บลจ.ไทยพาณิชย์ประกาศบุกตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ-กองทุนส่วนบุคคล หลัง 3 ปีที่ผ่านมา ทุ่มรุกธุรกิจกองทุนรวมเต็มสูบจนสามารถผงาดขึ้นเป็นเบอร์ 2 ในตลาดได้สำเร็จ "อดิศร"ลั่นจะปั้นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลให้ขึ้นชั้นแนวหน้า และสร้างผลตอบแทนในระดับที่น่าพอใจให้กับนักลงทุน เมินลงสนามหั่นค่าฟีดึงฐานลูกค้า
นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมรุกตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล หลังรับโอนสินทรัพย์จากบริษัทในเครือของธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาบริหาร โดยปัจจุบันบริษัทมีพอร์ตกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภายใต้การบริหาร 40,919.43 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 3,340 ล้านบาท ขณะที่กองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 125,425.04 ล้านบาท ส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) 14.66% เป็นอันดับสองในธุรกิจกองทุนรวม
"ในปีนี้เราจะเข้ามารุกในธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเต็มตัว แม้หลายฝ่ายจะมองว่าเป็นธุรกิจที่ไม่น่าในใจ เพราะมีการแข่งขันด้านราคาสูง ส่งผลให้มาร์จินต่ำ มีกำไรน้อย แต่เราเชื่อว่าในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า ภาวะจะเริ่มดีขึ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากเรามีฐานกลุ่มลูกค้าบริษัทที่ทำธุรกรรมผ่านธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยเสริมในการขยายฐานลูกค้าของบริษัท ตามนโยบายของธนาคารไทยพาณิชย์ที่มุ่งสู่การเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการครบวงจร" นายอดิศรกล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ที่เข้ามารุกธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคล เนื่องจาก 2 ตลาดนี้ยังมีโอกาสขยายตัวอีกมาก เพราะมีฐานลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์คอยซับพอร์ต และในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทุ่มเวลาให้กับการบุกตลาดกองทุนรวม ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยลูกค้าได้เพิ่มจาก 80,000 ราย ในช่วง 3 ปีก่อนเป็น 100,000 รายในปีที่ผ่านมา และเพิ่มเป็น 120,000 ราย ในปัจจุบัน ซึ่งคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีลูกค้าประมาณ 130,000 ราย
"ผมต้องการทำอะไรที่ท้าทายจึงเข้ามาบุกตลาดนี้ เพราะในช่วงที่ผ่านมาให้เวลากับการบุกตลาดกองทุนรวมเป็นอย่างมาก ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพน่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ก้าวกระโดด ไม่แพ้กับธุรกิจกองทุนรวมของเราในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา" นายอดิศรกล่าว
นายอดิศร กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจกองทุนรวมในปีนี้ต้องยอมรับว่าเป็นปีที่ยากลำบากในการทำธุรกิจพอสมควร เนื่องจากดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ขยับตัวเพิ่มขึ้นเร็วมาก เนื่องจากธนาคารมีการแข่งขันระดมเงินฝาก ทำให้ลูกค้าที่เคยลงทุนผ่านกองทุนรวม หันไปฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น โดยมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (NAV) ในปัจจุบันเพิ่มขึ้นประมาณ 10.15% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2548 ซึ่งถือว่าขยายตัวในอัตราที่เท่ากับตั้งเป้าไว้ทั้งปี
กรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวอีกว่า ในอนาคตหลังจากที่บริษัทบุกตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลมากขึ้นจะผลักดันให้ รายได้จากธุรกิจกองทุนรวมอยู่ที่ 90% ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคลอยู่ในสัดส่วน 10% ของรายได้ในปี 2549 และใน 3 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้จากธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนส่วนบุคคลจะเพิ่มเป็น 30% ส่วนกองทุนรวมอยู่ที่ 70% ส่วนในอนาคตอาจเพิ่มเป็น 50% ต่อ 50%
นายกำพล อัศวกุลชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า การให้บริการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบรษัทจะเน้นการให้คำปรึกษาทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นเงินก้อนสุดท้ายของสมาชิกจริงๆ ซึ่งบลจ.ไทยพาณิชย์ต้องการให้สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตระหนักถึงสิทธิในการออกเสียงของสมาชิกไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของคณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของบริษัท หรือบริษัทจัดการกองทุนเท่านั้น
"เราจะเน้นการมีส่วนร่วมของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นหลัก โดยจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อให้ความรู้กับสมาชิก เกี่ยวกับการออม การลงทุน นอกเหนือจากการสร้างผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่คณะกรรมการกองทุนและบลจ.ได้วางเป้าหมายร่วมกัน" นายกำพลกล่าว
นายกำพล กล่าวว่า การที่บลจ.ไทยพาณิชย์ทำการตลาดด้วยการให้ความรู้สมาชิกกองทุนให้ตระหนักถึงสิทธิการออกเสียง หรือการให้ความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการลงทุน ก็เพื่อการปูทางไปสู่การลงทุนที่สอดรับความต้องการของสมาชิกในอนาคต หลังจากมี Employee Choice
ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ กล่าวอีกว่า เชื่อว่าในช่วงที่ทางการผลักดันกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) ธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันยังมีบริษัทซึ่งเป็นนายจ้างยังไม่เข้าสู่ระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นจำนวนมาก หากมีการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ จะทำให้ตลาดกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโตได้อีกมาก
|