|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“ทนง พิทยะ” ยอมรับเริ่มมีสัญญาณอันตรายความเชื่อมั่นและการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนญี่ปุ่นหลังปัญหาการเมืองที่ยังไม่ยุติ จึงต้องเร่งชี้แจงทำความเข้าใจมากขึ้นขณะเดียวกันจะต้องเร่งลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น พร้อมส่งสัญญาณถึงธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกจะซ้ำเติมเศรษฐกิจให้ทรุดหนักขึ้น
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่าสถานการณ์การลงทุนที่ถดถอยในขณะนี้น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะจากการไปประชุมร่วมกับนักลงทุนญี่ปุ่นเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าในเวทีหารือครั้งนี้นักลงทุนไม่ได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย แต่จะเน้นหนักการลงทุนไปที่เวียดนามและอินเดียเป็นหลัก และนักลงทุนญี่ปุ่นยังไม่เข้าใจสถานการณ์การเมืองของไทยว่าทำไมถึงยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทั้งที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแล้ว จึงทำให้การลงทุนหยุดชะงัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณที่อันตรายอย่างมาก แม้ว่านักลงทุนยังไม่ได้ถอนการลงทุนออกไปก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงและต้องเร่งหาทางเพื่อชี้แจงสถานการณ์ที่แท้จริงในไทยให้นักลงทุนทราบเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้ได้โดยเร็วที่สุด
นายทนง กล่าวว่า ทั้งไทยและญี่ปุ่น จำเป็นต้องเร่งลงนามในข้อตกลงความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่น (เจทีอีพีเอ) ซึ่งเป็นกรอบใหญ่ที่ครอบคลุมความร่วมมือในทุกด้านโดยเร็วที่สุด เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน หากล่าช้าอาจเกิดความเสียหายกับไทยได้ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศทั้งไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าภายในเร็วๆ นี้ จะสามารถลงนามระหว่างกันได้ โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการใดๆ เพราะคิดว่าจะใช้เวลารักษาการไม่นาน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลเห็นว่าต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน จึงต้องเร่งผลักดันให้เกิดการลงนามร่วมกันโดยเร็ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวด้วยว่า กระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์การลงทุนจากต่างประเทศอย่างใกล้ชิดว่าถดถอยไปมากน้อยเพียงใด หากประเทศใดถอนการลงทุนหรือชะลอการเข้ามาลงทุนในไทย ก็ต้องจัดทีมออกไปโรดโชว์เพื่อสร้างความเข้าใจฐานะของไทยให้ชัดเจน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด รวมทั้งต้องเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณให้ได้มากที่สุด เพื่อกระตุ้นให้เอกชนเข้ามาลงทุนและเกิดการอัดฉีดเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ แม้ว่าหลายสถาบันรวมถึงกระทรวงการคลังที่ได้ปรับเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจเหลือเพียงร้อยละ 4.5 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในระดับร้อยละ 4.5-5.5 โดยเฉพาะการขยายตัวการลงทุนโดยรวมทั้งภาครัฐและเอกชนที่เชื่อว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 2 จากที่ในปี 2548 การลงทุนขยายตัวในระดับร้อยละ 11
นายทนง กล่าวอีกว่า สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยบางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องดีเพราะทำให้ต้นทุนเพิ่ม ซึ่งในภาวะเศรษฐกิจกำลังถดถอยเช่นนี้ไม่แน่ใจว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่ เพราะหากให้ยาแรงเกินไปอาจทำให้แพ้ยาได้เช่นกัน แต่ทั้งหมดก็ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะประชุมกันในวันที่ 7 มิถุนายนนี้ ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ต้องการให้นำเงินนอกงบประมาณมาฝากไว้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เป็นการโยกเงินฝากของส่วนราชการต่างๆ เท่านั้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้นและมีอัตราดอกเบี้ยต่ำเท่านั้น ไม่ใช่เป็นมาตรการบังคับ แต่เป็นการขอความร่วมมือเท่านั้น และไม่ได้กำหนดว่าจะให้อัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 แต่ต้องเป็นอัตราดอกเบี้ยตามตลาด และในเร็วๆ นี้จะหารือกับกรมบัญชีกลางให้ชัดเจนอีกครั้งเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน โดยเท่าที่ทราบเงินทุนหมุนเวียนนอกงบประมาณ 300,000 ล้านบาท
|
|
|
|
|