“เนสท์เล่” ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่รับเศรษฐกิจไทยผันผวน ลดบทบาทคนไทย ชูโมเดลเนสท์เล่ทั่วโลก รีดไขมันองค์กรฝ่าวิกฤติ รวบ 12 แคธิกอรี่ เป็น 6 กลุ่มธุรกิจหลักขึ้นตรงต่อต่างประเทศ เพิ่มความยืดหยุ่น-สภาพคล่อง พร้อมตั้งหน่วยงานกลางบริหารต้นทุน เพิ่มความเข้มข้นใช้สื่อโฆษณาให้เกิดประสิทธิภาพสูง งัดกลยุทธ์ไซส์ซิ่ง ชู 3 กลยุทธ์หลักลุย สิ้นปีตั้งเป้าโต 8% กวาดรายได้กว่า 2.9 หมื่นล้านบาท
นายเกรแฮม แคมพ์เบลล์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่ม ได้แก่ เนสกาแฟ นมผงสำหรับเด็ก เป็นต้น เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างภายในองค์กรครั้งใหญ่ โดยใช้โมเดลเดียวกับเนสท์เล่ทั่วโลก ได้แก่ การแบ่งหน่วยงานเป็น 6 กลุ่มธุรกิจ คือ กลุ่มไอศกรีม,กลุ่มน้ำดื่ม,กลุ่มอาหารบำรุงสุขภาพ,กลุ่มผลิตภัณฑ์สัตว์เลี้ยง,กลุ่มอาหารเช้าซีเรียลและกลุ่มขายของชำ ได้แก่ นมผงสำหรับเด็ก ไมโล เนสกาแฟ ครีมเทียม ฯลฯ โดยทั้ง 6 หน่วยงานจะขึ้นตรงกับเนสท์เล่สำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ
ส่วนกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เหลือจะขึ้นตรงกับประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหารกลุ่มเนสท์เล่ ประเทศไทย คือ นายเกรแฮม แคมพ์เบลล์ เพียงผู้เดียว
ทั้งนี้การปรับโครงสร้างองค์กรดังกล่าว ก็เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และประการสำคัญคือสอดคล้องกับสภาพความผันผวนของเศรษฐกิจและภาวะราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้น จากเดิมโครงสร้างองค์กรเนสท์เล่ในประเทศไทย กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มแบ่งเป็น 12 แคธิกอรี่ ส่งผลให้มีการทำงานที่ซ้ำซ้อนและไม่สามารถโฟกัสในแต่ละธุรกิจได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะกลุ่มไอศกรีมเนสท์เล่และน้ำดื่มเพียวไลท์บริษัทวางเป้าหมายขึ้นเป็นผู้นำตลาด จากปัจจุบันไอศกรีมเนสท์เล่มีส่วนแบ่ง 42% จากมูลค่าตลาด 7,000 ล้านบาท ส่วนน้ำดื่มเนสท์เล่เพียวไลท์มีส่วนแบ่ง 23-24% จากมูลค่าน้ำดื่มขวดเพ็ท 6,500 ล้านบาท
ตั้งหน่วยงานกลางบริหารต้นทุน
นายแคมพ์เบลล์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯยังได้จัดตั้งหน่วยงานกลางดูแลการพัฒนาบุคคลทั้ง 6 หน่วยงาน รวมทั้งบริหารระบบซัปพลายเชน ด้วยการติดตั้งระบบไอทีคำนวณระบบการขนส่งทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังวางแนวทางอย่างจริงจังนำพลังงานอื่นมาใช้ทดแทน เพราะบริษัทฯไม่มีนโยบายปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นแต่เน้นการบริหารต้นทุนแทน
ขณะเดียวกันด้านการใช้งบในการตลาดจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยจะเลือกใช้สื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายและสินค้า ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด พร้อมกันนี้ยังงัดกลยุทธ์ไซส์ซิ่งหรือการปรับขนาดให้เล็กลง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและกำลังการซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
“ปีนี้บริษัทฯไม่มีแผนลงทุนโรงงานใหม่ แต่เน้นการปรับปรุงโรงงานที่มีอยู่ทั้งหมด 6 แห่ง เพื่อรองรับกับผลิตภัณฑ์ใหม่รวมทั้งกำลังการผลิตสินค้าใหม่ ส่วนกรณีที่หันมาเน้นผลิตสินค้าที่มีความหวานน้อยนั้น สืบเนื่องจากราคาน้ำตาลปรับเพิ่มขึ้น บริษัทฯคงต้องดูถึงความต้องการของตลาดเป็นหลักก่อน แม้ว่าปัจจุบันกระแสสุขภาพกำลังมาแรง แต่นโยบายของเรายังคงต้องรักษาความสมดุลย์ของสินค้าเป็นหลัก”
ชู3กลยุทธ์ดันโต8%กวาด2.9หมื่นล.
นายแคมพ์เบลล์ กล่าวถึงกลยุทธ์องค์กร”ก้าวล้ำเหนือการเปลี่ยนแปลง” 3 ประการ ที่เนสท์เล่นำมาปรับใช้เพิ่มช่วยเพื่อศักยภาพความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรและธุรกิจ ประกอบด้วย ประการแรก การพัฒนาบุคลากรให้มีส่วนร่วม มีความรับผิดชอบสูง เน้นการทำงานเป็นทีม ประการสอง การพัฒนาระบบการทำงาน เช่นนำระบบ GLOBE โปรแกรมที่ช่วยลดขั้นตอนการทำงานที่ยุ่งยากซ้ำซ้อน ทำงานได้รวดเร็วขึ้น และประการสุดท้าย คือการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆของผลิตภัณฑ์และกิจกรรมเพื่อผู้บริโภค ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้เปิดนวัตกรรมใหม่ เช่น ผลิตภัณฑ์นมตราหมีบีบ ผลิตภัณฑ์ตราหมีโกลด์ และผลิตภัณฑ์ไอศกรีมเนสท์เล่เอ็กซ์ตรีม
สำหรับผลประกอบการปีนี้บริษัทฯตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 8% หรือมีรายได้ 29,160 ล้านบาท จากในปีที่ผ่านมาเนสท์เล่มีรายได้รวม 27,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 7% ซึ่งถือว่าปีนี้เนสท์เล่ตั้งเป้ามีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยมี 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าเรือธงที่สร้างรายได้ให้กับบริษัท ได้แก่ กลุ่มผลิตภัณฑ์กาแฟ ครีมเทียม กลุ่มผลิตภัณฑ์นมสำหรับเด็ก กลุ่มผลิตภัณฑ์นมน้ำบรรจุกระป๋อง และกลุ่มไอศกรีมซึ่งในปีที่ผ่านมาสามาถขึ้นครองตำแหน่งผู้นำตลาดรวมในปี 2548 กับไอศกรีมวอลล์ โดยกลุ่มไอศกรีมเนสท์เล่และมีอัตราการเติบโตสูงกว่า 30%
ในส่วนรายได้เนสท์เล่ อินโดไชน่า ปีนี้ตั้งเป้ามีอัตราการเติบโต 6-7% สูงกว่าอัตราการเติบโตของจีดีพีหรือผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ จากในปีที่ผ่านมาเนสท์เล่ อินโดไชน่ามีรายได้ 3.8หมื่นล้านบาท เติบโต 8.4% แบ่งเป็น รายได้จากการส่งออกของประเทศไทย 8,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 22% ของยอดขายกลุ่มเนสท์เล่ อินโดไชน่า ส่วนที่เหลือ 3 หมื่นล้านบาท เป็นรายได้มาจาก ลาว พม่า กัมพูชา และเวียดนาม
|