เกาะติดกระดานหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ดัชนีร่วง 17.36% โดยตปท.ทิ้งพลังงานหนักสุดวูบ 19.25% PTTEP หนักสุดในกลุ่มทรุด 27.50% ขณะที่ PTT ไม่น้อยหน้าราคาร่วง 20% ขณะที่กลุ่มแบงก์รูด 19.16% โบรกฯชี้ยังหาแนวรับไม่เจอ รอลุ้นข่าวดี-ข่าวร้ายแบบรายวัน เตือนจับตาเฟดขึ้นดอกเบี้ยสิ้นเดือนนี้ครั้งสุดท้ายหรือไม่ หากยังไม่หยุดตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงต่อ
จากการรวบรวมข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาหลังนักลงทุนต่างชาติส่งสัญญาณการขายสุทธิออกมาอย่างต่อเนื่องโดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม- 14 มิถุนายน 2549 เทียบจากที่ปิดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2549 ดัชนีปรับตัวลดลง 135.81 จุด หรือ17.36% จาก 782.50 จุดมาปิดที่ 646.69 จุด
ทั้งนี้ ดัขนีกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงตามดัชนีทุกกลุ่ม โดยดัชนีกลุ่มพลังงานปรับตัวลดลง 3,209.34 จุด หรือ 19.25 % จาก 16,668.99 จุด มาปิดที่ 13,459.65 จุด,ดัชนีกลุ่มธนาคารพาณิชย์ลดลง 56.02 จุดหรือ 19.16% จาก 292.38 จุด มาปิดที่ 236.36 จุด,
ดัชนีกลุ่มยานยนต์ลดลง 70.64 จุด หรือ 18.30% จาก 385.94 จุด มาปิดที่ 315.30 จุด,ดัชนีกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ลดลง 1,051.26 จุด หรือ 17.15% จาก 6,131.34 จุดมาปิดที่ 5,080.08 จุด,ดัชนีกลุ่มสถาบันการเงินลดลง 183.91 จุด หรือ 15.43% จาก 1,192.04 จุด มาปิดที่ 1,008.13 จุด, ดัชนีกลุ่มสื่อสารลดลง 15.50 จุด หรือ15.14% จาก 102.41 จุด มาปิดที่ 86.91 จุด
สำหรับมูลค่าการซื้อขายแยกตามประเภทนักลงทุนในช่วงเวลาดังกล่าว นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 52,116.71 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ16,710.48 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 35,406.23 ล้านบาท
ในส่วนของราคารายหลักทรัพย์ใน 3 กลุ่มใหญ่ประกอบด้วยพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ และอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงสูงที่สุดในแต่ละกลุ่มโดยกลุ่มพลังงานหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวลดลงสูงสุด คือ บมจ.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม หรือ PTTEP ราคาลดลง 27.50 บาท หรือ 22% จาก 125 บาท มาปิดที่ 97.50 บาท, บมจ.ปตท. หรือ PTT ราคาลดลง 54 บาท หรือ 20.77% จาก 260 บาท มาปิดที่ 206 บาท, บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP ราคาลดลง 10.50 บาท หรือ 15.56% จาก 67.50 บาทมาปิดที่ 57 บาท
กลุ่มธนาคารพาณิชย์ หุ้นที่ปรับตัวลดลงสูงสุด คือ ธนาคารทหารไทย หรือ TMB ราคาลดลง 1.08 บาท ลดลง 25% จาก 4.32 บาท มาปิดที่ 3.24 บาท,ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ SCB ราคาลดลง 16.50 บาท หรือ 24.44% จาก 67.50 บาทมาปิดที่ 51 บาท, ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB ราคาลดลง 3.05 บาทหรือ 24.40% จาก 12.50 บาท มาปิดที่ 9.45 บาท, ธนาคารนครหลวงไทย หรือ SCIB ราคาลดลง 5.60 บาท หรือ 23.33% จาก 24.00 บาท มาปิดที่ 18.40บาท, ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK ราคาลดลง 13 บาท หรือ 19.26% จาก 67.50 บาท มาปิดที่ 54.50 บาท
กลุ่มอสังหาริมทรัพย์หุ้นที่ปรับตัวลดลงสูงสุด คือ บมจ.เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น หรือ SC ราคาลดลง 4.45 บาท หรือ 31.34% จาก 14.20 บาทมาปิดที่ 9.75 บาท, บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค หรือ PF ราคาลดลง 1.44 บาท หรือ 29.39% จาก 4.90 บาท มาปิดที่ 3.46 บาท, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ หรือ ITD ราคาลดลง 2 บาท หรือ 27.40% จาก 7.30 บาท มาปิดที่ 5.30 บาท,บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น หรือ STEC ราคาลดลง 1.90 บาท หรือ 22.49% จาก 8.45 บาท มาปิดที่ 6.55 บาท, บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ หรือ LH ราคาลดลง 1.80 บาท หรือ 21.43% จาก 8.40 บาท มาปิดที่ 6.60 บาท
ด้านมูลค่าตลาดรวม หรือมาร์เกตแคปของตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเวลาดังกล่าวปรับตัวลดลงจาก 5,516,432.68 ล้านบาท มาอยู่ที่ 4,714,334.36ล้านบาท ลดลง 802,098.32 ล้านบาท หรือ 14.54% โดยกลุ่มพลังงานมาร์เกตแคปจาก 1,468,433.13 ล้านบาท มาอยู่ที่ 1,265,408.40 ล้านบาท ลดลง203,024.73 ล้านบาท หรือ 13.82%, กลุ่มธนาคารพาณิชย์มาร์เกตแคปจาก 905,801.88 ล้านบาท มาอยู่ที่ 753,552.15 ล้านบาท ลดลง 152,249.73 ล้านบาท หรือ 16.80%, กลุ่มสื่อสารมาร์เกตแคปจาก 527,403.34 ล้านบาท มาอยู่ที่ 466,905.80 ล้านบาท ลดลง 60,497.54 ล้านบาท หรือ 11.47%
แหล่งข่าวนักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่า ทิศทางของตลาดหุ้นไทยน่าจะยังคงอยู่ในขาลงต่อไปแม้ว่าตลาดหุ้นบางประเทศจะเริ่มปรับตัวขึ้นได้บ้างแล้ว เนื่องจากผลกระทบที่ตลาดหุ้นไทยต้องเผชิญไม่เพียงแต่ปัจจัยลบจากภายนอกไม่ว่าจะเป็นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะปรับขึ้นอย่างแน่นอน แต่คงยังต้องรอว่าการปรับขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้จะถึงจุดสิ้นสุดของดอกเบี้ยขาขึ้นหรือยัง รวมถึงราคาน้ำมันที่แม้ว่าจะปรับตัวลดลงมาบ้างแล้วแต่ยังคงเคลื่อนไหวในระดับสูงและยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสามารถเข้าสู่สภาวะปกติได้ในเร็วๆนี้
ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้นไทยนอกเหนือจากปัจจัยลบของตลาดหุ้นเพื่อนบ้านคือไม่ชัดเจนทางการเมืองและความไม่เรียบร้อยของสถานการณ์ในประเทศ เพราะ ณ ปัจจุบันยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้หรือไม่และหากเกิดขึ้นได้จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่และยังต้องมองต่อไปอีกว่าเสถียรภาพทางการเมืองหลังมีการเลือกจะเป็นอย่างไร
"การจะหาว่าแนวรับที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นในรอบนี้เป็นเรื่องที่ยังมองได้ยากทิศทางจะเป็นอย่างไรคงจะต้องติดตามข้อมูลเป็นรายวัน เพราะหากมีข่าวดีหุ้นอาจจะรีบาวน์ขึ้นได้ แต่ถ้ามีปัจจัยลบหรือข่าลบเข้ามาอีกหุ้นจะลดลงไปถึงระดับเท่าไหร่เรายังประเมินไม่ได้"แหล่งข่าวกล่าว
อย่างไรก็ตามในช่วงสั้นปัจจัยทางด้านการเมืองที่นักลงทุนในประเทศจะต้องติดตามคือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองระดับใหญ่ของประเทศ 2พรรคว่าจะมีคำสั่งให้มีการยุบพรรคหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวแม้ว่าจะเป็นเพียงเรื่องในประเทศแต่นักลงทุนต่างชาติกลับให้ความสนใจไม่น้อย เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจของประเทศทั้งในเรื่องนโยบายในการบริหารงานและภาพลักษณ์ที่สะท้อนถึงความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับนักลงทุน
|