วันนี้…รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ยังเป็นคนเดิมที่พูดจาเสียงดังฟังชัด นิ้วนางข้าวซ้ายยังมีประกายเพชรวูบวาบเหมือนเคย
และยังวาดฝันทำโครงการที่อยู่อาศัยครั้งใหญ่ ธุรกิจที่ลูกค้าต้องการความศรัทธาต่อเจ้าของโครงการเหลือเกิน
รังสรรค์ จะสร้างมันใหม่ ได้ไหม ? อย่างไร ?
ภายหลังจากการเกิดปัญหาเรื่องคดีพัวพันกับการจ้างวานฆ่าประมาณ ชันซื่อ ประธานศาลฏีกา
เมื่อต้นปี 2536 รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ประธานกรรมการบริษัทสาธรยูนิค เคยประกาศว่าจะขอล้างมือจากวงการอสังหาริมทรัพย์ด้วยความท้อแท้ต่อปัญหาที่เกิดขึ้น
แต่ในที่สุดวันนี้ รังสรรค์จำต้องใส่สูทหิ้วกระเป๋าเอกสารโบเขื่องเดินเข้าออกศูนย์บัญชาการใหญ่ย่านสยามสแควร์เช่นเดิม
การกลับมาของเขาจึงอาจจะมีเหตุผลสำคัญ 2 เรื่อง คือ 1. เขาจำเป็นจะต้องสานต่อในโครงการต่าง
ๆ เหล่านั้น และ 2. เขาต้องการพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่า นักพัฒนาที่ดินอาชีพนั้นจะสามารถฟันฝ่าอุปสรรคต่าง
ๆ ที่กระทบต่อการทำธุรกิจได้หรือไม่ ?
"เรื่องที่ผ่านมา ผมไม่ได้มองว่าเป็นปัญหาอะไรมากนัก เราเคยเริ่มจากศูนย์ให้เป็นบวกได้
เพราะฉะนั้นในขณะนี้มันจะเป็นจุดไหนก็แล้วแต่ มันก็ยังไม่ต่ำกว่าศูนย์ เราก็ยังสร้างได้อยู่ดี
ผมเชื่อว่าให้เวลาหน่อยทุกอย่างจะดีขึ้น ผลงานและเสถียรภาพของงานบวกกับความตั้งใจและประสบการณ์
จะผลักดันให้ทุกอย่างดีขึ้น"
เป็นคำพูดที่ตอกย้ำความตั้งใจของเขา พร้อม ๆ กับประกาศเปิดตัวอีก 4 โครงการต้องใช้เงินลงทุนอีกไม่ต่ำกว่า
8,000 ล้านบาท ระบบ "ไทม์แชริ่ง คอนโดมิเนียม" คือ กลยุทธ์การขายของ
4 โครงการที่รังสรรค์งัดออกมาใช้แข่งขันการขายกับกลุ่มอื่น ๆ เป็นการเปิดตัวโครงการครั้งใหญ่ที่กล้าสวนกระแสภาวะเศรษฐกิจและท้าทายความคิดของอีกหลาย
ๆ คน
ดูเหมือนว่า รังสรรค์จะมั่นใจในตัวเองและแนวความคิดใหม่เป็นที่สุด ไทม์
แชริ่งในความคิดของรังสรรค์ก็คือ การเอาระบบของคอนโดมิเนียม โรงแรม และไทม์แชริ่งมารวมกัน
เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด
ที่มาของความคิดนี้เกิดขึ้นได้ เพราะต้องการแก้ปัญหาเรื่องค่าทรัพย์ส่วนกลางในระบบคอนโดมิเนียมที่เจ้าของห้องชุดจะต้องจ่ายทุกคนทุกเดือน
ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่ในคอนโดฯ นั้น ๆ ก็ตาม ซึ่งในคอนโดฯ ตากอากาศอาจจะต้องจ่ายกันเดือนละ
3,000 - 20,000 บาท แม้ลูกค้าจะเห็นถึงความจำเป็นในเรื่องนี้ เพราะถ้าไม่จ่ายเงินก็เท่ากับทำให้คอนโดฯ
เสื่อมโทรม ขาดเงินว่าจ้างคนดูแลบำรุงรักษา แต่ทำอย่างไรที่ไม่ต้องให้ลูกค้าเสียเงินส่วนนี้
หรือเสียให้น้อยที่สุด คือ ปัญหาที่น่าจะมีทางออก
รังสรรค์ เล่าว่า ในคอนโดตระกูล "บีช" คือ ซิลเวอร์บีช พาร์คบีช
และสกายบีชที่พัทยาของเขานั้น พบว่า วันเสาร์-อาทิตย์ จะมีคนมาพักเพียง 20%
- 30% เท่านั้น และจะมีห้องว่างอยู่โดยตลอดประมาณ 70% - 80%
ตรงจุดนี้เองก็เลยมีความคิดว่า น่าจะเอาห้องที่ว่างตรงนี้มาใช้ประโยชน์
รายได้ส่วนหนึ่งเอามาเสียค่าทรัพย์ส่วนกลางให้นิติบุคคลอาคารชุดจัดการตามกฎหมาย
ส่วนหนึ่งเป็นค่าว่าจ้างบริษัทที่บริหารโรงแรมใหญ่ ๆ เพื่อเป็นผู้ดูแลรักษาห้อง
ในขณะเดียวกันก็หาที่สร้างโครงการใหม่ ๆ เพื่อให้โอกาสลูกค้าได้แลกเปลี่ยนไปพักได้อีก
4 - 5 แห่ง
ผลดีที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ 1. ลูกค้าสามารถที่จะซื้อโครงการได้ในราคาเดิมที่เคยซื้อ
และได้กรรมสิทธิ์ของห้องตามระบบคอนโดมิเนียม 2. ไม่ต้องเสียค่าทรัพย์ส่วนกลาง
แต่มีรายได้ส่วนหนึ่งที่มาว่าจ้างคนจัดการดูแลรักษาห้องชุด เช่นเดียวกับระบบโรงแรม
3. ได้ไปพักผ่อนที่อื่นได้ด้วยระบบของไทม์แชริ่ง
ความฝันของรังสรรค์ได้พรั่งพรูต่อไปอีกมากว่า ขณะนี้เขาเตรียมโครงการไว้ทั้งหมด
4 สถานที่ด้วยกัน คือ
โครงการแรก เริ่มที่ "กรีนวู้ดการ์เด้นท์ ตั้งอยู่ที่จังหวัดสระบุรี
เนื้อที่ประมาณ 1,000 ไร่ จะสร้างเป็นคอนโดมินเยมประมาณ 500 ยูนิต เน้นที่จะให้เป็นสวนป่าที่ร่มรื่น
และมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมายสำหรับวันหยุด เช่น กีฬาขี่ม้า จ็อกกิ้ง"
ที่ดินผืนนี้รังสรรค์กว้านซื้อไว้ในช่วงสนามกอล์ฟบูมเมื่อ 5 - 6 ปีที่แล้ว
คราวนี้เขามีความคิดที่จะสร้างเป็นสนามกอล์ฟ แต่เมื่อสนามกอล์ฟเกิดขึ้นมากจนล้นตลาด
โครงการนี้ถูกพับเก็บ มาเปิดใหม่อีกครั้งเป็นโครงการสวนเกษตรไฮเทคฯ แต่ต้องหยุดไปอีกครั้งด้วยสภาพตลาดที่ไม่อำนวยเช่นกัน
จนมาลงตัวเป็นห้องชุดตากอากาศในระบบไทม์แชริ่งดังกล่าว
โครงการที่ 2 "โกลเด้นท์บีช รีสอร์ท" บนหาดน้ำริน อำเภอบ้านฉาง
จังหวัดระยอง เป็นคอนโดฯ ตากอากาศ 35 ชั้น เป็นโครงการที่ชะลอการเปิดมาหลายครั้งหลายคราเช่นกัน
โครงการที่ 3 คือ "ฉัตรเพชรทาวเวอร์" คอนโดมิเนียมพักอาศัยจำนวนกว่า
600 กว่าห้อง สูง 55 ชั้น ตั้งอยู่บนถนนตก กรุงเทพฯ
และ 4 เป็นโครงการคอนโดมิเนียมพักอาศัยอีกเช่นกันที่อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ซึ่งเป็นแหล่งน้ำพุร้อนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย โดยวางแผนไว้ว่า จะดึงน้ำพุร้อนมาอยู่ในสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ยาวประมาณ
60 - 70 เมตร
ทั้ง 3 โครงการนั้น รังสรรค์มีที่ดินและตัวโครงการเดิมที่วางแผนจะทำอยู่แล้ว
แต่ที่เชียงใหม่นั้นเป็นเพียงแนวความคิดและความตั้งใจ ส่วนแปลงที่ดินยังไม่ได้ซื้อ
เพียงแต่ได้มีการพูดจาทาบทามกับณรงค์ วงศ์วรรณ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินไว้แล้ว
"คุณณรงค์ กับอาจารย์รังสรรค์สนิทกันมาก อาจารย์เรียว่าพ่อ คงไม่น่ามีปัญหาในเรื่องที่ดินทำโครงการ"
แหล่งข่าวรายหนึ่งในวงการที่ดินให้ความเห็น
สวนป่า ทะเล ศูนย์ธุรกิจ และบ่อน้ำพุร้อน คือ จุดขายในแต่ละทำเลที่เขาหวังว่า
จะได้รับความสนใจจากลูกค้า ลูกค้าที่ซื้อโครงการใดโครงการหนึ่งจะสามารถหมุนเวียนไปพักอีก
3 โครงการที่เหลือได้ โดยจะเริ่มก่อสร้างและขายที่สระบุรีก่อน ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างและขายที่สระบุรีก่อน
ซึ่งจะใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี หลังจากนั้นโครงการอื่น ๆ จะทยอยเสร็จต่อเนื่องกัน
รังสรรค์ยังฝันต่อว่า คาดว่าเมื่อ 4 แห่งนี้เสร็จ แหล่งที่ 5, 6, 7, 8 คงต้องตามมาเรื่อย
ๆ
นอกจากนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนชั้นกลางได้กรรมสิทธิ์ในระบบนี้มากขึ้น รังสรรค์จึงคิดหาวิธีการซื้อใหม่จากที่
1 ห้องซื้อได้ 1 คน ได้เปลี่ยนไปเป็นมากกว่า 1 คน สูงสุด 36 คนต่อ 1 ห้องเฉลี่ยกันใช้
12 วันต่อปี ซึ่งก็เพียงพอกับคนที่มีรายได้ไม่สูงโดยเสียเงินประมาณคนละ 5
หมื่นบาทผ่อนเดือนละ 2 พันบาทใช้เวลา 2 ปีซึ่งพอดีกับโครงการสร้างเสร็จ ด้วยวิธีนี้เขาคาดหวังว่าทำให้โครงการมีคนพักอาศัยจำนวนมากตลอดเวลา
และในโครงการที่มีจำนวน 200 ห้องแทนที่จะมีเจ้าของเพียง 200 คนก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่านั้น
นี่คือที่มาคอนเซ็ปต์ ซื้อ 1 ได้ถึง 4 โดยผ่อนเพียงเดือนละ 2,000 บาท
มองย้อนกลับไปเมื่อช่วงธุรกิจคอนโดมิเนียมเฟื่องฟู จนล้นตลาดในช่วงปี 2533
- 2534 นั้น นักลงทุนหลายรายจึงพยายามฉีกแนวความคิดใหม่ ๆ เกิดขึ้นเสมอ เพื่อกระตุ้นยอดขาย
และความอยู่รอดของโครงการ เช่น การที่ถาวร ตรีศิริพิศาล เคยพยายามที่จะสร้างระบบไทม์แชริ่งในรูปแบบของคอนโดฯ
เชนมาใช้ ซึ่งลูกค้าสามารถไปพักในโครงการอื่น ๆ ของเจ้าของเดียวได้มาใช้เช่นกัน
แต่ก็ดูเหมือนว่า ในที่สุดแนวความคิดพวกนี้ก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จนักในปัจจุบัน
"คนไทยไม่ค่อยเข้าใจแนวความคิดระบบนี้ รวมทั้งการมีห้องพักของตัวเองแล้วแบ่งให้คนอื่นมาพักด้วยเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยนิยม"
ถาวร ผู้ที่ได้รับฉายาว่าเป็นเจ้าพ่อคอนโดฯ ในช่วงยุคทองของคอนโดให้ความเห็นกับ
"ผู้จัดการรายเดือน"
ปัจจุบัน แนวความคิดในเรื่องคอนโดฯ เชน ของถาวรถูกพับเก็บไปเรียบร้อยแล้ว
เขามีเพียงโครงการคอนโดมิเนียมตากอากาศโครงการเดิม ๆ ที่สร้างขึ้นเมื่อ 3
- 4 ปีก่อนประมาณ 3 - 4 โครงการเท่านั้นที่มีระบบเชนกันอยู่
อุปสรรคในการหวนคืนสู่สนามพัฒนาที่ดินครั้งใหม่ของรังสรรค์ จึงส่อเค้าของความยุ่งยากอยู่บ้างตรงที่เขาต้องมีทีมงานขายที่ชาญฉลาด
เข้าใจถึงข้อดีในระบบดังกล่าว และสามารถชี้แจงให้ลูกค้าเข้าใจและตัดสินใจซื้อได้
รังสรรค์เองก็ยอมรับว่าทีมการขายเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ตัวเขาเองก็ใช้เวลาเป็นเดือน
ๆ กว่าที่จะอธิบายให้ทีมงานเข้าใจทะลุปรุโปร่ง วิธีการที่ดีที่สุดของเขาในขณะนี้ก็คือ
ต้องอาศัยการขายโดยตรงปากต่อปาก ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มแรกก็คือ ลูกค้าเก่า
ๆ ในโครงการคอนโดฯ ตากอากาศตระกูลบีชของเขา ซึ่งคนกลุ่มเหล่านี้จะเข้าใจถึงปัญหาของคอนโดมิเนียม
และจะมีความเชื่อมั่นในตัวเขาระดับหนึ่ง
ประการต่อมาก็คือ เขาต้องเร่งสร้างทีมงานบริหารของบริษัทที่แข็งแกร่งขึ้นมาช่วยโดยเร็วต้องยอมรับว่า
การขายโครงการในระบบไทม์แชริ่งนั้น ต้องอาศัยความเชื่อใจต่อเจ้าของโครงการและตัวบริษัทอย่างมาก
อย่างเช่น ของรังสรรค์เองโครงการเดียวที่อาจจะเป็นรูปเป็นร่างในขณะนี้มากที่สุดก็คือ
โครงการที่สระบุรี ซึ่งกำลังเร่งงานดินและการปลูกสวนป่าในขณะที่อีก 3 โครงการเป็นเพียงโครงการสวยหรูในแผ่นกระดาษที่งานก่อสร้างบางแห่งยังไม่เริ่ม
สิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือ บ้านเราไม่มีกฎหมายของระบบไทม์แชริ่งรองรับ เมื่อเจ้าของโครงการสร้างได้ไม่ครบดังที่สัญญา
หรือไม่สามารถบริหารระบบได้ดีอย่างที่พูดคุยไว ้ การเอาผิดกับเจ้าของโครงการ
ก็ไม่ใช่เรื่องที่สามารถจัดการกันได้ง่าย ๆ
รังสรรค์เองก็เคยมีบทเรียนในเรื่องนี้ โดยถ้ามองย้อนกลับไปในช่วงที่มีปัญหาในเรื่องคดีบริษัทซวดเซอย่างหนัก
แทบจะหยุดทำงานไปเป็นปี มีลูกค้าพยายามโทรศัพท์มาขอเงินคืนตลอดเวลา ซึ่งเนเพราะว่าช่วงที่ผ่านมา
รังสรรค์ทำงานโดยใช้ตัวเองเป็นจุดขาย เมื่อตัวเขามีปัญหา ลูกค้าจึงค่อนข้างหวาดหวั่นสูงกว่าบริษัทที่มีการทำงานเป็นทีม
พวงเพ็ญ วิบูลย์สวัสดิ์ น้องสาวรังสรรค์ ซึ่งเป็นน้องสะใภ้ของปัญญา ควรตระกูลแห่งปัญญากรุ๊ป
คือ บุคคลที่เข้ามาแบกภาระในช่วงนั้น นับว่าเป็นความสามารถของเธอที่ค่อย
ๆ แก้ไขปัญหาไปได้
วันนี้ พวงเพ็ญเป็นเพียงกรรมการท่านหนึ่งในบริษัทสาธรยูนีค เธอคืนอำนาจการบริหารทั้งหมดให้รังสรรค์
โดยขณะที่รังสรรค์มี อมรา สวัสดิ์เสวี เพื่อนของยินดี ผู้เป็นภรรยา เป็นผู้ช่วยที่เดินตามหลังไปไหนมาไหนด้วยในขณะนี้
อมรา ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรองกรรมการผู้จัดการ ดูแลเรื่องการตลาดของบริษัท
สาธรยูนีค จำกัด รับผิดชอบหลักในเรื่องงานขายโครงการต่าง ๆ เธอไม่ใช่คนใหม่ของที่นี่
เพราะเข้ามาร่วมงานกับรังสรรค์เมื่อประมาณปี 2534 โดยดูเรื่องการตลาดของสีลมพรีเซียสก่อนขายให้กลุ่มราศรี
บัวเลิศ และยังไปช่วยงานให้ราศรีอยู่พักหนึ่ง เมื่อรังสรรค์กลับมาเธอก็มาช่วยงานต่อ
วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รังสรรค์ต้องเปลี่ยนสไตล์การทำงานจากที่เคยมีตัวเขาเป็นจุดขาย
เป็นองค์กรนำหน้าแทน
อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยตอกย้ำความเชื่อมั่นของลูกค้าให้คืนกลับมาโดยเร็วก็คือ
การเคลียร์ภาพโครงการเก่าที่ยังค้างคาให้สะอาดหมดจด ซึ่งขณะนี้มีอยู่เพียง
2 โครงการ คือ โครงการสาธรยูนีค และโครงการบ้านสวนฉัตร ส่วนโครงการอื่น ๆ
หลังจากเกิดปัญหาทางคดีนั้น ได้มีการขายโครงการไปแล้วถึง 3 โครงการ คือ 1.
โครงการสีลม พรีเชียส ศูนย์อัญมณีมูลค่านับหมื่นล้านบาทบนถนนสีลม ซึ่งขายไปให้กับกลุ่มของราศรี
บัวเลิศ และได้เปลี่ยนชื่อเป็นโครงการรอยัลเจริญกรุง 2. โครงการบ้านฉัตรเพชร
รัตนาธิเบศร์ และ 3. บ้านฉัตรเพชร รัชดา ซึ่งทั้ง 2 โครงการหลังนี้ได้เริ่มงานขายไปบ้างเล็กน้อย
และได้คืนเงินดาวน์ให้ลูกค้าเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้ขายที่ดินซึ่งเพียงแต่จ่ายเงินดาวน์ไว้ให้กับเสี่ยประทีป
ตั้งมติธรรม แห่งบริษัทศุภาลัยไปแล้ว
ประทีบซื้อที่ดิน 2 แปลงนี้มาเพื่อสร้างโครงการศุภาวิลล์ รัตนาธิเบศร์ และศุภาวิลล์
รัชดาภิเษก เป็นทาวน์เฮาส์และบ้านแฝด และเปิดขายไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
กลยุทธ์ง่าย ๆ เฉือนอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตในครั้งนั้นของรังสรรค์ ทำให้ยังมีเงินพอที่จะวาดฝันในโครงการอื่น
ๆ ดังกล่าว
ส่วนโครงการสาธรยูนีค ซึ่งเป็นคอนโดมิเนียมสูง 47 ชั้น จำนวนกว่า 600 ยูนิคนั้น
เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2533 การก่อสร้างค่อนข้างล่าช้าเพราะมีผลกระทบกับเจ้าของที่ดินใกล้เคียง
ช่วงเกิดปัญหาเรื่องคดีโครงการนี้ก่อสร้างไปเกินกว่า 70% แต่มีลูกค้าส่วนหนึ่งไม่ยอมจ่ายเงินดาวน์ต่อ
"ก็ค่อนข้างมีปัญหาเหมือนกันในโครงการนี้ แต่ผมเองก็ไม่อยากโทษลูกค้า
ระยะแรกผมเลยต้องลงไปคุยกับลูกค้าว่า ถ้าเราเก็บเงินดาวน์ได้ไม่ครบ 40% บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยเม็กซ์
ก็อาจจะไม่จ่ายเงินเงินทุนสนับสนุนเราต่อ ลูกค้าก็ดีเข้าใจเขาเองก็ไม่อยากเห็นโครงการล้ม"
ปัจจุบัน โครงการนี้กำลังก่อสร้างชั้นบนสุดซึ่งเป็นส่วนยอดโดมและคาดว่าจะสามารถโอนให้กับลูกค้าได้ในต้นปีหน้า
เป็นโครงการเดียวที่ทำรายได้ให้กับรังสรรค์เป็นกอบเป็นกำขณะนี้
โครงการบ้านสวนฉัตรที่บางพลัด เป็นโครงการต่อไปที่รังสรรค์ต้องลงไปแก้ปัญหาการก่อสร้างที่ล่าช้า
และลูกค้าไม่ยอมผ่อนดาวน์ต่อ ขณะนี้โครงการนี้อยู่ในระหว่างหยุดการก่อสร้าง
การเร่งสร้างบุคลากรองค์กรให้เข้มแข็ง ประกอบกับโครงการที่ลูกค้าเร่งเร้าเรื่องงานก่อสร้าง
และแบงก์เองก็เร่งรัดในเรื่องของเงินเป็นสภาวะที่คงเหนื่อยไม่น้อยทีเดียว
แม้รังสรรค์พยายามแก้ไขปัญหาของเขาอย่างดีที่สุดแล้ว แต่การเริ่มใหม่จากฐานที่เป็นศูนย์ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่อำนาจสักเท่าไหร่ในตอนนี้
เป็นเรื่องยากกว่าเดิมหลายเท่า
ดังนั้น ยอดขายโครงการใหม่ของรังสรรค์จะเป็นตัวตัดสินว่าวงการนี้พร้อมที่จะยอมรับเขาและจินตนาการของเขาอีกครั้งหรือไม่
?