|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แนวโน้มคณะกรรมการนโยบายการเงินปรับขึ้นดอกเบี้ย "หม่อมอุ๋ย" ระบุชัดเรื่องดอกเบี้ยเป็นหน้าที่แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญเงินเฟ้อ ชี้เป็นเรื่องปกติที่คลังเห็นแตกต่างจากแบงก์ชาติ ยอมรับเงินทุนไหลเข้าออกผันผวนเป็นปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจในขณะนี้ ด้านประธานเฟดล่าสุดก็ส่งสัญญาณทำนองเดียวกันว่า ห่วงเงินเฟ้อในสหรัฐฯและน่าจะต้องขยับขึ้นดอกเบี้ยอีก
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวถึงการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เพื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยอาร์พี 14 วัน ในวันนี้ (7 มิ.ย.)ว่า รัฐบาลจะไม่เข้ามาแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับ ธปท.ในการกำหนดนโยบายการเงิน
สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างระหว่าง ธปท.และกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องปกติ เพราะกระทรวงการคลังและธนาคารกลางของทั่วโลกมีความเห็นแตกต่างกันอยู่แล้ว เพียงแต่เรื่องนโยบายดอกเบี้ยเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่ต้องดูแล ทั้งนี้ ในการประชุม กนง.เชื่อว่าคณะกรรมการมีความคิดเห็นไม่แตกต่างกันนัก และธปท.จะไม่โน้มน้าวคณะกรรมการทั้ง 7 คน
"หากความคิดเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงินเป็นเอกฉันท์ก็โอเค แต่ถ้าความคิดเห็นแบ่งแยก จะเริ่มอธิบายและเปลี่ยนความคิดเห็นกัน แต่จะไม่ใช่การโหวต ยังไงเชื่อว่าจะชักจูงได้ โดยมีปัจจัยสำคัญเรื่องการคาดการณ์และการดูแลอัตราเงินเฟ้อในอนาคต"
ผู้ว่าฯ ธปท.มั่นใจอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเป็นบวกในเดือนก.ย.นี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นไม่ต่างกับที่ประมาณการณ์ไว้ ซึ่งเชื่อว่าจะชะลอตัวลงในช่วงเดือนก.ค.นี้ เพราะอัตราเงินเฟ้อในช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ในฐานที่สูง ทั้งนี้ ธปท.จะรักษาประโยชน์ทุกด้าน ยกเว้นผลประโยชน์ส่วนตัวให้กับนักการเมือง อย่างไรก็ตามไม่ว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับไหน ธปท.มีนโยบายการเงินที่พร้อมจะรับมือไว้ทุกด้าน
สำหรับผลกระทบการขยายตัวเศรษฐกิจในขณะนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า มีทั้งราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าออกไปในช่วงไตรมาสแรกของปี 50 ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำใจ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจจะมีความยืดหยุ่นมากขึ้น เพื่อรองรับปัจจัยและมีการขยายตัวต่อไปได้
ทั้งนี้ แม้ว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจยังไงก็ไม่สูงไปกว่านี้แล้ว การส่งออกไม่ได้มากกว่านี้เท่าไร หรืองบประมาณแค่นี้ เพราะมีแต่งบการใช้จ่าย แต่การลงทุนไม่มี ส่วนการขยายตัวของจีดีพีก็คงตามที่ ธปท.คาดการณ์ไว้คือในระดับ 4.25-4.50 % เป็นตัวเลขที่คาดการณ์ปัจจัยน้ำมันที่สูงขึ้นในขณะนี้รวมอยู่ด้วย
ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวถึงปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อเศรษฐกิจในขณะนี้ว่า กังวลเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่จะเข้า-ออก อย่างรวดเร็ว เห็นได้ชัดจากในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ มีเงินไหลเข้ามามากทั้งในตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ อย่างไรก็ตาม ธปท. ได้เตรียมเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูง เพื่อรองรับความผันผวนเงินทุนดังกล่าว รวมทั้งได้มีการประสานงานกับธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ในการติดตามการเคลื่อนไหวเงินทุนตลอดเวลา อย่างไรก็ตามเชื่อว่าหากการเมืองจะมีความชัดเจนจะมีเงินลงทุนโดยตรงต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น
**ประธานเฟดชี้ต้องจับตาเงินเฟ้อต่อ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (5)นายเบน เบอร์นานกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด)เผยต่อที่ประชุมด้านนโยบายการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตันว่า เศรษฐกิจอเมริกาในขณะนี้กำลังชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ภาวะเงินเฟ้อในประเทศกลับสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่ "ไม่น่าพอใจ" ซึ่งเฟดจำเป็นต้องเฝ้าระวังต่อไป
เขาอธิบายว่า แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ "กำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่าน"สู่การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทว่าขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานกลับทะยานสูงขึ้น สืบเนื่องจากภาวะน้ำมันแพง
ระดับราคาในปัจจุบันได้ไต่ระดับขึ้นมาสูงมาก ซึ่งหากแนวโน้มนี้ยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆระดับภาวะเงินเฟ้อก็อาจจะไปถึง "ระดับเท่ากับหรือมากกว่าขีดจำกัดสูงสุด" ที่เฟดกำหนดไว้ ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการสร้างเสถียรภาพด้านราคาและก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว โดยในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงานและอาหาร ได้พุ่งขึ้น 3.2 %
"แนวโน้มเหล่านี้จึงถือเป็นความเคลื่อนไหวที่ไม่น่าพึงประสงค์" นายเบอร์นานกี กล่าว และย้ำต่อว่า ด้วยเหตุนี้ บรรดาผู้กำหนดนโยบายของเฟดจึงจำเป็นต้อง "เฝ้าระแวดระวังต่อไปเพื่อให้แน่ใจว่า ทิศทางของระดับเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมานี้ จะไม่ดำเนินต่อไปเช่นนี้อีก"
นายเบอร์นานกี ยังกล่าวอีกว่า การใช้จ่ายของผู้บริโภคในสหรัฐฯในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ได้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาพลังงานที่เพิ่มสูงลิบลิ่ว ด้านตลาดอสังหาริมทรัพย์ก็เริ่ม "ชะลอความความร้อนแรง"ลงแล้ว หลังจากขยายตัวอย่างดุเดือดมานานหลายปี ขณะที่อัตราการจ้างงานก็อ่อนแรงลง โดยจำนวนผู้มาขอรับสวัสดิการคนว่างงานกลับเพิ่มสูงขึ้น
หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายตัวในสหรัฐฯเมื่อไม่นานมานี้ ได้ปรากฏสัญญาณถึงภาวะการอ่อนกำลังลงทางเศรษฐกิจ แต่ระดับราคาก็เพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักเศรษฐศาสตร์บางรายวิตกกังวลว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังประสบกับภาวะ "stagflation" (เศรษฐกิจชะลอตัวแต่ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มสูง) ดังเช่นในช่วงทศวรรษ 1970
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดกระแสคาดการณ์มากขึ้นว่า เฟดน่าจะดำเนินนโยบายปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกในการประชุมครั้งต่อไปวันที่ 28-29 เดือนนี้
"เบอร์นานกีระบุชัดเจนมากว่า แม้เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวลง แต่หน้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของเฟดคือ การต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งตลาดก็มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเรื่องนี้" นายมาร์ก ปาโด นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของแคนเตอร์ ฟิตซ์เจอราลด์กล่าว
ด้านนายจอห์น ซิลเวีย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของวาโชเวียเสริมว่า "เบอร์นานกีเน้นย้ำให้เห็นถึงมุมมองเรื่องของภาวะเงินเฟ้อที่มีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เขาได้เผยแนวทางต่อตลาดอย่างชัดแจ้ง" จึงไม่น่าประหลาดใจที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
|
|
|
|
|