หลังจากรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน มีนโยบายให้หั่นโครงการโทรศัพท์ 3 ล้านเลขหมายที่กลุ่มซีพีเป็นผู้ประมูลได้ให้เหลือเพียง
2 ล้านเลขหมาย และให้ทำเฉพาะในเขตกรุงเทพ ส่วนเหลืออีก 1 ล้านเลขหมายให้เปิดประมูลใหม่และให้ขยายในต่างจังหวัด
ซึ่งกลุ่มล็อกซเล่ย์ จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ภัทรธนกิจ อิตาเลี่ยนไทย และกลุ่มเอ็นทีทีเป็นผู้คว้าชัยชนะไปในครั้งนั้น
เดิมที ล็อกซเล่ย์ และจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล ต่างคนก็ต่างเตรียมยื่นซองเอง
แต่ก็มาตัดสินใจในภายหลัง หลังจากพบว่า การผนึกกำลังร่วมน่าจะมีโอกาสกว่าต่างคนต่างเข้าประมูล
เนื่องจากคู่แข่งสำคัญในเวลานั้น คือ กลุ่มชินวัตร ซึ่งมีดีกรีดีกว่ามีโครงการโทรคมนาคมใหญ่
ๆ หลายโครงการ แถมสร้างสายสัมพันธ์อย่างเหนียวแน่นไว้ที่องค์การโทรศัพท์ฯ
ในทางส่วนตัว ธงชัย ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ล็อกซเล่ย์ ก็รู้จักกับ
ดร.อดิศัย โพธารามิก แห่งจัสมิน มานาน ดร.อดิศัย เป็นเพื่อนรุ่นพี่ในโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย
แหล่งข่าวในบริษัทล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า กลุ่มจัสมินเป็นผู้มาทาบทามล็อกซเล่ย์ให้เป็นหัวหอกในการเข้าประมูล
เพราะต้องการอาศัยชื่อเสียงและสายสัมพันธ์ของล็อกซเล่ย์ที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมานานมากกว่า
เพราะจัสมินเอง แม้จะเชี่ยวชาญในเรื่องโทรคมนาคมมากกว่า เคยได้รับสัมปทานจากองค์การโทรศัพท์ฯ
ให้เป็นผู้ติดตั้งระบบดาวเทียมสำรอง (ทีดีเอ็มเอ) และบริการวีแสทขององค์การโทรศัพท์
แต่ก็ยังไม่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจมากเท่ากับกลุ่มล็อกซเล่ย์ที่เป็นบริษัทเก่าแก่มานาน
ในทำนองเดียวกัน แม้ว่าล็อกซเล่ย์จะมีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจมานาน แต่ก็มีประสบการณ์ในเรื่องกิจการโทรคมนาคมน้อยกว่าจัสมิน
เพราะ ดร.อดิศัย คลุกคลีอยู่ในแวดวงโทรคมนาคม เคยร่วมงานกับองค์การโทรศัพท์ฯ
มาก่อนที่จะลาออกมาสร้างกิจการของตัวเอง
การร่วมมือระหว่างพันธมิตรทั้งห้ากลุ่มในเวลานั้น จึงดูลงตัวมากที่สุด เพราะเป็นการผนึกรวมเอาความเชี่ยวชาญในด้านต่าง
ๆ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องโทรคมนาคมของจัสมิน การวางข่ายสายตอนนอกที่อิตาเลี่ยนไทยมีมายาวนาน
ชื่อเสียง และเครดิตที่ได้จากล็อกซเล่ย์ รวมถึงทางด้านการเงินที่มีภัทรธนกิจเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง
ซึ่งในเวลาต่อมา ยังได้ดึงเอาเอ็นทีที รัฐวิสาหกิจจากญี่ปุ่นเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย
ด้วยความเชี่ยวชาญในเรื่องโทรคมนาคมของจัสมินที่โดดเด่นกว่าผู้ถือหุ้นคนอื่น
ๆ ทำให้จัสมินถูกเลือกให้เป็นหัวหอกในการบริหาร
ภายหลังจากก่อตั้งบริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (TT&T)
เพื่อดำเนินโครงการโทรศัพท์ 1 ล้านเลขหมาย ดร.อดิศัย โพธารามิก จึงเข้ามารั้งตำแหน่งของประธานกรรมการบริหาร
(ซีอีโอ) ซึ่งมีผู้บริหารจากเอ็นทีที นั่งเป็นรองประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ)
ส่วนทางฝ่ายของล็อกซเล่ย์ก็ได้ส่งไพโรจน์ ล่ำซำมานั่งเป็นประธานกรรมการ
พร้อมกับกรรมการอีก 2 ท่าน ร่วมกับกลุ่มผู้ถือหุ้นที่ส่งผู้บริหารมานั่งเป็นกรรมการ
การดำเนินงานทั้งหมดของ TT&T จึงตกอยู่ภายใต้การดูแลของ ดร.อดิศัย มาโดยตลอด
โดยมีล็อกซเล่ย์คอยให้การสนับสนุนในเรื่องกำลังคนในระยะแรก
จะเห็นได้ว่า ในช่วงแรกของ TT&T กลุ่มล็อกซเล่ย์ได้ส่งทีมงานที่เชี่ยวชาญทางด้านโทรคมนาคม
และคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่งเข้าไปร่วมบริหาร แต่ถัดจากนั้นเพียงปีหรือ 2 ปี
ทีมงานเหล่านี้ก็ถูกโอนกลับมาที่ล็อกซเล่ย์เกือบทั้งหมด
แม้ว่า วสันต์ จาติกวณิช กรรมการบริหาร ของล็อกซเล่ย์ ให้เหตุผลว่า เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้นธุรกิจ
จึงต้องอาศัยกำลังคนจากผู้ถือหุ้นเข้าไปช่วย แต่เมื่อ TT&T สามารถสร้างคนได้เองแล้ว
ผู้ถือหุ้นจึงดึงคนของตัวเองกลับ
ว่ากันว่า เหตุผลลึก ๆ ส่วนหนึ่งมาจากการลงไม่ลงรอยกัน ระหว่างทีมบริหารของจัสมิน
และล็อกซเล่ย์ ซึ่งในที่สุด ฝ่ายล็อกซเล่ย์ต้องเป็นฝ่ายล่าถอยออกมา เพราะผู้กุมอำนาจบริหารเป็นคนของจัสมิน
จะเห็นได้ว่า ทีมงานบริหารของ TT&T ส่วนใหญ่จะเป็นทีมงานของจัสมิน และผู้บริหารจาก
ทศท. ที่ ดร.อดิศัย เป็นผู้ดึงตัวมา เช่น ปลื้มใจ สินอากร ผู้ช่วยผู้อำนวยการองค์การโทรศัพท์
ที่มานั่งในตำแหน่งรองประธานกรรมการ รวมทั้งเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์หลายคนที่มานั่งอยู่ใน
TT&T
แม้ว่า ดร.อดิศัย จะต้องสวมหมวกใบใหม่ใน TT&T ซึ่งเป็นโครงการชิ้นสำคัญที่ต้องทุ่มเทเวลาให้อย่างมาก
แต่ ดร.อดิศัย ก็ยังต้องสวมหมวกใบเก่าที่จัสมินควบคู่ไปด้วย
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้ TT&T และจัสมิน จึงอยู่เคียงคู่กันจนแยกไม่ออก
ประกอบกับ สไตล์การบริหารของ ดร.อดิศัย ที่มักจะเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองแทบทุกเรื่อง
ก็ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของ TT&T ยึดติดกับ ดร.อดิศัย มาตั้งแต่เริ่มจนทุกวันนี้