|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หม่อมอุ๋ยการันตีเศรษฐกิจยุครัฐบาลเป็นง่อยแถมดื้อยา "ไม่มีปัญหา" เผยขนาด 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลย การลงทุนชะลอลงเล็กน้อยจาก 9 เหลือ 7% เผยแบงก์ชาติพร้อมดูแลเศรษฐกิจภายใต้รูปแบบการเมืองที่ประชาชนเลือก ยืนยันปัจจัยหลักที่กระทบต่อเศรษฐกิจคือราคาน้ำมัน ส่งผลเดือน เม.ย.ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหมื่นล้าน ครั้งแรกในรอบ 10 เดือน
วานนี้ (31 พ.ค.) ที่สโมสรกองทัพบก มีงานสัมมนาพิเศษเจาะลึก 4 ปัญหาหลักที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของประเทศ “ดอกเบี้ย ค่าเงิน น้ำมันและการเมือง” โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในหัวข้อ "การเงินและการเมือง" ว่า แม้รัฐบาลจะเป็นง่อยไปในช่วงเวลานี้ ก็ไม่ส่งผลกระทบภาคเอกชน และเศรษฐกิจของประเทศในปี 2549 ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนชะลอตัวลงเล็กน้อย คือจาก 9-10% ในปีที่แล้ว เหลือ 7-8% ในปีนี้ ซึ่งกว่า 6 เดือนที่ผ่านมารัฐบาลไม่ได้ทำอะไรเลยเศรษฐกิจก็ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
"การเมืองในขณะนี้เป็นเรื่องที่ประชาชนเลือกให้เป็นแบบนี้ เมื่อเป็นแบบนี้แบงก์ชาติก็มีหน้าที่รักษาเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่ต้องอ้างเรื่องการเมือง เรื่องคุณสนธิ (ลิ้มทองกุล) ประท้วงมา 6 เดือนแล้วนโยบายที่รัฐบาลชอบอ้างถึงทั้งเมกะโปรเจกต์ก็ไม่มีอะไรออกมาสักตัว” ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวและว่า ถ้าจะให้เปรียบเทียบการเมืองที่เป็นอยู่ในขณะนี้ต้องเรียกว่าเป็นการเมืองดื้อยา เป็นโรคที่รักษาหายช้า เพราะมีการรักษาแล้วให้ยาตั้งนานก็ยังไม่หาย การแก้ไขปัญหาต่างๆ ล่าช้าปรับเปลี่ยนทุกอย่างช้า แต่ยังไม่ถึงขั้นแพ้ยาเพราะไม่ถึงกับตาย วิธีการที่ดีที่สุดก็คือรีบจัดการเลือกตั้งให้เสร็จสิ้นโดยเร็วปัญหาทุกอย่างก็จะค่อยๆ คลี่คลายลง เพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงคือเรื่องราคาน้ำมันไม่ใช่ปัญหาการเมือง
ทั้งนี้ แม้การลงทุนจากภาครัฐจะชะลอตัวไปในไตรมาสสุดท้ายของปี 2549 เนื่องจากไม่สามารถผลักดันงบประมาณปี 2550 ได้ทันปีงบประมาณ แต่การลงทุนภาคเอกชนยังเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ซึ่งแรงผลักดันเศรษฐกิจไทยกว่า 80 มาจากภาคเอกชนทั้งสิ้น โดยเมื่อมองภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสแรกทุกอย่างออกมาดีหมดทั้งราคาพืชผลทางการเกษตรที่เติบโตถึง 33.2 การส่งออกขยายตัว 17 ภาคบริการและการท่องเที่ยวเติบโต 21.7 และดุลบัญชีเดินสะพัดก็เกินดุล
ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันที่อยู่ในระดับ 37.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ก็ถือว่าอยู่ในระดับที่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อดูจากวันที่ 31 พฤษภาคม 2544 ที่เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติค่าเงินบาทอยู่ที่ระดับ 45.50 บาทต่อดอลลาร์ เป็นเวลา 5 ปีเต็มค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมาประมาณ 7 บาท ผู้ส่งออกก็ไม่มีใครล้มหายตายจากเพราะมีการส่งสัญญาณเป็นระยะให้ผู้ส่งออกมีการปรับตัว
“ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมานักลงทุนทั่วโลกเริ่มมองว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มไม่มั่นคงมีการถอนเม็ดเงินลงทุนทั้งจากตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรมาลงทุนในเอเชีย ซึ่งไทยก็ได้รับอานิสงส์โดยมีเม็ดเงินไหลเข้ากว่า 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ช่วงนั้นมันเหมือนน้ำป่าไหลบ่าตอนนี้หยุดไหลแล้วเพราะบางส่วนจะเข้ามาในลักษณะการเก็งกำไรแต่ในปริมาณเพียง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น สิ่งที่แบงก์ชาติทำก็ค่อยๆ ทำให้แข็งอย่างมีระบบเมื่อน้ำป่าหยุดไหลก็มีลูกเล่นทำให้ผู้ส่งออกได้กำไรบ้าง” ผู้ว่าการแบงก์ชาติกล่าว
ทั้งนี้ ผู้ส่งออกในปัจจุบันไม่ได้ดูเพียงแค่อัตราแลกเปลี่ยนของดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างเดียว เพราะในขณะที่เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐอ่อน แต่เงินยูโรและสกุลอื่นๆ กลับสูงขึ้น ผู้ส่งออกจึงสามารถเจรจาการค้าด้วยสกุลเงินอื่นได้นอกจากเงินดอลลาร์เพียงสกุลเดียว ส่วนเรื่องอัตราดอกเบี้ยนั้น คาดว่าในปีนี้น่าจะอยู่ในระดับสูงสุดแล้วซึ่งต้องรอการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 7 มิถุนายน 2549 ว่าจะออกมาเช่นไร
“เรื่องดอกเบี้ยเวลาไม่มีทางออกทีไรก็โยนมาที่ผม ซึ่งเรื่องนโยบายดอกเบี้ยนี้มันก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวที่4.5 ทั้งโลกก็อิจฉาแล้ว”
**เดินสะพัดขาดดุลในรอบ 10 เดือน
นางสุชาดา กิระกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยถึงเศรษฐกิจเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ทั้งการนำเข้าและส่งออกมีการชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุลถึง 520 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 20,280 ล้านบาท ขณะที่ดุลการบริการเกินดุลลดลงเหลือ 238 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9,282 ล้านบาท เนื่องจากในช่วงเดือนเมษายนมีวันหยุดหลายวันและประชาชนหันไปท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเดือนเมษายนขาดดุล 283 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 11,037 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขาดดุลครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2548 อย่างไรก็ตาม ธปท.ยังเชื่อว่าดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปียังมีโอกาสสมดุลหรือขาดดุลไม่เกิน 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
"การขาดดุลฯ เนื่องมาจากมีการนำเข้าน้ำมันสูง ส่งออกขยายตัวลดลงไปบ้าง ขณะที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น 10% ทำให้การนำเงินตราออกไปใช้จ่ายนอกประเทศเพิ่มขึ้นถึง 18%" นางสุชาดากล่าว
|
|
|
|
|