|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
พิษเศรษฐกิจ ปัญหาการเมือง กระทบธุรกิจท่องเที่ยว ส.โรงแรม ระบุ ภาพรวมเดือนเมษายน โรงแรมเกือบทุกภาค อัตราเข้าพักวูบ แม้จังหวัดเชียงใหม่เองยังลดลง 5-6% เชื่อช่วงบอลโลกซบหนักกว่านี้ เผยมีเพียง 3 เดสติเนชั่น กรุงเทพฯ พัทยา เกาะสมุย ที่ยังเติบโต อัดภาครัฐดีแต่ให้นโยบาย และ ตั้งเป้าตัวเลขนักท่องเที่ยว แต่ไม่มีแผนงานเป็นรูปธรรม ซ้ำงบประมาณยังมีปัญหา ปล่อยคู่แข่งอย่างฮ่องกง สิงคโปร์นำหน้า
นายประกิจ ชินอมรพงษ์ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทย หรือ ทีเอชเอ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการสมาคมโรงแรมไทยว่า จากรายงานของสมาชิกสมาคมโรงแรมไทยในทุกภาค พบว่า อัตราการเข้าพักในเดือนเมษายน ลดน้อยลงเกือบทุกเดสติเนชั่น โดยเฉพาะที่จังหวัด เชียงใหม่ ทั้งที่เป็นช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ แต่กลับพบว่า ตัวเลขอัตราเข้าพักโรงแรม เฉลี่ยทั้งเดือนเพียง 49% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 5-6% ขณะที่รายงานการขายห้องพักผ่านเคาน์เตอร์ ทีเอชเอ ที่สนามบินเชียงใหม่ เฉพาะเดือนเมษายน 49 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 18.74%
ส่วนจังหวัดเชียงรายมีอัตราเข้าพักโรงแรมเฉลี่ยไม่ถึง 45% ขณะที่ภาคตะวันตกซึ่งจะรวมหัวหินด้วย มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 60-65% ลดลง 5-10% จากปีก่อนที่มีอัตราเข้าพักที่ 70% สำหรับภาคกลางมีอัตราเข้าพักที่ 68% ลดลง 8% ส่วนภาคอีสาน อัตราเข้าพักที่ 60-65% ลดลง 5-10% เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม มีเพียง 3 เดสติเนชั่นเท่านั้นที่อัตราเข้าพักโรงแรมในเดือนเมษายน ยังคงเติบโต ได้แก่ กรุงเทพฯ มีอัตราเข้าพัก 68-14% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1.9%, พัทยา มีอัตราเข้าพัก 71% เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 13.5% และ เกาะสมุย ที่มีอัตราเข้าพักเฉลี่ย 70-80% เพิ่มขึ้น 5-10% ในส่วนของภาคใต้ โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ต มีอัตราเข้าพักที่ 45-50% มากกว่าปีก่อนซึ่งเกิดเหตุการณ์สึนามิถึง 100%
พิษการเมืองกรุ๊ปสัมมนาวูบ
สาเหตุหลักมาจากหลายปัจจัยลบคือ ปัญหาทางการเมือง ราคาน้ำมันแพง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการเดินทางท่องเที่ยว ขณะเดียวกันจากสภาวะรัฐบาลรักษาการ ส่งผลให้กรุ๊ปประชุมสัมมนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานภาครัฐเป็นผู้จัด มีการชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด เป็นเพราะการใช้และการเบิกจ่ายงบประมาณ ต้องรัดกุมขึ้น ทำให้ตลาดประชุมสัมมนาของแต่ละโรงแรมหดตัวไปไม่น้อยกว่า 5-10% ดังนั้น เป้าหมายตลาดคนไทยเที่ยวในประเทศ ที่วางไว้ปีนี้ที่ 79 ล้านคนครั้งไม่น่าเป็นไปได้ อย่างดีคงได้แค่ 76 ล้านคนครั้งเท่าปีก่อน เพราะกรุ๊ปสัมมนาหายไปมาก
นายชนินทร์ โทณวณิก นายกสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจท่องเที่ยวแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มของโรงแรมที่พัก ผู้ประกอบการทุกรายโดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ตามแถบหัวเมืองต่างยอมรับว่า จำนวนนักท่องเที่ยว และกลุ่มประชุมสัมมนา มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด ล่าสุด ปัญหาภัยธรรมชาติ น้ำท่วมภาคเหนือ ยิ่งทำให้ผู้คนเกิดความไม่มั่นใจ และชะลอการจับจ่าย ขณะเดียวกัน ยังเข้าสูงช่วงโลว์ซีซั่น และ มีการแข่งขันฟุตบอลโลก คนไทยก็ไม่นิยมเดินทางไปเที่ยว ส่วนนักท่องเที่ยวจากยุโรป ก็ไม่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย แต่อาจหันไปเที่ยวในประเทศแถบยุโรปด้วยกันเอง สายการบินไทย ได้ลดจำนวนเที่ยวบินในแต่ละเส้นทางลง เช่น ที่เชียงราย และ แม่ฮ่องสอน ก็ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการโรงแรมไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก
ทั้งนี้สมาคมฯได้มีการประเมินเบื้องต้นว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กลับทำงานไม่ได้เต็มที่นัก มีสาเหตุหลัก 3 ประการ คือ 1.ดูทิศทางของรัฐบาลว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด 2.ผู้ว่า ททท. ใกล้หมดสัญญาว่าจ้าง และ 3. การเบิกจ่ายงบประมาณ ที่ไม่มีความแน่นอนว่าจะได้หรือไม่ โดยเฉพาะงบกระตุ้นพิเศษ
อัดรัฐดีแต่ให้นโยบาย
ดังนั้น การที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายเพิ่มนักท่องเที่ยวเป็น 14-14.5 ล้านคนในปีนี้ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนราว 25% คงเป็นไปไม่ได้ แต่อาจทำได้อย่างดีก็เพียง 13.8 ล้านคน ซึ่งน่าจะเพิ่มจากปีก่อนราว 7-10% อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะให้งบประมาณ ททท. มาเพื่ออัดฉีด จัดแคมเปญ โปรโมชั่น ดึดดูดความสนใจของนักท่องเที่ยว ก็คงหนีไม่พ้น การลดราคาห้องพัก ซึ่งไม่ถูกต้อง และแม้โรงแรมจะเข้าร่วม ก็อาจไม่มีลูกค้า จะเห็นได้ว่า 3-5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย ไม่มีอะไรแปลกใหม่ นอกจากธรรมชาติ และทะเล ทั้งที่มีแผนจะขึ้นเป็นที่หนึ่งด้านการท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้
“ยอมรับว่า ตอนนี้ ททท. กับภาคเอกชน มีการทำงานร่วมกันมากขึ้น แต่ ช่วง 3 เดือนแรกปีนี้ เอกชนก็ต้องช่วยเหลือตัวเองมาโดยตลอด เพราะงบประมาณ ททท. มีจำกัด แต่เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ธุรกิจท่องเที่ยวจะถูกหยิบขึ้นมาใช้ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลมีเพียงแต่ให้นโยบาย และ ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว ไม่มีแผนการดำเนินงานอื่นๆที่เป็นรูปธรรมซึ่งการมุ่งจำนวนนักท่องเที่ยวก็จะเข้าสู่ภาวะเดิม คือได้แต่ปริมาณ ไม่ได้คุณภาพ ขณะที่ประเทศคู่แข่งอย่างฮ่องกงมี ฮ่องกงดิสนีย์แลนด์ มีศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ ส่วนสิงคโปร์ ก็ประกาศที่จะสร้างคาสิโนที่ใหญ่สุดในภูมิภาค แต่ประเทศไทย แม้แต่จะพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรม บางครั้งยังติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งแผนกระตุ้นท่องเที่ยวช่วงโลว์ซีซั่นปีนี้ ต้องเริ่มทำเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา จึงเห็นผล ไม่ใช่มาคิดทำช่วงนี้” นายชนินทร์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว(แอตต้า) นายอภิชาติ สังฆอารีย์ กล่าวว่า ปัญหาอุทกภัยน้ำป่าและดินถล่ม ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ส่งผลให้มีน้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคเหนือ อาจมีผลกระทบด้านภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องของการรักษาความปลอดภัย และการติดตั้งระบบเตือนภัย ซึ่งรัฐบาลควรให้ความสำคัญ ให้นักท่องเที่ยวเกิดความมั่นใจ และเลือกที่จะเข้ามาเที่ยวประเทศไทย
|
|
 |
|
|