Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2538
ซิตี้แบงก์ = เก่งที่คนและระบบ             
 


   
search resources

ธนาคารซิตี้แบงก์
โรเบิร์ต วิลสัน
Banking and Finance




แม้นว่าในขวบปีที่ผ่านมา ซิตี้แบงก์จะมีอัตราการเติบโตอย่างเด่นชัดมากที่สุดแห่งหนึ่ง ในบรรดากิจการธนาคารต่างประเทศในไทย แต่ธนาคารแห่งนี้ก็ผ่านเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายภายในขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาวะสมองไหลอันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมตลาดเงินตลาดทุนภายในประเทศมีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เกิดสภาพการขาดแคลนพนักงานระดับบริหารกันเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ดี การมีโครงสร้างและระบบการบริหารที่เข้มแข็งกลับทำให้ธนาคารแห่งนี้เติบโตต่อไปได้ และคาดว่าจะขยายตัวได้ดีในภาวะการผ่อนคลายกฎระเบียบทางการเงิน

ธนาคารสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งฝึกปรือสำคัญในวิทยายุทธ์ด้านการเงินการธนาคาร แน่นอนว่า เป็นเพราะความเป็นสาขาของธนาคารชั้นนำของสหรัฐฯ และของโลกซึ่งเป็นสุดยอดทั้งในด้านวิทยาการการจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ ในโลกของธุรกิจการเงิน ที่นี่เป็นหน่วยงานที่มีการจัดโครงสร้างองค์กรดี และให้ผลตอบแทนต่อพนักงานในระดับแนวหน้า ผลการดำเนินงานก็ดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปีที่ผ่านมาธนาคารมีรายได้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ และมีส่วนของทุนมากกว่า 23 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นจำนวนสูงที่สุดในบรรดาธนาคารชั้นนำในสหรัฐ

สำหรับในไทยนั้นคนจำนวนมากคุ้นเคยกับซิตี้แบงก์ เครดิตการ์ด ซึ่งเป็นบัตรเครดิตที่มีอัตราการเติบโตมากที่สุดในบรรดาบัตรพลาสติกที่มีใช้กันในเมืองไทยก็ว่าได้ แม้ว่าการขยายสินเชื่อรายย่อยเช่นนี้ยังมีข้อกังขาอยู่มากว่า มีการป้องกันความเสี่ยงอย่างไร แต่คนในวงการธนาคารต้องให้การยอมรับว่าอัตราการขยายตัวของสินเชื่อประเภทนี้ของซิตี้แบงก์เป็นตัวเลขที่น่าทึ่งอย่างมากๆ และการที่ธนาคารซิตี้แบงก์มีสาขาเพียงแห่งเดียวในไทย แต่สามารถขยายการให้บริการสินเชื่อได้มากขนาดนี้ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่น่าทึ่งมากขึ้นได้อีก

ว่ากันว่าอัตราการถือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าการ์ดนั้นมีผู้ถือมากกว่าบัตรเครดิตของหลายๆ ธนาคารรวมกันเสียอีก ทั้งที่มีสาขาเดียว

อัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยอยู่ที่ประมาณปีละ 20% แต่สำหรับซิตี้แบงก์นั้น โรเบิร์ต วิลสัน ผู้จัดการระดับภาคพื้นเปิดเผยกับ "ผู้จัดการ" ว่าธนาคารฯมีอัตราการเติบโตถึง 40% ในประเทศไทย

โครงสร้างซิตี้แบงก์

ในการดำเนินงานธนาคารสาขาแต่ละแห่ง ซิตี้แบงก์จะมีการจัดโครงสร้างการทำธุรกิจออกเป็น 4 หน่วยงาน แต่ละหน่วยงานจะเป็นเสมือนธนาคารเล็กๆ แยกเป็นอิสระจากกัน หน่วยงานแต่ละแห่งจะส่งรายงานตรงถึงเจ้านายของตนที่ต่างประเทศสาขาที่กรุงเทพจะรายงานไปที่สำนังงานภูมิภาค ที่สิงคโปร์

4 แบงก์ย่อยในที่นี้จะแบ่งเป็น

CIB หรือ CITICORP INVESTMENT BANK เน้นเรื่องการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ แต่ก็มีส่วนที่ทำคอร์ปอเรท แบงก์อยู่ด้วย

IB หรือ INSTITUTIONAL BANK ทำเรื่องการปล่อยสินเชื่อ

GCB หรือ GLOBAL CONSUMER BANK มีส่วนงานที่เป็นเครดิตการ์ดรวมอยู่ด้วยทำด้านรีเทลแบงก์

PBG หรือ PRIVATE BANKING GROUP ทำเรื่องธนบดีธนกิจ หรือ บริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคล

ใน 4 หน่วยงานนี้จะมีหัวหน้าแต่ละคนดูแล ซีไอบี เมื่อก่อนไกรฤทธิ์ อุชุกานนท์ชัยเคยดูแลอยู่ก่อนที่จะลาออกพร้อมกับมีผู้ลาออกตามไปประมาณ 20 คนไปอยู่ที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เอกธนา ในเครือเอกธนกิจ สายไอบี มีโรเบิร์ต วิลสัน ดูแล ส่วนจีซีบี คือ เดวิด แอล เฮนดริกซ์ และพีบีจีนั้นมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก ผู้ดูแลปัจจุบันคือ วาย.เอ็ม.คิม

หัวหน้าแต่ละคนจะอยู่ในระดับเท่ากัน ไม่มีใครมีทำนาจเหนือใคร นายของแต่ละคนจะอยู่ในต่างประเทศ มีความขัดแย้งอะไรก็ให้นายแต่ละคนคุยกันในต่างประเทศ ไม่มีใครครอบงำใครได้

นั่นหมายความว่ามีนายที่ต่างประเทศเป็น 4 คนในแต่ละที่คือจากกรุงเทพไปสิงคโปร์และนิวยอร์คซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่

อย่างไรก็ดี ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงในระดับสากล คือซิตี้แบงก์ได้รวมหน่วยงานซีไอบีกับไอบีเข้าด้วยกัน เรียกชื่อใหม่เฉพาะในเอเชียว่า GFA หรือ GLOBAL FINANCE ASIA หรือในระดับสากลเรียกว่า GLOBAL FINANCE

ส่วนจีซีบีและพีบีจียังอยู่เหมือนเดิม

การรวมกันเป็นจีเอฟเอนั้นมีผลในแง่ของบุคลากรด้วย ซึ่งแต่เดิมเป็นอิสระจากกัน เมื่อหน่วยงานมารวมกันก็ต้องมีคนหนึ่งป็นนาย อีกคนหนึ่งเป็ฯลูกน้อง ซึ่งในกรณีนี้ปรากฎว่าหัวหน้าของไอบี มีบทบาทขึ้นมาเป็นหัวหน้าจีเอฟเอ

หลังจากการรวมกันได้ไม่นาน ไกรฤทธิ์ก็ลาออกและพนักงานบริหารระดับรองกรรมการผู้จัดการ (VP) และผู้ช่วย (AVP) ในส่วนซีไอบี ก็ลาออกตามไปด้วยตำแหน่งสุดท้ายของไกรฤทธิ์ก่อนไป คือ TREASURER ของจีเอฟเอ ซึ่งตำแหน่งนี้ถือเป็น COUNTRY TREASURER ด้วยนัยหนึ่งคือ TREASURER ในแต่ละแบงก์ย่อยต้องรายงานเขาด้วย นอกจากนี้เขายังเป็นประธานกรรมการของบงล.ซิตี้คอร์ป (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ในเครืออีกด้วย

ดูเหมือนว่าหลังจากไกรฤทธิ์ลาออกแล้วนั้นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงเพิ่งจะเริ่มต้น

โรเบิร์ต วิลสันซึ่งขึ้นมาเป็นหัวหน้าของจีเอฟเอได้แต่งตั้งคนขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งต่างๆ ที่ไกรฤทธิ์เคยครองอยู่ โยธิน เจนวาณิชเป็น TREASURER ของจีเอฟเอ ซึ่งโยธินก็ได้ชักชวนปัญญา จรรยารุ่งโรจน์เข้ามาร่วมงานด้วยในตำแหน่งรองผู้อำนวยการ รับผิดชอบ TREASURER MARKETING & INTERBANK TRADING

ปัญญาเคยลาออกจากซิตี้แบงก์ไปครั้งหนึ่งเพื่อร่วมงานกับธนาคาร SECPAC หรือ SECURITY PACIFIC ASIAN BANK แล้วได้กลับมาเป็น TMU HEAD หรือ TREASURY MARKETING UNIT ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญค่อนข้างมาก เพราะว่าเป็นหน่วยงานที่ทำเงินให้สาขา

อัครัตน์ ณ ระนอง เป็น GCB TREASURER และเป็น COUNTRY TREASURY ด้วยซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่ผู้ดำรงตำแหน่งนี้มาจากฝ่ายจีซีบีเพราะที่ผ่านมา บทบาทด้าน TREASURY ของจีซีบีจะน้อยมาก ส่วนประธานกรรมการของซิตี้คอร์ปไฟแนนซ์ซึ่งตามตำแหน่งเรียกว่า DOMESTIC CORPORATE FINANCE HEAD คือ ประไพสิทธิ์ ตัณฑ์เกยูร ซึ่งโรเบิร์ต วิลสันเป็นผู้แนะนำมา

มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าการเปลี่ยนแปลงองค์กรเช่นนี้ทำให้บทบาทของธุรกิจการบริหารเงินหรือ TREASURY ลดน้อยด้อยลงไป ทั้งๆ ที่ซีไอบีทั่วโลกนั้นเคยทำเงินได้มหาศาล อย่างไรก็ดี ในแง่ของคอร์ปอเรททั่วโลกแล้วดูเหมือนการเปลี่ยนแปลงในช่วง 3 ปี หลังช่วยให้ซิตี้แบงก์ประสบความสำเร็จมากกว่าในแง่ของ CONSUMER BANKING ซึ่งได้แก่บริการสาขา เครดิตการ์ด ไพรเวทแบงก์นั้นธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ดีมาก โดยเฉพาะมีรายได้จากบริการด้านนี้ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคที่เติบโตขึ้นจาก 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2535 เพิ่มเป็น 1.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2536

ในส่วนของงานบริการสาขาซิตี้แบงก์ให้บริการด้านสาขาเต็มรูปแบบ การฝากถอนในบัญชีทุกประเภทการกู้ยืมจำนอง ประกันภัย บริการลงทุน ซึ่งบริการสาขาเหล่านี้มีชื่อเรียกว่า ซิตี้แบงกิ้ง

ทางด้านบัตรเครดิต ซิตี้แบงก์อ้างว่าตนเป็นผู้ออกบัตรเครดิต และให้บริการด้านนี้รายใหญ่ที่สุดในโลก มีผู้ถือบัตรทั่วโลก 52 ล้านใบใน 29 ประเทศ แบ่งเป็นบัตรเครดิต 29 ล้านใบในสหรัฐและ 8 ล้านใบนอกสหรัฐ ผู้ถือบัตรไดเนอร์สคลับ 6 ล้านใบและอีก 9 ล้านใบเป็นบัตรบุคคล (PRIVATE LABEL CARD) ซิตี้แบงก์เปิดเผยว่า การเกิดหนี้เสียในกิจการบัตรเครดิตในสหรัฐ มีอัตราลดลงมาก เพราะมีโปรแกรมป้องกัน โดยเฉพาะโปรแกรมโฟโต้การ์ดหรือบัตรเครดิตที่ติดรูปตัวผู้ถือบัตรนั้น ช่วยลดภาระเรื่องนี้ลงได้ครึ่งหนึ่งทีเดียว ซิตี้แบงค์ขยายกิจการบัตรเครดิตออกไปได้ 11 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิคในระยะ 5 ปีที่ผ่านมาสามารถครองส่วนแบ่งตลาด 30% ใน 4 ประเทศ มีจำนวนผู้ถือบัตรมากที่สุดประมาณ 2.5 ล้านรายในภูมภาคนี้ยกเว้นญี่ปุ่น

สำหรับในไทยนั้น นอกจากจะมีผู้ถือบัตรเครดิตซิตี้แบงก์มากกว่าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ว่ากันว่าตัวเลขผู้ถือมีจำนวนประมาณ 200,000 ราย ธุรกิจไพรเวท แบงกิ้งหรือธนบดีธนกิจไปได้ดีมาก มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 50% ธุรกิจนี้มีบริการที่สลับซับซ้อนจำนวนมากให้ลูกค้าเลือกใช้ กิจการนี้ไปได้ดีในเมืองไทยด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี อดีตคนซิตี้ฯ ให้ความเห็นว่า "ไพรเวทแบงก์ในต่างประเทศทำได้มากมาย เพราะอาศัยความรู้ทางด้านเทคนิค แต่ที่นี่ความรู้ด้านเทคนิคจะธรรมดา ไม่เด่นชัด จึงยังน่าสงสัยว่าจะมีอะไรไปให้ลูกค้าเล่นได้มากๆ บ้าง"

ส่วนกิจการ FINANCE BANKING ซึ่งได้แก่การทำเทรดไฟแนนซ์การปล่อยกู้ ทรานแซคชั่นเซอร์วิส และบริการในตลาดทุนรวมทั้งคอร์ปอเรท ไฟแนนซ์ต่างๆ นั้น ปรากฎว่ามีอัตราการเติบโตที่ดีในทุกด้าน ยกเว้นการปล่อยกู้ที่ลดลงเล็กน้อย

ทั้งนี้รายรับจากกิจการนี้ในเอเซียเพิ่มขึ้น 7% เมื่อปี 2536 และธนาคารได้รับการจัดอันดับเป็นธนาคารพาณิชย์แห่งปี และอินเวสต์เมนท์แบงก์แห่งปีจากนิตยสารเอเชียมันนี่ด้วย

สำหรับในไทยนั้น อัตราการเติบโตของซิตี้แบงก์ในช่วงที่ผ่านมาถือว่าเป็นแบบก้าวกระโดดด้วยซ้ำไป ตอนนี้ซิตี้แบงก์ที่กรุงเทพถือว่ามีสาขาเดียว แต่ธุรกิจประเภทที่เป็นสินเชื่อรายย่อย ที่เป็นเมอร์เกจไฟแนนซ์หรือสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และเครดิตการ์ดนั้นใหญ่กว่าแบงก์หลายสิบแบงก์ในกรุงเทพทั้งแบงก์ไทยแบงก์เทศ อันนี้ถือเป็นตัวสะท้อนความสามารถของบุคคลและแผนงานได้เป็นอย่างดี

ในปี 2536 ซิตี้แบงก์ในไทยมีอัตราการเติบโตของรายได้มากกว่าปีก่อนหน้านั้นถึง 40% ซึ่งคาดหมายได้ว่าปี 2537 อัตราการเติบโตมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น

อดีตคนซิตี้ฯ เล่าว่าเมื่อถึงครบกำหนดชำระสินเชื่อรายย่อยประเภทต่างๆ การจราจรบนถนนสาธรหน้าธนาคารในวันนั้นแทบจะเป็นอัมพาตทีเดียว เพราะคนต้องเดินทางมาชำระเงินที่นี่เนื่องจากมีสาขาเดียว

การเปิดสำนักงานสาขาแห่งใหม่ฝั่งตรงข้ามจะช่วยลดภาระในเรื่องนี้ไปได้มาก ออฟฟิศใหม่จะเป็นสำนักงานฯ ขนาดใหญ่เต็มรูปแบบมีพื้นที่กว้างขวางมากขึ้น กอรปกับสอดคล้องระเบียบแบงก์ชาติที่ต้องการให้แยกการดำเนินกิจการธนาคารกับไฟแนนซ์ออกจากกัน และพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยให้ธนาคาร ขยายงานเจาะตลาดลูกค้ารายย่อย ทำอิเล็คทรอนิคแบงก์ได้สะดวกขึ้น

ในเรื่องนี้วิลสันเปิดเผยว่า "สาขานี้จะเป็นเสมือนสาขาจำลองซึ่งจะให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบถ้วน โดยนำรูปแบบมาจากสาขาที่นิวยอร์ค"

วัฒนธรรมองกรดีเพราะระบบดี

หน่วยงานทุกแห่งจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกันออกไป สำหรับซิตี้แบงก์นั้น แม้จะมีผู้ฝึกปรือวิทยายุทธืหันหลังให้ที่นี่เป็นจำนวนมาก แต่คนเหล่านั้นโดยส่วนมากต่างยอมรับว่าที่นี่เป็นที่ทำงานที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

"ผมกล้าพูดกับทุกคนตลอดเวลา แม้ว่าผมจะออกมาแล้วว่า ซิตี้แบงก์เป็นสถานที่ทำงานที่ดีมาก ผมทำงานที่นี่แล้วมีความสุขกับระบบของมัน ระบบมีการตระเตรียมไว้อย่างดีอยู่แล้ว ทุกคนรู้หน้าที่ของตัวเองว่าทำอะไร เพื่ออะไร คุณทำงานดีคุณได้เงินดี แม้ว่าจะไม่ดีที่สุดในตลาด แต่ก็ไม่ได้เลวร้ายอะไร ทุกอย่างจะถูกควบคุมด้วยระบบของมันเอง ในแง่ของความเสี่ยงด้านราคา ความเสี่ยงทางด้านสินเชื่อ หรือการบริหารงานด้านบุคคลก็ตามจะมีระบบควบคุมอยู่หมด เป็นที่ที่มีการจัดตั้งระบบที่ดีมาก ผมไม่เคยทำงานในที่ที่มีระบบที่ดีอย่างนี้มาก่อน ทุกคนจะสนใจเรื่องเดียวคือเรื่องงาน ทำให้ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทุกดีลที่ทำไปรู้ว่ากำไรกี่บาทกี่ดอลล์ ทำให้เรารู้เป้าหมายเพื่อที่จะทำให้บรรลุให้ได้" แหล่งข่าวอดีตชาวซิตี้แบงก์กล่าว

นั่นหมายความว่าซิตี้แบงก์เป็นสถานที่ฝึกอบรมชั้นเยี่ยมสำหรับบุคลากรในวงการธนาคารที่นี่สอนให้คนทำงานหนัก คนจบซิตี้แบงก์หรือผ่านงานที่นี่มาจะไม่กลัวเรื่องงานหนัก ถ้าจะกลัวก็คืองานไม่หนักพอ

"การเรียนรู้อบรมคอร์สต่างๆ ถือว่าเป็นสุดยอดในวงการ ทุกวันนี้แม้คุณภาพจะด้อยลงไปบ้างแต่ก็ยังดีกว่าที่อื่น" แหล่งข่าวให้ความเห็น

ศูนย์ฝึกอบรมของซิตี้แบงก์อยู่ที่สิงคโปร์ พนักงานระดับเจ้าหน้าที่หรือ OFFICER จะผ่านการฝึกอบรมที่นี่อย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งจะเป็นการฝึกอบรมอย่างหนัก "พื้นฐานคือไปเรียนหนังสือแบบเปลี่ยนสถานที่เท่านั้น"

ระยะหลังเริ่มมีแนวความคิดส่งคนไปฝึกอบรมระหว่างการปฏิบัติงานหรือ ON THE JOB TRAINING ที่ลอนดอนและฮ่องกงเรียกว่า FOREIGN ASSIGNMENT SHORT TERM ระยะเวลาประมาณ 1 ปี ซึ่งผู้ที่จะไปอบรมจะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับ M หรือ MANAGER และ AVP

ส่วนศูนย์ฝึกอบรมที่สิงคโปร์นั้นเป็นสถานที่เรียนหนังสือของพนักงานระดับจูเนียร์ผู้รู้ให้ความเห็นว่า "การส่งคนไปอบรมระหว่างปฏิบัติงานถือเป็นโครงการที่ดีมากสำหรับพัฒนาคนของระดับสาขา เพื่อเปิดโลกให้กว้างขึ้น

ใครเป็นใครในซิตี้แบงก์ กรุงเทพ หากเปิดหนังสือรายงานประจำปีของซิตี้แบงก์ ชื่อของ COUNTRY CORPORATE OFFICER คือ เดวิด แอล.เฮนดริกซ์ หรือ เดฟ ดูแลงาน GLOBAL CONSUMER BANK ซึ่งในวงกว้างนั้นคนจะรู้จักเขามาก เพราะอยู่ที่กรุงเทพนานแล้ว และคาดว่าจะได้รับการต่ออายุไปอีกเนื่องจากผลงานดี

เฮนดริกซ์จะเป็นผู้ดูแลเรื่องบัตรเครดิต ซึ่งเมื่อก่อนนั้นซิตี้แบงก์มีบัตรเครดิตใบเดียวคือ ไดเนอร์สการ์ด แต่เดี่ยวนี้ขยายออกไปเยอะมาก ทั้งวีซ่า มาสเตอร์และบัตรเครดิตซิตี้แบงก์ธรรมดาและบัตรทอง จึงกล่าวได้ว่าผลงานเรื่องบัตรเครดิตประสบความสำเร็จในแง่ที่มีจำนวนผู้ถือมาก

คนวงในซิตี้แบงก์ให้ความเห็นเกี่ยวกับสไตล์การทำงานของเดฟว่า "เขาเป็นนายที่ดี เมื่อแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ใครทำงานแล้ว ไม่มีการล้วงลูก ไม่เคยไปบอกให้ทำอย่างโน้นอย่างนี้ นอกจากลูกน้องขอความเห็นแต่จะไปเข้างวดเรื่องผลงานเป้าหมายมากกว่าวิธิการทำงาน"

ส่วนโรเบิร์ต วิลสันหรือ โบว์ (BEAU) ซึ่งเป็น REGIONAL MANAGER ดูแล GLOBAL FINANCE ASIA นั้นจะมีสไตล์การทำงานต่างออกไป คนวงในกล่าวว่า "โบว์จะชอบล้วงลูก หมายความว่าให้นโยบายแล้วก็เข้ามาดู ทำอย่างโน้นนี้สนใจในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เป็นคนที่ละเอียดถี่ถ้วนมาก"

สองคนนี้จะมีวิธีการทำงานที่แตกต่างกัน คนทั้งสองถือว่าเป็นคนที่สูงที่สุดในไทย เพราะตำแหน่งในไทยของซิตี้แบงก์นั้น ใหญ่ที่สุดก็คือ VP หรือ VICE PRESIDENT ส่วน PRESIDENT มีคนเดียวอยู่ที่อเมริกาเพราะคอร์ปอเรททั่วโลกแล้วต้องมี PRESIDENT คนเดียวนอกจากนั้นก็เป็น VP หรือ SVP อะไรก็แล้วแต่ ที่เมืองไทยเป็น VP

ตามตำแหน่งงานนั้นเฮนดริกซ์จะเป็น CCO หรือ CHIEF CORPORATE OFFICER ส่วนวิลสันเป็น GFA HEAD "ในทาง CORPORAT TITLE หากนับทุกอย่างแล้วเป็น VP เท่ากัน แต่ว่าความรับผิดชอบของเฮนดริกซ์มากกว่า เพราะถือว่าเป็ฯหน้าเป็นตาของแบงก์" แหล่งข่าวอธิบาย

เขาเปิดเผยเรื่องราวที่สะท้อนวิสัยทัศน์ของวิลสันบางอย่างว่า "ซิตี้แบงก์เกือบไม่ได้อนุญาตทำกิจการวิเทศธนกิจหรือบีไอบีเอฟ เพราะจะไม่ขอเนื่องจากวิลสันเห็นว่าไม่มีความจำเป็น ซิตี้แบงก์มีสาขาที่สิงคโปร์อยู่แล้ว สามารถปล่อยสินเชื่อในสกุลเงินดอลลาร์โดยบันทึกบัญชีที่สิงคโปร์ได้"

อย่างไรก็ดี ใบอนุญาตนี้ก็ขอมา แม้ว่าจะไม่ได้แอคทีฟมากก็ตาม เพราะทำในแง่การย้ายมาบันทึกบัญชีที่กรุงเทพเท่านั้น อดีตซิตี้แบงเกอร์ให้ความเห็นว่า การขอหรือไม่ขอใบอนุญาตเช่นนี้มีความสำคัญตรงที่ว่า "ในระยะยาวนั้นบีไอบีเอฟ ไม่ใช่การทำแค่ปล่อยสินเชื่อเป็นเงินต่างประเทศ แต่ถ้าทำปล่อยสินเชื่อเป็นเงินบาทได้ด้วย ก็สามารถมีฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นอีก ซึ่งผู้บริหารต้องมีสายตายาวไกลหรือมีสัยทัศน์กว้างขวางพอควร"

ส่วนโยธินซึ่งเป็น TREASURER ของจีเอฟเอนั้น อดีตซิตี้แบงเกอร์คนหนึ่งให้ความเห็นค่อนข้างแรงว่า "เขาบริหารคนไม่เป็นมักมีลักษณะหลอกใช้ด้วยคำพูดหวานหู แต่เมื่อถึงคราวที่จะให้รางวัลนั้น ไม่ได้เป็นไปตามที่ลูกน้องคาดหมาย คล้ายๆ ทำให้ลูกน้องเกิดความคาดหวัง แต่ไม่ได้เป็นไปตามนั้น ทำให้เกิดความรู้สึกว่าถูกหลอกใช้ และคนออกเพราะเหตุนี้หลายคน"

ทางด้านปัญญาที่เข้ามาเป็น TMU HEAD ที่ถูกลูกน้องพูดถึงในทำนองที่ว่ามีลักษณะการทำงานที่ไม่โปร่งใสและเป็นคนที่ไม่สามารถถ่ายทอดให้คนรู้ได้ว่าต้องการอะไร "เหมือนกับพูดแล้วฟังไม่รู้เรื่องใช้วิธีปกครองแบบแบ่งแยกกันมาก หากไม่ชอบใจใครก็จะไม่ชอบ ไม่มีการพิจารณาอย่างยุติธรรมว่าเขาทำงานเป็นอย่างไร แต่จะดูว่านี่เป็นคนของใคร" แหล่งข่าวที่เคยเผชิญกับลักษณะการปกครองดังกล่าวให้ความเห็น

นอกจากนี้ภายหลังจากที่ปัญญาเข้ามาระยะหนึ่ง และมีพนักงานซิตี้แบงก์ลากออกไปด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ไม่ชอบหัวหน้างานคนใหม่ ไม่ชอบองค์กรใหม่ ออกตามเจ้านายเก่า ซึ่งประมาณได้ว่าออกไปเป็นจำนวนราว 10 กว่าคน มีตั้งแต่ระดับ VP AVP MANAGER จนกระทั่งเสมียน

คนที่ออกไปนั้นปรากฎว่าไปอยู่ที่บงล.เอกธนาเยอะมากไปบงล.เอ็มซีซีก็มีธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ธนาคารมหานคร เป็นต้น

ก็มีคนที่เข้ามาทำหน้าที่แทนเช่นกัน มีทั้งที่มาจากเอกโฮลดิ้ง และส่วนมากมาจากธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ โดยเฉพาะผู้ที่เข้ามาร่วมงานกับ TMU

หน่วย TMU ในสมัยหลังได้รวมเอา INTERBANK เข้ามาด้วยทำให้มีเจ้าหน้าที่ประมาณ 14-15 คน ซึ่งปรากฎว่าในจำนวนนี้เหลือคนรุ่นเก่าสมัยที่ไกรฤทธิ์เคยดูแลอยู่แค่ 2 คนเท่านั้น คนทั้ง 2 อาจถูกตั้งคำถามร่วมสมัยว่าเป็นพวกวาย หรือ WHY STILL A CITIBANKER จากบรรดาพวกเอ็กซ์ทั้งหลาย หรือ EX-CITIBANKER ซึ่งมีจำนวนมากกว่า

อดีตคนซิตี้แบงก์เล่าว่า "ทำไมคนที่เข้ามาทำงานแทนที่ในหน่วยนี้ส่วนมากจึงมาจากสแตนชาร์ดฯ ซึ่งภรรยาคุณปัญญาเคยทำงานในห้องค้าเงินที่นั่น"

ผู้รู้ให้ข้อคิดเห็นว่า "เรื่องนี้อาจจะไม่แปลกอะไร คุณปัญญาเข้ามาในช่วงที่คนออกมาก ออกแทบหมดทั้งทีม ก็ต้องหาคนมาเติมให้เต็ม และต้องได้คนประเภทที่มีประสบการณ์ สามรถมานั่งทำงานได้ทันที ซึ่งนี่เป็นเหตุผลทำนองเดียวกับที่คนซิตี้แบงก์ออกไปจำนวนมากไปรวมกันอยู่ที่เอกธนาซึ่งไกรฤทธิ์ไปเป็นกรรมการผู้จัดการ และที่นั่นอยู่ในช่วงต้องการคนที่มีประสบการณ์มาสร้างผลงานเช่นกัน"

ลาออกเป็นเรื่องธรรมดา คนทดแทนมีตลอด

มีผู้กล่าวว่าธนาคารซิตี้แบงก์มีลักษณะการบริหารและการทำธุรกิจแบบไดนามิคมาก กล่าวคือจะมีการเปลี่ยนชื่อกลุ่ม ชื่อหน่วยงาน การจัดกลุ่มใหม่บ่อย มากกระทั่งการลาออกของพนักงานก็เป็นเรื่องธรรมดา ถึงกับมีการกล่าวว่าหลังกลับจากลาพักร้อนอาจไม่ได้พบหน้าเพื่อนร่วมงานคนเก่าเพราะลาออกไปแล้ว

การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดเสมอเมื่อมีการเปลี่ยนนายคนใหม่ ในส่วนการลาออกของพนักงานนั้นแม้ว่ากลางปี 2536 จะมีระลอกใหญ่ แต่ว่าไปแล้วการเข้าออกของพนักงานเป็นเรื่องปกติ มีการทำการศึกษาเหมือนกันว่าทำไมคนซิตี้แบงก์ลาออก เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลระดับภูมิภาคเคยเดินทางมาสอบถามพนักงานระดับกลางเช่นกันว่าทำไมลาออก หลังจากนั้นก็พยายามมีการปรับปรุงบ้าง แต่การเติบโตอย่างมากของตลาดการเงินไทยในตอนนี้อาจไม่ช่วยให้โครงการปรับปรุงต่างๆ ในยามนี้ประสบผลสำเร็จ

อดีตคนซิตี้ฯ ยอมรับว่านอกเหนือไปจากเรื่องการลาออกตามนายแล้ว การขยายตัวของตลาดการเงินเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการไปจากซิตี้แบงก์ ทั้งนี้ธุรกิจไฟแนนซ์ปัจจุบันไม่ได้มีอัตราผลตอบแทนต่างๆ ที่ด้วยไปกว่าธนาคารต่างชาติเลย บางแห่งดีกว่าด้วยซ้ำ

อย่างไรก็ดี โดยปรัชญาแล้วซิตี้แบงก์ไม่สนใจผลเสียของการลาออก อย่างเรื่องการฝึกอบรมนั้นธนาคารถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ้างพนักงานมีบางคนไปเข้า ASSIGNMENT COURSE 1 ปีกลับมาลาออกก็มี ซึ่งธนาคารก็ไม่มีข้อผูกพันอะไร

อดีตเจ้าหน้าที่ซิตี้ฯ ให้ความเห็นว่า "สิ่งที่น่าตกใจนิดหน่อยก็คือเมื่อก่อนนี้คนที่ลาออกไปจะเป็นระดับ MA และ VP แต่ระยะหลังธนาคารเริ่มเสียคนระดับกลางมากขึ้น อาจมีปัญหาจัดหาคนเข้ามาทดแทนไม่ทัน และการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่บ่อยทำให้เกิดปัญหาความสัมพันธ์สืบเนื่องกับลูกค้าชะงักไปได้"

กระนั้นเจ้าหน้าที่คนนี้ก็ยังยืนยันเป็นมั่นเหมาะว่าระบบยังอยู่ได้ "ซิตี้แบงก์มีระบบที่ดีมาก ต้องการทำอะไรมีให้พร้อม ธนาคารดำเนินงานไปได้ด้วยระบบการทำงานและการควบคุมที่ดี ความเสี่ยงในระดับต่างๆ นั้น คนซิตี้แบงก์คิดได้ละเอียดถึ่ถ้วนมาก"

เมื่อเร็วๆ นี้ซิตี้แบงก์จัดงานมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่อยู่ร่วมงานกับแบงก์เป็นเวลา 10 ปีขึ้นไปในสาขาซึ่งปรากฎว่ามีตัวเลขผู้รับรางวัลน้อยมาก

กระทั่งมีผู้ตั้งคำถามว่าจะมี MA หรือ MANAGEMENT ASSISTANT หลุดมาเป็น VP สักกี่คนกันโยธินซึ่งคาดว่าอายุไม่เกิน 40 ก็นับว่าเป็นซีเนียร์มากแล้ว ขณะที่ไกรฤทธิ์ซึ่งออกมาแล้ว ยังมีความอาวุโสมากกว่าด้วยวัย 41

มองในด้านหนึ่งก็อาจเป็นจุดดีที่แบงก์มีแต่เจ้าหน้าที่วัยกลางคนที่ยังมีพลังในการทำงานอยู่มาก ส่วนหนึ่งมาจากระบบส่งเสริมแต่ในอีกแง่แบงก์อาจจะขาดแคลนผู้บริหารระดับกลางที่จะพัฒนาขึ้นมาเป็นระดับสูงต่อไปในอนาคต

ในส่วนที่เป็น GFA ซึ่งวิลสันรับผิดชอบนั้นปรากฏว่าระยะหลังเมื่อมีคนใหม่ๆ เข้ามาแทนที่คนเก่าที่ลาออกไป ส่วนมากคนที่เข้ามาใหม่จะเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งว่ากันว่ามีจำนวนที่เพิ่มขึ้นสูงมากทีเดียวทั้งแขกและฝรั่ง

ผู้รู้ให้ความเห็นว่า "คนต่างชาติเหล่านี้ไม่ได้เก่งกว่าคนไทยเลย บางคนอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม เช่นมาดูเรื่อง ASSET BASED FINANCE ซึ่งต้องคุยกับดีลเลอร์รถ หัวหน้าเป็นคนสิงคโปร์ไม่ใช่คนไทย คนพวกนี้รู้จักตลาดเมืองไทยดีกว่าคนไทยได้อย่างไร หากมาดูเรื่องคอร์ปอเรทเลนดิ้ง ในบริษัทข้ามชาติก็ไม่เป็นไร เพราะมันเป็นภาษาเดียวกันทั่วโลก"

นอกจากนี้ลักษณะการจ้างงานเจ้าหน้าที่ต่างชาติก็ต่างไปจากจ้างคนไทยมาก อัตราการจ้างเป็นคนละอัตรา มีการอำนวยความสะดวกต่างๆ ในราคาที่ค่อนข้างสูง ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัยและรถประจำตำแหน่ง

ขณะที่ในส่วนที่เป็นGCB นั้นใช้คนไทยทั้งนั้น ยกเว้นเฮนดริกซ์ที่เป็นฝรั่ง เจ้าหน้าที่ส่วนงานนี้จะมากกว่าเพราะลักษณะงานเป็นงานที่เน้นการใช้แรงงาน

วิลสัยเปิดเผยว่า "ซิตี้แบงก์มีกระบวนการสรรหาคน ปัจจุบันธนาคารมีผู้บริหารฝึกหัดมากกว่า 15 คนทุกปี ซึ่งมาจากนักศึกษาไทยที่จบจากสถาบันการศึกษาในประเทศและศึกษาต่อระดับปริญญาโททั้งในหรือต่างประเทศ ธนาคารมีโปรแกรมการฝึกอบรมและการเลื่อนขั้นตามระบบ"

ธนาคารฯ นับว่าให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมมาก วิลสันกล่าวว่า "คนที่ทำงานกับเราจะรู้สึกว่าเป็นการศึกษาต่อเนื่องอยู่ตลอด ทั้งในเรื่องสินค้าและการบริหาร รวมถึงกฏของทางการ ดังนั้นคนที่ทำงาน ที่นี่จึงเป็นคนที่มีความรู้กว้างขวาง"

เขายืนยันด้วยว่าการสูญเสียคนทำงานไปนั้นไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้ว

แน่นอนว่าในภาวะที่อุตสาหกรรมการเงินไทยเติบโตเต็มที่ควบคู่ไปกับอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าพึงพอใจ การขาดแคบนบุคลากรระดับบริหารและระดับกลางจะเป็นปัญหาสำคัญที่องค์กรทุกแห่งต้องประสบใครมีระบบการจัดการที่ดี มีวัฒนธรรมองค์กรดี สามารถรักษาคนไว้ได้ ก็จะได้เปรียบในตลาดอยู่ต่อไป

สำหรับซิตี้แบงก์แล้ว แม้จะสูญเสียบุคลากรที่มีฝีมือ และได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีตามแบบอย่างของชาวซิตี้แบงก์แต่ธนาคารสัญชาติอเมริกันแห่งนี้ก็ไม่หวั่น เพราะมีการเตรียมบุคลากรใหม่ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศไว้รองรับอย่างเพียงพอ

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us