|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
โบรกเกอร์ระบุยอดลูกค้าซื้อบ้านกู้แบงก์ไม่ผ่านสูงถึง 30 % เริ่มเห็นสัญญาณคนซื้อบ้านทิ้งดาวน์ ด้านผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลฯแนะผ่าทางตันยุคดอกเบี้ยขาขึ้น หลังอัตราการผ่อนรายเดือนตามดอกเบี้ยใหม่ขยับสูงขึ้น หวั่นลูกหนี้เดิมทนสภาพไม่ไหวกลายเป็นNPL เตือนคนผ่อนอย่าชะล่าใจ เจรจากับปรับโครงหนี้กับธนาคาพาณิชย์ ด้าน
นายไพโรจน์ สุขจั่น นายกสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์และประธานกลุ่มบริษัทบัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด เปิดเผยว่า แม้ผู้บริโภคจะมีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย แต่ยอมรับว่าปัญหาการขอสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์ไม่ผ่านเฉลี่ย 20-30% โดยเฉพาะในเดือนที่ผ่านมา ลูกค้าขอสินเชื่อไม่ผ่านและยกเลิกการซื้อบ้านคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 60 ล้านบาท ทำให้บริษัทต้องแก้ไขปัญหาด้วยการปรับลดราคาสินค้าลง
ด้านนายรังสรรค์ หวังไพฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทบัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาภาวะการขายที่อยู่อาศัยมีการชะลอตัว ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหากลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการขาย รวมถึงการให้บริษัทรับบริหารงานขายเข้ามาช่วย ซึ่งบางรายต้องลดราคาบ้านลงมาเพื่อให้มียอดขาย ซึ่งบางโครงการลดมากถึง 10-20% ซึ่งยอดนี้ยังไม่รวมกับค่าบริหารงานขายอีก 6-7%
" ที่ผ่านมาการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ค่างวดปรับสูงขึ้น ส่งผลให้ในบางครั้งลูกค้าที่ผ่านการอนุมัติสินเชื่อแล้ว แต่เมื่อไปพิจารณายอดการผ่อนชำระแล้ว พบว่า ไม่มั่นใจจะสามารถผ่อนส่งได้ในระดับดังกล่าว จนบางรายต้องทิ้งเงินดาวน์ เพราะเกรงว่าในอนาคตไม่สามารถจะผ่อนค่างวดกับธนาคารพาณิชย์ได้ "
สำหรับยอดขายของบริษัทในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมามีจำนวน 1,120 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดี่ยวกันของปีที่ผ่านมามีจำนวน 1,103 ล้านบาท ซึ่งในส่วนของบริษัท บัวทอง พร็อพเพอร์ตี้ ยอดขายในช่วง 5 เดือนจำนวน 482 ล้านบาท, บริษัท บีที ซิตี้ สมาร์ท จำกัด จำนวน 538 ล้านบาท และบริษัท มาร์เก็ตติ้ง จำกัด มีจำนวน 99 ล้านบาท
แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯกล่าวว่า จากการสำรวจลูกค้าที่เข้ามาจองโครงการในช่วงที่ผ่านมา มีลูกค้าตัดสินใจทิ้งจองเงินดาวน์กับเจ้าของโครงการ หลังจากที่รับทราบจากธนาคารพาณิชย์ไม่อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งส่วนหนึ่งราคาบ้านที่ธนาคารพาณิชย์จะระมัดระวังคือ บ้านราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากไม่มั่นใจในความสามารถของคนกู้ซื้อบ้าน และรวมถึงลูกค้าบางส่วนที่ซื้อบ้านระดับที่เกิน 5 ล้านบาท เพราะส่วนนี้ ทางธนาคารอาจวิเคราะห์ถึงความเสี่ยง ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว หรือบางรายเพียงแค่ติดปัญหากับเครดิตบูโรธนาคารจะไม่อนุมัติ
" อย่างโครงการของบริษัทปีที่ผ่านมามียอดไม่ผ่านการอนุมัติจากแบงก์ประมาณ 10% แต่เพียงเฉพาะไตรมาสแรกขยับขึ้นมา 15% แม้แต่ทางผู้บริหารธนาคารสงเคราะห์ยังออกมายอมรับว่ายอดปฎิเสธสินเชื่อในช่วง 3 เดือนแรกโตขึ้นมาเท่าตัว เทียบกับตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ปฎิเสธสินเชื่อเพียง 7 %"แหล่งข่าวกล่าว
นางลัดดาวัลย์ ธนะธนิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพในฐานะเลขาธิการสมาคมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย กล่าวก่อนหน้านี้ว่า โดยภาพรวมดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยในปีนี้ คงจะเดินหน้าปรับขึ้น ตามแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในภาพรวม ซึ่งหากประเมินจากภาพรวมอัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี ปีนี้คงปรับเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 0.50-1%
อย่างไรก็ตามเชื่อว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอัตราเลขตัวเดียวได้ คือ ไม่เกิน 9% ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคยังคงรับได้เนื่องจากยังเพิ่มขึ้นไม่สูงเท่ายุคก่อนที่เคยสูงถึง 12-13%
นายไพโรจน์ กล่าวเสริมว่า ทางสมาคมการขายและการตลาดอสังหาริมทรัพย์ เตรียมจัดงานสัมมนาในหัวข้อ “จับทิศทางการตลาด ปรับศาสตร์อสังหาฯ ฟันฝ่าเศรษฐกิจ” ในวันที่ 21 มิถุนายน เวลา 13.00 – 18.30 น. ณ ห้องมหิศร ธนาคารไทยพาณิชย์ ปาร์ค พลาซ่า วัตถุประสงค์เพื่อเป็นการจับทิศทางตลาดอสังหาฯครึ่งปีหลังและปรับกลยุทธ์ให้สามารถผ่าวิกฤตต่างๆ ไปด้วยดี
แนะยืดเงินค่างวดคนกู้ซื้อบ้านหวั่นบีบลูกค้าผิดนัดชำระ
นายพงษ์ศักดิ์ ชิวชรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวถึงความคืบหน้าหลังจากที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ทั้ง 7 สมาคมเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดได้อยู่ระหว่างเตรียมการจัดงานเวิร์คช็อปภายในสัปดาห์นี้ เพื่อหามาตรการช่วยเหลือผู้ซื้อบ้านและผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อนที่จะนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป
แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจมีการชะลอตัว แต่ยังมีความต้องการที่อยู่อาศัยอยู่มาก ซึ่งสิ่งจะช่วยกันแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน คือ ภาระการผ่อนเงินค่างวดเงินกู้ซื้อบ้าน เพื่อไม่ให้ผู้กู้แบกรับภาระจนเกินไปจากสภาพของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ดังนั้น ทั้งสถาบันการเงิน ,ผู้ประกอบการเอกชน และรัฐบาล ควรจะมีการจับมือและช่วยเหลือกันอย่างจริงจัง
โดยในส่วนของสถาบันการเงินนั้น หากจะมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด แต่ไม่ควรที่จะเพิ่มภาระด้วยการปรับเพิ่มค่างวดผ่อนรายเดือนที่สูงเกินไป สำหรับลูกค้าเก่าที่อยู่ในภาวะการผ่อนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่ผู้ขอกู้รายใหม่ สถาบันการเงินควรจะยืดระยะเวลาการผ่อนชำระไปให้นานที่สุด 25-30 ปี
“ ปกติแบงก์จะบวกอัตราดอกเบี้ยในการผ่อนชำระเพิ่มต่องวด 1-2% อยู่แล้ว แต่ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งอาจจะเห็นตัวเลขสองหลัก เพื่อช่วยผู้ซื้อบ้าน แบงก์ไม่ควรที่จะบวกค่าผ่อนเพิ่มอีก” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวให้เห็นถึงปัญหา พร้อมกับยกตัวอย่างว่า หากอัตราดอกเบี้ยที่จะต้องผ่อนชำระอยู่ที่ 4% แต่ธนาคารพาณิชย์จะคิดค่างวดเพื่อป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้าเป็น 6% หรือจากเดิมผ่อนชำระต่องวดอยู่ที่ 8,000 บาท แต่เมื่อปรับฐานการผ่อนชำระตามอัตราดอกเบี้ยใหม่ จะต้องเพิ่มยอดผ่อนต่องวดเป็น 10,000 บาทนั้น จะส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคค่อนข้างมาก
พร้อมกันนี้ นายพงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวเสนอแนะกับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย ควรจะไปเจรจากับแบงก์ถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน รวมทั้งการยืดระยะเวลาการผ่อนชำระออกไปเป็น 30 ปี ขณะที่ในด้านของผู้ประกอบการ ควรจะให้ความร่วมมือในการไม่ปรับราคาบ้านและลดคุณภาพและลดขนาดบ้านลง
|
|
|
|
|