|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
วิจัยกสิกรไทยย้ำเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังปี 49 ชะลอคาดโตแค่ 3.5-4.0% รับผลจากการใช้จ่ายทั้งภาครัฐ-เอกชนที่ลดลง พร้อมปรับประมาณเศรษฐกิจทั้งปี โต 4.0-4.5% จากเดิม 4.0-5.0% ขณะที่แนวโน้มปี 50 มีปัจจัยเสี่ยงด้านภาคการส่งออกที่ขยายตัวมากตามภาวะเศรษฐกิจโลก
รายงานข่าวจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ได้มีการปรับลดประมาณอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสำหรับปี 2549 ลงเป็น 4.0-4.5% จากเดิมที่ 4.0-5.0% โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 นี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 4.5-4.7% ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวประมาณ 5.3% ในไตรมาสแรก และประมาณ 3.7-4.0% ในไตรมาสที่สอง ทั้งนี้ อัตราการขยายตัว 5.3% ในไตรมาสแรกนั้น เป็นผลส่วนใหญ่มาจากการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำ ขณะที่แนวโน้มการขยายตัวในไตรมาสที่สอง ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.7-4.0% นั้น เป็นผลมาจากการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งล่าสุดตอกย้ำโดยตัวเลขเดือนเมษายนของธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)ที่บ่งชี้ถึงการชะลอตัวในวงกว้าง ทั้งในด้านการบริโภค การลงทุน การผลิต รวมทั้งการส่งออก
สำหรับแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงเป็น 3.5-4.0% จากที่ขยายตัว 4.5-4.7% ในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากการขาดปัจจัยหนุนในเรื่องของฐานที่ต่ำดังเช่นในไตรมาสแรก รวมทั้งจากปัจจัยลบต่างๆที่จะทยอยส่งผลต่อการใช้จ่ายทั้งของภาคเอกชนและภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี โดยแนวโน้มการชะลอของเศรษฐกิจไทยดังกล่าว จะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ของทั้งปี 2549 นี้ อยู่ที่ประมาณ 4.0-4.5% ลดลงจากอัตราการขยายตัว 4.5% ในปี 2548 และลดลงจากประมาณการเดิมของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 4.0-5.0%
ขณะเดียวกัน คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) มีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงเป็น 3.7-5.0%เมื่อเทียบกับที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.9%ในช่วงครึ่งแรกของปี ทั้งนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงครึ่งหลังของปี 2549 นั้น เป็นผลจากการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และในปี 2550 นั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับ 2.5-3.5% ปรับลดลงจากปี 2549 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 4.8-5.5%อันเป็นผลเนื่องมาจากราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง จากในปี 2549 ที่ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% แต่ในปี 2550 นั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาน้ำมันดีเซลในประเทศ อาจจะเพิ่มขึ้นประมาณ 4.0-7.0% ซึ่งเป็นอัตราการเพิ่มที่ต่ำมาก
ทั้งนี้ แนวโน้มเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงและราคาน้ำมันที่มีเสถียรภาพมากขึ้นในปี 2550 ดังกล่าว น่าจะเป็นผลดีต่อการใช้จ่ายของภาคเอกชน โดยเฉพาะในด้านการบริโภค หลังจากที่การใช้จ่ายดังกล่าวถูกกดดันจากปัจจัยลบต่าง ๆ ในปี 2549 แต่อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายของภาครัฐ ยังคงจะต้องรอการผ่านร่าง พรบ.งบประมาณปี 2550 ซึ่งยังคงต้องรอความชัดเจนในการเลือกตั้งก่อน ส่วนการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ในส่วนที่ต้องอาศัยเงินทุนนอกวงเงินงบประมาณนั้น คาดว่า คงจะยังต้องรอกระบวนการพิจารณาคัดเลือกนักลงทุนที่จะเข้าร่วมโครงการ ซึ่งกว่าจะมีการลงทุนที่เป็นรูปธรรมเกิดขึ้นได้ในส่วนนี้ ก็อาจจะเป็นในช่วงครึ่งหลังของปี 2550 ไปแล้ว
ด้านการส่งออกของไทยในปี 2550 นั้น คาดว่าจะขยายตัวประมาณ 9.0-12.0% ชะลอตัวลงจากปี 49 ที่อยู่ในระดับ 12.0-15.0% โดยเป็นผลจาก แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจหลักของโลก หลังจากที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯหรือเฟด เสร็จสิ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว รวมถึงการที่ราคาสินค้าส่งออก โดยเฉพาะในหมวดโภคภัณฑ์ทางการเกษตร มีแนวโน้มที่จะทรงตัวหรือเพิ่มในอัตราที่น้อยลงกว่าปี 2549 ที่ผ่านมา และ แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐฯและการแข็งค่าของเงินบาท ตามค่าเงินในภูมิภาค โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เงินบาทคงจะปิดระดับ ณ ปลายปี 2549 และ 2550 ที่ประมาณ 37.7 และ 37.0 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนั้น สืบเนื่องจากแนวโน้มการชะลอตัวของภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯในปี 2550 ทำให้คาดว่า เฟดคงจะดำเนินการปรับลดอัตราดอกเบี้ย fed funds เพื่อประคับประคองมิให้เกิดความเสี่ยงด้านภาวะเงินฝืด (Deflation) ในสหรัฐฯ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เฟดอาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 0.50-1.00% จากระดับ peak ที่ 5.25% ณ กลางปี 2549 ขณะที่การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้น คาดว่า แนวโน้มการปรับลดของอัตราเงินเฟ้อในปี 2550 น่าจะเปิดโอกาสให้ ธปท.มีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า ธปท.คงจะรอพิจารณาชั่งน้ำหนักปัจจัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ การเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ภาวะเงินเฟ้อและราคาน้ำมัน รวมไปถึงแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2550 ก่อนที่จะตัดสินใจดำเนินการนโยบายด้านดอกเบี้ยต่อไป
|
|
|
|
|