"พิเชษฐ"ลดกระแสบิ๊กการบินไทย แย่งเก้าอี้ดีดี สั่งแต่ละฝ่ายทำแผนเพิ่มประสิทธิภาพและรายได้
เสนอภายใน 10 ม.ค. และให้เวลาทำงาน 3 เดือน (ม.ค.-มี.ค.) หากทำไม่ได้ ตามแผนที่ใช้เกณฑ์ตัวเลขรายได้เป็นตัวชี้วัด
เตรียมถูกโยกย้ายเอง แต่มีทีเด็ดให้อำนาจบิ๊กการบินไทย เต็มที่ในการโยกย้ายเด็กเส้น
เด็กฝาก หากเห็นว่าไม่ตรงกับหน้าที่ ระบุที่ผ่านมามีมากและเป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงาน
เผยยังได้ขอให้การบินไทยกลับมาให้บริการอาหารผู้โดยสารทุกเที่ยวบิน หลังจากที่ถูกงดโดยให้บริการเฉพาะที่ตรงเวลาอาหารเท่านั้น
โดยอ้างว่าต้องลดต้นทุน เผยบริการอาหารบนเครื่องมีต้นทุนปีละไม่มากให้ไปลดจุดอื่นแทน
นายพิเชษฐ สถิรชวาล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้ให้นโยบายกับฝ่ายบริหาร
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มรายได้
โดยเน้นที่การทำงานในแต่ละฝ่ายและการวัดประสิทธิภาพการทำงาน ด้วยการให้ผู้บริหารในแต่ละฝ่าย
ทำแผนการดำเนินงานและเป้าหมายเสนอมาให้ภายในวันที่ 10 มกราคม 2546 นี้ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวัดประสิทธิภาพ
ซึ่งจะให้เวลาทำงาน 3 เดือน (มค.-มี.ค.) หากสามารถทำงานได้ตามแผนที่เสนอมาก็ถือว่าผ่านการวัดประสิทธิภาพ
โดยแนวทางในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานนั้น เพื่อให้แต่ละฝ่ายสามารถทำงานได้
ได้ให้อำนาจผู้บริหารในแต่ละฝ่ายมีอำนาจใน การปรับเปลี่ยนบุคลากร ซึ่งได้ให้ความเห็นชอบกับข้อเสนอนี้แล้ว
เนื่องจากการบินไทยมีปัญหาในเรื่องเด็กฝากเด็กเส้น ทำให้ที่ผ่านมาการทำงานไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรและไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
เพราะติดประเด็นนี้ เป้าหมายในการกำกับดูแลการบินไทยคือ ทำให้มีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ประสิทธิภาพการทำงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ โดยภายใน 3 เดือน ที่ให้
เวลาไป หากทำไม่ได้ ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหมุนไปทำงานในส่วนอื่นที่เหมาะสมกว่า
เพราะได้ให้อำนาจในเรื่องการปรับเปลี่ยนบุคคลไปแล้ว จึงคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาและอุปสรรค
"การให้ผู้บริหารการบินไทยแต่ละฝ่ายมีอำนาจในเรื่องต่างๆ เต็มที่เพื่อให้แต่ละคนทำงานในหน้าที่ของตนให้มากขึ้น
ดีกว่าปล่อยให้มีการแก่งแย่งเก้าอี้กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) เหมือนที่ผ่านมา
ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อองค์กรเลย" นายพิเชษฐกล่าว
นายพิเชษฐกล่าวว่า ฝ่ายไปรษณีย์และพัสดุภัณฑ์ (คาร์โก้) ได้มอบหมายให้นายสุเทพ
สืบสันติวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคล และบริหารทั่วไป
เป็นผู้จัดทำแผนและบริหาร นายทัศนัย สุทัศน์ ณ อยุธยา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์
จัดทำแผนการบริหารงานฝ่ายขายทั้งหมด โดยให้แยกรายได้ภายในประเทศและต่างประเทศออกจากกัน
"ใครมีฝีมือก็สามารถอยู่ทำงานต่อไปได้ ถ้าไม่ได้ก็ต้องเปิดโอกาสให้คนอื่นแสดงฝีมือ
ซึ่งไม่น่ายากสำหรับคนที่อยู่กับบริษัทมา 10-20 ปี ที่จะพิสูจน์ฝีมือ และยังได้สิทธิในการปรับเปลี่ยนเรื่องบุคคลได้เต็มที่
แต่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากรณีการปรับเปลี่ยนบุคคลให้เหมาะสมกับงาน ผมให้ส่งรายชื่อการปรับเปลี่ยนมาให้ด้วย
ส่วนการวัดผล ผมมีเป้าหมายอยู่แล้ว โดยจะใช้ตัวเลขรายได้เทียบเป็นรายไตรมาสและแผนที่เสนอมาเป็นหลัก
และยืนยันว่า การทำเช่นนี้ ผมไม่ได้แทรกแซงการบินไทย"
นายพิเชษฐกล่าวว่า เมื่อมีเป้าหมายเรื่องรายได้ ก็ต้องวางแผนเรื่องรายจ่าย
ซึ่งการบินไทย มีค่าใช้จ่ายหลักประมาณ 70% คือ น้ำมันเชื้อเพลิง จึงให้จัดส่งแผนการจัดซื้อจัดหา
และวิธีการและแนวทางการลดค่าใช้จ่ายส่วนนี้เสนอมา ซึ่งเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของ
ม.ร.ว.ศุภดิศ ดิศกุล รองกรรมการฝ่ายพัฒนาและสนับสนุนธุรกิจ สำหรับฝ่ายซ่อมบำรุงนั้น
ได้สั่งการให้ศึกษาแนวทางการลดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงอากาศยานที่ค่อนข้างสูงมาก
รวมทั้งจะต้องติดต่อกับบริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ เครื่องบิน เพื่อหาข้อมูลนำมาวางแผนในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง
โดยหากวิธีใดดีก็นำมาใช้ วิธีใดที่ทำอยู่แล้วดีก็ทำต่อไป วิธีใดทำแล้วไม่ดีก็เลิกไม่มีอะไรเสีย
สั่งบริการอาหารทุกเที่ยวบิน
นายพิเชษฐกล่าวว่า นโยบายที่สำคัญอีกเรื่องที่ให้การบินไทยไปคือ ตั้งแต่เดือนมกราคม
2546 นี้เป็นต้นไป การบินไทยจะต้องให้บริการอาหารกล่อง ประเภทของว่างสำหรับผู้โดยสารทุกเที่ยวบิน
หลังจากก่อนหน้านี้ การบินไทยได้งดบริการดังกล่าว โดยจัดให้เฉพาะเที่ยวบินที่ตรงกับเวลาอาหารคือ
เช้า กลางวัน เย็น เท่านั้น โดยระบุว่าต้องการลดต้นทุน แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าการให้บริการดังกล่าว
มีต้นทุนเฉลี่ยต่อหัวประมาณ 20-30 บาท ซึ่งไม่มาก เมื่อเทียบกับการให้บริการที่น่าประทับใจ
จึงเห็นว่า หากต้องการลดต้นทุนก็สามารถปรับลดในส่วนอื่นทดแทนได้
แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทย กล่าวว่า ในการเพิ่มบริการของว่างให้กับผู้โดยสารทุกเที่ยวบิน
ตามนโยบายของนายพิเชษฐนั้น จะทำให้การบินไทยมีต้นทุนด้านอาหารว่างเพิ่มขึ้นประมาณ
47-50 ล้านบาท จากการให้บริการเที่ยวบินทั้งในและต่างประเทศวันละ 430 เที่ยวบิน
และโดยรวมมีผู้โดยสารปีละ 18 ล้านคน ซึ่งถือว่าไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบว่าเป็น
การซื้อใจผู้โดยสาร และดีกว่าที่จะปล่อยให้มีการ โกงกินในบริษัท อีกทั้งก่อนหน้านี้
การบินไทย ก็เคยมีบริการดังกล่าวมาก่อน แต่ได้ยกเลิกไปในสมัยของนายธรรมนูญ
หวั่งหลี เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายลง ที่สำคัญ สายการบินอื่นก็เริ่มปรับปรุงบริการใหม่ๆ
เช่นกัน เช่น ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป สายการบินบริติช แอร์เวยส์
มีแคมเปญใหม่สำหรับ ผู้โดยสารชั้นประหยัด คือ ให้บริการอาหารสด ผู้โดยสารสามารถเลือกสั่งอาหารเองได้ตาม
เมนูที่จัดไว้ให้ เป็นต้น