|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
“แกรมมี่” ยันปิดฉากโอเพ่น เรดิโอ 94 FM สำนักข่าวไทยไทม์ ไม่เกี่ยวกับการเมือง โบ้ยเศรษฐกิจพ่นพิษ ต้องหั่นเนื้อร้ายธุรกิจไม่สร้างรายได้ออกเพื่อรักษากำไรที่ตั้งเป้า 195 ล้านบาท อ้างสารพัดเหตุผล “ไทยไทม์” 5 เดือนขาดทุนยับ พื้นที่โฆษณาน้อย ขาดความชำนาญธุรกิจ จ่อคิว 15 วันปรับรายการสู่สถานีบันเทิง “พิรุณ” ฮึดเล็งหันเอาดีสื่อออนไลน์ ส่วนพนักงาน 50 ชีวิต โยกมือดีเข้า 4 คลื่น ที่เหลือโบกมือลาพร้อมรับเงินชดเชย
หลังจากที่สำนักข่าวไทยไทม์ ที่ทำข่าวป้อนให้กับ โอเพ่นเรดิโอ 94 เมกะเฮิรตซ์ ของกองทัพบก ที่รับสัมปทานโดยกลุ่มบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกาศตัวเป็นสถานีข่าว และออกอากาศมาเป็นเวลา 5 เดือน ได้ประกาศปิดตัวเองลงในสิ้นเดือนพ.ค.นี้ โดยมีกระแสข่าวแพร่สะพัดถึงสาเหตุการปิดสถานีข่าวว่า มีการนำเสนอข่าวไม่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาล วิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ ล่าสุด (วานนี้) 25 พ.ค. 49 แกรมมี่และผู้บริหารของสถานีข่าวได้ออกแถลงข่าวปฏิเสธกระแสข่าวดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหารระดับสูงหรือ นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับทางรัฐบาล
แหล่งข่าวจากผู้ที่ทำงานร่วมกับ โอเพ่น เรดิโอ และ สำนักข่าวไทยไทม์ กล่าวว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ทางโอเพ่นเรดิโอ ยกเลิกสัญญาการรับข่าวจากทางสำนักข่าวไทยไทม์และยุติการเป็นคลื่นข่าว 94 อย่างกะทันหันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเมือง 100% แต่เป็นเรื่องธรรมดาที่ผู้บริหารคงไม่กล้าพูดออกมา อีกทั้งจีเอ็มเอ็มก็รู้อยู่ตั้งแต่แรกแล้วว่า จะต้องขาดทุนแน่นอนในช่วงแรก เพียงแค่ 5 เดือนมาบอกเลิกมันเร็วเกินไป
ก่อนหน้านี้ฝ่ายการเมืองบีบมาตลอด ตั้งแต่ช่วงแรกที่ ทางรัฐบาลต้องการให้นายสมัคร สุนทรเวช เข้ามาจัดรายการที่คลื่นนี้ ซึ่งทางคลื่นได้ปฎิเสธเพราะมองว่า จะทำให้เกิดความไม่เป็นกลาง ซึ่งหลังจากนั้นไทยไทม์ก็ถูกบีบมาตลอด
“ตอนนี้ยังไม่รู้ว่าสำนักข่าวไทยไทม์จะเป็นอย่างไร แม้ว่าเราจะมีช่องทางใหม่คือ เว็บไซต์ก็ตาม แต่แค่นี้คงไม่สามารถเลี้ยงพนักงานที่มีมากกว่า 50 คนได้ เราพยายามที่จะหาผู้ร่วมทุนใหม่หรือหาคลื่นวิทยุคลื่นอื่นเพื่อมารองรับการทำข่าวของเรา ตอนนี้เราเร่งเจรจาหาพันธมิตร คาดว่าต้องสรุปเร็วๆนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงต้องปิดตัวแล้วแยกย้ายกันไป”
บริษัท โอเพ่น เรดิโอ จำกัด มีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ถือหุ้นโดย จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ 80% ส่วนอีก 20% ถือหุ้นโดยกลุ่มบุคคล เพื่อรับสัมปทานคลื่น 94 ส่วนสำนักข่าวไทยไทม์ ตั้งขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบในการผลิตรายากรให้กับโอเพ่นเรดิโอ โดยมีนายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล และเพื่อนๆของนายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ร่วมถือหุ้นด้วย
แกรมมี่บอกปัดไม่ใช่การเมืองบีบ
นางสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือผู้บริหารด้านการตลาดคลื่นวิทยุ 94 FM ได้กล่าวชี้แจงถึงเหตุผลการยกเลิกคลื่นข่าว 94 ในสิ้นเดือน พ.ค. นี้ว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง หรือกรณีการนำเสนอข่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลในแง่ลบ และสร้างความไม่พอใจให้กับภาครัฐ แต่เป็นเพราะคลื่นดังกล่าวประสบกับภาวะขาดทุนมาโดยตลอดช่วง 5 เดือน หรือนับตั้งแต่เปิดสถานีข่าวมาในวันที่ 1 มกราคม 2549
โดยรายได้จากการขายโฆษณา 2 เดือนแรกไม่มีเลย และหลังจากนั้น 3 เดือนมีพื้นที่โฆษณาเพียง 10-20% เท่านั้น ในขณะที่บริษัทฯต้องใช้งบลงทุนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในช่วง 5 เดือน หรือเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน
ทั้งนี้การปิดสถานีข่าวเป็นการปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว เนื่องจากขณะนี้เจ้าของสินค้าหลากหลายประเภทตัดงบโฆษณาลง รายได้จากค่าโฆษณามีน้อยลง ดังนั้นถ้าธุรกิจไหนที่ไม่สร้างรายได้บริษัทฯจึงต้องตัดออก เช่น ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้ขอคืนคลื่น 88 FM ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ โดยจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย .49 เป็นต้นไป และล่าสุดปิดคลื่น 94 FM ทั้งนี้เพื่อรักษากำไรให้ได้เท่ากับปีที่ผ่านมา คือ 195 ล้านบาท จากผลประกอบการการบริหารคลื่นวิทยุ 5 คลื่นกว่า 900 ล้านบาท โดยปัจจุบันแกรมมี่มีคลื่นวิทยุทั้งหมด 4 รายการ ได้แก่ บานาน่า 89 FM,ฮอตเวฟ 91.5 FM,EFM 93.5 และกรีนเวฟ 106.5 FM
การบริหารสถานีข่าวต้องใช้งบลงทุนสูง 2 เท่าตัว เมื่อเทียบกับบริหารคลื่นบันเทิง เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านคอนเทนต์ นอกจากนี้ยังต้องแข่งขันกับสถานีข่าวทางวิทยุซึ่งมีทั้งหมด 9 คลื่น ซึ่งแต่ละคลื่นจะต้องช่วงชิงพื้นที่โฆษณาจากเจ้าของสินค้าที่มีแนวโน้มลดลง ต่อให้เราทำต่อและมีพื้นที่โฆษณาเต็ม หรือได้สัมปทานต่อในปีหน้ารายได้ที่เข้ายังไม่คุ้มกับเงินที่ลงทุนไป ประกอบกับเป็นครั้งแรกของแกรมมี่ที่ทำสถานีข่าว ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจที่ไม่มีความชำนาญ
“ปัญหาใหญ่คือด้านเศรษฐกิจที่เรามองไม่ออกเลยว่าในช่วงครึ่งปีหลังทิศทางจะเป็นอย่างไร เดิมเราคิดว่าการลงทุนบริหารสถานีข่าวน่าจะฟื้นตัวได้เร็ว เศรษฐกิจที่ชะลอตัวหลายบริษัทที่ปรับตัวไม่ทันขยายธุรกิจมากเกินไป ก็อาจจะต้องปิดกิจการ ดังนั้นเมื่อมีเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้องบริษัทต้องตัดสินใจให้เร็วขึ้น เราปรับตัวในครั้งเพื่อพยุงธุรกิจให้เติบโตได้ ซึ่งปัจจุบันในแกรมมี่มีธุรกิจที่ช่วยบาลานซ์รายได้ เช่น ธุรกิจโทรทัศน์ ซึ่งในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมามีอัตราการเติบโต 15%”
ปรับสถานีข่าวสู่สถานีบันเทิง
นางสายทิพย์ กล่าวถึงอนาคตคลื่น 94 FM ว่า ขณะนี้บริษัทฯยังไม่ได้คืนสัมปทานให้กับกรมประชาสัมพันธ์ เนื่องจากได้วางแผนในการบริหารและเป้าหมายเอาไว้ในช่วงครึ่งปีหลังนี้แล้ว ซึ่งบริษัทฯจะปรับเปลี่ยนจากสถานีข่าวสู่สถานีบันเทิง ส่วนจะปรับเป็นรูปแบบรายการใดนั้นไม่สามารถเปิดเผยได้ โดยปัจจุบันไทยไทม์มีพื้นที่เวลาในคลื่น 94 FM 18 ชั่วโมงต่อวัน โดยก่อนจะปรับเปลี่ยนบริษัทฯได้เตรียมล้างคลื่น 15 วัน จากนั้นจะเปิดรายการใหม่ทันที
นายพิรุณ ฉัตรวนิชกุล ผู้อำนวยการสำนักข่าวไทยไทม์ และโปรแกรมไดเร็กเตอร์ รายการโอเพ่น เรดิโอ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ได้วางแนวหันมาเน้นการบริหารงานด้านเว๊บไซต์ข่าว “ไทยไทม์” www.thaitimenews.com” จากปัจจุบันเว๊บไซต์ดังกล่าวมีคนเข้าเยี่ยมชมทั้งคนไทยและต่างประเทศ 1,000 คน อีกทั้งยังได้กล่าวว่า ที่ผ่านมาสถานีข่าวไทยไทม์มีการเสนอข่าวอย่างเป็นกลางมาโดยตลอด โดยมีการเชิญทั้งฝ่ายภาครัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือกระทั่งฝ่ายพันธมิตรฯ ไม่เหมือนสถานีวิทยุฯบางคลื่น พร้อมกันนี้ยังได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า หากมีนายทุนสนใจที่จะเข้ามาร่วมบริหารสถานีก็ยินดี แต่นายทุนที่จะเข้าร่วมจะต้องมีแนวทางที่ชัดเจนและไม่มีปัญหาการเมืองเกี่ยวข้องก็สามารถเข้าร่วมได้
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าจะไม่ปิดบริษัทโอเพ่น เรดิโอ จำกัด เนื่องจากการเปิดบริษัทเป็นเรื่องยาก โดยปัจจุบันไทยไทม์ มีพนักงานทั้งหมด 50 คน แบ่งเป็นฝ่ายการตลาดและทีมข่าว ซึ่งขณะนี้บริษัทได้เตรียมมาตรฐานรองรับไว้อย่างชัดเจน สำหรับพนักงานฝ่ายการตลาดจะโยกเข้าบริษัทแกรมมี่ ส่วนทีมข่าวระดับผู้บริหารจะถูกโยกเข้าคลื่นวิทยุ 4 คลื่น ส่วนที่เหลือบริษัทจะให้เงินชดเชย
|
|
|
|
|