ตลท.เปิดเผยข้อมูลไตรมาส1/49 บริษัทจดทะเบียนลงทุนเพิ่ม 8.1 หมื่นล้านหรือเพิ่ม 30% เน้นลงทุนสินทรัพย์ถาวรเป็นหลักเหตุความเสี่ยงต่ำ กลุ่มพลังงานนำโด่ง 3.6 หมื่นล้าน เผยอัตราส่วนหนี้ต่อทุนยังต่ำเพียง 1.2 เท่า ขณะที่ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยยังในระดับสูงถึง 9.1 เท่า
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการ สายงานวิจัยและข้อมูลสารสนเทศ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยรายงาน SET Note Corporate Update ว่า ภาพรวมการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาส1ในปี 2549 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันในปีที่ผ่านมามีอัตราการขยายตัวประมาณ 30% โดประมาณ 89% เป็นการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร คิดเป็นมูลค่าประมาณ 81,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากกลุ่มทรัพยากร
โดยมูลค่าการลงทุนสูงถึง 36,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 86% ขณะที่กลุ่มบริการเป็นเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่ปรับตัวลดลง 40% หรือ 11,200 ล้านบาท
ทั้งนี้กลุ่มบริการที่ลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลงในเกือบทุกหมวด แต่หมวดการท่องเที่ยวที่มีการลงทุนเพิ่มสวนทางกับกลุ่ม เนื่องจากลงทุนเพิ่มกว่าเท่าตัวหรือ 117% โดยหมวดที่มีการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรลดลงมากที่สุดคือ หมวดบริการเฉพาะกิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ที่ลดลงกว่า 51% และ 63% ตามลำดับ
สำหรับการลงทุนจากข้อมูลพบว่า แหล่งเงินทุนส่วนใหญ่มาจากกระแสเงินสดรับจากกิจกรรมการดำเนินงานของบริษัทเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างๆเลือกที่จะลงทุนอย่างระมัดระวัง โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับสินทรัพย์ถาวรเป็นส่วนมาก โดยในไตรมาส 1ปี 2549 บริษัทจดทะเบียนมีกระแสเงินสดรับจากการดำเนินกิจกรรมกว่า 135,000 ล้านบาท โดยมีการนำเงินในส่วนนี้ไปลงทุนกว่า 87,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากกิจกรรมทางการเงินนั้นส่วนใหญ่เป็นกระแสเงินสดรับ-จ่ายจากธุรกรรมการออกหุ้นกู้และตราสารหนี้ ในขณะที่ธุรกรรมการกู้ยืมหรือชำระคืนหนี้แก่ธนาคารมีไม่มากนัก
"เรื่องความเสี่ยงของการลงทุนในส่วนของบริษัทจดทะเบียนในภาวะที่เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวไม่น่าจะเป็นปัจจัยที่เป็นความเสี่ยงในการจัดการ เพราะเป็นการใช้เงินจากกระแสเงินสดของบริษัทเป็นส่วนใหญ่"นายเศรษฐวุฒิกล่าว
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า กระแสเงินสดจ่ายของบริษัทส่วนใหญ่มาจากการชำระคืนหุ้นกู้และตราสารหนี้ระยะยาวกว่า 44,000 ล้านบาทในขณะที่มีกระแสเงินรับจากธุรกรรมเดียวกันประมาณ 24,000 ล้านบาท
ทั้งนี้กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และวัสดุก่อสร้างเป็นกลุ่มที่มีธุรกรรมการออกหุ้นกู้และตราสารหนี้ระยะยาวสูงกว่า 23,000 ล้านบาทและเป็นกลุ่มที่ได้ชำระคืนหุ้นกู้ 27,000 ล้านบาท ในขณะที่ยอดเงินกู้สุทธิจากสถาบันการเงินมีเพียง 9,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าครึ่งเป็นการกู้โดยกลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารกว่า 4,000 ล้านบาท
ในส่วนของเรื่องการระดมทุนในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาพบว่ามีการระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ทั้งในตลาดแรกและตลาดรองที่ 17,400 ล้านบาทลดลงจากไตรมาสเดียวกันในปีที่ผ่านมาประมาณ 15% โดยแบ่งเป็นการระดมทุนในรูปแบบการจำหน่ายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก หรือ IPO ทั้งหมด 2,700 ล้านบาท และอีก 14,700 ล้านบาทเป็นการระดมทุนจากบริษัทจดทะเบียนเดิม โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง มียอดการระดมทุนมากที่สุดถึง 8,600 ล้านบาท หรือประมาณ 50% รองลงมาคือกลุ่มธุรกิจการเงินที่มีมูลค่าการระดมทุน 4,900 ล้านบาท หรือประมาณ 30%
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องประสิทธิภาพของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไม่รวมกลุ่มการเงินและ REHABCO ลดลงเล็กน้อยโดยอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE) และประสิทธิภาพการใช้ทุน (ROCE) อยู่ ณ ระดับ 19.4% และ 18.3% อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงด้านการเงินของบริษัทยังอยู่ในระดับต่ำ โดยมีอัตราส่วนหนี้ต่อทุน (debt to equity ratio) ที่ 1.2 เท่า และความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (interest coverage ratio ) ยังอยู่ในระดับที่ดีคือ 9.1 เท่า
“การที่บริษัทลดภาระหนี้สินมาโดยตลอดนั้น ทำให้ความเสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยไม่สูงนัก ตัวอย่างเช่น หากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 2% แล้ว ความสามารถในการชำระดอกเบี้ยของบริษัทก็จะอยู่ประมาณ 7.2 เท่า ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี” ผู้ช่วยผู้จัดการกล่าวเสริม
ในส่วนของภาวะการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงที่ผ่านมาซึ่งนักลงทุนต่างชาติมีการขายทำกำไรออกมาเป็นจำนวนมาก นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นผลการความกังวลเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อในประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้มีการเทขายเงินลงทุนที่เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยง ในขณะที่ตลาดสหรัฐกับไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าวมากนัก เห็นได้จากตัวเลขผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรที่ควรจะปรับตัวลดลง แต่ยังคงอยู่ในระดับเดิม ขณะที่ราคาทองคำที่ควรจะเพิ่มขึ้นจากการเข้ามาเก็งกำไรแต่ในช่วงที่ผ่านมากลับไม่ได้มีสัญญาณการเข้ามาเก็งกำไรจนทำให้ราคาปรับขึ้นอย่างผิดปกติ
|