หากจะตั้งคำถามกับ จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ในฐานะประชาชน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ว่า
คิดอย่างไรถึงได้ไปลงทุนในธุรกิจสื่อสารมากมาย
จิรายุก็อาจจะตอบดังเช่นที่เคยตอบหลายครั้งว่า "ไม่มีอะไร สำนักงานทรัพย์สินฯ
เป็นเพียง silent partner"
สำนักงานทรัพย์สินอาจเป็นเพียงผู้อยู่หลังฉากแบบเงียบๆ ก็จริง แต่ partner
ที่ทรัพย์สินฯ ไปผูกไว้นั้นไม่ใช่รายเล็กๆ เลย โดยเฉพาะธนาคารไทยพาณิชย์ที่มี
บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เป็นเสนาธิการในการลงทุนในธุรกิจสื่อสารกลับวางกลยุทธ์เชิงรุกเป็นอย่างมาก
และสำนักงานทรัพย์สินฯ ก็กลายเป็นตัวแปรสำคัญในหลายๆ กรณี
ในเวลาไม่ถึง 2 ปี สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ได้ขยายการลงทุนไปที่ธุรกิจทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม
และธุรกิจมีเดียอย่างมากมาย
ฐานะของทรัพย์สินฯ ไม่ใช่ "นักธุรกิจ" แต่เป็นเพียง "ผู้ลงทุน"
เผอิญธุรกิจที่ทรัพย์สินไปลงนั้น ล้วนเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพการเติบโต
เช่น ปูนซิเมนต์ สถาบันการเงิน
ว่ากันว่า ปัจจัยผลักดันที่ทำให้ทรัพย์สินฯ โดดเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารอย่างเต็มตัวนั้น
นอกจากจะเป็น "โอกาสทางธุรกิจ" ที่บรรณวิทย์ บุญญรัตน์ เป็นผู้ชี้แนะแล้ว
ความจำเป็นทางด้าน "สื่อสาร" กับ "มวลชน" ก็เป็นสิ่งจำเป็นยิ่ง
ในสายตาของทรัพย์สินฯ อาจมองว่าถึงเวลาแล้วที่องค์กรแห่งนี้จะเข้ามาเป็นตัวกลางคานอำนาจในสงครามธุรกิจสื่อสารมวลชน
ที่มีแนวโน้มว่าอาจจะมีเอกชนยักษ์ใหญ่บางรายเท่านั้นครอบครองและมีพลังในทุกสื่อ
ก้าวแรกของสำนักงานทรัพย์สินฯ คือ การรื้อฟื้นบริษัทสหศีนิมา บริษัทในเครือที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ
60 ปีที่แล้วเพื่อปรับปรุงกิจการเก่าแก่คือโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง
หลังจากนั้นสหศีนิมาก็เริ่มรุกอย่างเงียบๆ แม้จะไม่ปะติดปะต่อ และมีแนวทางชัดเจนนักในช่วงเริ่มต้น
โดยเริ่มเข้าสู่วงการข่าววิทยุเมื่อปี 2532 และต่อมาได้จับมือกับมีเดียพลัส
ก่อตั้งเป็นสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น (Independent News Network) ซึ่งสหศีนิมาเริ่มหันมาจับธุรกิจทางด้านประชาสัมพันธ์ควบคู่กันเพื่อสร้างรายได้
เมื่อทิศทางธุรกิจใหม่ถูกกำหนดออกมา พร้อมๆ กับธุรกิจข้อมูลข่าวสารเริ่มขยาดตัว
ในต้นปี 2537 สำนักทรัพย์สินฯ เริ่มอาจจริงกับธุรกิจนี้โดยได้จัดตั้งบริษัทสหศีนิมา
โฮลดิ้ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด ซึ่งแตกหน่อมาจากบริษัทสหศีนิมาโฮลดิ้งฯ
เพื่อทำหน้าที่ดูแลบริษัทต่างๆ ที่สำนักงานทรัพย์สินฯ เข้าไปถือหุ้นภายใต้เป้าหมายธุรกิจ
3 ประเภท คือ 1. ธุรกิจข้อมูล 2. ธุรกิจด้านสื่อ 3. ธุรกิจด้านโทรคมนาคม
พร้อมกับดึง 2 ขุนพล จุลจิตต์ บุณยเกตุ ผู้ช่วยกรรมการอำนวยการไทยออยล์
และบรรณวิทย์ บุญญรัตน์ รองผู้จัดการใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นผู้เริ่มนำระบบเงินด่วนอัตโนมัติมาใช้กับธนาคารไทยพาณิชย์เป็นแห่งแรก
มาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการขยายธุรกิจทางด้านนี้
ในเวลาเพียงปีกว่า สหศีนิมาโฮลดิ้งฯ เข้าไปร่วมทุนในบริษัทต่างๆ พร้อมกับการตั้งบริษัทสยามทีวี
แอนด์ แมเนจเมนท์ ดูแลทางด้านคอมมิวนิเคชั่นและมีเดีย ซึ่งปัจจุบันได้แตกหน่อบริษัทลูกทั้งหมด
42 แห่ง ครอบคลุมธุรกิจ 8 กลุ่มหลัก
เริ่มจากกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีและสื่อสารโทรคมนาคมซึ่งสรรพัชญ โสภณ ผู้อำนวยการบริหารของกลุ่มนี้กล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ว่าเป้าหมายของกลุ่มนี้คือเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญในระบบสื่อสารดทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ
ภายใน 5 ปี โดยจะมุ่งเน้นเฉพาะบริการเสริมเท่านั้น จะไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับบริการหลัก
"เรามองว่าบริการเสริมจะมีบทบาทมากในอนาคตและเป็นตลาดที่มีมูลค่ามหาศาลขึ้นอยู่กับว่าใครจะหยิบอะไรมานำเสนอ
ในขณะที่บริการหลักนั้นยังถูกผูกขาดอยู่กับหน่วยงานของรัฐ และเราไม่จำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนเป็นเจ้าของ
แต่สามารถเช่าสื่อโทรคมนาคมที่รัฐมีอยู่เช่ามาใช้ประโยชน์ในการให้บริการได
้และดีกว่าด้วย" สรรพัชญสะท้อนแนวคิดของธุรกิจในกลุ่มนี้
ภายใต้แนวคิดนี้เอง สยามทีวีฯ ได้ตัดสินใจซื้อกิจการไทยสกายคอม ผู้รับสัมปทานวีแซท
อันเป็นบริการสื่อสารข้อมูล ภาพ และเสียง ผ่านสถานีดาวเทียมขนาดเล็กจากกลุ่มธนายงซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
และได้เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสยามแซทเทิลไลท์ เพื่อใช้เป็นใบเบิกทางในการขยายธุรกิจต่อเนื่องในเวลาต่อมา
เริ่มจากการร่วมทุนกับบริษัทล็อกซเล่ย์จัดตั้งบริษัทวิดีโอคอนเฟอเรนซิ่ง
จำกัด ให้บริการประชุมทางไกลรวมทั้งการให้บริการเกี่ยวกับระบบเครื่องเครดิตการ์ด
รวมทั้งการร่วมทุนกับบริษัทอินโฟร์เน็ท ผู้ให้บริการเสริมรายใหญ่ของโลกจัดตั้งบริษัทสยามอินโฟร์เน็ท
เพื่อให้บริการอีดีไอระหว่างประเทศ ตามที่ได้รับใบอนุญาตจากการสื่อสารแห่งประเทศไทย
(กสท.)
การจัดตั้งบริษัทสยามอินเตอร์แอคทีฟ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีมัลติมีเดีย
และวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เพื่อให้บริการทางด้านมัลติมีเดียทุกรูปแบบ เช่น การนำไปใช้ในกิจการค้าขายสินค้าประเภทต่างๆ
ธุรกิจไอทีจะมีบริษัทสยามเทคโนโลยีเซอร์วิสเป็นแกนนำ ซึ่งกำลังเตรียมปรับนโยบายธุรกิจใหม่
จากผู้ให้บริการสำรองระบบคอมพิวเตอร์ให้กับธนาคารมาเป็นผู้ให้บริการทางด้านวิศวกรรม
(เอาท์ซอร์สซิ่ง)
โดยในอนาคตธุรกิจไอทีจะเป็นส่วนหนึ่ง ของการสร้างทางด่วนข้อมูล เพื่อให้บริการสื่อสารข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ได้
ด้วยเทคโนโลยีล่าสุด
นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังได้เข้าไปถือหุ้น 5% ในบริษัททีเอสซี ของกลุ่มยูคอม
ในโครงการอิเรเดียมและโครงการอัพลิงค์-ดาวน์ลิงค์ ของอ.ส.ม.ท. ซึ่งอยู่ระหว่างการรออนุมัติงบประมาณจากครม.
กลุ่มธุรกิจทีวี จะมีบริษัทสยามอินโฟร์เทนเมนท์ ซึ่งสามารถคว้าโครงการทีวีระบบยูเอชเอฟจากรัฐบาลไปตามคาดหมาย
ภายใต้ข้อตกลงที่ต้องจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนถึง 25,000 ล้านบาท ตลอดอายุสัมปทาน
30 ปี ซึ่งกลุ่มนี้จะมีบทบาทอย่างมากในอนาคต
กลุ่มธุรกิจวิทยุ ผลิตรายการวิทยุและทำการตลาดให้กับระบบเครือข่ายวิทยุครอบคลุมทั่วประเทศ
กลุ่มธุรกิจข่าวสาร จะมีบริษัทออนไลน์ นิวส์ หรือสำนักข่าวไอเอ็นเอ็น รับผิดชอบผลิตข่าวและขายข่าวสารให้กับลูกค้าทั่วไป
กลุ่มธุรกิจโฆษณาประชาสัมพันธ์ มีบริษัทสยามวิชั่น ดำเนินธุรกิจตัวแทนที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์
ตลอดจนกิจกรรมส่งเสริมการตลาด
กลุ่มธุรกิจโปรดักชั่นเฮาส์ ผลิตรายการสารคดีจำหน่าย ทั้งในกและต่างประเทศ
ตลอดจนการผลิตละคร
กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเมนท์ คือการร่วมทุนกับคีตาเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ออนป้า
อินเตอร์เนชั่นแนล และวิสาเอ็นเตอร์เทนเมนท์ ทำธุรกิจดนตรี
กลุ่มธุรกิจสิ่งพิมพ์ ร่วมลงทุนกับหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และวารสารการเงินการธนาคาร
ตั้งสำนักพิมพ์สยามเอ็ม แอนด์ บี ร่วมทุนกับเดลินิวส์ ผลิตหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันชื่อ
"สื่อธุรกิจ" ร่วมทุนกับสิงคโปร์เพรส โฮลดิ้ง และทีพีพี ของชาติชาย
เย็นบำรุง ทำหนังสือพิมพ์สยามเพรส จัดพิมพ์นิตยสารและสื่อสิ่งพิมพ์ทุกชนิด
บทบาทของสำนักทรัพย์สินฯ ในเวลานี้ ได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในกลุ่มทุนสื่อสาร
และเป็นผลผลิตที่เกิดขึ้นมาในโลกของข่าวสารข้อมูล ซึ่งเป็นธุรกิจคลื่นลูกที่
3 ในทศวรรษนี้