"ดร.ทองฉัตร หงส์ลดารมภ์" เข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ตำแหน่งใหม่ใน TT&T นอกจากจะเป็นอีกก้าวของการเข้าสู่งานเทเลคอมฯ ที่ท้าทายสำหรับตัว
ดร.ทองฉัตร เอง หลังจากที่มีผลงานมามากในธุรกิจพลังงาน ดร.ทองฉัตร ยังถูกมองว่า
เข้ามาลดแรงเสียดทานระหว่างบทบาทของ ดร.อดิศัย โพธารามิก และกลุ่มล็อกซเล่ย์
ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ TT&T ภูเขาไฟที่กรุ่น ๆ อยู่ระหว่างผู้ถือหุ้นเรื่องคนใน
TT&T อาจจะสงบได้ในขณะนี้ แต่เรื่องของผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้า
ผู้รับผิดชอบใน TT&T จะแก้ไขอย่างไรให้ผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายพอใจได้มากกว่านี้
"ผมถูกชวนมารับตำแหน่งที่นี่เป็นปี แต่มาตัดสินใจในปีนี้ เริ่มตัดสินใจจริง
ๆ ก็ก่อนที่จะมารับงานประมาณ 6 เดือน หมายถึงเริ่มสนใจดูจนกระทั่งแน่ใจ แล้วจึงมาดูนโยบายว่าจะมีปัญหากับที่ทำงานเก่าไหม
เริ่มหาคนมาแทนแล้วก็พอดีกับหมดสัญญากับ TA ที่ทำงานเก่า" ดร.ทองฉัตร
หงส์ลดารมภ์ กล่าวถึงขั้นตอนก่อนจะมาร่วมงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ของบริษัทไทยเทเลโฟน แอนด์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TT&T
ในขณะที่ ดร.อดิศัย โพธารามิก ประธานกรรมการบริหาร (ซีอีโอ) ของ TT&T
ก็กล่าวถึงการเชิญ ดร.ทองฉัตร มาร่วมงานที่ตรงกันว่า
"เป็นเรื่องที่คิดมานาน มีการเสนอที่ประชุมคณะกรรมการผู้ถือหุ้น เพราะเห็นว่าถึงเวลาต้องมีคนมาดูแลงานประจำอย่างเต็มเวลา
ซึ่งผู้ถือหุ้นก็เห็นด้วยตั้งแต่แรกที่มีการเสนอ TT&T ต้องการ ดร.ทองฉัตร
มาช่วยในการบริหารงาน โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะต้องรู้เรื่องโทรศัพท์ เพียงแต่รู้จักใช้คนและบริหารงานเป็นเท่านั้น"
ทั้งนี้ ดร.อดิศัย เองย้ำว่า งานที่ ดร.ทองฉัตร จะดูให้กับ TT&T จึงไม่เหมือนกับยุคที่
ดร.ทองฉัตร ทำให้กับ TA เพราะเป็นคนละยุค จึงจะเปรียบเทียบกันไม่ได้ว่า ดร.ทองฉัตรจะนำประสบการณ์สมัยเมื่ออยู่
TA ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์มาใช้ได้ผลที่นี่หรือไม่
"การที่เราเชิญ ดร.ทองฉัตร มา เพราะเราดูว่า ดร.ทองฉัตร มีผลงานมาก
เคยเป็นทั้งผู้ว่าการการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และยังเป็นคนที่แอกทีฟ ตอนนี้ก็ยังทำงานเป็นประธานให้กับการนิคมอุตสาหกรรม
งานที่ TT&T ต้องการตอนนี้ คือ เมื่อระบบเราเป็นขนาดใหญ่ ครอบคลุมทั้งประเทศ
เราจึงต้องการงานบริหารให้กระชับขึ้น ในขณะเดียวกัน งานด้านอื่นทั้งการก่อสร้างและการตลาดก็ยังดำเนินต่อไปพร้อม
ๆ กัน" ดร.อดิศัย กล่าว
ด้าน ดร.ทองฉัตร ภายหลังจกาเข้ามาร่วมงานกับ TT&T ได้เดือนเศษ โดยเข้ามาเริ่มงานเมื่อวันที่
1 ส.ค. 2539 ก็เอ่ยปากยอมรับว่า งานที่เตรียมไว้ให้มีการจัดเป็นรูปเป็นร่างอยู่แล้ว
ตนมีเพียงหน้าที่เข้ามาทำความคุ้นเคยกับทางผู้บริหาร ทีมงาน และผู้ถือหุ้น
ซึ่งส่วนใหญ่ก็จัดเป็นคนคุ้นเคยกัน และรู้จักกันมาเป็น 10 ปี โดยยกตัวอย่างทั้ง
วิโรจน์ นวลแข จากกลุ่มภัทรธนกิจ เปรมชัย กรรณสูต ของกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย
ซึ่งเป็นกรรมการผู้ถือหุ้น
โดยก่อนหน้าที่จะเข้ามา ดร.ทองฉัตร ได้มองภาพ TT&T ไว้ว่า เป็นองค์กรที่แข็ง
เนื่องจากประกอบด้วยผู้ถือหุ้นจาก 5 กลุ่มใหญ่ คือ จัสมิน ล็อกซเล่ย์ ภัทรธนกิจ
อิตาเลี่ยนไทย และเอ็นทีที และอาจจะแข็งกว่า TA ซึ่งมีเพียงเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นแบ็กอัพหลักอยู่เพียงรายเดียว
ทำให้ภาพของ TT&T อาจจะดูได้เปรียบ TA ในด้านของผู้ถือหุ้น
"ช่วงที่อยู่ทีเอ ผมมองว่า TT&T เป็นพันธมิตรธุรกิจ เพราะทั้งสองบริษัททำธุรกิจเดียวกัน
แต่แยกพื้นที่กันชัดเจนแล้ว พื้นที่ที่แยกก็เป็นส่วนเสริมซึ่งกันและกัน เพราะถ้ามีคนใช้สายของ
TA ในเขตกรุงเทพฯ มาก คนใช้สายของ TT&T ในต่างจังหวัดก็จะโทรเข้ามาได้มาก
และสายของ TA ในกรุงเทพฯ ก็โทรไปยังต่างจังหวัดได้มากขึ้น" ดร.ทองฉัตร
กล่าว
และนั่นคือ อีกเหตุผลหนึ่งที่ ดร.ทองฉัตร ตัดสินใจมาอยู่กับ TT&T เพราะเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ขัดแย้งกับธุรกิจขององค์กรเดิม
นอกเหนือจากการมองว่า ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นงานที่ท้าทาย สำหรับตนและมีโอกาสขยายตัวเติบโตไปได้อีกไกล
โดยไม่ได้มุ่งหวังตนจะต้องเป็นหนึ่งในธุรกิจโทรคมนาคม เหมือนกับที่มีผลงานให้เห็นชัดกว่าในธุรกิจพลังงานที่เคยผ่านมามากกว่า
พร้อมทั้งเชื่อว่า การทำงานเป็นทีมที่ TT&T ที่รวมคนจาก 5 กลุ่ม กับสมัย
TA ที่เป็นทีมเดียวจากซีพี และมีศูนย์กลางที่คน ๆ เดียว คือ ธนินทร์ เจียรวนนท์
ก็ไม่มีปัญหา เพราะการทำงานต้องเป็นไปตามระบบ
ความคิดที่ว่า ดร.อดิศัย ดึง ดร.ทองฉัตร เข้ามาร่วมงาน เพราะหวังสายสัมพันธ์ในธุรกิจพลังงานนั้น
ดร.ทองฉัตร กล่าวว่า ในแง่ของคนคุ้นเคยก็คงจะช่วยกันได้ แต่เป็นการช่วยแบบส่วนตัวมากกว่าการถือเป็นหน้าที่จริงจัง
เพราะโดยหน้าที่ที่ได้รับ คือ เน้นการเข้ามารับงานในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ
TT&T เป็นหลัก
"จากหลักการที่คุยกัน ผมมารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ รับผิดชอบบริหารงานทั้งหมดของ
TT&T หน้าที่ก็เหมือนกับกรรมการผู้จัดการใหญ่ทั่วไป คือ บริหารงาน แล้วรายงานต่อประธานกรรมการบริหาร
รายงานต่อกรรมการบริษัท สำคัญที่เลือกใช้คนรับผิดชอบในระดับจัดการให้เหมาะสม
เพราะโดยธรรมชาติงานบริหารไม่ต่างกัน และอย่างน้อยงานด้านเทเลคอมฯ ผมก็มีประสบการณ์พอสมควร
รวมทั้งพื้นฐานของวิศวกรรมที่มี ผมก็นำมาใช้ได้มาก" ดร.ทองฉัตร กล่าว
โดยเน้นว่า การบริหารระดับสูงมักจะหนีไม่พ้นเรื่องเงิน เรื่องคน เรื่องเลือกโครงการประสานงานเท่านั้น
การมาของ ดร.ทองฉัตร หากดูผิวเผินอาจดูเหมือนเป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อความเหมาะสม
ดังที่ ดร.อดิศัย และ วสันต์ จาติกวณิช กล่าวว่า "เป็นเพราะช่วงของการวางข่ายสายโทรศัพท์
1.5 ล้านเลขหมาย มีกำหนดเสร็จเมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา และกำลังเข้าไปสู่การโอปะเรท
คิดว่า ถึงจุดที่ลูกโตพอแล้วส่งเรียนหนังสือจบก็จะกลับมาทำงาน"
เรียกว่า ในช่วงแรกยังต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของจัสมินมาช่วย เนื่องจากเป็นช่วงของการก่อสร้าง
ซึ่งผู้ถือหุ้นทุกฝ่ายก็ส่งคนเข้าไปช่วย ในขณะที่ TT&T เองก็รับคนเข้ามาใหม่อยู่ตลอดเวลา
เมื่อถึงจุดหนึ่ง ทุกฝ่ายก็เรียกคนของตนกลับคืน ซึ่งในส่วนของล็อกซเล่ย์
วสันต์ให้เหตุผลว่า TT&T สามารถเติบโตได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องอาศัยกำลังคนจากผู้ถือหุ้นที่ส่งเข้ามาอีกต่อไป
เดิมของล็อกซเล่ย์จะดูในเรื่องการก่อสร้าง แต่ตอนนี้เปรียบได้กว่า
"คนสร้างรถไฟกับคนขับรถไฟ มันก็เป็นคนละคนกัน เวลานี้มันก็เกือบจะเป็นเพียวโอปะเรชั่น
ดังนั้น งานมันก็ต่างจากเดิม จะเอาคอนแทรกเตอร์มาเป็นโอปะเรเตอร์ก็ไม่ได้
ต่อไปเรื่องที่ต้องดู คือ ทำอย่างไรจะบริหารระบบให้ดีที่สุด รวมทั้งการตลาดที่จะต้องใช้คนอีกลักษณะหนึ่ง"
หรือถ้าจะเปรียบไปแล้ว ก็คือ ดร.อดิศัย เปรียบเสมือน พ่อของ TT&T ที่เคยดูแลมาทุกวันๆ
เพราะข้อตกลงที่มีมาแต่ต้นว่า จะให้จัสมินเป็นผู้ดำเนินการพร้อมกันนั้นก็มีหน้าที่ต้องดูแลจัสมิน
แต่เมื่อถึงเวลาก็ต้องหาผู้ช่วยที่จะมาทำได้เต็มตัว โดยที่ ดร.อดิศัย ก็ยังคงอยู่ในฐานะซีอีโอที่มีหน้าที่เพียงคอยดูแลอยู่ห่าง
ๆ
"ไม่ต่างอะไรกับคนของล็อกซเล่ย์ที่ส่งเข้าไปในฐานะคอนแทรกเตอร์ ในช่วงจั๊มสตาร์ทของ
TT&T แล้วดึงกลับเมื่อเสร็จงาน จากนั้น TT&T ก็เริ่ม recuit คนเข้ามาเรื่อย
ๆ" วสันต์ กล่าว
การมาของ ดร.ทองฉัตร ในครั้งนี้ วสันต์เชื่อว่า จะช่วยในเรื่องงานด้านโอปะเรชั่นได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะงานประจำวัน ซึ่งตัว ดร.ทองฉัตร เป็นผู้มีประสบการณ์ เคยร่วมงานในองค์กรใหญ่
ๆ ที่มีพนักงานเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการสร้างการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยให้เติบโตจนทุกวันนี้
หรือ การนั่งเป็นประธานการนิคมฯ และเป็นผู้ที่มีคอนเนคชั่น อยู่ในหลาย ๆ
หน่วยงาน จะช่วยให้การติดต่อกับข้าราชการ หรือองค์กรต่าง ๆ รวมทั้งการบริหารงานภายในเดินไปได้อย่างดี
"งานของ ดร.ทองฉัตร ที่ TT&T จะถือเป็นคนละช่วงกับงานที่เคยทำที่
TA เพราะช่วงที่ ดร.ทองฉัตร อยู่ TA เป็นช่วงการก่อสร้างข่ายสาย แต่ที่ TT&T
จะเป็นช่วงของโอปะเรชั่น ซึ่งผมเชื่อว่า ดร.ทองฉัตร มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านนี้มากกว่า"
วสันต์ กล่าว
ส่วนเรื่องการตัดสินใจหาผู้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ ดร.ทองฉัตร
รับไปในครั้งนี้ วสันต์ กล่าวว่า ก็คงมีการดูคนอื่นด้วย แต่ก็ถือว่าเป็นความลับของบริษัท
เพราะถึงอย่างไรในที่ประชุม ผู้ถือหุ้นก็ตกลงรับ ดร.ทองฉัตร เข้ามาแล้ว
ด้าน ดร.ทองฉัตร ก็กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า อาจจะมีคนอื่นที่ถูกเสนอชื่อเข้ามารับตำแหน่งนี้จากผู้ถือหุ้นรายอื่น
แต่การที่ตนเข้ามารับตำแหน่งได้ก็ต้องผ่านการเห็นชอบจากผู้ถือหุ้นแล้ว
โดยกล่าวติดตลกว่า เหตุผลที่ตนได้รับเลือกให้มารับตำแหน่งนี้ อาจเป็นเพราะตนอาวุโสกว่าคนอื่นก็เป็นได้
อย่างไรก็ดี แม้จะมีตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ขึ้นมา ก็เป็นเพียงการลดภาระมิใช่ลดบทบาทของ
ดร.อดิศัย เพราะในฐานะซีอีโอ ดร.อดิศัย ก็ยังคงมีบทบาทในการรับรู้และกำหนดนโยบายของ
TT&T โดยผ่านบอร์ดผู้ถือหุ้นอยู่เช่นเดิม
บทบาทของ ดร.อดิศัย ที่ผู้ถือหุ้นบางรายมองว่า มีมากเกินไปจึงไม่ได้ถูกลดลงแต่อย่างไร
จะลดลงก็แต่งานรายวัน จากเดิมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดร.อดิศัย สรุปัดส่วนการทำงานของตนว่า
80% ทำให้กับทีทีแอนด์ที ที่เหลือ 20% ทำให้จัสมิน แต่ขณะนี้ ภายหลังจากได้
ดร.ทองฉัตร เข้ามาช่วยอีก 1 คนในตำแหน่งใหม่ที่ตั้งขึ้น ดร.อดิศัย เองก็ยังสรุปงานของตนในทีทีแอนด์ทีออกมาว่า
"งานของผมในทีทีแอนด์ทีก็เท่าเดิม เพียงแต่เซ็นต์หนังสือน้อยลง"
ว่ากันตามจริงแล้ว ตำแหน่งที่ ดร.ทองฉัตร เข้ามารับนั้น เดิมมี มร.นากาซากิ
ตัวแทนจากเอ็นทีที เป็นผู้ดูแลอยู่ภายใต้ตำแหน่งซีโอโอ โดยทำหน้าที่บริหารงานประจำวัน
ก่อนจะว่างลงเมื่อ 2 ปีก่อนหน้านี้ที่ มร.นากาซากิ ไปรับตำแหน่งที่อเมริกา
จนทุกคนเห็นว่าเหมาะสมและเชื่อกันว่า ดร.ทองฉัตร เหมาะที่จะมารับหน้าที่ภายใต้ตำแหน่งที่ตั้งขึ้นใหม่ในทีทีแอนด์ที
การส่งคนเข้ามาช่วยใน TT&T ของเอ็นทีที ก็เป็นในลักษณะเดียวกับผู้ถือหุ้นรายอื่น
คือ ช่วงแรกที่เป็นช่วงการก่อสร้าง และการจัดตั้งระบบแมนเทอร์แนนซ์ เมื่อเอ็นทีทีมีความเชี่ยวชาญก็ส่งคนมาช่วย
แต่เมื่อถึงงานด้านตลาด แม้เอ็นทีทีจะมีประสบการณ์ญี่ปุ่น แต่ก็ไม่ช่วยอะไรได้ในตลาดเมืองไทย
เพราะการพัฒนาที่ต่างกันจำนวนคนจากเอ็นทีทีจึงลดลงเรื่อย ๆ ในช่วงหลัง โดยปัจจุบันเหลืออยู่เพียง
15 คนจากเดิมมีอยู่ถึง 40 คน
"เอ็นทีที เข้ามาลงทุนนอกประเทศครั้งแรกที่เมืองไทย เป็นหุ้นส่วนด้านกลยุทธ์
มาช่วยเรื่องเทคนิค ทำงานจับคู่กับคนไทยตลอด เป็นความต้องการขององค์กรฯ ที่มีอยู่ในทีโออาร์ที่ต้องการให้ช่วยด้านเทคโนโลยีโดยมีสัญญาอยู่
3-4 ปี หลังจากนั้นเขาก็จะกลับประเทศ แต่ก็คงทิ้งหุ้นเอาไว้" ดร.อดิศัย
กล่าวถึงการถือหุ้นในส่วนของเอ็นทีที
ปัญหาหลักของ TT&T ไม่ได้อยู่ที่กระแสการไม่พอใจของผู้ถือหุ้น ต่อการมีบทบาทอย่างแยกไม่ออกระหว่าง
ดร.อดิศัย จัสมิน และ TT&T เท่านั้น เรื่องของผลประกอบการ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ถือหุ้นให้ความสนใจ
ตามเอาใจใส่อยู่ไม่ห่าง
ดังนั้น แล้วการดึงเอา ดร.ทองฉัตร เข้ามารับผิดชอบและรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่
ในขณะนี้เรื่องที่ต้องคอยดูแล คือ เรื่องของผลประกอบการ ซึ่งหลายฝ่ายทั้งหุ้นส่วนของ
TT&T และองค์การโทรศัพท์เองก็มองว่า ผู้ใช้และรายได้ต่อเลขหมายไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้เท่าไรนัก
ยอดผู้จองในส่วนของ 1 ล้านเลขหมาย ดร.ทองฉัตร เปิดเผยว่า ปัจจุบันมียอดผู้จองอยู่
8 แสนกว่าเลขหมาย สามารถให้บริการได้แล้ว 6 แสนกว่าเลขหมาย ที่เหลือคาดว่าจะเร่งทำตลาดให้ได้ครบ
1 ล้านเลขหมายในสิ้นปี โดยเร่งไปที่หน่วยปฏิบัติและเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายให้เร่งทำตลาดกับทางบริษัท
ห้างร้าน ในท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนตามบ้านหากเป็นพื้นที่ที่ไม่เคยมีโทรศัพท์มาก่อนจะมีการขอติดตั้งและจองซื้อเข้ามาเร็ว
แต่ปัญหาเรื่องรายได้ต่อเลขหมาย ดร.อดิศัย เองยอมรับว่า จากที่ประมาณไว้
13,000-14,000 บาทต่อเลขหมายต่อเดือนนั้น มีรายได้จริงในตอนนี้เพียง 800
บาทต่อเลขหมายต่อเดือน ซึ่งน้อยลงกว่าเดิมมาก
"เป็นเพราะว่าถ้าคิดเรื่องค่าโทรศัพท์ทางไกลเทียบกับโทรศัพท์ระบบเซลลูลาร์
จะแพงกว่าเซลลูลาร์ที่มีราคาอยู่ที่ 8 กับ 12 บาท แต่ของ TT&T ค่าโทรศัพท์ทางไกลอยู่ที่
18 บาท ทำให้เราเสียรายได้ค่าโทรศัพท์ทางไกลไปมาก" ดร.อดิศัย กล่าว
TT&T เร่งแก้ปัญหาตรงจุดนี้ด้วยการต่อรองราคาให้เหลือ 12 บาท ลดลงจากเดิม
33% และคิดว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นได้ เพราะทางองค์การโทรศัพท์ก็ไม่ต้องรับภาระเพียงแต่ได้เงินน้อยลง
แต่ทาง TT&T เห็นว่าจะเป็นการสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนได้ใช้โทรศัพท์มากขึ้น
และแน่นอน TT&T ย่อมได้ประโยชน์จากรายได้ต่อการใช้เลขหมายที่เพิ่มขึ้นมา
ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาค่าโทรศัพท์นี้ได้ รายได้ของ TT&T ก็คงจะไม่ดีขึ้น
เพราะเป็นไปไม่ได้ว่าคนจะใช้โทรศัพท์ที่มีราคาต่างกันถึง 2 ระบบในบ้านหลังหนึ่ง
ๆ
ในขณะที่ฝ่ายล็อกซเล่ย์ วสันต์ก็กล่าวถึงปัญหาเดียวกันว่า คนต่างจังหวัดยังนิยมใช้โทรศัพท์มือถือมากกว่าโทรศัพท์พื้นฐาน
เพราะราคาค่าใช้ต่อนาทีถูกกว่า ทำให้รายได้ของ TT&T ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
หรือที่วสันต์เรียกว่า "รายได้มันไม่ดี แต่มันก็ไม่เลว"
เพราะอย่างน้อย วสันต์ก็มองว่า TT&T ไม่ได้ขาดทุน แต่ก็ไม่มีรายได้ที่ดี
เพราะต้องลงทุนล่วงหน้าไว้เหมือนกับการซื้ออนาคต ต้องอาศัยเวลาให้ความต้องการผู้ใช้เพิ่มขึ้น
โดยเชื่อว่า เมื่อมีโครงการโทรศัพท์ 6 ล้านเลขหมายเข้ามาก็จะช่วยทำให้ความต้องการของผู้ใช้เพิ่มขึ้นเรื่อย
ๆ
แต่ปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในตอนนี้ คือ การลงทุนเร่งติดตั้งโทรศัพท์ให้เสร็จตามแผน
โดยต้องยอมรับว่าความต้องการที่มีไม่สอดคล้องกับเลขหมายที่มีอยู่ จึงส่งผลโดยตรงต่อรายได้
ไม่เหมือนกับกรณีที่ติดตั้งตามความต้องการซึ่งจะทำให้คุมรายได้ได้ตามประมาณการ
ในส่วนของโทรศัพท์อีก 5 แสนเลขหมายที่เหลือที่ทาง TT&T ได้มอบเลขหมายให้องค์การโทรศัพท์ฯ
แล้ว 274,560 เลขหมาย จำนวน 435 ชุมสาย โดยมีผู้จองใช้บริการ 237,132 เลขหมาย
โดยสามารถให้บริการได้ก่อนกำหนดส่งมอบเมื่อ 30 ก.ย. 39 ได้ 19,832 เลขหมาย
ที่เหลือหากส่งมอบไม่ได้ตามกำหนด TT&T จะต้องถูกปรับเลขหมายละ 18 บาทต่อวัน
"ส่วนของ 5 แสนเลขหมาย เราไม่ได้ทำเหมือน 1 ล้านเลขหมาย คือ ลงทุนไปก่อนแล้วหาดีมานด์
แต่เราใช้วิธีเข้าไปรับจองก่อนกำหนดเป้าหมายแต่ละชุมสาย เพื่อจะได้รู้ดีมานด์ทันทีว่ามีผู้ต้องการใช้บริการอยู่ที่ไหน
อย่างไร ต้องการกี่เลขหมาย ทั้งยังไม่ต้องกำหนดมาสเตอร์แปลน สามารถขายเลขหมายได้ทันที
พื้นที่ไหนมีความต้องการมากหรือน้อยก็สามารถปรับเปลี่ยนย้ายชุมสายเข้าออกได้ตามดีมานด์"
ดร.อดิศัย กล่าวถึงงานในส่วน 5 แสนเลขหมาย ที่เปลี่ยนกลยุทธ์ให้คล่องตัวขึ้น
สิ่งที่ ดร.อดิศัย ดำเนินงานเป็นสิ่งที่ล็อกซเล่ย์ ให้ความสนใจอยู่เสมอ
แต่การเข้าไปยุ่งในส่วนการดำเนินงานคงไม่ทำ เพราะอย่างน้อยคนของล็อกซเล่ย์เองก็มีไม่พอ
และหากดูไปแล้ว นอกเหนือจากการถือหุ้นร่วมกันใน TT&T โดยภาพรวมงานของล็อกซเล่ย์และจัสมินมีส่วนที่ซ้ำซ้อนกันอยู่
ซึ่งในส่วนนี้แหล่งข่าวของล็อกซเล่ย์ กล่าวว่า ถ้าเป็นธุรกิจที่นอกเหนือจากไลน์ที่กำหนดไว้ให้
TT&T ทำแล้ว จัสมินกับล็อกซเล่ย์ก็ประมูลสู้กันมาตลอด 5-6 ปีที่ผ่านมา
"เรื่องที่ต้องแข่งขัน เราก็แข่งกันอย่างแฟร์ ๆ โดยไม่ต้องมาคุยกัน
จะไม่มีการไม่พอใจในส่วนนี้ สิ่งที่ล็อกซเล่ย์ไม่พอใจคงจะเป็นเรื่องผลประกอบการของ
TT&T ซึ่งทุกคนก็ไม่พอใจ ไม่ใช่ไม่พอใจในบุคคลว่าทำงานอย่างไร เช่น เรื่องรายได้ต่อเลขหมายที่คาดการณ์ไว้แล้ว
ไม่ได้ตามเป้า ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากตลาดรวมไม่ดี ไม่ใช่อยู่ที่คนทำ"
แหล่งข่าว กล่าว
นอกจากปัญหาเรื่องรายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เรื่องของบริการเสริมอื่น
ๆ TT&T เองก็ยังดูไม่ตื่นเต้นที่จะได้มา จนดูเหมือนว่า ได้บริการเสริมอื่น
ๆ เพราะ TA ซึ่งความจริงแล้ว แหล่งข่าวล็อกซเล่ย์ซึ่งถือเป็นผู้ถือหุ้นที่มีบทบาทมากสุดรองจาก
ดร.อดิศัย จากจัสมิน กล่าวว่า
"ที่เป็นเช่นนั้น เพราะ TT&T ไม่ค่อยมีการพูดถึงบริการเสริมเหล่านี้มากเหมือนกับ
TA เป็นเพราะ TT&T มาทีหลัง และทำกันคนละตลาด แต่ก็มีการเสนอที่จะทำมาตลอด
และก็ทำในนาม TT&T ซึ่งอาจจะตั้งเป็นบริษัทลูกขึ้นมารับงาน โดยเป็นบริษัทลูกที่
TT&T จะต้องถือหุ้นทั้งหมด"
ดร.อดิศัย กล่าวว่า "บางส่วนของบริการเสริมก็ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว
เช่น ในส่วนของโทรศัพท์สาธารณะ ที่มีประมาณ 40,000 เครื่อง และคาดการณ์ว่าจะมีรายได้ต่อเลขหมายเดือนละ
4,000 บาทก็ได้ทำการติดตั้งไปแล้ว 4,500 เครื่อง ใน 3 จังหวัด และเริ่มมีรายได้จากส่วนนี้แล้ว"
ส่วนพีเอชเอส กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า "ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างเจรจากับองค์การโทรศัพท์และคิดว่าจะเริ่มลงมือหลังจากเซ็นสัญญาได้ใน
3 เดือน ส่วนจะเริ่มในจุดไหน ต้องรอดูรายละเอียดของแผนงานอีกครั้งหนึ่ง"
สรุปงานหลักของ TT&T ที่ต้องเร่งรับมือในตอนนี้ คือ การเร่งติดตั้งข่ายสายให้ครบ
ทั้ง 9 เขตทั่วประเทศ พร้อมกับทำรายได้ให้เป็นที่พอใจต่อผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย
ซึ่งภาระนี้นอกจาก ดร.อดิศัย ผู้รับผิดชอบในฐานะซีอีโอของ TT&T แล้ว
ดร.ทองฉัตร ผู้มารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ คงต้องรับหน้าที่ดูแลต่อไปอย่างเต็มตัว
หลังจากเดินสายแนะนำตัวในช่วงนี้ครบทุกเขตงานของ TT&T เสียก่อน