Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายสัปดาห์5 มิถุนายน 2549
จับตาทิศทางขาลงยักษ์"แกรมมี่-อาร์เอส" การเมืองครอบงำผลงานทำกำไรคลุมเครือ             
 


   
www resources

โฮมเพจ อาร์.เอส. โปรโมชั่น

   
search resources

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, บมจ.
อาร์เอส, บมจ.
Entertainment and Leisure




หน้าตาผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ไม่ค่อยสดสวยงดงามเท่าที่ควร ของธุรกิจเอนเตอร์เทนเมนต์คอนเทนต์โพรไวเดอร์ ซึ่งกุมธุรกิจสื่ออยู่ในมือมากมายอย่าง แกรมมี่(GMM) และ อาร์เอส(RS) เจ้าใหญ่ไม่กี่รายในตลาด เริ่มสะท้อนให้เห็นว่า ช่วงที่ผ่านมา ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากภาวะรายรอบอย่างไม่มีการปราณี ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่อยู่ในช่วงขาลง สินค้าปลอมแปลงและการดาวน์โหลดเพลงในอินเตอร์เน็ตระบาด ท่ามกลางราคาน้ำมันที่ไม่มีท่าทีจะหยุดนิ่งได้ง่ายๆ ผนวกกับกำลังซื้อหดหาย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคถดถอย ผสานกับบรรยากาศการเมืองที่ค่อนข้างอึมครึมเข้าครอบงำ....

ผลประกอบการของแกรมมี่ ส่อเค้าว่าเริ่มมีสัญญาณความสามารถทำกำไรลดลงมาตั้งแต่ช่วงไตรมาส 1 ปี 2548 จาก 45 ล้านบาท ลดลงมาที่ 4.75 แสนบาทในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการออกอัลบั้มเพลงลดลง ธุรกิจวิทยุแย่ลงมาก ขาดทุนจากธุรกิจภาพยนตร์ ดอกเบี้ยจ่ายสูงขึ้น และ ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนราว 20 ล้านบาท

ยอดขายเพลงมีจำนวนที่ลดลงทำให้มีการเลื่อนวางแผงอัลบั้มหลักออกไป(อาทิ อัสนี-วสัน ปาล์มมี่ เบิร์ดเสก พลพล ต่าย อรทัย ฯลฯ) โดยไตรมาสแรกปีนี้ แกรมมี่ได้ออกอัลบั้มเพียง 42 ชุด(30 อัลบั้มใหม่และ 12 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ที่มีถึง 55 ชุด( 36ใหม่และ 19 อัลบั้มรวมเพลงฮิต)

ประกอบกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในวงการวิทยุทำให้ยอดขายโฆษณาลดลง 29% จากช่วงเดียวกันของปี 48 เพื่อที่จะฟื้นฟูกำไรส่วนนี้ จีเอ็มเอ็มมีเดีย (GMMM)บริษัทลูกที่แกรมมี่ถือหุ้นใหญ่ 79% จึงได้ตัดสินใจเลิกออกอากาศคลื่น FM88 Buzz Radio ซึ่งมีค่าเช่าสูงกว่าสถานีอื่นถึง40% รวมถึงยังได้หยุดการออกอากาศ คลื่น EFM ผ่านสัญญาณดาวเทียม เป็นกลยุทธ์ลดต้นทุนมากกว่าเพิ่มยอดขาย

นอกจากนี้ยังมีความผิดพลาดจากการขยายการลงทุนในธุรกิจข้างเคียง โดยหวังว่าจะมาเป็นแรงผลักดันช่วยให้บริษัทแม่มีรายได้และกำไรเติบโต แต่ด้วยความที่ไม่ถนัด และตัดสินใจ ไม่รอบคอบ ผสมโรงกับชื่อเสียงที่เข้าไปเกี่ยวโยงกับการเมืองอย่างสนิทแนบแน่น ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจบอบช้ำ

...แกรมมี่จึงเสียทั้งเงิน ชื่อเสียง บวกกับถูกต่อต้านสินค้าจากทุกสารทิศ จนกลายเป็นรอยด่างพร้อย....

ที่เห็นได้ชัดก็คือ การแต่งเพลงชาติทำนองใหม่ การรุกซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์มติชนและโพสต์จนต้องยุติลงในทันที ภาพยนตร์เรื่อง หมากเตะ ที่มีเนื้อเรื่องล้อเลียนชาวลาว ฉีกแนวไปจากหนังที่สะท้อนชีวิตหนุ่มสาวก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเป็น แฟนฉันหรือมหาลัยเหมืองแร่ ทำให้ต้องประกาศเลิกฉายไป

หรือแม้กระทั่งวิทยุคลื่นข่าว 94.0 Open Radio ที่ปิดฉากไปแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย ว่ากันว่านอกจากประสบภาวะขาดทุน ก็มีการร้อยเรื่องเข้ากับเหตุผลทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะส่งผลในไตรมาส 2 ปีนี้ น่าจะมาจากการออกอัลบั้มหลักที่เลื่อนมาจากไตรมาส 1 ประกอบกับการเป็นผู้นำในตลาดเพลงด้วยส่วนแบ่งกว่า 70% จะส่งผลให้ธุรกิจ e-business และการจัดเก็บลิขสิทธ์ต่างๆเติบโตตามไปด้วย

นอกจากนั้น ธุรกิจวิทยุก็จะมีการฟื้นตัวหลังคืนคลื่นไปแล้ว ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ขณะที่ธุรกิจจัดกิจกรรมทางการตลาดที่มี อินเด็กซ์ อีเวนท์เอเยนซี่ บริษัทลูกดำเนินการอยู่ ก็มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากส่วนหนึ่งของโครงการนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี มูลค่าราว 100 ล้าน

ถึงแม้ว่ารายได้และกำไรสุทธิจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องของ แกรมมี่ อาทิ ลิขสิทธิ์ E-Business การบริหารศิลปิน การจัดกิจรรมทางการตลาด จะช่วยเสริมรายได้และกำไร แต่รายได้ส่วนนี้ใน 6-12 เดือนข้างหน้าก็ยังไม่เพียงพอจะชดเชยการชะลอตัวของผลกำไรจากธุรกิจหลัก "เพลงและวิทยุ"

"เราเชื่อว่ากำไรสุทธิของ แกรมมี่ ยังไม่ผ่านจุดต่ำสุด ถึงแม้ว่าราคาหุ้นจะปรับตัวลง และมีทิศทางที่ต่ำกว่าตลาดรวม แต่ก็ยังเร็วเกินไปที่จะซื้อหุ้นตัวนี้" นักวิเคราะห์จาก บล.กิมเอ็งให้ความคิดเห็น

ในฝั่งของ อาร์เอส (RS) เร็วๆนี้ก็ได้มีการผ่าตัดใหญ่องค์กร ด้วยการ "รีแบรนดิ้ง" มุ่งสู่ธุรกิจมัลติมีเดีย โดยลดธุรกิจเพลงลง ตลอดจนได้ตั้งสำรองสินค้าคงเหลือประเภทเพลงและแผ่นวีซีดีหนังไปเกือบหมดในปีที่แล้ว

ค่ายนี้ยังได้นำคอนเทนต์ไปต่อยอดในธุรกิจหลักทั้งเพลงและสื่อ นั่นคือ นำผลงานศิลปินไปขยายทำรายได้ทั้งสินค้าเพลง ลิขสิทธ์ และคอนเสิร์ตอย่างครบวงจร

รวมถึงมีรายได้จากการรับจ้างผลิตจัดกิจกรรมทางการตลาดที่สูงถึง 146.303 ล้านบาทเปรียบเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนที่มีเพียง 58.55 ล้านบาท จากอีเวนต์ขนาดใหญ่อาทิ WWE Smack Down LIVE in Bangkok 2006 คอนเสิร์ต 36 ปีช่อง 3 พัทยาอินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิก เฟสติวัล 2006 ส่งผลถึงกำไรสุทธิที่ออกมารวม 7.845 ล้านบาท หลังจากผลประกอบการในปี 2547-2548 ขาดทุนติดต่อกันหลายไตรมาส

ส่วนธุรกิจเพลงไตรมาส 1 ปีนี้ อาร์เอสมีจำนวนการออกอัลบั้มมากขึ้น แต่รายได้ต่อชุดลดลง จากไตรมาสของปี 2548 ที่มี 51 ชุด(35 อัลบั้มใหม่และ 16 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) มียอดขายเฉลี่ยต่อชุด 3.9 ล้านบาท เป็น 58 ชุดในไตรมาสแรกของปีนี้(22 อัลบั้มใหม่และ 36 อัลบั้มรวมเพลงฮิต) มียอดขายเฉลี่ย 3.3 ล้านบาทลดลง 15%

แต่ภาพรวมในส่วนเพลงก็ยังโต 13% ทั้งนี้เพราะ การทำอัลบั้มรวมฮิตมีต้นทุนที่ต่ำกว่าอัลปั้มของนักร้องใหม่นอกจากนี้ยังมีกระแสตอบรับดีกว่า เห็นได้จาก อัลบั้มหนุ่มบาว-สาวปาน ที่มียอดขายเกินล้านบาทในเวลาเพียงไม่นานนัก ประกอบกับรายได้จากการจัดเก็บลิขสิทธ์มีการเติบโตขึ้นถึง 20%

นอกจากนี้ยังมีรายได้จากสื่อวิทยุที่มีทั้งจำนวนคลื่นและความนิยมเพิ่มขึ้น เป็นผู้นำตลาดและกำลังจะมีการขึ้นค่าโฆษณาอีก 20% ในไตรมาสนี้ รวมถึงนสพ.บันเทิงดาราเดลี่ ที่จะช่วยให้รายได้จากสื่อสิ่งพิมพ์ของอาร์เอสซึ่งมีฐานรายได้เล็กโตขึ้นได้อย่างมากและกำลังจะถึงจุดคุ้มทุนแล้ว

ปัจจัยบวกในช่วงไตรมาส 2 ที่จะเห็นได้คือการออกอัลบั้มของศิลปินที่มีชื่อเสียงของค่ายซึ่งเคยมียอดขายเกินล้านชุดมาแล้วออกมาอีก ไม่ว่าจะเป็น แดน-บีม, โปงลางสะออน, โฟร์-มด ฯลฯ รวมถึงภาพยนตร์เรื่อง "รักจัง" ที่นำแสดงโดย ฟิล์ม รัฐภูมิ และพอลล่า ซึ่งสามารถทำกำไรได้แน่นอน

อย่างไรก็ดี ภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรงจากผู้ประกอบการรายใหญ่รวมถึงสินค้าปลอมแปลงทำให้แนวโน้มยอดขายเทปและวีซีดีมีการขยายตัวในระดับจำกัด ประกอบกับการที่ผู้บริโภคที่หันมานิยมความบันเทิงในรูปแบบ MP3 มากขึ้น ทำให้มีรูปแบบการขายในช่องทางอินเตอร์เน็ตมากขึ้น แต่ก็ไม่สามารถชดเชยรายได้การขายผลิตภัณฑ์ที่ลดลงได้

รวมถึงปัจจัยลบจากช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านมือถือในส่วนที่เป็นนิวมีเดียที่ในช่วงนี้เครือข่ายมีปัญหาโทรติดยากทำให้มีรายได้จากส่วนนี้ลดลง 17% แต่ก็คาดว่าในช่วงไตรมาส 3เป็นต้นไปปัญหาดังกล่าวก็น่าจะแก้ไขได้และมียอดขายที่เพิ่มขึ้นตามยอดขายโทรศัพท์มือถือที่ขยายตัวและพฤติกรรมผู้บริโภคหันมาซื้อผ่านช่องทางดังกล่าวมากขึ้นได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนปัจจัยลบที่จะส่งผลธุรกิจจนถึงสิ้นปีนี้คือ รายการทีวีที่ตอนนี้แม้จะมีเวลาออกอากาศถึง 1,385 นาที/สัปดาห์แต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงหลัง 24.00 น.และจำนวนโฆษณาก็ยังอยู่ในระดับต่ำเป็นไปในลักษณะการสนับสนุนเพลงของค่ายตัวเองมากกว่า ถือได้ว่าเป็นอุปทานส่วนเกินอยู่

รวมถึงภาพยนตร์ที่มีในไตรมาส3 และ 4 จะออกมาอีกช่วงละเรื่องเป็นแนวตลกและแนวผี มีโอกาสขาดทุนมากกว่ากำไรเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาการดำเนินงานในธุรกิจนี้ของอาร์เอสจะขาดทุนมากกว่ากำไรไม่ว่าจะเป็น เดอะเมียไทยถีบ ผีเสื้อสมุทรฯลฯ

นอกจากนั้นในช่วงปีนี้ ก็ยังมีหนังระดับบล๊อกบลาสเตอร์เข้าฉายจำนวนมาก ทำให้ระยะเวลาการฉายหนังฟอร์มเล็กสั้นลง ส่วนโครงการรับจ้างผลิตขนาดใหญ่ที่จะเป็นข่าวดีขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญา

แม้ แกรมมี่ และ อาร์เอส จะมีตัวเลขรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิก็ยังคงอยู่ในระดับที่ติดลบสำหรับค่ายแกรมมี่ และเพิ่มขึ้นน้อยเพียงระดับ 1%สำหรับอาร์เอส เมื่อเทียบกับสภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่โดยเฉลี่ยที่มีการเพิ่มขึ้นของกำไร 8% จากงวดเดียวกันของปีก่อน

เท่านี้ย่อมชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจสื่อบันเทิงครบทุกรูปแบบได้เดินทางมาใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ลำพังการดำเนินธุรกิจนี้อย่างเดียวโดยไม่ขยายอาณาจักรออกไปก็คงยากที่จะเติบโตอย่างราบรื่น....   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us