Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ มกราคม 2538








 
นิตยสารผู้จัดการ มกราคม 2538
ไทยเน็ต - ไทยสาร เส้นขนานสายอินเตอร์เน็ต             
 

   
related stories

อินเทอร์เน็ตชุมชนยุคคลื่นลูกที่สาม

   
search resources

Networking and Internet




อินเตอร์เน็ตเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระดับโลกเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการนำบริการอินเทอร์เน็ตไปใช้หาประโยชน์ในทางธุรกิจ ภายใต้เครือข่ายการสื่อสารที่กว้างขวาง และทันสมัยที่สุดนี้ คือความขัดแย้งระหว่าง 2 องค์กรที่มีบทบาทในการพัฒนาและเผยแพร่อินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

ณ เดือนกันยายน 2537 ในประเทศไทยมีเครือข่ายย่อยที่เชื่อมต่อกับ "อินเทอร์เน็ต" เครือข่ายคอมพิวเตอร์โลกรวมทั้งสิ้น 35 เครือข่าย ทั้งหมดเป็นสถาบันการศึกษา ส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ ส่วนของภาคเอกชนอย่างเช่น บริษัทฮิวเล็ต แพคการ์ด ดิจิตอล อิควิปเมนท์ หรือเด็คและไอบีเอ็ม ประเทศไทยก็มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของตัวเองด้วยเช่นกัน

เครือข่ายย่อยเหล่านี้เป็นเครือข่ายภายในที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายสากลโดยผ่าน "เครือข่ายแห่งเครือข่าย" (Metanetwork) ซึ่งเปรียบเสมือนชุมทางหรือ "เกตเวย์" ออกสู่นอกประเทศ ยกเว้นเครือข่ายย่อยของเอกชนที่เชื่อมต่อผ่านเกตเวย์ของตัวเองในต่างประเทศ

เกตเวย์ในปัจจุบันมี 2 แห่งคือ "ไทยเน็ต" และ "ไทยสาร"

ไทยเน็ตคือ "ไทยเน็ต คอนซอร์เตี้ยม" (Thainet Condortium) ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันอุดมศึกษาของไทยมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซียหรือเอไอที. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค และมหาวิทยาลัยมหิดล

ส่วนไทยสารคือ Thai Social / Scientific Academic and Research Network (THAISARN) ซึ่งเป็นของศูนย์เทคโนโลยีอีเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือที่เรียกชื่อย่อว่า "เนคเทค" (NECTEC - National Electronics and Computer Technology Center) สำหรับคนในวงการอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มมหาวิทยาลัย การมีเกตเวย์ 2 แห่งเป็นเรื่องช้ำซ้อน ไม่จำเป็น มีแห่งเดียวก็พอแล้ว แต่ที่ต้องมีมากกว่าหนึ่งก็เพราะวัฒนธรรมการทำงานที่ต้องการสร้างผลงานให้กับหน่วยงานของตนเอง โดยไม่สนใจว่า จะต้องสิ้งเปลืองงบประมาณแผ่นดินไปเท่าไร

จึงเพื่อให้ได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่ทำและเป็นเจ้าของเครือข่าย

ความเป็นมาของเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยนั้น เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางปี 2530 โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เชื่อมโยงกับระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลียใช้เครือข่ายของเมลเบิร์นเป็นเกตเวย์ติดต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตสากล แต่ยังไม่ได้เป็นอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือยังไม่มีการออนไลน์กันตลอด 24 ชั่วโมง ติดต่อกันเฉพาะการแลกเปลี่ยนไปรษณีย์อีเล็กทรอนิกส์ หรือ "อี-เมล์" (E-mail - Eletricmail) เท่านั้น โดยทางเมลเบิร์นจะหมุนโทรศัพท์ทางไกลเข้าที่คอมพิวเตอร์ของสงขลาวันละ 2 ครั้ง เพื่อรับและส่ง "ถุงเมล์"

สำหรับอาจารย์และนักวิจัยของมหาวิทยาลัยในกรุงเทพ รวมทั้งที่อื่นๆ หากต้องการจะสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตก็ต้องโทรเข้าไปรับ และส่งข่าวสารที่ถุงเมล์ที่สงขลาเสียก่อนเพื่อรอให้ทางเมลเบิร์นมารับไปอีกทอดหนึ่ง

เนื่องจากการติดต่อทางโทรศัพท์ทางไกลระหว่างกรุงเทพ-หาดใหญ่ในขณะนั้น มีปัญหามากกว่าการโทรศัพท์ระหว่างกรุงเทพ-ออสเตรเลีย ปลายปี 2530 จึงได้มีการเปิดที่พักถุงเมล์เพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่สถาบันเอไอที. รังสิต โดยทางเมลเบิร์นจะโทรเข้ามา ที่เอไอที.และสงขลาแห่งละ 2 ครั้งต่อวันเหมือนเดิม

ที่เอไอที.นี่เอง ที่มีการเชื่อมโยงแบบออนไลน์ 24 ชั่วโมงกับอินเทอร์เน็ตสากลเป็นครั้งแรก แต่ก็มีเพียงเลขหมายเดียวและยังคงต้องผ่านเครือข่ายของเมลเบิร์นอยู่ ซึ่งห้ามใช้ตอนบ่ายโมงและเที่ยงคืน เพราะเป็นเวลาที่ทางออสเตรเลียจะโทรเข้ามาแลกเปลี่ยนถุงเมล์ ดังนั้นจึงยังคงมีความไม่สะดวกอยู่มาก

บุคคลที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการเชื่อมโยงอินเทอร์เน็ตเข้ามาสู่ประเทศไทยในครั้งนี้คือ กาญจนา กาญจนสุด อาจารย์เอไอที. ซึ่งไม่ใช่นักคอมพิวเตอร์ แต่มีความจำเป็นต้องติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสำหรับงานวิจัยกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ กาญจนาได้ไปศึกษาต่อยังมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น จึงทำหน้าที่ประสานงานการติดต่อทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างเมลเบิร์นกับมหาวิทยาลัยในประเทศไทยด้วย เมื่อกลับมาที่เอไอที. เธอก็เป็นผู้ดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้บริการออนไลน์ 24 ชั่วโมงกับทางออสเตรเลียดังกล่าว และยังคงเป็นผู้หนึ่งที่เป็นกำลังหลักในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตของไทยจนทุกวันนี้

การติดต่อกับอินเทอร์เน็ตโดยผ่านเครือข่ายมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นนั้นไม่ใช่การต่อโดยตรง เพราะเครือข่ายของเมลเบิร์นยังต้องไปเชื่อมกับเครือข่ายหลักที่เป็นเสมือนกระดูกสันหลัง (Backbone) ของระบบอินเทอร์เน็ตสากลซึ่งมีอยู่หลายๆ เครือข่ายในสหรัฐอเมริกา ส่วนใหญ่เป็นของมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานรัฐบาลที่ยอมให้เครือข่ายย่อยอื่นๆ มาเกาะสำหรับเป็นประตูสู่ระบบอินเทอร์เน็ตสากลได้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนับเป็นหน่วยงานแรกที่เชื่อมต่อกับเครือข่ายหลักของอินเทอร์เน็ตโดยตรงเมื่อกลางปี 2535

"เรื่องอินเทอร์เน็ตจุฬา เป็นดำริของท่านอธิการบดีคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ที่ได้เดินทางไปต่างประเทศแล้วไปเห็นเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตใช้กันมากในมหาวิทยาลัย พวกอีเมล์ ก็ให้เราศึกษาดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะทำ" ยรรยง เต็งอำนวย รองผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการของจุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านวิชาการและเทคนิคการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตจุฬา หรือ "จุฬาเน็ต" กล่าว

ประกอบกับทางจุฬาฯ มีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในเรียกว่า "จุฬาลิเน็ต" ซึ่งเป็นเครือข่ายสายไฟเบอร์ออพติคอยู่แล้ว เป็นเสมือนการสร้างถนนข้อมูลขึ้นมา การเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตสากลจึงเป็นความจำเป็นในแง่ของการแสวงหาข้อมูลมาใส่ในถนนสายนี้ เพราะในอินเทอร์เน็ตมีฐานข้อมูลและผู้ให้บริการข้อมูลที่เรียกว่า "อินฟอร์เมชั่น โพรไวเดอร์" อยู่แล้วเป็นจำนวนมาก จุฬาฯ ไม่ต้องสร้างฐานข้อมูลขึ้นมาเองทั้งหมด

การเชื่อมโยงกับอินเทอร์เน็ตสากลเสร็จสมบูรณ ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2535 โดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายหลักของบริษัท ยูยูเน็ต เทคโนโลยี (Uninet Technology) ที่เมืองฟอลส์ เชิร์ส รัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เป็นการออนไลน์ถาวรผ่านลิสน์ไลน์ความเร็ว 9.6 กิโลบิตต่อวินาที (ความเร็วในการส่งข้อมูลประมาณ หนึ่งหน้ากระดาษเอ 4 ต่อ หนึ่งวินาที)

ยูยูเน็ตเป็นบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ดำเนินกิจการโดยไม่แสวงผลกำไร ไม่คิดค่าบริการเชื่อมต่อเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ค่าใช้จ่ายของจุฬาเน็ตมีเพียงค่าเช่าวงจรลิสน์ไลน์ไปเวอร์จิเนียจากการสื่อสารฯปีละ 3 ล้านบาท

"เราเป็นประเทศที่สองในเอเซียที่ต่อกับยูยูเน็ตอินเดียเป็นประเทศแรก ก่อนหน้าเราหนึ่งปี" ยรรยงกล่าวด้วยความภูมิใจ

การติดต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตสากลด้วยลิสน์ไลน์หรือวงจรเช่าถาวรที่ออนไลน์ 24 ชั่วโมง 20 เลขหมายในขณะนั้น ทำให้คุณภาพของการส่งและรับข้อมูลดีกว่าการออนไลน์แบบชั่วคราวของม.สงขลา และเอไอที.มาก สามารถส่งจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ไปยังที่ใดก็ได้ในโลกที่มีอินเทอร์เน็ตภายในเวลา 20 วินาทีเท่านั้นใช้เวลาน้อยกว่าการป้อนข้อมูลหลายเท่าตัว มหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งจึงเชื่อมต่อเครือข่ายภายในของตัวเองเข้ากับจุฬาเน็ต เพื่อเป็นเกตเวย์เข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสากล

การให้บริการของจุฬาเน็ตจำกัดอยู่เฉพาะคณาจารย์ นักศึกษาของตนและมหาวิทยาลัยด้วยกันเท่านั้น ไม่ได้ให้บริการกับภาคเอกชนหรือบุคคลทั่วไปด้วย เพราะจุดมุ่งหมายในการพัฒนาระบบขึ้นมาก็เพื่อการศึกษาและงานวิจัย นอกจากนั้นการให้บริการกับบุคคลทั่วไปในภาคเอกชนนั้นทำไม่ได้เพราะขัดกับพระราชบัญญัติการสื่อสาร พ.ศ. 2477 เป็นเจ้าของและให้บริการการติดต่อกับต่างประเทศแต่อนุโลมให้จุฬาฯ ทำได้เพราะเห็นว่าเป็นการทำเพื่อการศึกษา ไม่ใช่ธุรกิจ

กลางปี 2537 มหาวิทยาลัย 6 แห่งที่ใช้จุฬาเน็ตเป็นประตูเข้าสู่เครือข่ายอินเทอร์เน็ตสากลคือ จุฬาฯ มหิดล เชียงใหม่ เอไอที. เทคโนฯบางมด ตกลงร่วมกันเป็น "สมาพันธ์" ใช้ชื่อว่า "ไทยเน็ต คอนซอร์เตี้ยม" และมีการเพิ่มความเร็วในการับส่งข้อมูล ก่อนหน้าที่จะเกิดไทยเน็ต คอนซอร์เตี้ยม ทางจุฬาฯ ได้เพิ่มมาแล้วครั้งหนึ่งจากเดิม 9.6 เค เป็น 64 เค (แปดหน้ากระดาษต่อวินาที) เมื่อเดือนสิงหาคม 2536 โดยเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4.2 ล้านบาท เมื่อรวมตัวกันแล้ว มีผู้มาร่วมแบกรับค่าใช้จ่ายมากขึ้น เดือนพฤศจิกายน 2537 จึงเพิ่มความเร็วเป็น 128 เค (16 หน้ากระดาษต่อวินาที) และเสียค่าเช่าวงจรปีละ 6 ล้านกว่าบาท โดยจุฬาฯ และเอแบคลงขันฝ่ายละ 30% ส่วนที่เหลือเชียงใหม่กับเอไอทีรับกันไปรายละ 20%

"ไทยเน็ตก็คือ เซอร์วิสโพรวายเดอร์ให้กับเครือข่ายย่อยในประเทศไทย แต่ให้บริการเฉพาะหน่วยงานที่เป็นการศึกษาและวิจัย หรือหน่วยงานของมหาวิทยาลัยเป็นหลัก" ยรรยงสรุปฐานะและบทบาทของไทยเน็ต

เบื้องหลังการเกิดขึ้นมาของไทยเน็ตไม่ใช่แค่ความต้องการร่วมมือกันธรรมดาๆ เท่านั้น แต่เป็นเพราะความขัดแย้งกับเนคเทค ไม่ใช่ในเรื่องแนวทางการพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย

แต่เป็นเรื่องของความต้องการสร้างผลงานและอ้างว่าเป็นผู้ริเริ่มอินเทอร์เน็ตเป็นรายแรกในประเทศไทย

เนคเทคเคยมีโครงการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยภายในประเทศ เมื่อปี 2531 โดยมอบหมายและสนับสนุนด้านเงินทุนแก่อาจารย์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบังเป็นผู้ดำเนินงาน แต่ปรากฎว่าไม่สำเร็จ เพราะระบบ X.25 ที่นำมาใช้นั้นเป็นเทคโนโลยีเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไม่ได้

โครงการนี้เงียบหายไปเฉยๆ แล้วเนคเทคก็กันมาสนใจเรื่องอินเทอร์เน็ต โดยในช่วงกลางปี 2535 ซึ่งจุฬาเน็ตยังไม่เกิด การเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตสากลยังต้องทำผ่านเครือข่ายของเอไอที. และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์อยู่ทางเนคเทคก็ขอทดลองต่อไปเมลเบิร์นเพิ่มขึ้นอีกจุดหนึ่งด้วย

"เมลเบิร์นเขาเคยบอกว่า ไม่อยากให้มีเกตเวย์ไปที่เขามากกว่า 1 แห่ง ที่มีอยู่สองแห่งในตอนนั้นก็เพราะสงขลาเป็นเกตเวย์ที่ไม่ดีเท่าไร เนื่องจากอยู่ทางใต้ มีปัญหาเรื่องอากาศทำให้การติต่อกับกรุงเทพไปสะดวก เขาก็ยินดีให้เอไอที.เป็นเกตเวย์" แหล่งข่าวจากค่ายไทยเน็ตเล่าให้ฟัง

อย่างไรก็ตาม เนคเทคก็สามารถต่อไปเมลเบิร์นได้ โดยแจ้งว่าเป็นการทดลองทางด้านเทคนิคเท่านั้น หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีการรายงานเหตุการณ์ผ่านอินเทอร์เน็ตออกไปนอกประเทศ ทำให้เนคเทคเกิดไอเดียที่จะพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตภายในที่ต่อกับเครือข่ายสากลขึ้นมา

แต่ในที่สุดกลับปรากฎว่า ทางจุฬาฯ สามารถต่อกับอินเทอร์เน็ตสากลได้ก่อนเมื่อเดือนกรกฏาคม 2535 โดยที่ทางเนคเทคยังไม่มีความคืบหน้าไปถึงไหน

"แม้แต่เนคเทคเองก็มาเชื่อมกับเราโดยผ่านดาต้าเน็ต" ยรรยงเปิดเผย

หลังจากนั้นก็มีการประชุมร่วมกันระหว่างฝ่ายมหาวิทยาลัยและคนของเนคเทค เพื่อประสานงานกันในการพัฒนาอินเทอร์เน็ตให้สมบูรณ์มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้น ประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายไม่ลงรอยกันก็คือ ควรจะมีเกตเวย์อินเทอร์เน็ตที่ต่อไปอเมริกากี่แห่ง

ทางฝ่ายมหาวิทยาลัยเห็นว่าแห่งเดียวที่จุฬาฯ ก็น่าจะพอแล้ว แต่ทางฝ่ายเนคเทคอยากจะมีของตัวเองบ้าง

"ที่ประชุมตกลงกันว่า ไม่น่าจะมีสายที่สองมีสายเดียวก็พอแล้ว แต่พอออกจากห้องประชุมไป ก็มีอะไรแปลกๆ มีคนมากระซิบกับผมว่า ถึงที่ประชุมจะว่าอย่างนั้น แต่เข้าก็มีงบประมาณไว้อยู่แล้ว เขาจะขอทดลองใช้ ลองทำเพื่อเทคโนโลยี" หนึ่งในผู้ที่เข้าร่วมประชุมเปิดเผย

ไล่หลังการเกิดขึ้นของจุฬาเน็ตไปนาน เนคเทคก็ต่อสายเชื่อมอินเทอร์เน็ตสากลไปที่ยูยูเน็ต รัฐเวอร์จิเนีย เป็นเกตเวย์อินเทอร์เน็ตแห่งที่สองของประเทศไทย และให้ชื่อเครือข่ายนี้ว่า "ไทยสาร" พร้อมๆ กับการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข่าวแก่สื่อมวลชน และแจก "แอคเคาท์" ที่ขึ้นทะเบียนกับอินเทอร์เน็ตให้กับสื่อมวลชนได้ใช้ทั้งยังต่อสายไปยังเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเอกชนอย่างเช่น ธนาคารไทยพาณิชย์ บริษัทซันไมโคร ซิสเต็มส์ เป็นต้น

"วันดีคืนดี เนคเทคก็ไปเขียนว่าทุกๆ คนนี่เป็ฯไทยสาร ขึ้นกับเนคเทค เขาบอกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของเขา แต่เราเกิดก่อนเขา เขาก็เขียนเราเป็นส่วนต่อกับเขาตลอด ทั้งๆ ที่เราไม่เคยต่อกับเขา" หนึ่งในคณะทำงานด้านคอมพิวเตอร์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าว

คนจากฝ่ายไทยเน็ตบอกว่าเครือข่ายไทยสารที่เนคเทคทำขึ้นมาเองนั้น แท้ที่จริงแล้วไม่มีอะไรใหม่เลย เพราะเทคโนโลยีเรื่องอินเทอร์เน็ตนี้ เป็นสิ่งที่มีมานานแล้วในต่างประเทศ เมื่อทางจุฬาฯ นำมาใช้และเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตสากลได้สำเร็จก็เป็นต้นแบบให้เนคเทคยกเอาไปใช้ได้ทันที

ปลายปี 2535 จนถึงกลางปี 2536 มีการประชุมกันหลายครั้ง ระหว่างฝ่าย มหาวิทยาลัยกับเนคเทคซึ่งก็มีความเห็นไม่ลงรอยกันเรื่อยมา จนในที่สุดทางกลุ่มมหาวิทยาลัยตัดสินใจรวมตัวกันตั้งเป็นกลุ่มไทยเน็ต คอนซอร์เตี้ยมขึ้นมา

ประเด็นสำคัญนั้นไม่ได้อยู่ที่ว่า ใครทำก่อนใคร ใครเป็นผู้คุมเครือข่าย ซึ่งเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีจอมปลอม แต่การมีเกตเวย์อินเทอร์เน็ตสองแห่งนั้นทางค่ายไทยเน็ตเห็นว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็นและสิ้นเปลือง ควรที่จะเอาเงินที่ต้องจ่ายเป็นค่าเช่าวงจร 2 วงจรมารวมกัน แล้วอัพเกรดเกตเวย์แห่งเดียวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเพื่อรองรับความต้องการให้ดีขึ้นกว่าเดิม

"มันเป็นเรื่องของการแข่งขันกันโดยใช่เหตุ เราบอกให้เอาสายที่เรามีอยู่ไปเข้าที่เขาก็ได้เขาก็ไม่ยอมจะทำเอง" แหล่งข่าวจากเชียงใหม่กล่าว และอธิบายว่า แทนที่จะมีสายจากไทยไปที่เวอร์จิเนีย 2 สาย ขนาดสายละ 9.6 เค จ่ายค่าเช่าวงจรปีละ 3 ล้านบาทต่อสาย สองสายรวมเป็น 6 ล้านบาท สำหรับสมรรถภาพการส่งข้อมูล 9.6 x 2 เป็น 19.2 เค ซึ่งถ้าหากมีเพียงเกตเวยืเดียว เงิน 6 ล้านบาทนี้จะได้วงจรที่มีประสิทธิภาพในการส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นเป็นสิบๆ เท่าไม่ใช่แค่ 2 เท่าอย่างที่เป็นอยู่ "เรามี 64 เค เขาก็จะมี 64 เค ถ้ามีสายเดียวและเอาเงินมารวมกัน ที่เพิ่มขึ้นมาไม่ใช่ 128 เค แต่จะเป็น 512 เค ซึ่งจะส่งข้อมูลได้มากกว่าข้อความปกติ"

วงจรลิสน์ไลน์ของไทยสารเริ่มต้นจากขนาด 9.6 เค แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 64 เค จนถึงปัจจุบันนี้ระหว่างเครือข่ายไทยสารและไทยเน็ตเชื่อมกันด้วยสาย 64 เค โดยผ่านเครือข่ายเอไอที.
ทุกวันนี้จึงสายโทรศัพท์จากไทยเน็ตและไทยสารต่อไปที่การสื่อสารฯ บางรัก ขึ้นดาวเทียมดวงเดียวกัน และไปลงจุดเดียวกันที่เวอร์จิเนีย

"เขามีปัญหาสับสนมาก เพราะว่ามาจากไทยมี 2 แอคเคาท์ เราต้องชี้แจงว่าอันไหนของเรา อันไหนของเนคเทค" ยรรยงเล่าถึงเมื่อครั้งเดินทางไปดูเทคโนโลยีที่ยูยูเน็ต ตอนเดินสิงหาคม 2536

ฝ่านไทยเน็ตนั้น ยังคงมุ่งมั่นกับการเสาะแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้เพื่อเพื่อพัฒนาระบบอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยให้ดียิ่งขึ้น ส่วนการบริการยังคงเป็นการให้เปล่าแก่ผู้คนในแวดวงการศึกษาและงานวิจัย

ทุกวันนี้ ใครที่ต้องการจะเข้าเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะต้องไปขอ "อินเทอร์เน็ต โปรโตคอล" หรือ ไอพี (Internet Protocol) ซึ่งเป็นเลขทะเบียนประจำเครื่องจาก ศูนย์อินเทอร์เน็ต สำนักวิทยบริการจุฬาฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลเครือข่ายไทยเน็ต

สำหรับไทยสาร นอกเหนือจาก 6 มหาวิทยาลัยที่เป็ฯสมาชิกของไทยเน็ตแล้ว เครือข่ายย่อยส่วนใหญ่เกาะกับไทยสาร รวมทั้งบริษัทเอกชนบางรายซึ่งต้องจ่ายค่าบริการให้กับไทยสารด้วย ทิศทางของไทยสารดูเหมือนจะมุ่นเน้นไปที่การนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปหาผลประโยชน์ทางธุรกิจ

"เป้าหมายเดิมของอินเทอร์เน็ตใช้เพื่อการศึกษา การวิจัยก็จริง แต่เมื่อธรรมชาติของมันซึ่งมีคุณสมบัติสามารถส่งข่าวสารให้คนได้หลายล้านคนในเวลาพริบตาเดียว แล้วคนที่มีหัวทางธุรกิจ เมื่อไปลองใช้ก็มองเห็นโอกาสว่า ทำเป็นธุรกิจได้ก็เลยพัฒนาเป็นธุรกิจ" ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของเนคเทคกล่าว

เนคเทคได้ร่วมทุนกับการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ทศท.) ตั้งบริษัทอินเทอร์เน็ต ประเทศไทยขึ้น โดยเนคเทคเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 50% ที่เหลือแบ่งกับระหว่างกสท.กับทศท.รายละ 25%

ทวีศักดิ์เปิดเผยว่า เมื่อบริการของอินเทอร์เน็ตประเทศไทยเริ่มแล้ว ไทยสารจะลดบริการบางอย่างลงเช่น การต่อไปยังต่างประเทศของไทยสารก็จะต้องมาผ่านบริการของบริษัทนี้ โดยเสียค่าบริการด้วย

ความจริงบริการของไทยสารแต่เดิมนั้นก็มีการเรียกเก็บค่าบริการอยู่แล้ว โดยแบ่งออกเป็ฯ 3 แบบคือ

แบบ A เดือนละ 300 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการรับ-ส่งจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ หรือต้องการข่าวสารจาก USENET ที่มีให้เลือกมากกว่าพันเรื่อง

แบบ B เดือนละ 500 บาท สำหรับผู้ที่ต้องการอินเทอร์เน็ตเต็มรูปแบบคือ ทั้งรับ-ส่งจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ภายในและต่างประเทศ และข่าวสารจาก USENET และยังสามารถติดต่อกับเครือข่ายทุกแห่งทั่วโลกได้

แบบ U เดือนละ 4,000 บาท สำหรับหน่วยงานหรือศูนย์บีบีเอสต่างๆ บริการนี้เหมาะแก่ผู้ที่รู้เรื่องเน็ตเวิร์คและด้านเทคนิคต่างๆ ซึ่งสมาชิกแบบยูนี้จะได้รับใน 2 แบบแรกด้วย

ค่าบริการของอินเทอร์เน็ต ประเทศไทยนั้นคาดว่าอาจจะต้องมากกว่า 500 บาทต่อเดือน

นอกจากอินเทอร์เน็ตประเทศไทยแล้ว มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญหรือเอแบค ก็เป็นรายที่ 2 ที่ทำธุรกิจจากระบบอินเทอร์เน็ต โดยการตั้งบริษัท อินเทอร์เน็ต คอมเมอร์เชียล แอนด์ โนวเลจเซอร์วิส จำกัด (Internet Commercial and Knowledge Service) ขึ้นมาดำเนินการ บริษัทนี้เป็นการร่วมทุนระหว่าง บริษัทศูนย์วิทยาการอินเทอร์เน็ต 65 % กสท. 32% และพนักงานกสท. 3% ของทุนจดทะเบียน 15 ล้านบาท

บริษัทศูนย์วิทยาการอินเทอร์เน็ต เป็นการร่วมทุนของเอกชน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มบ้านฉาง วิเทศ ว่องวัฒนะสิน รองประธานกรรมการโรงงานน้ำตาลอุตสาหกรรมมิตรเกษตร และกลุ่มนักวิชาการที่นำโดยศรีศักดิ์ จามรมาน รองกรรมการผู้อำนวยการเอแบค ซึ่งเป็นผู้ที่วางเครือข่ายอินเทอรเน็ตในเอแบค

จะสังเกตได้ว่า ธุรกิจอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ทั้งของเนคเทคและเอแบคนั้น มีกสท.ร่วมถือหุ้นอยู่ด้วย เนื่องจากการสื่อสารรหว่างประเทศนั้นเป็นบทบาทหน้าที่ของ กสท.ตาม พรบ.การสื่อสาร 2477 จึงต้องได้รับอนุมัติจากสท. เสียก่อนและต้องอยู่ในรูปการลงทุนร่วมกับ กสท.

ข้อกฎหมายการสื่อสารนี้ คือเบื้องหลังที่มาของการที่ทั้งเนคเทคและเอแบคต้องตั้งบริษัทให้บริการอินเทอร์เน็ตในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ

"ทั้งสองบริษัทนี้ จำเป็นต้องเกิดขั้นมา เพราะว่าปัญหาในทางกฎหมายเป็นสาเหตุสำคัญ" แหล่งข่าวรายหนึ่งในวงการอินเทอร์เน็ตเปิดเผย

ที่จริงแล้ว การบริการอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์นั้น ทั้งเนคเทคและเอแบคทำมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยเรียกเก็บค่าสมาชิกจากผู้ต้องการใช้บริการเป็นรายปี ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายการสื่อสาร เพราะถือว่าเป็นการให้บริการสื่อสารระหว่างประเทศซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสท. แต่เพียงผู้เดียว

ทางกสท.เองก็รู้ แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไร จนกระทั่งเอแบคตั้งเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของตนเองขึ้นมาโดยเชื่อต่อกับเครือข่ายไทยเน็ต แล้วก็โฆษณาประชาสัมพันธ์หาสมาชิก ทำให้ทางกสท. เริ่มทนไม่ได้ ฝ่ายกฎหมาย กสท. จึงยื่นโนติ๊สมาที่จุฬฯ ในฐานะผู้ดูแลเครือข่ายไทยเน็ตที่อินเทอร์เน็ตของเอแบคพ่วงอยู่

ประมาณเดือนสิงหาคม 2537 ทางไทยเน็ต คอนซอร์เตี้ยมจึงเรียกประชุมเพื่อแก้วไขปัญหาดังกล่าว เชิญนักกฎหมายมาให้ความเห็น ปรากฎว่าไทยเน็ตผิดจริง เพราะกสท. อนุญาตให้เชื่อมต่อกับต่างประเทศได้ในกรณีเพื่อการศึกษาและการวิจัย ไม่ใช่นำไปให้บุคคลทั่วไปใช้แล้วเก็บค่าบริการ

"แต่ว่าจะไปเลิกก็ไม่ได้ เพราะทั้งสองเจ้านี้ก็เก็บเงินจากสมาชิกไปล่วงหน้าแล้ว" แหล่งข่าวรายเดิมเล่า

ดังนั้นทางออกจึงมีทางเดียวคือ ตั้งบริษัทร่วมทุนกับกสท. ขึ้นมาเพื่อทำให้ถูกกฎหมาย ทางเนคเทคเสนอให้ทางไทยเน็ตเข้ามาร่วมด้วย แต่ทางฝ่ายไทยเน็ตประชุมกันแล้วไม่เอาด้วย ปล่อยให้ทางเอแบคไปดำเนินการเอง

"เราเห็นว่าเป็นเรื่องที่เราไม่เก่ง ก็ให้เขาตั้งไป" แหล่งข่าวจากไทยเน็ตกล่าว

เหตุผลที่ทางไทยเน็ตไม่เอาด้วยกับการนำบริการอินเทอร์เน็ตมาให้บริการเชิงพาณิชย์นั้นประการที่หนึ่ง เพราะเห็นว่าสถานะของตัวเองนั้นเป็นสถาบันการศึกษา ไม่ควรเข้ามาทำธุรกิจหากำไรจากค่าสมาชิก

"เรามองว่าในแงธุรกิจไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับเรา เราต้องการให้เป็นที่เผยแพร่เทคโนโลยีมากกว่าที่จะเป็นที่กำไรจากอินเทอร์เน็ต ถ้าเราจะทำก็ควรจะเป็นในลักษณะการขายเทคโนโลยีในรูปแบบของการเป็นคอนซัลแตนท์ให้กับบริษัทเอกชนที่ต้องการใช้ระบบนี้ มากกว่าการหากำไรจากค่าสมาชิก" ยรรยงจากจุฬาฯ กล่าว

เหตุผลประการที่สองคือ แม้อินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์จะเป็นที่แพร่หลายในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา แต่สำหรับประเทศไทยแล้วจะมีตลาดมากน้อยแค่ไหนยังเป็นเรื่องที่น่าสงสัย

กลุ่มลูกค้าของอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์ในไทยคือ ผู้ที่ต้องติดต่อกับต่างประเทศทั้งคนไทยและชาวต่างชาติแต่ไม่สามารถใช้เครือข่ายของมหาวิทยาลัยได้ ซึ่งคนกลุ่มนี้มีไม่มากนัก จึงอาจจะไม่คุ้มกับการลงทุนโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีรายอื่นๆ เข้ามาแข่งขันกันมากขึ้น

หนึ่งในคณะทำงานด้านอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ความเห็นว่า ตลาดผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มหาศาลนั้นอยู่ที่ในประเทศคือ คนไทย 60 ล้านคนที่ใช้ภาษาไทย ซึ่งขณะนี้สำนักบริการคอมพิวเตอร์เชียงใหม่สามารถพัฒนาระบบภาษาไทยมาได้สำเร็จแล้ว

"สิ่งที่ควรจะทำทุกวันนี้คื อินเทอร์เน็ตภาษาไทยที่ใช้ได้ทั้งประเทศ เป็นระบบข้อมูลสารสนเทศของประเทศไทย แล้วเราก็แจกคอมพิวเตอร์ไปโรงเรียนละเครื่อง ก็จะมีไทยอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศทันที เพราะตอนนี้สายโทรศัพท์ไปถึงหมดแล้ว ตรงนี้ต่างหากที่ควรมาคุยกัน" หนึ่งในคณะทำงานที่ว่ากล่าว

"ตอนนี้ใครๆ ก็แซวเราไปหมดแล้ว ทั้งมาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนามก็กำลังจะมี ประเทศจีนในปีที่ผ่านมาก้พัฒนาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว เขากำลังจะให้โรงเรียน 4,000 กว่าแห่งเชื่อมเข้าระบบนี้ แต่ของเรายังต่างคนต่างทำ

การที่ทั้งไทยเน็ตและไทยสารต่างฝ่ายต่างหันหลังให้กัน และยังไม่มีทีท่าว่าจะประสานร่วมมือกันได้ในขณะเดียวกันก็มีกระแสอินเทอร์เน็ตเชิงพาณิชย์เกิดขึ้นมา ทำให้โอกาสที่จะเกิดไทยอินเทอร์เน็ตขึ้นมานั้น อาจจะเป็นแค่ความคิดเท่านั้น

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us