|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลังการขายหุ้นชินคอร์ป เปลี่ยนมือจากกลุ่มชินวัตรไปสู่เทมาเส็กแล้วใคร ๆ ก็ถามถึงอนาคตของ "ไอทีวี"ตกลงจะขายต่อให้ใคร?บรรดากลุ่มทุนที่มีตังค์ และเคยอยากเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์ต่างเนื้อเต้น เจรจากับเทมาเส็กกันขวักไขว่ ก่อนที่จะต้องหยุดกึก เพื่อคิดไตร่ตรองให้ดีอีกครั้ง เมื่อศาลปกครองกลางได้มีคำตัดสินที่ชี้เป็นชี้ตายต่อไอทีวี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีระหว่างสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้องกับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้าน เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
ประเด็นสำคัญคือ คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ "เกินขอบเขต" แห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่ ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลปกครองได้เพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการทุกประเด็น
นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล กล่าวว่า สถานะของไอทีวีวันนี้มีกำไรไม่มากนัก เพิ่งมีกำไรต่อเนื่อง 2 ปี และหากศาลตัดสินให้ต้องกลับไปอยู่สถานะเดิมคือปรับผังรายการให้มีรายการความรู้ข่าวไม่ต่ำกว่า 70% นั้นจริงๆแล้วที่คณะอนุญาโตตุลาการให้ไอทีวี มีรายการความรู้ข่าวไม่ต่ำกว่า 50% นั้นจริงๆแล้วยังใช้ไม่ถึง 50% ปี 2548 ที่ผ่านมารายการของไอทีวีเป็นรายการด้านข่าวร้อยละ 65 และบันเทิงร้อยละ 35 % หากจำเป็นต้องปรับผังรายการสามารถทำได้ รายการบันเทิงสามารถบรรจุในช่วงเวลา 18.00 -19.00 น. หรือหลังเวลา 21.00 น.
ทางไอทีวีจะยื่นอุทธรณ์ เพราะโดยหลักการสามารถทำได้ภายใน 30 วัน ส่วนจะยื่นในประเด็นไหนคงต้องดูรายละเอียดว่าข้อคัดค้านที่ไอทีวีเสนอไปมีความขัดแย้งอะไรบ้าง รวมถึงความเป็นไปได้ในการใช้กฎหมายและหยิบข้อเท็จจริงขึ้นมาประกอบ
ไอทีวี เป็นผลผลิตของกระแสการเรียกร้องให้เปิดเสรีสื่อวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ'35" นั่นเป็นครั้งแรกที่มีการให้สิทธิจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ ด้วยวิธีการ "ประมูลแข่งขันอย่างเสรี"
ในการประมูลเดือนพฤษภาคม 2537 มีกลุ่มบริษัทเข้ายื่นซองรวม 5 กลุ่ม ผู้ชนะการประมูลคือ กลุ่มสยามทีวีแอนด์คอมมูนิเคชั่น (มีผู้ร่วมทุน 12 ราย แกนนำคือ ธนาคารไทยพาณิชย์, บ.เดลินิวส์, บ.กันตนา และบริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ซึ่งเสนอผลตอบแทนแก่รัฐจำนวน 25,200 ล้านบาท ในเวลา 30 ปี และได้ตั้งชื่อสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ว่า สถานีโทรทัศน์ไอทีวี (ITV - Independent Television) หรือทีวีเสรี เริ่มออกอากาศเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 ในระบบยูเอชเอฟ ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทสยามอินโฟเทนเมนท์ จำกัด ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญาการประมูล (Term of Reference: TOR) เห็นได้ชัดเจนว่าไอทีวีที่ออกแบบให้เป็น "สถานีข่าว" (News Station)
ไอทีวีถูกกำหนดให้มีรูปแบบรายการที่แตกต่างจากสถานีโทรทัศน์เดิมที่มีอยู่แล้ว โดยให้เสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ ไม่ต่ำกว่า 70% ของเวลาออกอากาศ ส่วนอีก 30% เป็นรายการบันเทิงและรายการอื่น ๆ และในช่วงเวลาไพรม์ไทม์ (19.00 - 21.30) ต้องเสนอเฉพาะรายการข่าวและสาระเท่านั้น
บนเงื่อนไขดังกล่าว ไอทีวีได้สร้างชื่อเสียงของการเป็นสถานีข่าวคุณภาพอย่างรวดเร็ว โดยได้ดึงมืออาชีพทางด้านข่าวอย่างกลุ่ม "เนชั่น" เข้ามาถือหุ้น 10% และร่วมผลิตข่าว 70% ให้กับไอทีวี ทำให้ไอทีวีโดดเด่นในเรื่องความลึกและเข้มข้นของรายการข่าว รวมทั้งสกู๊ปข่าวเจาะลึกเชิงสืบสวนสอบสวน (Investigative Report)
อย่างไรก็ตาม ผลประกอบการของไอทีวีขาดทุนอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกของการดำเนินการ ในปี 2542
ปัญหาทวีความรุนแรงขึ้นจนเกิดเป็นความขัดแย้งภายใน กลุ่มเนชั่นซึ่งได้ร่วมวางรากฐานทางด้านข่าวกับไอทีวีมาตั้งแต่ต้น (จนกลายเป็นภาพลักษณ์สำคัญของไอทีวี) ตัดสินใจถอนตัว ทางธนาคารไทยพาณิชย์ผู้ถือหุ้นใหญ่ในขณะนั้นได้พยายามหานักลงทุนรายใหม่เข้ามาถือหุ้นไอทีวีแบบเฉพาะเจาจง (Private Placement)
ในที่สุดมาลงตัวกับกลุ่ม "ชินคอร์ป" โฮลดิ้งคอมปะนีของตระกูลชินวัตร หลังการเข้ามาถือหุ้นใหญ่ของกลุ่มชินคอร์ป ไอทีวีก็มีการเปลี่ยนแปลงในระดับทิศทาง นโยบาย และโครงสร้างที่สำคัญหลายประการ
ไอทีวีได้พยายามเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขสัญญาสัมปทาน ซึ่งได้ทำหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการพิจารณาเพื่อขอลดสัมปทานค่าเช่าสถานีโทรทัศน์ ไอทีวีจากสำนักนายกรัฐมนตรี
กรอบข้อปฏิบัติของไอทีวี (ตามสัญญาที่ทำกันไว้ตั้งแต่ได้รับสัมปทาน) ถูกแก้ไขปลายเดือน ม.ค. 2547 ในสมัยรัฐบาลนายกฯทักษิณ
คณะอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 47 ซึ่งมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ
(1) ให้ไอทีวีเป็นฝ่ายชนะ ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานจำนวนมหาศาลแต่ให้จ่ายในอัตราที่มากกว่าช่อง 3 และช่อง 7 ไม่มากนัก (ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง ของสัญญาเข้าร่วมงาน จาก 800 ล้านบาท เหลือ 230 ล้านบาท)
(2) ให้ไอทีวีต้องผลิตรายการข่าวสาร สาระ ไม่น้อยกว่า 50% และไม่มีข้อจำกัดผังรายการในช่วงไพร์มไทม์ที่ต้องนำเสนอข่าวสาร สาระ ไม่น้อยกว่า 70% อีกต่อไป
ทว่าเงื่อนไขดังกล่าวเป็นโมฆะไปเสียแล้ว
ก่อนหน้านี้มีผู้แสดงความต้องการก้าวเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในไอทีวีในกรณีที่เทมาเส็กตัดสินใจขายธุรกิจสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ทิ้งไป อาทิ อาร์เอส จีเอ็มแกรมมี่ กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี รวมไปถึง อสมท. หรือแม้กระทั่งกลุ่ม NGO
ในเงื่อนไขเช่นนี้ ใครยังอยากเป็นเจ้าของไอทีวีอยู่อีก?
ถ้าให้เดา ใครน่าจะเป็นผู้ซื้อไอทีวีไปมากที่สุด?
และถ้าเป็นไปได้ ไอทีวีควรจะเปลี่ยนไปสู่มือใคร และควรจะดำเนินไปในทิศทางใด จึงจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมที่สุด?
บทวิเคราะห์
สถานการณ์ไอทีวีขณะนี้ตกที่นั่งลำบากเช่นเดียวกับสถานการณ์รัฐบาลไทยรักไทย นั่นคือตกอยู่ในสถานการณ์ Dead Lock
Dead Lock ประการแรกก็คือเทมาเส็กเป็นเจ้าของไอทีวีได้หรือไม่ เพราะเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งยังเป็นปัญหาที่หลายคนยังสงสัย
แม้ในทางกฏหมายจะเป็นบริษัทคนไทยก็จริง แต่ในทางปฏิบัติก็รู้ๆอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของ ดังนั้นหากเทมาเส็กต้องการทำมาหากินในประเทศไทยด้วยความสงบแล้วไซร้ ก็ควรจะปล่อยไอทีวีออกจากอ้อมอก
เทมาเส็กนั้นคือประเทศสิงคโปร์ ลี กวน ยิว พ่อนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็นคนที่ให้ความสำคัญกับมีเดียมาก มีเดียสิงคโปร์จะถูกคุมจนขยับตัวแทบไม่ได้
การที่เป็นรัฐบาลประเทศหนึ่งเป็นเจ้าของมีเดียทีวีในอีกประเทศหนึ่ง เป็นเรื่องที่ล่อแหลมมาก หากรัฐบาลประเทศนั้นใช้ทีวีเพื่อประโยชน์ต่อประเทศของตนเอง มองในจุดนี้ก็ยากที่เทมาเส็กจะเก็บไอทีวีไว้กับเครือต่อไป
Dead Lock ประการที่สองหากยังรักษาไอทีวีต่อไปนั้นก็คือจะทำให้กำไรทั้งเครือหดหาย ขณะที่ตัวไอทีวีซึ่งแบกภาระสัมปทานที่ต้องจ่ายแต่ละปีนับพันล้านบาทนั้น ราคาหุ้นจะลดลงไปเรื่อยจนต่ำกว่า Book Value ในที่สุด แม้ราคาจะถูกและเทมาเส็กยินดีขาย แต่การต้องแบกรับค่าสัมปทานมหาศาลก็ทำให้ผู้ซื้อต้องคิดหนัก
Dead Lock ประการที่สามก็คือการที่ต้องจัดผังให้เป็นรายการสาระ 70 และบันเทิง 30 นั้น ไม่มีทางจะอยู่รอดได้ในเชิงธุรกิจ ซึ่ง 5 ปีแรกของการดำเนินการก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วโฆษณาไม่เข้าและสุดท้ายหนี้สินบานเบอะจนเจ้าหนี้อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ทนไม่ไหว
การเป็นเจ้าของสถานีทีวีนั้น ใครๆก็อยากเป็น โดยเฉพาะเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีงบโฆษณาปีละพันๆล้านบาท ก็เพียงแค่ผ่องถ่ายงบโฆษณามาอยู่ในสถานีทีวีของตนเองเท่านั้น ก็เท่ากับอัฐยายซื้อขนมยายแล้ว
แต่ทว่าด้วยเงินค้างค่าสัมปทานจำนวนมหาศาลและข้อจำกัดด้านผังรายการ ก็ยากจะหาเอกชนรายใดมาซื้อได้ เพราะซื้อไปก็ไม่คุ้ม ถึงจะเป็นเจริญ สิริวัฒนภักดีก็ตาม หากเจริญซื้อก็อาจจะถูกต่อต้านจากกลุ่มเอ็นจีโอเพราะเงินของเขามาจากธุรกิจน้ำเมา ย่อมต้องใช้ทีวีเพื่อโปรโมทธุรกิจน้ำเมา พิจารณาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำเมาและหากจะจัดผังให้รายการมีสาระนั้น ไอทีวีในมือเจริญก็อาจจะ Positioning ให้เป็นช่องกีฬา ซึ่งโฆษณาก็จะเข้าเป็นบางช่วงและเป็นการใช้ทีวีที่ไม่คุ้มค่า
ทางออกสำหรับไอทีวีที่จะอยู่รอดได้ก็คือรัฐบาลต้องซื้อกลับไป ซึ่งคงใช้อสมท.เป็นแขนขาในการเทกโอเวอร์
อสมท.ภายใต้การบริหารของมิ่งขวัญนั้นดีขึ้นผิดหูผิดตา จากเดิมเป็นแดนสนธยา วันนี้กลายเป็น บมจ.อสมท จำกัด(มหาชน) ที่เป็นบริษัทที่มีมาร์จิ้นสูง ขณะเดียวกันก็วางคอนเซ็ปต์ให้เป็นช่องที่มีสาระ ภายใต้แนวคิด "สังคมอุดมปัญญา"และการที่อสมท.บริหารไอทีวีก็เท่ากับเป็นอัฐยายซื้อขนมยาย เพราะอสมท.เป็นของรัฐบาล แม้จะมีการนำบริษัทเข้าตลาดแล้วก็ตาม
พิจารณาจากการจัดผังรายการและความสามารถในการดีลกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อสนับสนุนรายการสาระนั้น เชื่อได้ว่าถ้าอสมท.บริหารไอทีวีก็คงจะทำให้เป็นคลื่นสาระได้โดยที่หาสปอนเซอร์สนับสนุน และเมื่อนั้นค่าสัมปทานจะลดลงฮวบฮาบ เพราะไอทีวีเป็นของอสมท.ก็เท่ากับเป็นของรัฐบาลนั่นเอง
|
|
|
|
|