เป็นที่รู้กันว่าโครงการที่อยู่อาศัยซึ่งปะยี่ห้อ "หนึ่งในโครงการของรังสรรค์
ต่อสุวรรณ" นั้น ต้องเป็นโครงการที่สวยหรูและราคาแพง แต่เมื่อปี 2536
รังสรรค์ได้ลงมาจับตลาดล่างเป็นครั้งแรกในราคายูนิตละ 5 แสนบาทขึ้นไป สาเหตุที่ต้องลดเพดานบินครั้งนั้น
เป็นเพราะตลาดที่อยู่อาศัยราคาแพงเริ่มอิ่มตัว ตลาดของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นเป้าหมายใหม่ของรังสรรค์และผู้ประกอบการคนอื่น
ๆ
รังสรรค์ เตรียมที่ดินไว้ 3 ทำเลเพื่อทำโครงการที่ว่านั้น คือ บนถนนรัตนาธิเบศร์
ประมาณ 80 ไร่ บนถนนรัชดาภิเษก ซอยอาภาภิรมย์ อีก 29 ไร่ และที่ถนนจรัญสนิทวงศ์
ซอย 95/1 ประมาณ 10 ไร่
โครงการที่มีความเป็นได้ มีการขายและการก่อสร้างคืบหน้ามากที่สุด ก่อนเกิดปัญหาส่วนตัวในเรื่องคดีก็คือ
โครงการบ้านฉัตรเพชรบางพลัด หรือชื่อใหม่ที่เปลี่ยนว่า โครงการ "บ้านสวนฉัตร"
ในขณะที่ที่ดินอีก 2 ทำเลที่เหลือขายต่อไปให้เสี่ยประทีป ตั้งมติธรรม แห่งค่ายศุภาลัย
เรียบร้อยแล้ว เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการเงินทางหนึ่ง
"บ้านสวนฉัตรบางพลัด" เป็นคอนโดฯ สูง 5 - 9 ชั้น 17 อาคาร ตามแผนงานมีการสร้างและขายไปก่อนในเฟสแรกประมาณ
10 อาคาร
จากการสำรวจของผู้จัดการรายเดือน เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2539 พบว่า โครงการนี้ดูราวกับว่าถูกทิ้งร้างเสียแล้ว
สภาพที่เห็นในวันนั้นสร้างความหวาดหวั่นให้กับผู้ที่ซื้อโครงการยิ่งนัก เพราะอาคารทั้งหมด
10 หลังส่วนใหญ่ได้มีการสร้างโครงการไว้แค่ชั้น 3 มีเพียงอาคารเดียวที่ถูกสร้างไปถึงชั้น
5 แต่เมื่อมองไปรอบ ๆ ก็จะไม่ปรากฏคนงานก่อสร้างเลย หญ้าก็เริ่มขึ้นรกรุงรังปกคลุมตัวโครงการ
เดินย้อนกลับมาที่ปากซอย 95/1 เจอออฟฟิศชั่วคราวของบริษัท ซึ่งเป็นตึกแถว
2 ชั้น มองเข้าไปเห็นรูปแบบโมเดลวางอยู่แต่มีเพียงเด็กผู้หญิง 2 คนเฝ้าออฟฟิศ
สอบถามได้ความว่า โครงการหยุดการก่อสร้างมาหลายเดือน และตัวออฟฟิศตรงนี้ปิดมานานแล้ว
ป้ายโครงการหน้าปากซอยก็ถูกถอนออกแล้วเช่นกัน
เมื่อปี 2537 พวงเพ็ญ วิบูลสวัสดิ์ ผู้บริหารของบริษัท เคยให้ความเห็นกับสื่อมวลชนว่า
โครกงารนี้ควรสร้างให้เสร็จโดยเร็ว มิเช่นนั้น จะทำให้ชื่อเสียงของรังสรรค์เสียหายเพิ่มขึ้น
และยังเป็นการยืนยันไปในตัวว่า แม้ไม่มีรังสรรค์โครงการก็สามารถเดินหน้าได้
ตลอดเวลาในปีนั้นจึงได้มีการจัดปาร์ตี้ และการฉายสไลด์ให้ลูกค้าดูตลอดเวลาเพื่อสร้างความมั่นใจว่าโครงการเดินหน้าต่อแน่นอน
บ้านสวนฉัตรเริ่มชะลอการก่อสร้างเมื่อมีปัญหากับผู้รับเหมาครั้งที่ 2 เมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี
2538 ถึงแม้ตัวโครงการน้ำไม่ท่วมแต่บริเวณใกล้เคียงน้ำท่วมหมด และล่าสุดเมื่อมีข่าวว่าจะโดนเวนคืน
"มันมีกฎหมายประกาศเวนคืนมาทับที่ของเรา ตอนนี้ไปตรวจสอบกับกรมโยธาฯ
แล้ว ให้เขาตอบกลับมาว่า ไม่โดนที่ของเราแน่ เมื่อไม่โดนเราก็สร้างต่อ ซึ่งตอนนี้ก็เลยหยุดก่อสร้างไปหลายเดือนเพราะเรื่องนี้
แนวเวนคืนเริ่มจากถนนพระราม 7 ลงมา ที่รองนายกฯ สมัคร ประกาศว่าตรงนี้ต้องทำถนน
เลยมีแนวเวนคืน 2 ข้างทางรถไฟออกไปข้างละ 100 ม. กลายเป็นแนวเวนคืน 250 เมตร
ตอนนี้ต้องให้กรมโยธาฯ บันทึกออกมาให้เราว่าไม่โดนแน่ ๆ นะ" รังสรรค์ชี้แจงกับ
"ผู้จัดการรายเดือน" แล้วเล่าต่อว่า
"ตอนนี้เราสร้างไปแล้ว 60 - 70% ก็ต้องหยุดไปก่อน ไม่รู้จะทำอย่างไร
แต่จะอย่างไรก็ตามสมมติว่าเกิดสร้างไปแล้วมันต้องเวนคืนมันก็ต้องเวนคืน แต่ตอนนี้ไม่โดนด้วยวาจาแต่ก็ต้องขอเอกสารให้ชัดเจนว่าไม่โดนแน่นะไม่โดนแล้ว
ผมสร้างต่อนะ ตามแผนถ้าโดนก็โดนหมดไม่เหลือเลยซัก 1 ตร.ม."
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน"
ฟังว่า มีลูกค้าทำหนังสือร้องเรียนมาทางสำนักงานฯ หลายรายเหมือนกัน และได้เรียกเจ้าของโครงการมาชี้แจงแล้ว
แต่ทางเจ้าของโครงการก็อ้างว่ารอหนังสือจากกรมโยธาฯ ก่อน
ในส่วนของบริษัทเอง ขณะนี้ก็ได้ทำหนังสือเวียนชี้แจงลูกค้าที่บางรายทนไม่ไหวอยากขอเงินคืน
"ตามสัญญาก็ระบุไว้ว่า ถ้าโครกงารไม่ได้สร้างเราก็ต้องคืนเงิน แต่ถ้ามีเงื่อนไขต่าง
ๆ ของการเวนคืนเข้ามาอย่างนี้ ทำให้สร้างไม่ได้ เราก็ถือว่าไม่ผิดสัญญา แต่อย่างไรผมไม่ให้ลูกค้าเดือดร้อนแน่"
รังสรรค์ยืนยัน ในขณะเดียวกันทุกวันนี้โครงการก็ยังไม่ได้หยุดขาย