Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2539








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2539
หุ้นปูนใหญ่แข็งไม่ไหวตามพื้นฐาน             
โดย ศิริรัตน์ ภัตตาตั้ง กุสุมา พิเสฏฐศลาศัย
 

 
Charts & Figures

งบการเงินรวมของบจ.ปูนซีเมนต์ไทย
โครงสร้างรายได้ของกลุ่มปูนซิเมนต์ไทย
ผลประกอบการงวด 6 เดือนของบริษัทจดทะเบียนในกลุ่มอุตสาหกรรมกระดาษ


   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ชุมพล ณ ลำเลียง
Stock Exchange
Cement




หุ้นปูนใหญ่มีราคาต่ำสุดในรอบ 3 ปี ต่างชาติเทขาย เพราะธุรกิจหลักของปูนใหญ่ตกต่ำ ซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างใกล้ถึงจุดอิ่มตัว เหล็กและกระดาษเจอสงครามราคา กำไรหาย ความหวังของปูนใหญ่หันหากลุ่มยานยนต์ เครื่องจักรกล และปิโตรเคมี พร้อมขยายการลงทุนโครงการขนาดยักษ์ในต่างแดน

ราคาหุ้นของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ถูกต่างประเทศเทขายจนมีราคาตกต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีที่หุ้นละ 820 บาท แม้ปัจจุบันราคาจะปรับตัวขึ้นมาบ้าง แต่ก็ยังไม่มากนัก

เหตุผลสำคัญมาจากการที่กลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ๆ เช่น เหล็ก กระดาษอยู่ในภาวะตกต่ำ ขณะที่กลุ่มปิโตรเครมีก็แข่งขันสูงจนกระทบต่ออัตรากำไรขั้นต้น (GROSS PROFIT MARGIN) แต่การที่มีการขยายกำลังการผลิต และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น จึงสามารถสร้างกำไรได้ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อน

ขณะที่กลุ่มเหล็กมียอดขาดทุนสุทธิประมาณ 800 ล้านบาทในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา และกลุ่มกระดาษกำไรได้ลดลงจาก 501.25 ล้านบาทในครึ่งปีก่อนเหลือ 152.61 ล้านบาทในครึ่งปีนี้ หรือลดลงประมาณ 69.55%

ชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย กล่าวว่า "กลุ่มเหล็กและกระดาษผลประกอบการตกเนื่องจากการลดลงของราคาสินค้าตามภาวะตลาดโลก โดยกลุ่มกระดาษผลประกอบการลดลงถึง 30% และธุรกิจเหล็กขาดทุน 10-15% หรือประมาณ 700 - 800 ล้านบาท แต่คาดว่าจะเป็นช่วงที่ตกต่ำที่สุดแล้ว และจะดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง"

ผลประกอบการงดครึ่งปีของปูนใหญ่ ฟ้องได้ดีในเรื่องดังกล่าว เพราะมีอัตราการขยายตัวของยอดขายสูงถึง 36% แต่กำไรสุทธิกลับเพิ่มขึ้นเพียง 11.96% เท่านั้น คือ จาก 3,873.01 ล้านบาท ในปี '38 เป็น 4,336.20 ล้านบาทในปีนี้ ซึ่งหากดูเฉพาะงบไตรมาส 2 แล้วจะพบว่ากำไรสุทธิของบริษัทขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น ขณะที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 18.52%

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้รวมประมาณ 56,026 ล้านบาท โดยมีโครงสร้างรายได้มาจากอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 30% กระดาษ 15% วัสดุก่อสร้าง 11% เหล็ก 11% จักรกลและอุปกรณ์ยานยนต์ 11% ปิโตรเคมี 7% เซรามิก 6% โลหะและไฟฟ้า 5% ซึ่งชุมพลมองว่า ในอนาคตธุรกิจปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง เหล็ก และเซรามิก จะชะลอตัวลง เนื่องจากปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้ มีอัตราการใช้ต่อคนค่อนข้างสูง ใกล้ถึงจุดอิ่มตัวแล้ว ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี โลหะ และไฟฟ้า อุปกรณ์ยานยนต์ ยังขยายตัวได้ดี

อย่างไรก็ตาม เหตุที่นักลงทุนต่างประทเศทิ้งหุ้นปูนใหญ่ เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งน่าจะมาจากความเสี่ยงทางการเงินของบริษัท ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุให้ต้องมีการเพิ่มทุนจำนวนมาก และทำให้เงินปันผลต่อหุ้นลดลงด้วย (DILUTION EFFECT)

ปูนใหญ่ถึงคราวใกล้เพิ่มทุน

หากพิจารณางบการเงินรวมงวด 6 เดือนของกลุ่มปูนใหญ่ จะพบว่า บริษัทมียอดหนี้สินสูงมาก โดยมีหนี้สินหมุนเวียน 64,699 ล้านบาท ขณะที่มีสินทรัพย์หมุนเวียนเท่ากับ 49,048 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เป็นสินค้าคงคลังสูงถึง 21,461 ล้าบาท หรือมีอัตราส่วนสภาพคล่อง (CURRENT RATIO) เท่ากับ 0.76 เท่า และมีอัตราวนสภาพคล่องอย่างเร็ว (QUICK RATIO) เท่ากับ 0.43 เท่าเท่านั้น

ในส่วนของสินทรัพย์รวมปูนใหญ่มียอดถึง 123,686 ล้านบาท ขณะที่มีส่วนของผู้ถือหุ้นเพียง 31,305 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E RATIO) เท่ากับ 3.95 เท่า

แม้ว่าความเป็นจริง ปูนใหญ่จะมีความเสี่ยงทางด้านหนี้สินสูงอย่างนี้มาตลอด โดยครึ่งปีก่อนมีอัตราส่วนสภาพคล่อง 0.88 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน 3.49 เท่า แต่หากเทียบกับอุตสาหกรรมโดยทั่วไปแล้ว พบว่า บริษัทส่วนใหญ่จะพยายามรักษาอัตราส่วนสภาพคล่องให้อยู่ในระดับ 1 เท่า และรักษาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนไม่ให้เกิน 3 เท่า เนื่องจากจะมีผลโดยตรงต่ออัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงิน ทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงตามภาวะความเสี่ยงของกิจการ

แต่เนื่องจากกลุ่มปูนใหญ่มีธุรกิจที่ทำยอดขายรวมปีละนับแสนล้านบาท กำไรสุทธิปีละหลายพันล้านบาท มีพื้นฐานทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง มีฐานลูกค้ากว้างขวาง ทำให้ไม่มีปัญหาในการกู้หนี้ยืมสินมาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม การขยายการลงทุนอย่างมหาศาลของกลุ่มปูนใหญ่ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์เพิ่มขึ้น 15,540 ล้านบาท และลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทอื่นเพิ่มขึ้น 3,052 ล้านบาท บริษัทได้ใช้เงินลงทุนไปแล้วทั้งสิ้น 18,592 ล้านบาท โดยแหล่งเงินทุนมาจากการกู้ระยะสั้น 10,104 ล้านบาท และกู้ระยะยาว 3,367 ล้านบาท ที่เหลือมาจากทุนหมุนเวียนของบริษัท คาดว่า ภายในปีนี้กลุ่มปูนใหญ่จะมีการลงทุนทั้งสิ้นกว่า 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งหมายถึงบริษัทต้องมีภาระการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจุบันต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของบริษัทอยู่ในระดับหลายพันล้านบาทต่อปีแล้ว

นอกเสียจากกลุ่มปูนใหญ่จะไม่ขยายการลงทุนอีกเท่านั้นจึงจะหยุดยั้งเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนได้ เนื่องจากความเสี่ยงทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นด้วย

ชุมพล กล่าวแต่เพียงว่า ตนไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนมากนัก แต่จะให้ความสำคัญในงบกระแสเงินสดมากกว่า ว่ามีเงินเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายและลงทุนหรือไม่

กลุ่มเหล็กขาดทุน 800 ล้านบาท
จุดกำไรปูนใหญ่ร่วง

การทุ่มราคาเหล็กในประเทศไทยเริ่มเกิดขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3 ของปีที่ผ่านมา โดยมีเหล็กจากรัสเซียและโปแลนด์เข้ามาขายในประเทศเป็นจำนวนมากในราคาที่ถูกกว่าราคาภายในประเทศตันละ 500 - 1,000 บาท ทำให้ผู้ผลิตในประเทศจำต้องลดราคาสินค้าลงมาอยู่ระดับใกล้เคียงกัน เพื่อระบายสินค้า และมีการลดกำลังการผลิตเหล็กลงเพื่อลดการขาดทุน

ในปี 2538 กลุ่มปูนใหญ่ประสบปัญหาจากการทุ่มราคาดังกล่าว ทำให้ผลประกอบการของกลุ่มเหล็กขาดทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ในครึ่งปีนี้สถานการณ์กลับเลวร้ายลงไปอีก เมื่อผลประกอบการของกลุ่มเหล็กมียอดขาดทุนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท แม้วิรัช กฤตผล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเหล็กจะพยายามลดต้นทุนการผลิต ลดกำลังการผลิต และชะลอแผนการลงทุนแล้วก็ตาม

บริษัท เหล็กซีเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยถือหุ้น 100% ได้ลดกำลังการผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณในบริษัท สยามยามาโตะ จำกัด (เหล็กซีเมนต์ไทยถือหุ้น 51%) ลงจากกำลังการผลิตเต็มที่ 6 แสนตันเหลือ 4.5 - 5 แสนตัน พร้อมทั้งทบทวนแผนการลงทุนใหม่ เช่น โครงการเหล็กพรุน ซึ่งบริษัทได้ยกเลิกแผนการเข้าไปถือหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท ร่วมทุนเหล็กไทย จำกัด จากสัดส่วน 12% เป็น 40% เนื่องจากไม่มั่นใจว่าโครงการจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการทุ่มตลาดหรือไม่ และอาจจะหันมาใช้วิธีรับซื้อเหล็กพรุนแทนการผลิตเอง

มาตรการเฉพาะหน้าที่รัฐบาลออกมาช่วยเหลืออุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศ คือ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (เซอร์ชาร์จ) เพิ่มขึ้น ซึ่งชุมพลให้ความเห็นว่า "เป็นแต่เพียงให้ไม่ขาดทุน แต่คุ้มทุน ถ้าเผื่อจะกำไรผมก็ไม่รู้ว่าจะเมื่อไหร่ ธุรกิจพวกนี้ราคาและสภาพตลาดจะขึ้นลงเป็นวงจร เพราะฉะนั้นจะมีช่วงที่มีกำไร และบ่อยครั้งจะกำไรมากทีเดียว แต่ก็มีบางช่วงที่ขาดทุนมาก ปัจจุบันก็เป็นช่วงที่มีกำไรค่อนข้างยาก ปัจจุบันก็เป็นช่วงที่มีกำไรค่อนข้างยาก และมีหลายบริษัทประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศไทย"

ทั้งนี้ รัฐมีการเพิ่มค่าเซอร์ชาร์จสำหรับเหล็กโครงสร้างรูปพรรณจาก 4% เป็น 16% เหล็กไร้สนิมและเหล็กรีดเย็นเพิ่มจาก 4% เป็น 9% เหล็กลวดแรงดึงสูง พิกัด 5 มม. ขึ้นไป จาก 0% เป็น 10% และเหล็กลวดชนิดอื่น ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 17% โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2539 ถึง 20 สิงหาคม 2540 เมื่อนำไปรวมกับภาษีนำเข้าอีก 4% 1% 10% และ 3% ตามลำดับแล้ว ทำให้อัตราภาษีของไทยอยู่ที่ประมาณ 20%

ราคาขายเหล็กรูปพรรณในประเทศเฉลี่ยตันละ 425-500 เหรียญสหรัฐ ขณะที่เหล็กนำเข้าถึงท่าเรือกรุงเทพฯ ราคาขายประมาณตันละ 330-350 เหรียญสหรัฐเท่านั้น เมื่อมีภาษีนำเข้าบวกเซอร์ชาร์จประมาณ 20% ก็จะทำให้ราคานำเข้าและราคาขายในประเทศอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน ซึ่งทำให้ป้องกันการทุ่มตลาดไปได้พอสมควร

วิรัช มองว่า ตอนนี้ปัญหาสำคัญ คือ เรื่องราคาของเศษเหล็กที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ไทยยังต้องอาศัยการนำเข้า "บางครั้งราคามันขึ้นไปสูงมากก็กระทบต้นทุนเราอย่างตอนนั้นเศษเหล็กราคาขึ้น แต่ราคาขายของเรากลับลง มาร์จิ้นมันก็ไม่ได้"

ส่วนการใช้เหล็กพรุนแทนเศษเหล็กก็ยังทำได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากมีผู้ผลิตน้อยลง ราคาไม่แน่นอน และมีปัญหาในการหลอม กล่าวคือ เมื่อหลอมจะมีฟองอากาศ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องชองราคาแล้วก็มิได้ถูกกว่าเศษเหล็กมากนัก

นอกจากนี้ ปัญหาภาวะอุตสาหกรรมก่อสร้างที่อยู่อาศัย และสาธารณูปโภคซึ่งตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2538 นั้น ยังคงมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการระบายสินค้า และการแข่งขันในอุตสาหกรรมเหล็กด้วย

"เหล็กเป็นธุรกิจที่ลงทุนสูง และเป็น COMMODITY ซึ่งราคาจะขึ้น ๆ ลง ๆ และพอดีกลุ่มเหล็กของเราลงทุนในเหล็กก่อสร้างไป 3,000 กว่าล้านบาท ลงทุนในเหล็กสยามอีก 1,000 กว่าล้านบาท และตอนนี้กำลังจะไปที่เหล็กรีดเย็นอีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเราต้องจัดหาเงินมาทำให้มีภาระทางการเงินสูง ขณะที่ผลตอบแทนยังไม่เข้ามา อย่างเหล็กก่อสร้างพอเอาตัวรอดได้แล้ว ส่วนสยามยามาโตะตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองผลิต (LEARNING CURVE) อุตสาหกรรมหนักเหล่านี้คงต้องใช้เวลาตั้งหลักประมาณ 3 ปี" วิรัชกล่าวสรุป

เหล็กครบวงจรรอรัฐสนับสนุน

แม้ผลประกอบการของกลุ่มเหล็กจะออกมาขาดทุน แต่กลุ่มปูนซีเมนต์ไทยได้มองไปถึงการผลิตเหล็กครบวงจรแล้ว โดยกำลังศึกษารายละเอียดอยู่

ชุมพล ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า การผลิตเหล็กครบวงจรเป็นสิ่งที่ประเทศไทยน่าจะมี แต่มันจำเป็นต้องอาศัยท่าเรือน้ำลึก ต้องมีที่ดินจำนวนมาก และต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล โดยทั่วไปในประเทศต่าง ๆ การลงทุนในธุรกิจนี้ หากรัฐไม่เข้ามาสนับสนุนในระยะแรก ก็จะทำได้ลำบากมาก

"ผมคิดว่าที่ปูนดูอยู่ คือ การหาลู่ทาง แต่จะทำหรือไม่ก็อยู่ที่นโยบายของรัฐว่า จะสนับสนุนหรือไม่ เพราะดูแล้วโครงการเหล็กครบวงจร ถ้าให้เอกชนทำเองด้วยกำลังที่เอกชนมีอยู่คงทำได้ยากมาก ๆ" ชุมพล กล่าว

วิรัช ยกตัวอย่างเสริมว่า ในประเทศเกาหลีมีท่าเรือน้ำลึก ซึ่งสามารถรับเรือขนาด 250,000 ตันได้ และมีระบบความปลอดภัยในเรื่องของการขนส่งแร่ ขนส่งถ่านหินเข้ามา การมีท่าเรือขนาดใหญ่จะประหยัดในเรื่องต้นทุนค่าขนส่งไปได้มาก

แม้ว่าปัจจุบัน ไทยจะมีท่าเรือน้ำลึกที่เพียงพอที่จะใช้ในอุตสาหกรรมเหล็กอยู่แล้ว 2 แห่ง คือ ท่าเรือที่บางสะพานของ บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสทรี และท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ ของกลุ่มเอ็น ที เอส สตีลกรุ๊ป แต่หากปูนใหญ่ไม่มีท่าเรือของตัวเองก็ไม่สามารถสู้ต้นทุนค่าขนส่งได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กลุ่มปูนใหญ่กำลังมองหาที่ดินจำนวนมาก และศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับการสร้างท่าเรือน้ำลึกอยู่ ซึ่งหากสามารถทำได้จะต้องลงทุนสูงมาก เป็นหลักหมื่นล้านบาท และจะต้องประกอบธุรกิจขนส่งไปด้วย เพื่อให้มีฐานรายได้มากขึ้น

ขณะที่เหล็กครบวงจรยังทำไม่ได้ กลุ่มปูนใหญ่ก็มิได้อยู่เฉย กลับมีการร่วมทุนกับนิปปอนสตีล ในโครงการเหล็กรีดเย็น ซึ่งมีมูลค่าโครงการถึง 20,000 ล้านบาท โดยถือหุ้นในสัดส่วน 30% ซึ่งคาดว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถดำเนินการผลิตได้ในปี 2541

ชุมพล มองว่า เหล็กรีดเย็นมีความเสี่ยงไม่มากนัก เมื่อเทียบกับเหล็กรีดร้อน ซึ่งเป็นวัตถุดิบต้นทาง เขาให้เหตุผลว่า "เหล็กรีดเย็นมีขนาดความบางหลายชนิด มีหน้ากว้างหน้าแคบ เพราะฉะนั้น การนำเข้าให้ได้ตามต้องการจะไม่ง่ายนัก ขณะที่การผลิตภายในประเทศจะสามารถส่งได้อย่างรวดเร็วและง่ายกว่า"

กระดาษ…อีกธุรกิจที่แข่งขันสูงมาก

แม้ว่าผลประกอบการครึ่งปีแรกของกลุ่มกระดาษ จะยังสามารถรักษาระดับกำไรไว้อยู่ได้ แต่ก็เป็นระดับกำไรที่ตกต่ำจากเดิมเป็นอย่างมาก พิจารณาได้จากผลประกอบการของกลุ่มบริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) ในครึ่งปีนี้ มีกำไรสุทธิเพียง 152 ล้านบาท ลดจากลางปี 2538 ที่เคยทำกำไรได้สูงกว่า 500 ล้านบาท หรือลดลงเกือบเท่าตัว แม้ว่ายอดขายตกลงเพียงเล็กน้อยก็ตาม กล่าวคือ จาก 1,164 ล้านบาท มาเป็น 1,096.57 ล้านบาทของเฉพาะบริษัท ถ้ารวมทั้งกลุ่มบริษัทเยื่อกระดาษสยามฯ แล้ว ยอดขายลดจาก 8,616 ล้านบาท เหลือ 8,484 ล้านบาท

"ในภาวะเช่นนี้ยังสามารถรักษาระดับไม่ขาดทุนทั้งกลุ่มก็ถือว่าเป็นผลประกอบการที่ไม่เลวร้ายนัก" ชุมพล กล่าวคล้ายปลอบใจตัวเอง

เหตุที่ทำให้กำไรลดลงก็ไม่แตกต่างไปจากธุรกิจเหล็ก นั่นคือเป็นเพราะภาวะอุตสาหกรรมพาไป ด้วยผลจากราคาเยื่อกระดาษและกระดาษที่ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากตั้งแต่ช่วงต้นปี เพราะประเทศจีนที่เป็นผู้นำเข้ากระดาษรายใหญ่ของโลกจำกัดปริมาณนำเข้ากระดาษ จึงส่งผลกระทบไปทั่วโลก

นอกจากนี้ ในประเทศยังได้รับผลจากการตีตลาดจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมด้วยวัตถุดิบกระดาษ เนื่องจากมีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์กว่าในไทย ต้นทุนเยื่อกระดาษและกระดาษจึงถูกกว่าในประเทศไทย

ภาวะเช่นที่ว่า จึงกระทบถึงผู้ประกอบการในไทยแทบทุกราย ไม่ใช่เฉพาะในเครือปูน โดยดูได้จากผลประกอบการครึ่งปีแรกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ รายอื่น ดังเช่น บมจ.ฟินิคซ พัลพ์ แอนด์ เพเพอร์ ซึ่งทำธุรกิจผลิตเยื่อและกระดาษเช่นเดียวกัน เปลี่ยนจากกำไรในครึ่งปีที่แล้วเป็นขาดทุนในครึ่งปีนี้

แม้หลายคนคาดว่า ในช่วงครึ่งปีหลัง ราคากระดาษจะเริ่มกระเตื้องขึ้น แต่ในระยะยาวแล้ว อุตสาหกรรมกระดาษย่อมต้องเผชิญกับภาวะการแข่งขันกับผู้ผลิตจากต่างประเทศ จากการเปิดเสรีทางการค้าตามข้อตกลงของเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และองค์การการค้าโลก (WTO)

สิ่งที่จะช่วยให้ผู้ผลิตสามารถอยู่รอดได้ดีที่สุดก็คือ การมีต้นทุนการผลิตต่ำ ยิ่งมีต้นทุนต่ำเท่าไรก็ยิ่งปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในภาวะที่ราคาหันหัวลง

แม้ธุรกิจผลิตเยื่อกระดาษของกลุ่มปูนฯ จะไม่ได้ไปแข่งขันกับค่ายต่าง ๆ เพราะเน้นนโยบายผลิตเพื่อสนับสนุนกิจการภายในเครือซึ่งมีรวมกัน 13 บริษัท มีกำลังการผลิตเยื่อกระดาษ 1.3 แสนตันต่อปี โดยผลิตวันละ 1 พันตันต่อวัน แต่ในส่วนกระดาษและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งมีกำลังการผลิตวันละประมาณ 8.3 แสนตันต่อปี ก็ย่อมหนีไม่พ้นการแข่งขันกับค่ายอื่น ๆ

ฉะนั้น หากต้นทุนมีต้นทุนสูงปลายทางก็ต้องมีต้นทุนสูงไปด้วย ซึ่งทำให้เสียเปรียบในการแข่งขัน แม้กระทั่งกับคู่แข่งในประเทศเอง เช่น บมจ.แอ๊ดวานซ์ อะโกร ซึ่งมีการผลิตกระดาษครบวงจรอยู่แล้ว

ความมุ่งหวังของกลุ่มปูนซีเมนต์ก็คือ การปรับตัวเองไปสู่ธุรกิจกระดาษอย่างครบวงจร ซึ่งเริ่มตั้งแต่การปลูกป่า ผลิตเยื่อกระดาษ ผลิตกระดาษ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์กระดาษ แต่จุดอ่อนของปูนใหญ่ในขณะนี้ก็คือ ยังไม่มีแหล่งวัตถุดิบเป็นของตนเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้ต้นทุนผลิตสูงกว่าคู่แช่งแล้ว ยังมีปัญหาหากจะขยายกำลังการผลิต เพราะอาจมีวัตถุดิบไม่เพียงพอป้อนโรงงาน

เรื่องนี้ ฉายศักดิ์ แสงชูโต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ของปูนใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกลุ่มกระดาษและบรรจุภัณฑ์ เคยยอมรับว่า ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตกระดาษได้ เพราะไม่มีป่าไม้เป็นของตัวเอง ทำให้ต้นทุนผลิตสูงกว่าคู่แข่งอย่างกลุ่มแอ๊ดวานซ์ อะโกร

ว่าไปแล้วช่วงนี้ กลุ่มปูนซีเมนต์ไทยยังไม่มีความเคลื่อนไหวในเชิงรุกกับธุรกิจกระดาษและเยื่อกระดาษมากนัก แต่ก็ใช่ว่าจะเพิกเฉยต่อจุดอ่อนดังกล่าว แผนการแก้ปัญหาวัตถุดิบได้เริ่มทำแล้วทั้งในและต่างประเทศ

โดยในประเทศ บริษัทเร่งส่งเสริมให้เกษตรกรในบริเวณใกล้เคียงที่ตั้งโรงงานแถบราชบุรีและกาญจนบุรีปลูกป่ายูคาลิปตัสแทนการปลูกอ้อย ซึ่งได้ลงทุนไปประมาณ 50 ล้านบาทเมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพ่อเป็นแหล่งวัตถุดิบรองรับการเติบโตอุตสาหกรรมกระดาษของกลุ่มในอีก 10 ปีข้างหน้า อีกทั้งยังมีการเข้าไปลงทุนร่วมกับองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้เพื่อปลูกป่าและตั้งโรงงานผลิตเยื่อกระดาษอีกด้วย

ส่วนในต่างประเทศ ร่วมลงทุนกับบริษัท SURYARAYA WAHANA ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มแอสตรา อินเตอร์เนชั่นแนล ทั้งนี้กลุ่มปูนฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 70% ในโครงการผลิตเยื่อกระดาษใยสั้น ที่รัฐกาลิมันตัน ประเทศอินโดนีเซีย มูลค่าประมาณ 1.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โรงงานเยื่อกระดาษที่ว่าจะใช้กระถินเทพาเป็นวัตถุดิบหลัก ซึ่งถือเป็นการเพิ่มแหล่งวัตถุดิบของกลุ่มปูนฯ อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากกลุ่มแอสตราเป็นกลุ่มที่มีพื้นที่ปลูกกระถินเทพาเป็นของตนเองถึง 6.5 แสนไร่

ปัจจุบันปูนใหญ่ ได้ทดลองนำชิ้นไม้สับที่ทำจากกระถินเทพา จากประเทศอินโดนีเซียเข้ามาทดลองผลิตที่โรงงานเยื่อกระดาษสยามด้วย

"ถึงแม้เราจะไม่ได้ร่วมลงทุนแต่เราก็รับเยื่อกระดาษจากบริษัทที่จะตั้งใหม่นี้อยู่แล้ว แต่การเข้าร่วมลงทุนจะทำให้เราได้ผลตอบแทนกลับมาในรูปของเงินปันผลด้วย" สิงห์ ตังทัตสวัสดิ์ อดีตรองกรรมการผู้จัดการ บมจ.เยื่อกระดาษสยามกล่าวไว้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ก่อนย้ายไปรับตำแหน่งผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ

อีกทั้งในส่วนการผลิตกระดาษ ก็ได้เข้าร่วมลงทุนผลิตกระดาษคราฟต์ ที่เมืองคารุมปิท ประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 1.85 แสนตัน ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท ซึ่งการขยายฐานการผลิตย่อมเป็นการกระจายความเสี่ยงและช่วยลดต้นทุนการผลิตกระดาษอีกด้วย

สำหรับทิศทางในปีนี้ซึ่งมีผลประกอบการไม่สดสวยเท่าปีที่ผ่านมานั้น ชุมพลมองแนวโน้มว่า สถานการณ์น่าจะดีขึ้น "เรื่องราคากระดาษและการทุ่มราคาจากต่างประเทศตอนนี้มีแนวโน้มที่ทรงตัวแล้ว ไม่มีแนวโน้มที่จะทรุดตัวลง คิดว่า น่าจะดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่สามารถเห็นชัดว่าจะดีขึ้นมากน้อยแค่ไหน" นั่นก็หมายความว่า ผลประกอบการของกลุ่มกระดาษ และบรรจุภัณฑ์ย่อมจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นด้วย ทว่าอาจจะไม่สูงถึงขั้นที่ฉายศักดิ์เคยคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ต้นปีว่า ยอดขายได้ทะลุสองหมื่นล้านบาท หรือเติบโต 15% จากปีที่แล้ว

ปูนซีเมนต์แข่งเดือด
มาร์จิ้นถอยเหลือ 11%

แม้ว่ารายได้ของธุรกิจปูนซีเมนต์ ซึ่งเป็นรายได้หลักประมาณ 30% ของรายได้ทั้งกลุ่มเองก็มีปัญหาในเรื่องของการแข่งขันสูง ทำให้กำไรขั้นต้นของบริษัทลดลงจากประมาณ 13% ในปีก่อน เหลือเพียง 10% ในขณะนี้ มูลเหตุสำคัญ คือ ผู้ผลิตในประเทศมีการขยายกำลังการผลิตจำนวนมาก จนเกินความต้องการใช้ภายในประเทศ ประกอบกับภาวะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงต่อเนื่องหลายปี และคาดว่าจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ในระยะสั้น

ในปี 2539 บริษัทบริการข้อมูลผู้จัดการ จำกัด ได้ประมาณการการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศว่า จะอยู่ที่ 38.53 ล้านตันเพิ่มขึ้นจากปี 2538 ที่ 33.6 ล้านตัน คิดเป็น 14.67% โดยมีการบริโภคต่อหัวเพิ่มขึ้นจาก 560 กก.ต่อคนในปีก่อนเป็น 634 กก.ต่อคน หรือคิดเป็น 13.21% ขณะที่กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ภายในประเทศมีการขยายเพิ่มขึ้นจาก 34.95 ล้านตันในปีก่อนเป็น 41.05 ล้านตันในปีนี้ หรือเพิ่มขึ้น 17.45% ซึ่งหมายถึงกำลังการผลิตในประเทศจะมีสูงกว่าความต้องการใช้ประมาณ 2.52 ล้านตันในปีนี้

ทั้งนี้ นับแต่ปี 2535 เป็นต้นมากำลังการผลิตปูนซีเมนต์ภายในประเทศได้ขยายตัวขึ้นมาก เนื่องจากการเปิดเสรี ทำให้มีผู้ผลิตปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นเป็น 11 รายจากเดิมที่มีอยู่เพียง 3 ราย และเป็นเหตุให้กำลังการผลิตปูนซีเมนต์สูงเกินความต้องการใช้ภายในประเทศมาตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา

ชุมพล มีแผนที่จะปรับโครงสร้างรายได้จากธุรกิจปูนซีเมนต์ลงไปอีก โดยคาดว่าในอีก 5 ปีธุรกิจนี้จะทำรายได้ประมาณ 20% ของยอดขายรวม เนื่องจากมองเห็นว่าตลาดปูนซีเมนต์อีก 5-6 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว โดยประมาณจากปริมาณการบริโภคต่อคนว่า ในอีก 4-5 ปีจะอยู่ในระดับ 1 ตันต่อคน โดยขณะนี้มีปริมาณการใช้ประมาณ 600 กก.ต่อคนแล้ว

ปูน-วัสดุก่อสร้าง-เซรามิก
หันลงทุนในต่างประเทศ

ชุมพล มีความเห็นว่า ธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้าง เช่น ปูนซีเมนต์ วัสดุก่อสร้าง และเซรามิกภายในประเทศนั้น มีการแข่งขันสูง เนื่องจากผู้ประกอบการมีการขยายกำลังการผลิตมาก แม้กระทั่งปูนใหญ่เองก็มีการขยายการลงทุนภายในประเทศอีกหลายโครงการ เช่น โครงการปูนซีเมนต์สำเร็จรูป ขยายกำลังการผลิตของโรงงานกระเบื้องมุงหลังคาคอนกรีต โรงงานกระเบื้องใยหิน เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กลุ่มปูนใหญ่ได้มีการรุกเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นด้วย ทั้งใน จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม ลาว และพม่า เนื่องจากยังมองเห็นศักยภาพการเติบโตในตลาดเหล่านั้น

ในปี 2538 กลุ่มปูนใหญ่เข้าจับมือกับบริษัทมาลีว่าซ่า ที่ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อทำการผลิตกระเบื้องเซรามิก พร้อมขยายการลงทุนในสินค้าประเภทสุขภัณฑ์ โครงการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาคอนกรีต และแผ่นยิบซั่ม พร้อม ๆ กับลงทุนในจีนแผ่นดินใหญ่เพื่อผลิตกระเบื้องเซรามิก และแผ่นยิบซั่มเช่นกัน

สำหรับปี 2539 ปูนใหญ่ยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย เพื่อผลิตแผ่นยิบซั่ม ปูนซีเมนต์ และกระเบื้องมุงหลังคา พร้อม ๆ กับมองการลงทุนในประเทศอื่น ๆ ต่อไป

ชุมพล มองว่า การขยายตัวภายในประเทศของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะทำได้ไม่มากนัก เนื่องจากใกล้ถึงจุดอิ่มตัว

"ถ้ามองถึงแนวโน้มความต้องการในไทย เราคิดว่าพวกอุปกรณ์ไฟฟ้า ปิโตรเคมี เครื่องจักรกลจะมีโอกาสขยายตัวได้มากกว่าพวกวัสดุก่อสร้าง และเมื่อเป็นเช่นนั้น เชื่อว่า โครงสร้างรายได้ในส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพวกวัสดุก่อสร้างด้วย"

ความหวังใหม่จากกลุ่มยานยนต์

สวนกระแสกับธุรกิจเหล็กและกระดาษ กลุ่มยานยนต์ส่อแววของความสดใสให้เห็น ภาวะอุตสาหกรรมกำลังเปิดกว้างเต็มที่ ด้วยเพราะการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ของค่ายยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกาถึง 3 แห่ง ซึ่งได้แก่ จีเอ็ม ฟอร์ด และไครสเลอร์ ซึ่งเรียกรวมกันว่า "BIG THREE" หลังจากค่ายรถยนต์จากประเทศญี่ปุ่นได้ย้ายฐานการผลิตเข้ามาก่อนหน้านี้นานแล้ว กระทั่งหลายคนกล่าวว่า ประเทศไทยจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของดลก

"ตอนนี้กลุ่มยานยนต์ขยายตัวเร็วมาก เรามีความสามารถในการขยายตัวให้โตเท่ากับอุตสาหกรรม เราก็เหนื่อยอยู่แล้ว โดยทุก ๆ ปี เราสร้างโรงงานใหม่ปีละโรง" ประมนต์ สุธีวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส ซึ่งดูแลสายผลิตภัณฑ์โลหะและไฟฟ้าฉายภาพถึงภาวะกลุ่มยานยนต์เครือปูนฯ

ธุรกิจยานยนต์ของปูนใหญ่ มีตั้งแต่การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์รถยนต์ต่าง ๆ เช่น แบตเตอรี่ รวมทั้งผลิตยางรถยนต์ ซึ่งส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของชลาลักษณ์ บุนนาค ซึ่งดูแลเครื่องจักรกลและยานยนต์ และอีกส่วนอยู่ในความดูแลของประมนต์ ภายใต้กลุ่มโลหะและไฟฟ้า

หัวหอกในการสร้างรายได้ให้กับกลุ่มยานยนต์ในความดูแลของชลาลักษณ์ ก็คือ กลุ่มบริษัทยางสยาม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเมื่อปีที่แล้วสร้างรายได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท กำไรสุทธิ 205 ล้านบาท ส่วนในปีนี้ ชลาลักษณ์ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีรายได้ถึงหมื่นล้านบาท เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรม และกำไรจากบริษัทลูกในปีที่แล้วยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นแต่ในปีนี้คาดว่าจะผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว

การเข้ามาของกลุ่ม "BIG THREE" ทำให้กลุ่มยางสยามต้องเตรียมความพร้อม โดยจะมีการขยายกำลังการผลิตยางทั้งโรงงานที่มีอยู่ ให้เพิ่มขึ้นจาก 1.2 ล้านเส้นต่อปี เป็น 2.4 ล้านเส้นต่อปี เพื่อให้ทันกับการเติบโตของตลาดผู้ประกอบการรถยนต์ (OEM) โดยในตลาดนี้กลุ่มยางสยามมีส่วนแบ่งตลาด 25% ผู้นำตลาดเป็นของ BRIDGES TONE ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 65% ส่วนอีก 10% เป็นของค่าย GOODYEAR และอื่น ๆ

โอกาสที่กลุ่มยางสยามจะได้รับสิทธิ์ให้เป็นผู้ผลิตสินค้าป้อนกับกลุ่ม BIG THREE นั้น เอกสิทธิ์ สินธุสาร รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามมิชลิน มาร์เก็ตติ้ง แอนด์ เซลล์ บริษัทในเครือกลุ่มยางสยาม กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูง เพราะปัจจุบันนี้ บริษัทสาขาของมิชลินที่อเมริกานี้ได้ทำการป้อนยางมิชลินให้กับโรงงานของทั้งสามบริษัทอยู่แล้ว

"ทางกลุ่มยางสยามต้องการเป็นหนึ่งในผู้นำตลาดทั้งในประเทศและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้ได้" ชลาลักษณ์ ประกาศชัด

ส่วนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ต่าง ๆ นั้น ประมนต์ฉายภาพของกลุ่มว่า "ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมยานยนต์โต 20-30% ทุกปี กลุ่มเราก็ขยายตัวประมาณ 30% สองปีซ้อนมาแล้ว ปีนี้อาจจะลดลงบ้าง เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในครึ่งปีหลัง มีแนวโน้มจะลดลง คิดว่าการขยายตัวของทั้งปีจะอยู่ประมาณ 20%"

แม้ผลประกอบการในปีนี้อาจจะไม่เติบโตมากนัก แต่ในระยะยาวอุตสาหกรรมนี้มีแนวโน้มที่ดี กลุ่มปูนฯ จึงมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยในปลายปีนี้จะผุดโครงการขึ้น 2 โครงการ คือ โครงการระบบห้ามล้อ ซึ่งจะให้เงินลงทุนประมาณ 1,800 ล้านบาท ส่วนอีกโครงการเป็นการผลิตสเตียริ่ง ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 700-800 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มโครงการได้ในปลายปีนี้ ทั้งสองโครงการเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในเครือโตโยต้าจากญี่ปุ่น

เครือปูนใหญ่ฯ เริ่มต้นการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จากชิ้นส่วนเดี่ยว ๆ แต่เป้าหมายระยะยาวแล้วไม่ใช่เช่นนั้น ประมนต์เผยใจว่า "จริง ๆ เราอยากจะไปทำชิ้นส่วนประเภทที่มีฐานประกอบในตัวมากขึ้น อยากขยับความสามารถไปทำชิ้นส่วนที่ต้องใช้เทคนิคการประกอบสูงขึ้น" ซึ่งเขายอมรับว่ายังต้องใช้เวลาอีกนานพอสมควรกว่าที่ปูนฯ จะพัฒนาได้ถึงจุดนั้น

ส่วนประเด็นที่มีผู้จับตามองกันมากในปัจจุบันก็คือ การเข้าร่วมทุนกับกลุ่มจีเอ็มนั้น เรื่องนี้ชุมพล กล่าวว่า ยังไม่มีการเจรจาแต่อย่างใดทั้งสิ้น และหากจะเจรจากันก็ต้องปรึกษากันในรายละเอียดมากกว่านี้

เงื่อนไขสำคัญที่อาจจะเป็นอุปสรรคของการร่วมทุนก็คือ ค่ายปูนฯ ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารงาน ขณะที่กลุ่มจีเอ็มเองมีความต้องการเดิมว่า จะดำเนินธุรกิจด้วยตัวเอง 100%

"หลักอยู่ที่ว่า เรามีบทบาทที่จะช่วยให้ธุรกิจนี้ดีขึ้นได้อย่างไร และสัดส่วนการถือหุ้นก็ควรจะสูงพอที่ยังจะคุ้มเหนื่อย แต่ก็ไม่ได้ตั้งเกณฑ์เอาไว้ว่า ต้องกี่ % แต่ถ้าน้อยเกินไปเราก็คงไม่สนใจ ถ้าดูตามกฎหมายไทย หากถือหุ้นต่ำกว่า 25% ก็จะไม่มีสิทธิมีเสียง" ประมนต์เปรย นอกจากนี้แล้ว ปูนฯ ก็มีลูกค้าสำคัญ คือ โตโยต้าอยู่แล้ว หากร่วมทุนกับจีเอ็มอาจจะมีความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ (CONFLICT OF INTEREST) ซึ่งประมนต์ย้ำว่า ต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

สำหรับธุรกิจจักรกล ประกอบด้วย การผลิตและจำหน่ายเครื่องจักรทางด้านการเกษตร เครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม และอื่น ๆ ภายใต้ยี่ห้อคูโบต้า โดยรายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ ยังมาจากเครื่องจักรทางการเกษตรเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กลุ่มผู้บริหารได้ประกาศชัดว่า จะหันมาเน้นเครื่องจักรกลเพื่ออุตสาหกรรมมากขึ้น

ในส่วนของธุรกิจไฟฟ้า ปูนฯ มีแผนเข้าสู่ธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT จากที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อน แต่เพราะการพูดคุยถึงแนวโน้มที่สดใสของธุรกิจนี้กับชาญ อัศวโชค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อัลฟาเทค อีเล็คโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) จึงทำให้กลุ่มปูนฯ ตัดสินใจที่จะเดินหน้าสู่ธุรกิจ IT

งานแรก คือ การผลิตจอมอนิเตอร์สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ ที่จังหวัดระยอง ด้วยกำลังการผลิต 1.5 ล้านชิ้น เงินลงทุนขั้นต้น 4 พันล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะจัดตั้งขึ้นเป็นบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนประมาณพันล้านบาท โดยอยู่ระหว่างการหาผู้ร่วมทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งมีแผนต่อเนื่องไปสู่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และจอภาพแอลซีดี ขณะนี้อยู่ในช่วงศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

ส่วนการเข้าร่วมทุนกับอัลฟาเทคฯ เพื่อผลิตชิ้นส่วนอิเล็คทรอนิกส์นั้น ชุมพลปฏิเสธว่า ยังไม่มีแนวคิดนี้ "ผมรู้จักคุณชาญ ไม่เห็นคุณชาญเคยคุยเรื่องนี้ แต่ทางบริษัทยังไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่เข้าร่วม เพียงแต่ตอนนี้ยังไม่ได้คิดและไม่ได้เจรจากัน"


ลงทุนปิโตรเคมีห้าหมื่นล้านบาท

แม้กลุ่มปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา จะผจญปัญหาเรื่องราคาตกต่ำอันทำให้อัตรากำไรของผู้ประกอบการลดลง เช่นเดียวกับธุรกิจเหล็กและกระดาษ แต่อาจโชคดีที่ว่ายอดขายขยายตัวได้อย่างดี จึงทำให้เม็ดเงินที่เป็นกำไรไม่ตกต่ำลงนัก เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มมากนั่นเอง ซึ่งตามปกติจะเติบโต 1.5 - 2 เท่าของ GDP

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตรถยนต์ต่าง ๆ เข้ามา ซึ่งทำให้มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีไปเป็นส่วนประกอบในการจัดทำชิ้นส่วนรถยนต์

หลายค่ายต่างก็มุ่งขยายกำลังการผลิต เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการเปิดการค้าเสรีในอนาคต ย่อมจะมีคู่แข่งขันจากต่างประเทศเข้ามาด้วย ส่งผลให้แนวโน้มอุตสาหกรรมนี้จะมีการแข่งขันที่รุนแรงตามมา

กลยุทธ์ที่แต่ละค่ายต่างเลือกใช้ก็คือ การเป็นผู้ผลิตปิโตรเคมีครบวงจร เพื่อลดต้นทุนการผลิตไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทีพีไอ กลุ่มการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย และกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยเอง แต่ละกลุ่มต่างมีการขยับขยายกำลังการผลิต จนมีการคาดการณ์กันว่า อีกไม่กี่ปีข้างหน้า กำลังการผลิตในประเทศจะมีมากกว่าความต้องการ หรือโอเวอร์ซัปพลายนั่นเอง

ทว่า ในมุมมองของค่ายปูนใหญ่แล้ว ชุมพลไม่หวั่นกับปัญหานี้เพราะตลาดเป้าหมายของกลุ่มปูนซีเมนต์ไทยนั้นไม่เฉพาะตลาดในประเทศเท่านั้น แต่กินความถึงภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

"เราไม่มองเฉพาะความต้องการภายในประเทศ หากแต่มองภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ เพราะคาดว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่จะผลิตในต้นทุนที่แข่งขันได้"

เป้าหมายดังกล่าวทำให้กลุ่มปูนซีเมนต์ไทยขยายกำลังการผลิตในทุกทางทั้งในและต่างประเทศ โดยในประเทศหลังการขยายกำลังการผลิตต่าง ๆ ในปี 2542 ปูนซีเมนต์ไทยจะเป็นผู้ผลิตโพลีโอเลฟินส์รายใหญ่ที่สุดในอาเซียน

ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มปูนฯ ยังเพิ่มฐานการผลิตในต่างประเทศ โดยเข้าไปลงทุนโครงการผลิตเม็ดพลาสติกพีวีซี ในนามบริษัทสยามมาสเปี้ยนโพลีเมอร์ ที่เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งใช้เงินลงทุนประมาณ 1,500 ล้านบาท

ตามแผนการลงทุนในช่วง 2-3 ปีนี้ จะใช้เงินลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท ทั้งแผนการขยายกำลังการผลิตโครงการเดิมและโครงการใหม่ เพราะกลุ่มปูนมองว่า กำลังการผลิตที่สูงจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิตมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าต่ำลงและหมายถึงความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น

"เราคิดว่าปิโตรเคมีขั้นพื้นฐานทุกตัว เช่น โพลีเอทธีลีน โพลีสไตรลีน ในอาเซียนเราเป็นผู้ผลิตที่มีต้นทุนต่ำที่สุด และมีความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด" ชุมพล กล่าวอย่างมั่นใจถึงศักยภาพการแข่งขันที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ดี สถานการณ์ปิโตรเคมีในปีนี้ นักวิเคราะห์หลายค่าย คาดการณ์ว่า จะมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าปี 2538 แต่ก็ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 10% และราคาปิโตรเคมีน่าจะสูงขั้น ซึ่งกลุ่มปูนฯ คาดว่าจะทำยอดขายในปีนี้ได้ถึง 10,000 ล้านบาท และในระยะยาวชุมพลหวังว่า กลุ่มนี้จะเป็นตัวจักรสร้างรายได้ที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง

แม้ปูนใหญ่จะเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานแข็งแกร่งมาโดยตลอด มีการกระจายความเสี่ยงโดยการไปลงทุนในหลากหลายธุรกิจทั้งในไทย และต่างประเทศ แต่เมื่อภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย ธุรกิจหลักบางกลุ่มเข้าสู่วงจรขาลง บางกลุ่มใกล้จุดอิ่มตัวเข้าไปทุกที ขณะที่บางกลุ่มประสบปัญหาขาดทุนมหาศาลจากภาวะอุตสาหกรรมที่ผันผวน กลุ่มธุรกิจที่พอจะเชิดหน้าชูตาได้ในยามนี้ก็ยังมียอดรายได้ไม่สูงนัก

ในยามนี้แม้นักลงทุนต่างประเทศที่เคยให้ความเชื่อมั่นกับกลุ่มปูนใหญ่มาตลอดก็ยังไม่วายที่จะหวั่นไหว ยิ่งเมื่อนักวิเคราะห์แห่งค่ายดังบนถนนสีลมที่มีวอลุ่มซื้อขายของนักลงทุนต่างประเทศหนาแน่น ออกบทวิเคราะห์มาให้ระวังว่าหุ้นปูนใหญ่อาจจะปรับตัวลงไปต่ำกว่า 700 บาทต่อหุ้นด้วยแล้ว งานนี้หนาวหัวใจไปตาม ๆ กัน ขณะที่เสียงกระซิบจากค่ายอื่น ๆ แม้จะมองว่าคงไม่ตกต่ำขนาดนั้นแต่ก็ยังย้ำว่าให้ "ชะลอการลงทุน" ไว้ก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us