Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2539
อีเลคโทรลักซ์ ท้าชนแบรนด์เกาหลี & ญี่ปุ่น เพื่อก้าวสู่ผู้นำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอาเซียน             
โดย ภัชราพร ช้างแก้ว
 


   
www resources

โฮมเพจ บริษัท อีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย (จำกัด)

   
search resources

อีเลคโทรลักซ์
วิชัย ลออรรถวุฒิ
Electric




บริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำของโลก-อีเลคโทรลักซ์ เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ALPHA CARE ที่มีจุดเด่นในแง่ความเหนือกว่าคู่แข่ง ในด้านประสิทธิภาพการใช้งาน และการออกแบบผลิตภัณฑ์ โดยมีเป้าหมายก้าวเป็น 1 ใน 3 ผู้นำตลาดเครื่องซักผ้า ตู้เย็น และเครื่องดูดฝุ่นของภาคพื้นอาเซียนให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2543 นอกเหนือไปจากแบรนด์ญี่ปุ่น และเกาหลี ซึ่งครองตลาดย่านนี้อยู่ ส่วนอีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) จัดเป็นหน่วยที่มียอดขายสูงสุดในภูมิภาคอาเซียน และจีน โดยมีอัตราการเติบโตของยอดขายรวมทั้งประเทศในปี 2538 ประมาณ 46.5% ทั้งนี้ บริษัทแม่ในสตอกโฮล์มกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประเมินตั้งโรงงานตู้เย็น, เครื่องดูดฝุ่นและเครื่องซักผ้าในไทย หรือประเทศอ่น ๆ ในอาเซียน นอกเหนือไปจากการขยายตัวทั้งโดยการซื้อกิจการและการร่วมทุนในจีนและอินเดีย

เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ALPHA CARE

วันที่ 11 ตุลาคมนี้ มร.เลนนาร์ท รีบอรห์น รองประธานบริหารอาวุโส และประธานกลุ่มตลาดใหม่ บริษัท เอบี อีเลคโทรลักซ์ จะเดินทางจากกรุงสต็อกโฮล์ม ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของบริษัท เพื่อมาร่วมงานเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ ALPHA CARE และการจัดแสดงผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีนี้ ซึ่งได้แก่ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องดูดฝุ่น เตาอบแบบฝัง เตาแก๊สแบบฝัง และเตาอบไมโครเวฟ

เทคโนโลยีใหม่ ALPHA CARE เน้นเรื่องความเหนือกว่าผลิตภัณฑ์คู่แข่งในด้านประสิทธิภาพของการใช้งาน และการออกแบบผลิตภัณฑ์หรือดีไซน์โฉมใหม่ที่มีลักษณะโค้งมน ซึ่งถือเป็นแนวทางสำหรับศตวรรษนี้ ทั้งนี้ สินค้าในตลาดไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ล้วนแล้วแต่มีรูปโฉมดีไซน์ในแนวนี้ทั้งสิ้น การนำเทคโนโลยี ALPHA CARE มาใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์ของอีเลคโทรลักซ์ทำให้บริษัทมีจุดเด่นในเรื่องการแข่งขัน ซึ่งคุณลักษณะที่สำคัญของผลิตภัณฑ์ของบริษัท ได้แก่

- ผลการทดสอบอย่างเป็นทางการชี้ชัดว่า เครื่องซักผ้าอีเลคโทรลักซ์รุ่นใหม่ซักสะอาดกว่าผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งรายใหญ่ถึงร้อยละ 70 มีระบบการซักที่นุ่มนวลกว่าด้วยนวัตกรรมวงจรซักที่เรียกว่า CLEAN & CARE และระบบ ELECTRONIC BALANCING CONTROL ซึ่งช่วยถนอมเนื้อผ้าจากแรงบิดดึงขณะซัก

- เทคโนโลยีสามารถช่วยลดแรงเค้นที่เกิดขึ้นกับชิ้นส่วนของเครื่องซักผ้า ซึ่งทำให้เครื่องมีอายุการใช้งานนานขึ้นอีก

- เครื่องดูดฝุ่นรุ่นใหม่ถูกออกแบบมาให้มีกำลังดูดและประสิทธิภาพในการกรองอากาศสูงขึ้น

- ชิ้นส่วนกว่าร้อยละ 90 ของเครื่องดูดฝุ่นอีเลคโทรลักซ์สามารถนำไปรีไซเคิลได้ และไม่มีชิ้นส่วนใดที่ทำจากสารโลหะที่เป็นพิษ

อย่างไรก็ดี ในเรื่องราคาสินค้าแล้ว ผลิตภัณฑ์อีเลคโทรลักซ์วางจำหน่ายสำหรับลูกค้าระดับกลางถึงบน เพราะมีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์คู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นและเกาหลี แต่เนื่องจากตลาดอาเซียน จีนและอินเดียถือเป็นส่วนหนึ่งของตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูงมากเมื่อเทียบกับตลาดใหม่อื่น ๆ ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสที่จะขยายตัวได้อีกมาก และมีการตั้งเป้าหมายทางการตลาดในภูมิภาคนี้ว่า ภายในปี 2543 อีเลคโทรลักซ์จะมีส่วนแบ่งตลาดเครื่องซักผ้าร้อยละ 20 และตู้เย็นร้อยละ 10 ซึ่งในปีนี้ ตลาดเครื่องซักผ้าจะมีมูลค่าประมาณ 500 ล้านเหรียญ และตลาดตู้เย็นจะมีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านเหรียญ

ทั้งนี้ ยอดขายสินค้าของอีเล็คโทรลักซ์ทั่วโลกนั้น ยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศ EU ซึ่งในปีที่ผ่านมา มียอดขายคิดเป็น 56.1% ส่วนยอดขายรองลงมาอยู่ในอเมริกาเหนือ 28.2% ประเทศที่เหลือในยุโรปนอกกลุ่ม EU 7% ประเทศในเอเชีย 5% ละตินอเมริกา 1.9% โอเชียเนีย 0.9% และอัฟริกา 0.8%

เป้าหมายไต่อันดับ TOP THREE ในตลาดใหม่

มร.แอนด์เดอร์ส ชาร์ป ประธานคณะกรรมการบริษัท เอบี อีเลคโทรลักซ์ กล่าวไว้ในรายงานประจำปี 2538 ว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในยุโรปตะวันออก เอเชีย และแอฟริกา สร้างโอกาสให้บริษัทในการที่จะเข้าสู่ตลาดใหม่ทั่วโลก บริษัทมีเป้าหมายที่จะก้าวสู่การเป็นผู้นำในตลาดจีน อินเดีย กลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศในยุโรปตะวันออกตามลำดับ

ส่วน มร.เลฟ โจฮันส์สัน ประธานบริหาร บริษัท เอบี อีเลคโทรลักซ์ อธิบายเรื่องตลาดใหม่ว่า ในปี 2537 นั้นได้มีการตั้งเป้าหมายว่า ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า บริษัทจะต้องมียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในตลาดใหม่เหล่านี้ และยอดขายในตลาดใหม่จะต้องมีมูลค่าเป็น 10% ของยอดขายรวม หรือประมาณ 10 พันล้านโครเนอร์สวีเดน

สำหรับตลาดเอเชียนั้น อีเลคโทรลักซ์ให้ความสำคัญกับจีนเป็นลำดับแรก เพราะเป็นตลาดที่มีประชากรมากที่สุด และมีแนวโน้มที่ดี รองลงมาเป็นอินเดีย และกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งมีไทยเป็นตลาดสำคัญ

ในจีน บริษัทมีการตั้งโรงงานผลิตเครื่องดูดฝุ่น โรงงานผลิตคอมเพรสเซอร์ตู้เย็น และกำลังเร่งเปิดโครงการร่วมทุนผลิตระบบทำน้ำดื่มบริสุทธิ์ บริษัทยังมีสำนักงานตัวแทนในกรุงปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เพื่อรับผิดชอบดูแลงานด้านการตลาด การขาย และการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และผลิตภัณฑ์พาณิชยกรรม เช่น เครื่องดูดฝุ่น ตู้เย็น และตู้แช่แข็ง ภายใต้ยี่ห้ออีเลคโทรลักซ์ และซานุสซี่

ในช่วง 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะมีการลงทุนในจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และบริษัทมียอดขายสินค้าในจีนเมื่อสิ้นปี 2538 คิดเป็นมูลค่า 584 ล้านโครเนอร์สวีเดนหรือคิดเป็น 0.5% ของยอดขายรวมทั้งหมดของบริษัท

ส่วนในไทยนั้น อีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) เปิดดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 2520 และมีการขยายกิจการโดยการทำตลาดสินค้าประเภทต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็น เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน และกลุ่มผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม แต่เดิมสัดส่วนธุรกิจทั้งสองประเภทเท่ากับ 40 : 60 แต่ในอนาคตจะกลายเป็น 65 : 35 เพราะบริษัทเน้นตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่กว่า

วิชัย ลออรรถวุฒิ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายค้าปลีกเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน บริษัท อีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) กล่าวกับ "ผู้จัดการรายเดือน" ว่า "ปัจจุบันสินค้าอีเลคโทรลักซ์มีส่วนแบ่งตลาด ดังนี้ เครื่องดูดฝุ่นมีส่วนแบ่งฯ 10% ตู้เย็นมินิบาร์ 4% เครื่องซักผ้า (ใส่ผ้าด้านหน้า) 50% เตาแก๊สตั้งโต๊ะ 25% เครื่องล้างจาน 80% แต่เป็นตลาดเล็ก เครื่องปรับอากาศ 1-2%"

เขาอธิบายว่า "ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในไทยปัจจุบันมีอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% และเริ่มมีการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะผู้ผลิตญี่ปุ่นซึ่งครองตลาดมาก่อน และผู้ผลิตเกาหลีซึ่งเริ่มเข้ามาสร้างโรงงาน ดังนั้น โอกาสที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดเอาไว้ให้ได้เท่าเดิม จึงมีความเป็นไปได้น้อย แต่ยังสามารถรักษาปริมาณการขายเอาไว้ได้ เพราะตลาดมีการเติบโตได้อีกมาก"

ทั้งนี้ ปัจจัยที่สนับสนุนให้ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเติบโตอย่างมาก วิชัย มองว่า มาจากการที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเติบโตที่ดีติดต่อกันเป็นเวลาหลายปี อำนาจการซื้อของคนมีสูงขึ้น บวกกับวิถีการใช้ชีวิตแบบใหม่ของคนในสังคมเมืองใหญ่ ลักษณะครอบครัวที่เล็กลงทำให้ต้องพึ่งพิงอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากขึ้น เขากล่าวว่า "อีก 5 ปี สินค้าของเราถือเป็นสิ่งจำเป็นในทุกครัวเรือน และผมคาดหมายว่า ยอดขายรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขายปลีก ปีนี้จะมีมูลค่าประมาณ 1,150 ล้านบาท หรือมีอัตราการเติบโตประมาณ 27%"

อีเลคโทรลักซ์ (ประเทศไทย) มียอดขายรวม (ทั้งกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนขายปลีก และกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม) ในปี 2538 คิดเป็นมูลค่า 835 ล้านโครเนอร์สวีเดนหรือคิดเป็น 0.7% ของยอดขายรวมของกลุ่มฯ และมีอัตราการเติบโตของยอดขายเทียบกับปีหน้าก่อนประมาณ 46.5% ซึ่งยอดขายในไทยจัดว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศอาเซียน

การขยายตัวมากขึ้นในตลาดใหม่ย่านเอเชียนั้น อีเลคโทรลักซ์ต้องเจอกับผู้ครองตลาดรายเดิม คือ ญี่ปุ่น และรายใหม่ที่มีวิธีการตลาด และการผลิตเชิงรุกมาก คือ เกาหลี ซึ่งที่ผ่านมา อีเลคโทรลักซ์สามารถครองตลาดยุโรปได้สำเร็จโดยใช้กลยุทธ์การซื้อกิจการ ขณะที่ในสหรัฐนั้นบริษัทไม่สามารถครองส่วนแบ่งข้างมากของตลาดได้ เพราะจะเป็นการขัดต่อกฎหมาย ANTITRUST LAW และในเอเชียบริษัทก็ไม่สามารถซื้อกิจการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าญี่ปุ่นได้ เพราะบริษัทเหล่านั้นไม่ยินดีที่จะขายกิจการ การแข่งขันในภูมิภาคเอเชียจึงเป็นเรื่องที่ยากเอาการสำหรับกลุ่มอีเลคโทรลักซ์

นอกจากนี้ การวางตัวสินค้าทุกประเภทในตลาดกลางและบน ทำให้สินค้ามีราคาสูงนั้น ทำให้การขยายตลาดทำได้ลำบากเมื่อเทียบกับสินค้าญี่ปุ่นและเกาหลีที่วางตลาดในระดับล่าง และมีราคาถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง

อย่างไรก็ดี การควบคุมต้นทุนการผลิต และการสร้างฐานการผลิตสินค้าบางประเภทในภูมิภาคน่าจะช่วยให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีขึ้น แม้ว่าในเวลานี้ผลการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละประเทศในภูมิภาคนี้จะยังไม่ถึงจุดคุ้มทุนก็ตาม แต่ผู้บริหารก็มีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์จะดีขึ้นและการดำเนินธุรกิจในแต่ละประเทศจะสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคตอันใกล้

กลยุทธ์ซื้อกิจการ
สร้างการเติบโตสุด ๆ

บริษัท อีเลคโทรลักซ์ เกิดขึ้นจากการรวมกิจการของ 2 บริษัท คือ ลุกซ์ (LUX) ซึ่งเป็นผู้ผลิตตะเกียงน้ำมันก๊าด และบริษัท ELEKTROMEKANISKA ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องดูดฝุ่น ทั้งสองบริษัทต่างเป็นกิจการในสวีเดน และรวมตัวกันเมื่อปี พ.ศ. 2462 (ค.ศ. 1919)

ตลอดเวลากว่า 77 ปีที่ผ่านมานั้น บริษัทมีกลยุทธ์ในการสร้างการเติบโตด้วยการซื้อหรือครอบงำกิจการ ทั้งนี้การซื้อกิจการที่มีนัยสำคัญต่อการเติบโต ได้แก่

- ในต้นทศวรรษ 1960 มีการซื้อบริษัท ELEKTROHELIOS ซึ่งทำให้อีเลคโทรลักซ์กลายเป็นผู้ผลิตและประกอบฟรีซเซอร์และตู้เย็นรายสำคัญ

- ในทศวรรษ 1970 มีการซื้อกิจการจำนวนมาก เช่น NATIONAL UNION ELECTRIC / EUREKA ในสหรัฐฯ ซึ่งทำให้บริษัทสามารถรุกเข้าไปสร้างฐานที่มั่นในตลาดอเมริกาเหนือได้ และบริษัทก็คืบไปซื้อกิจการแบรนด์เนมสำคัญ ๆ เช่น HUSQVARNA, JONSERED เป็นต้น

- ปี 1980 บริษัทซื้อกิจการเหล็กยักษ์ใหญ่ ชื่อ GRANGES ซึ่งมีทั้งกิจการเหมืองเหล็ก ทองแดง และอลูมิเนียม ซึ่งล้วนแต่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าของบริษัท ๆ มียอดขายรวมประมาณ 23 พันล้านโครเนอร์สวีเดน (75.9 พันล้านบาท)

- ปี 1984 การซื้อกิจการซานุสซี่ ถือเป็นการเทคโอเวอร์ครั้งสำคัญ เพราะทำให้อีเลคโทรลักซ์ผงาดขึ้นเป็นผู้นำในตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าของโลก และยังทำให้บริษัทเป็นที่หนึ่งในบรรดาผู้ผลิตอุปกรณ์สำหรับภัตตาคาร ร้านอาหาร บริษัทได้ขยายตัวเข้าไปในตะวันออกไกลและโอเชียเนียด้วย

- บริษัทได้ซื้อกิจการของ ไวท์ คอนโซลิเดทเตท อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่อันดับ 3 ในสหรัฐฯ ทำให้บริษัทมีแบรนด์สำคัญ ๆ เข้ามาในกลุ่ม ได้แก่ ฟริจิแดร์ กิบสัน เคลวิเนเตอร์ และไวท์ เวสติ้งเฮ้าส์ ในปีนี้บริษัทมียอดขายรวม 53 พันล้านโครเนอร์สวีเดน (174.9 พันล้านบาท)

- ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 บริษัทวางจำหน่ายสินค้าตู้เย็นประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ครึ่งหนึ่งของสินค้าเดิม และปีนี้เองที่บริษัทประกาศใช้นโยบายผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการผลิตตู้เย็นที่ปลอดสาร CFC (สารตัวนี้สามารถทำลายระดับโอโซนในชั้นบรรยากาศโลกได้)

- อีเลคโทรลักซ์ฉลองครบรอบ 75 ปีในปี 1994 ด้วยยอดขายสูงกว่า 100 พันล้านโครเนอร์สวีเดน (330 พันล้านบาท) และซื้อกิจการ AEG HAUSGERATE ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าชั้นนำในยุโรป

กลุ่มอีเลคโทรลักซ์ปัจจุบันเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับ 3 ในสหรัฐอเมริกาในฐานะที่เป็นเจ้าของบริษัท ฟริจิแดร์ นอกจากนี้ กลุ่มอีเลคโทรลักซ์ยังเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาพื้น และตู้เย็นระบบไม่มีคอมเพรสเซอร์สำหรับคาราวานและห้องพักในโรงแรมที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย

กลุ่มอีเลคโทรลักซ์มียอดขายรวมในปี 2538 ประมาณ 115.8 พันล้านโครเนอร์สวีเดน (382.14 พันล้านบาท) เทียบกับเมื่อปี 2537 มียอดขาย 108 พันล้านโครเนอร์สวีเดน (356 พันล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 7.2% ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตของยอดขาย ใกล้เคียงกับในปีก่อนหน้า

กลยุทธ์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ในต้นปี 1990 ซึ่งกลุ่มอีเลคโทรลักซ์ เริ่มให้ความสำคัญกับการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือไม่ใช้วัตถุดิบที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นวัตถุดิบที่สามารถนำมารีไซเคิลใช้งานไดอีกนั้น สาเหตุเพราะทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภคซึ่งมีฐานอยู่ในยุโรปเป็นกลุ่มประชากรที่มีความตระหนักในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมสูงมาก ลูกค้าของบริษัทไม่ว่าจะเป็นกิจการด้านที่อยู่อาศัย บริษัทก่อสร้าง เทศบาล และคู่ค้ารายใหญ่ ต่างนำประเด็นเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในนโยบายการซื้อสินค้าของตน เป็นเหตุให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเติบโตขึ้นอย่างเด่นชัด

บริษัทได้ดำเนินโครงการค้นคว้าและวิจัยหรือทำ R&D เพื่อพัฒนาการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลงานค้นคว้าวิจัยที่ได้ทำให้บริษัทสามารถสร้างกระบวนการผลิต และได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในหลากหลายขั้นตอนและรูปแบบ อาทิ

- เครื่องล้างจานรุ่นใหม่ของ AEG มีระดับเสียงต่ำสุดและใช้น้ำน้อยที่สุดในบรรดาสินค้าประเภทเดียวกันที่วางจำหน่ายในท้องตลาด

- เครื่องซักผ้ารุ่นใหม่ของอีเลคโทรลักซ์ใช้น้ำน้อยกว่าสินค้าคู่แข่งประเภทเดียวกันที่ดีที่สุดในตลาดถึง 20% กล่าวคือ ใช้น้ำเพียง 80 ลิตรเท่านั้นในการซักแต่ละครั้ง ซึ่งน้อยกว่าเครื่องซักผ้าอีเลคโทรลักซ์รุ่นก่อนถึง 33%

- HUSQVARNA ผลิตเลื่อยโซ่ที่ใช้ตัดต้นไม้และเครื่องตัดหญ้าแบบใหม่ที่ใช้เครื่องยนต์ 2 จังหวะและมีเครื่องปรับสภาพควันไอเสีย สินค้าทั้ง 2 ใช้พลังงานน้อยลงกว่าสินค้ารุ่นเดิมถึง 30%

- นอกจากนี้ HUSQVARNA และ FLYMO ยังผลิตเครื่องตัดหญ้าในสนามรุ่นใหม่ด้วย

- ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอย่างหนึ่งในกลยุทธ์ด้านนี้ คือ ตู้เย็น ซึ่งอีเลคโทรลักซ์เริ่มผลิตตู้เย็นขนาดเล็กที่ใช้ในห้องพักในโรงแรม ซึ่งประหยัดการใช้พลังงานเมื่อเทียบกับสินค้าเดิมได้ถึง 40% และการใช้สาร CFC ในตู้เย็นก็เริ่มลดปริมารลงจนไม่มีการใช้สารประเภทนี้ในกระบวนการผลิต และในผลิตภัณฑ์ตู้เย็นของอีเลคโทรลักซ์ตั้งแต่ปี 1993 - 1994

ในปี 1995 บริษัทได้ตั้งแผนกงานใหม่ขึ้น เพื่อดูแลกระบวนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แผนกงานนี้มีภาระหน้าที่พัฒนากลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของกลุ่ม คิดค้นนโยบายแผนงาน เพื่อสนับสนุนและเป็นตัวกระตุ้นให้มีการทำตลาดสินค้า และการผลิตสินค้าแต่ละชนิดตามแนวทางเรื่องสิ่งแวดล้อม

ระบบการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า ENVIRONMENTAL MANAGEMENT SYSTEM (EMS) ซึ่งยึดหลักมาตรฐานอังกฤษ หรือ BS7750 และระบบการตรวจสอบและควบคุมสิ่งแวดล้อมของ EU หรือที่เรียกว่า EMAS ถูกนำมาใช้ในโรงงาน 5 แห่งของกลุ่มอีเลคโทรลักซ์ในยุโรปในปี 1995

โรงงาน STORKOK ของอีเลคโทรลักซ์ที่เมือง ALINGSAS เป็นโรงงานแรกที่สวีเดนที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน BS7750 ต่อมาโรงงานในอิตาลี เยอรมัน และเดนมาร์ก ก็ได้รับการรับรองเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานนี้ด้วย

ระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมของกลุ่มอีเลคโทรลักซ์ทั้งหมดได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งมาตรฐานนี้จะถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานสากลในเรื่องการจัดการสิ่งแวดล้อม เป้าหมายก็เพื่อที่จะให้โรงงานทุกแห่งมีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานนี้ให้ได้ภายในปี 2000

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่า ผลิตภัณฑ์ทุกประเภทของกลุ่มอีเลคโทรลักซ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพการใช้งานเยี่ยม และมีคุณลักษณะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประกอบกับใช้พลังงานต่ำ ซึ่งแผนก R&D ของกลุ่มฯ ก็มีการคิดค้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์เครื่องกรองน้ำที่ให้การรับรองว่า สามารถกรองน้ำได้บริสุทธิ์ 100% มีชื่อว่าเครื่องกรองน้ำ RO400

ตลาดน้ำดื่มในประเทศไทยนั้น มีมูลค่าถึง 4,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าน้ำดื่มที่ได้มาตรฐานการรับรองจริง ๆ นั้น ก็ยังอาจมีสิ่งเจือปนได้ นอกจากนี้ ราคาน้ำดื่มก็มีการขยับขึ้นจนยากที่กระทรวงพาณิชย์จะควบคุมได้ทั่วถึง ดังนั้น บริษัทจึงเล็งเห็นโอกาสการทำตลาดเครื่องกรองน้ำดื่มว่า จะสามารถแทรกเบียดสินค้ายี่ห้ออื่น ๆ ที่มีอยู่ในตลาดแล้วได้ แม้ว่าสินค้าของบริษัทตัวนี้จะตั้งราคาไว้ค่อนข้างสูงมากก็ตาม

การตั้งราคาสูงและวางสินค้าในตลาดบนเป็นกลยุทธ์อย่างหนึ่งของบริษัท อย่างไรก็ดี เมื่อมีการตั้งโรงงาน เพื่อการผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีการบริโภคกันมากในภูมิภาคนี้ คาดว่า ต้นทุนการผลิตของบริษัทน่าจะต่ำลงจนสามารถมีราคาสินค้าที่แข่งขันได้ดีกว่านี้

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us