่ในแนวระบบราง จะยังสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการจะต้องที่จะพัฒนาสินค้าหใม่ออกมาต้องศึกษาความต้องการของตลาด และลูกค้าเพื่อตอบสนองความต้องการให้มากที่สุด เนื่องจากเชื่อว่าในช่วงครึ่งปีหลังตลบาดจะยังได้รับปัจจัยลบอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะการปรับราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย และการเมือง
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์ฌสรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึง ทิศทางเศณษฐกิจไทย ว่า การปรับราคาน้ำมันส่งผลให้ เศรษฐกิจไทยซึมต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี48 จนถึงปัจจุบัน และ คาดว่าในปี49 นี้ เศรษฐกิจจะกลับฟื้นตัวขึ้นมามีอัตราเติบโตโดยรวมไม่ต่ำกว่า 4.5% เนื่องจากได้รับปัจจัยบวก จากงานฉลองรอบรอบ60ปีครอบศิริราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทำให้เกิดการใช่จ่ายในภาคประชาชน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาส 2-3 เศรษฐกิจยังมีอัตราการขยายตัวที่ดีอยู่
แต่ในไตรมาสที่ 4นี้จะต้องจับตาดูตัวแปรสำคัญคือน้ำมัน โดยเฉพาะปัจจัยการเมืองซึ่งหากไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้หลังการเลือกตั้ง ก็จะเกิดปัญหาการจัดสรรงบประมาณประจำปี และจะส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรหลักของเศราฐกิจในประเทศ
|