สวัสดิ์กับเจริญ สิริวัฒนภักดี ไม่ใช่คนแปลกหน้าต่อกัน ปี 2530 เจริญขายโรงเหล็กรีดซ้ำไพรมาลี
อัลลายด์ สตีลให้สวัสดิ์ในราคาถูก ๆ 7 ล้านบาท เหตุที่เจริญขายโรงเหล็กเพราะกำลังปลุกปล้ำ
กับธุรกิจโรงเหล้า และเจริญเห็นว่าธุรกิจโรงเหล็กไม่น่ามีอนาคตรุ่งโรจน์เท่าเหล้า
ขณะเดียวกันเหตุที่สวัสดิ์ซื้อโรงเหล็กจากเจริญก็เพราะสวัสดิ์ กำลังปลุกปั้นโรงเหล็กนครไทยให้โตมากขึ้น
และเห็นอนาคตรุ่งโรจน์
เจริญมีหลงจู้เพื่อนเก่าแก่ที่รับผิดชอบโรงเหล็กคือ ถาวร อนันตคูศรีที่ค้าขายกับสวัสดิ์มาก่อนหน้านี้
การซื้อขายโรงเหล็กครั้งนี้ ก็มาจากการติดต่อของถาวรนั่นเอง
เมื่อขายโรงเหล็กไป สวัสดิ์ก็ชวนถาวร มาเปิดคูศรีสตีลเป็นซาปั๊วขายเหล็กให้บริษัทก่อสร้างแก่กลุ่มนครไทย
โดยถาวรถือหุ้นร่วมกับสุรพล จิรตมิตร คนละครึ่ง จากทุน 1,000,000 บาท "ลูกค้าก่อสร้างก็มาจากแบงก์ทหารไทยแนะนำมาให้"
สวัสดิ์กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
เมื่อสวัสดิ์เปิดความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับถาวรในวงจรการค้าเครือข่ายนครไทย
ถาวรก็ชวนน้องชายเจริญคือธงชัยกับทวี ศรีสมบูรณานนท์ มาร่วมหุ้นกับสวัสดิ์ในโครงการพัฒนาที่ดินและค้าเหล็ก
บริษัทค้าเหล็ก คือ เอสที อินเตอร์เนชั่นแนลรีซอทเซสที่ก่อตั้งเดือนมิถุนายน
2531 ทุน 10 ล้านบาท กลุ่มทวี ธงชัย ถือหุ้นร่วมกัน 35% ที่เหลือเป็นกลุ่มนครไทยของสวัสดิ์
65% เอสที อินเตอร์เนชั่นแนลฯ ทำธุรกิจนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กชั้นดีจากต่างประเทศขายให้กับอุตสาหกรรมต่าง
ๆ
บริษัทพัฒนาที่ดินไม่ว่าจะเป็นเหมราช ศรีราชาฮาเบอร์ นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก
ทวี ธงชัย ถือหุ้นบริษัทละ 35% ทุกแห่ง ขณะที่เหลือ 65% เป็นของกลุ่มสวัสดิ์
ถาวร อนันตคูศรี นั่งควบคุมที่เหมราช โดยมีวัฒนา สุทธิพินิจธรรม คนเก่งที่ถูกสังคมพิพากษามาแล้ว
เพราะรอยแผลในแบงก์นครไทยยุควิศิษฐ์ ตันสัจจา เป็นผู้จัดการใหญ่ เป็นผู้จัดการโครงการ
ส่วนไพบูลย์ สำราญภูติ ภายหลังออกจากกลุ่มสุราทิพย์ก็มาอยู่เป็นผู้จัดการโครงการที่นิคมอุตฯ
ตะวันออก
ธงชัยกับทวี น้องชายทั้ง 2 คนของเจริญ เป็นกรรมการมีอำนาจลงนามด้วยคนหนึ่งในทุกบริษัท
แต่งานประจำที่คนทั้ง 2 ทำอยู่ไม่ใช่กลุ่มนครไทย แต่เป็นกลุ่มนิมิต ของตนเองที่ทำธุรกิจหลักค้ากระดาษ
สวัสดิ์ ธงชัย และทวี 2 คู่ชู้ชื่น ความสัมพันธ์ทางธุรกิจของทั้ง 2 ฝ่าย
คงดำเนินไปบนผลประโยชน์ร่วมทั้งสอง โดยมีคำฝากฝังของเจริญที่บอกกับสวัสดิ์ว่า
"เขาขอฝากน้องชายทั้ง 2 คนด้วย" เป็นตัวคอยเตือนใจประสานความสัมพันธ์