|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
สัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลา คือตัวแปรที่บอกให้รู้ว่า แบงก์และธุรกิจจัดการกองทุน ต้องผลัดกันรุก ผลัดกันรับ ยื้อแย่งเม็ดเงินในกระเป๋าเจ้าของเงินออมให้มากที่สุด... หลังหมอกควันในสมรภูมิช่วงชิงเงินฝากของบรรดาแบงก์ต่างๆเมื่อ 2-3 เดือนค่อยๆเจือจางลง ผสมกับท้องฟ้าเหนือตลาดหุ้นยังอึมครึม ครึ้มฟ้าครึ้มฝน จึงเปิดช่องว่างให้ธุรกิจจัดการกองทุนเริ่มมองหาวิธีแสวงหารายได้ในรูปแบบที่จะเพิ่มมูลค่าผลตอบแทนให้น่าดึงดูดใจ ในระหว่างรอจังหวะเงินฝากประจำใกล้จะครบดีล ขณะที่แบงก์ทุกแห่งยังไม่เคลื่อนไหวปรับอัตราดอกเบี้ย...
ปี 2548 ผลตอบแทนเงินฝากออมทรัพย์ที่ 0.75% และดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่ 1% คือมูลเหตุที่ผลักไสให้เม็ดเงินไหลมาทางฝั่งธุรกิจจัดการกองทุนรวม จนทำให้ยอดขยายใหญ่ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 7.7 แสนล้านบาท ขยายตัว 59% ในจำนวนนี้มีเม็ดเงินใหม่ไหลเข้ามาถึง 2.86 แสนล้านบาท และเป็นเงินที่เข้ามากระจุกในพอร์ตกองทุนตราสารหนี้ถึง 2.74 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนใหม่ที่ออกโดยกำหนดระยะเวลาแน่นอน ไม่ยาวมากนัก ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 3% รวมเงินที่ไหลทะลักเข้าไปกองในกองทุนตราสารหนี้คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.9 แสนล้านบาท
สาเหตุหลักๆเนื่องมาจากปี 48 มีอัตราเงินเฟ้อสูงและอัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ทำให้ผู้ฝากเงินเริ่มที่จะมองหาทางเลือกในการลงทุนใหม่ๆที่เสี่ยงต่ำและผลตอบแทนดีกว่าการฝากเงิน เพราะตามธรรมชาติแล้ว เงิน จะมีคุณสมบัติตรงข้ามกับน้ำ
" น้ำ จะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่ เงิน จะไหลจากผลตอบแทนต่ำไปที่มีผลตอบแทนสูง"
แต่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.)ก็ชื่นชมกับตำแหน่งความเป็นพระเอกของตัวเองอยู่ได้ไม่นาน....
เพียงช่วงรอยต่อไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2549 แบงก์ต่างๆ ก็ประกาศสงครามดอกเบี้ยแย่งชิงเงินฝากในรูปเงินฝากประจำพิเศษตั้งแต่ 3 ถึง 9 เดือน ให้ดอกเบี้ยตั้งแต่ 4.25 - 5.25% แต่ละแบงก์ไล่บี้กันชนิดลมหายใจรดต้นคอเฉือนกันแค่ไม่กี่สิบสตางค์เท่านั้น ซึ่งจริงๆแล้วถ้าคิดในแง่ของจำนวนดอกเบี้ยที่ผู้ฝากจะได้รับแล้ว แทบจะไม่รู้สึกถึงความแตกต่างด้วยซ้ำ
สมมุติง่ายๆให้ดอกเบี้ยมีความแตกต่างกัน 0.50% ฉะนั้นเงินฝาก 1 ล้านบาทก็จะได้ดอกเบี้ยเหลื่อมกัน 5,000 บาท ตกเดือนละ 416 บาท หรือแค่วันละประมาณ 13 บาทเท่านั้น เอาเวลาไปนั่งคิดอย่างอื่นยังจะได้ผลตอบแทนเยอะกว่านี้
กลยุทธ์ดอกเบี้ยได้ผลอย่างเยี่ยมยอด แม้ว่าจะเป็นทางจิตวิทยามากกว่า แต่มันก็ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์(ธพ.)มีสภาพคล่องสูงถึง 6 แสนล้านบาท และดูเหมือนว่างานนี้ บลจ.จะเป็นเพี่ยงพล้ำ ทั้งในแง่ผลตอบแทนที่ไม่สามารถปรับตามขึ้นได้ทันที, จำนวนสาขาและการเข้าถึงลูกค้า รวมทั้ง ความคุ้นเคยของลูกค้าที่ชอบรูปแบบของการออมซึ่งได้รับความคุ้มครองมากกว่าจะได้ยินประโยคที่ว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน"
ปัจจุบันแม้ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% จาก 4.75 เป็น5.00% ธนาคารพาณิชย์ที่เคยดวลกันขึ้นดอกเบี้ยมาตั้งแต่รอบที่แล้ว คราวนี้กลับไม่มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ยตามมา
เนื่องจากขณะนี้ยังมีสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่ ประกอบกับยังไม่ครบดีลของเงินฝากประจำจะถึงกำหนด ดังนั้นจึงถือได้ว่าเป็นโอกาสของ บลจ.ที่จะกลับมาแย่งชิงเม็ดเงินได้อย่างสบายใจอีกครั้ง
ทั้งนี้ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของลูกค้า สำหรับธนาคารพาณิชย์แล้วถือเป็นต้นทุนจ่ายที่เพิ่มขึ้น ถ้าจ่ายมากแต่กำไรลด ก็เสี่ยงจะขาดทุน ด้านบลจ.ไม่ต้องห่วงเรื่องต้นทุน เพราะกองทุนคิดค่าธรรมเนียมการบริหารจากลูกค้าเป็นเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้ามูลค่าสินทรัพย์มากก็จะได้ค่าบริหารมากเป็นเงาตามตัว ยกเว้นความเสี่ยงจากการบริหารกองทุนเท่านั้น
ในรอบ 1 เดือนหลัง 9 พ.ค. 2549 ดัชนีตลาดขึ้นไปสูงสุดในรอบปีนี้ ที่ 785.38 จุด ก่อนจะไหลรูดลงมาระดับต่ำสุดแตะ 670.41 จุด ติดลบกว่า 12% จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติขณะรอดูทีท่าสัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ
เมื่อตกจากที่สูงอย่างแรงและเร็วปะทะเข้ากับพื้นอย่างจัง ก็เป็นธรรมดาที่ดัชนีต้องนอนนิ่งจมกองเลือดอยู่พักใหญ่ก่อนมีการเคลื่อนไหว งานนี้ไม่ว่าแมงเม่าหรือเซียน นักลงทุนหรือสถาบันต่างโดนกันถ้วนหน้า หนักเบาแล้วแต่ราย ทำให้กองทุนที่ลงทุนในหุ้นจึงไม่มีการเปิดตัวขึ้นใหม่ในช่วงนี้
ในขณะที่กองทุนตราสารหนี้ที่ลงทุนในพันธบัตร, ตั๋วเงินคลัง, หุ้นกู้ กระแสกำลังมาแรง โดยเฉพาะมิถุนายนเพียงเดือนเดียวมีไม่ต่ำกว่า 4 บลจ.ที่พร้อมใจกันผุดกองทุนประเภทนี้ขึ้นมาใหม่ ไม่ต่างอะไรกับดอกเห็ดที่กำลังแตกสปอร์
เริ่มต้นจาก บลจ.กรุงไทยที่ยื่นขออนุมัติกลต.เพื่อจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้นมากถึง 12 กองมูลค่าโครงการละ 2 พันล้านบาท มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนจนถึง 1 ปี โดยสำหรับเดือนนี้ได้เปิดขายเริ่มต้น 2 กองคือ กรุงไทยตราสารการเงินคุ้มครองเงินต้น2 (KT3M2)อายุโครงการ 3 เดือน และ กรุงไทยสมาร์ทแพลนคุ้มครองเงินต้น (KSMART) อายุโครงการ 1 ปี
ตามด้วย บลจ.ยูโอบี ซึ่งก็เปิดขายกองทุนตราสารหนี้ใหม่ในเดือนนี้ 2 กองทุนด้วยกันคือ ยูโอบี ตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้น (UOB SURE 6/9) อายุประมาณ 6 เดือน มูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท และ ยูโอบี ตราสารหนี้คุ้มครองเงินต้น (UOB SURE 12/7) อายุประมาณ 1 ปี มูลค่าโครงการ 5 พันล้านบาท
ขณะที่ บลจ.พรีมาเวสท์ และ บลจ.อยุธยาเอเจเอฟ ซึ่งเป็นบริษัทลูกของธนาคารกรุงศรีฯ ต่างก็ได้มีการเปิดขายกองทุนตราสารหนี้แห่งละกองเช่นกันคือ กองทุนกรุงศรี-พรีมาเวสท์ (KP3M2) ที่มีระยะเวลาการลงทุน 3 เดือน มูลค่าโครงการ 2 พันล้านบาท และจะเปิดขายครั้งต่อๆไปทุกๆรอบ 3 เดือน และ กองทุนอยุธยารับรายเดือนคุ้มครองเงินต้น 3 ซึ่งเป็นกองทุนเปิดไม่มีระยะเวลาสิ้นสุดแต่ก็มีนโยบายคุ้มครองเงินต้นในช่วง 9 เดือนแรกรวมถึงมีการจ่ายคืนเงินอัตโนมัติทุกวันที่ 15 ของเดือนอีกด้วย
....เปรียบเสมือนตลาดแข่งขันสมบูรณ์ โอกาสเป็นของผู้บริโภคที่จะได้เลือกซื้อ....
แต่ภายใต้การแข่งขันก็ย่อมมีโอกาส ดังนั้น บลจ.เอ็มเอฟซี และ บลจ.วรรณ จึงได้ใช้จังหวะนี้ออก Product ใหม่ซึ่งเป็น Product Differentiation ที่แตกต่างจากในตลาดการแข่งขันปัจจุบัน เพื่อขยายเม็ดเงินในกองทุนตัวเองให้สูงขึ้น อันจะนำไปสู่รายได้ค่าธรรมเนียมของ บลจ.ที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย
บลจ.เอ็มเอฟซี ในฐานะที่เคยออกกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศมาแล้วถึง4 กอง มูลค่าสินทรัพย์รวมกว่า 4 พันล้านบาท ซึ่งถือได้ว่ามีประสบการณ์พอตัว จึงได้ฉวยจังหวะนี้ออกกองทุนผสมที่ลงทุนในตราสารทุนและตราสารหนี้ในต่างประเทศซึ่งเน้นแถบเอเชีย ในชื่อ อินเตอร์เนชั่นแนล สปอท (I-SPOT) เป็นกองทุนปิดประเภทมีเป้าหมาย(Target Fund) กล่าวคือจะคือเงินลงทุนก็ต่อเมื่อมีผลได้รับผลตอบแทนครบ 25%ซึ่งเป็นเป้าหมายหรือครบกำหนด 3 ปี โดยมูลค่าโครงการนี้มี 800 ล้านบาท
ด้าน บลจ.วรรณ ซึ่งมีกองทุนอยู่แล้ว 10 กอง แต่ละกองก็มีขนาดไม่ใหญ่มากเพียง 40 - 800 ล้านบาท ก็มีเป้าหมายในการเพิ่มมูลค่าสุทธิในกองทุนให้มากขึ้นโดยเน้นไปที่กองทุนเก่ามากกว่าการออกกองทุนใหม่ ดังนั้นจึงได้ออกโปรแกรม Automatic Millionaire ขึ้น ให้ผู้ลงทุนเปิดบัญชีเพื่อลงทุนผ่านกองทุนของ บลจ.วรรณอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยชูจุดขายว่าการทยอยลงทุนแบบนี้จะช่วยลดความเสี่ยงและความผันผวนลงและสามารถนำไปถึงจุดหมายซึ่งเป็นเงินล้านได้
แต่ภายใต้สถานการณ์เงินเฟ้อ 6.2 %/ปี เช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นการออมในรูปเงินฝากที่ได้ผลตอบแทนมาเป็นดอกเบี้ย หรือ การลงทุนในกองทุนรวมที่ได้ผลตอบแทนมาในรูปมูลค่าหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น ก็ไม่สามารถเอาชนะภาวะเงินเฟ้อทำให้มีผลตอบแทนเป็นบวกสำเร็จ
ดังนั้นจึงเหลือเพียงทางเลือกเดียวตามทฤษฎีที่ทำให้เรายังคงพอที่จะเชื่อได้ว่า "มีเพียงผลตอบแทนจากตลาดหุ้นเท่านั้นที่จะเอาชนะเงินเฟ้อได้"
...ในขณะที่ตลาดหุ้นก็เป็นแหล่งทำเงินที่มีความเสี่ยงสูงกว่าแหล่งไหนๆอีกเหมือนกัน....
|
|
|
|
|