นอกจาก "พรประภา" ที่มีบทบาทโดดเด่น และมีชื่อปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยครั้งที่สุด
2 คน คือ "คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช" และ "พรเทพ พรประภา"
แล้ว ยังมีคนในตระกูลนี้อีกคนที่โดดเด่นพอๆ กัน
เขาคือ "ชุมพล พรประภา"
ชุมพลเป็นลูกของพี่ชาย คือ ถาวร พรประภา เขามีอาณาจักร "เอสพี อินเตอร์เนชั่นแนล"
ขายรถโตโยต้าและจักรยานยนต์ซูซูกิเป็นสินค้าหลัก
ในกรณีความขัดแย้งระหว่างสองพี่น้อง ดูเหมือนว่าเขาจะไม่มีบทบาทโดยตรง
แต่เมื่อความขัดแย้งถึงขีดสุด ชุมพลก็จออกมาให้สัมภาษณ์ทุกครั้ง และโจมตีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอย่างรุนแรงซึ่งไม่พ้น
"คุณหญิงพรทิพย์" โดยปริยาย
ความขัดแย้งครั้งล่าสุดก็เช่นกัน
"ผมรู้มีคนพยายามโยงผมเข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในตระกูลพรประภาตลอดเวลา
ทำนองผมไม่อยากให้เรื่องจบ เพื่อจะได้เป็นผลดีกับธุรกิจของผมในฐานะตัวแทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้าและรถจักรยานยนต์ซูซูกิ"
ชุมพล พรประภา กล่าวด้วยน้ำเสียงเคร่งเครียด เมื่อถูกรุกเร้าถามถึงปัญหาของบริษัท
สยามยามาฮ่า จำกัด ซึ่งกำลังคุกรุ่นระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นสยามกลการและผู้บริหารกลุ่มเคพีเอ็น
ก่อนที่จะอรรถาธิบายว่า "ในการบริหารธุรกิจนั้น ธุรกิจคุณจะดีหรือตกส่วนใหญ่เกิดจากตัวคุณเอง
ไม่ใช่การกระทำของคู่แข่ง เพราะฉะนั้นผมไม่มีความจำเป็นต้องทำอย่างที่เขากล่าวหา"
นอกจากนี้ชุมพลยังกล่าวถึงปัจจัยอื่นที่ทำให้เขาไม่จำเป็นต้องทำเช่นนั้น
นั่นคือทรัพย์สมบัติที่เขามีอยู่ในขณะนี้ก็มากมายจนเขาเองก็ใช้ไม่หมดในชาตินี้
ไม่จำเป็นต้องเข้าไป "สาวไส้ให้กากิน" หรือ "เต้นระบำจ้ำบ๊ะให้คนอื่นดู"
เหมือนเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น
ในทัศนะของชุมพล เขามองปัญหาสยามยามาฮ่าค่อนข้างแตกต่างจากคนอื่น โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเป็นการล้างแค้นระหว่างพี่สาวและน้องชาย
ซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องมาจากการที่คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช ถูกปลดลงจากตำแหน่งผู้บริหารของสยามกลการเมื่อปีเศษที่ผ่านมา
แต่เขามองว่านี่เป็นเรื่องระหว่างลูกสาวกับพ่อและลูกเขยกับพ่อตา เพราะถ้าพิจารณาให้ดีแล้วผู้ที่สูญเสียประโยชน์มากที่สุดในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในสยามกลการคือดร.ถาวร
พรประภา
"ถ้าคิดว่าเป็นคนที่พ่อรักมากที่สุด ทำไมไม่รอจนกว่าพ่อจะตาย เพราะถึงตอนนั้นพ่อก็คงยกให้เป็นมรดกอยู่ดี"
ประเด็นต่อมา คือเขามองว่านี่เป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดของกรณีที่เลวที่สุดในเรื่องปัญหาการบริหารธุรกิจ
ถึงขนาดควรจะมองไปถึงระบบการศึกษาของไทยด้วย ว่าจะต้องบรรจุวิชาการสอนเกี่ยวกับคุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหารให้มากกว่านี้
"ผมอยากรู้ว่าถ้าสยามยามาฮ่าเป็นบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์
คณะกรรมการกำกับและดูแลตลาดหลักทรัพย์จะทำอย่างไรกับเรื่องที่เกิดขึ้น"
ชุมพลมองว่าผู้บริหารสยามยามาฮ่าไม่มีคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารธุรกิจ
เพราะตามปกติผู้บริหารที่ได้รับการแต่งตั้งจะต้องทำหน้าที่บริหารกิจการและรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น
ไม่ใช่รักษาผลประโยชน์ของผู้บริหาร
ประเด็นที่สาม กรณีสยามยามาฮ่าเป็นกรณีศึกษาเรื่องปัญหาการบริหารธุรกิจแบบครอบครัวสำหรับสังคมไทยที่ดีที่สุด
"ปัญหาลักษณะนี้ผมว่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่สยามยามาฮ่าเท่านั้น มันเคยเกิดมาแล้ว
และอาจจะเกิดขึ้นต่อไป เพียงแต่ไม่มีใครขุดคุ้ยและเป็นข่าวโด่งดังเท่ากับครั้งนี้"
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น ชุมพลพูดย้ำเหมือนเปิดเทปว่า ผู้ถือหุ้นสยามกลการได้มอบหมายให้นายพรเทพ
พรประภา ในฐานะผู้บริหารที่กินเงินเดือนเป็นเป็นคนไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ซึ่งนายพรเทพยังไม่ได้มีการรายงานความคืบหน้าอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
"เรื่องนี้ยังมีเวลาอีก 1 ปีในการแก้ปัญหา เปรียบไปก็เหมือนกับมวยที่เพิ่งเริ่มชกยกหนึ่ง
คงยังตัดสินอะไรไม่ได้ในตอนนี้ว่าใครเป็นฝ่ายแพ้หรือชนะ ต้องรอดูไปก่อน อีกอย่างผมอยากย้ำว่าผู้ก่อสงครามมักจะไม่ใช่ผู้ชนะสงคราม
แม้จะไม่ใช่ทุกกรณีก็ตาม แต่คุณดูอย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนีเป็นตัวอย่าง เขาก่อสงครามด้วยความมั่นใจ
แต่สุดท้ายก็แพ้ เสียหายยับเยิน"
ดูเหมือนชุมพลค่อนข้างระมัดระวังที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น
"ผมจะพูดแต่ความจริงของเรื่องที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น ส่วนเรื่องที่จะมาให้คาดการณ์นั้นผมไม่พูด
เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนในตระกูลพรประภาที่จะต้องค่อยพูดค่อยจากัน ไม่ใช่ออกมาเต้นระบำจ้ำบ๊ะให้คนอื่นดูอย่างนี้"
แต่เชื่อเถอะว่าเมื่อเหตุการณ์สุกงงอมเต็มที่ ชุมพลก็คงอยู่เฉยไม่ได้ เหมือนอย่างกรณีสยามกลการเป็นตัวอย่าง