ใครล่ะ จะเป็นทายาททางธุรกิจคนต่อไปที่จะแทนที่แจ็ค ?
นั่นเป็นคำถามที่ยากจะหาคำตอบ
"สหวิริยาจะต้องเดินต่อไปได้ แม้จะไม่มีผม เวลานี้ผมก็มีผู้อำนวยกลุ่มธุรกิจที่มีฝีมือทั้งนั้น"
แจ็คสะท้อนความคิดของเขา
ในช่วงต้นปีทีแล้ว แจ็คได้พยายามสร้าง "ระบบ" ขึ้นมาในสหวิริยาด้วยการปรับแต่งองค์กรใหม่
แบ่งสายธุรกิจออกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ เพื่อสร้างความชัดเจนและถ่ายโอนอำนาจให้กับผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจแต่ละสายเป็นผู้รับผิดชอบไป
แต่การปรับเปลี่ยนในครั้งนั้นแม้จะได้รับผลในเชิงโครงสร้างแต่เอาเข้าจริงแล้ว
ในเชิงปฏิบัติ แจ็คก็ยังต้องเป็นผู้วางแนวทางธุรกิจ การตัดสินใจในเรื่องสำคัญ
ๆ ยังต้องขึ้นอยู่กับเขา
ไม่สำคัญเท่ากับว่า ไม่มีผู้บริหารคนใดที่โดดเด่นเพียงพอที่จะขึ้นแท่นเป็นคนต่อไป
วีระ อิงค์ธเนศ และกนกวิภา วิริยประไพกิจ น่าจะเป็นเพียงสองทายาทที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษมากที่สุด
ไม่ได้เป็นเพียงแค่มือปืนรับจ้าง เพราะเขาและเธอต่างอยู่ในฐานะทายาทของผู้ถือหุ้น
วีระ เป็นน้องต่างมารดาของแจ็ค มิน ชุน ฮู เป็นทายาทคนเล็กของอุดม อิงค์ธเนศ
ในขณะที่กนกวิภา เป็นบุตรสาวคนรองของเสี่ยวิทย์ และเป็นหลานของคุณหญิงประภา
ซึ่เงป็นทายาทเพียงคนเดียวของตระกูลที่เข้ามาในธุรกิจคอมพิวเตอร์
เรียกว่าทั้งสองมีภาษีในเรื่อง "แบ็ค" หนุนหลังไม่แตกต่างกันนัก
วีระนั้นจบการศึกษาทางด้านออกแบบคอมพิวเตอร์มาจากสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบงานธุรกิจซอฟท์แวร์ของไทยซอฟต์มาตลอด
ก่อนจะได้รับการโปรโมตจากแจ็คให้ขึ้นมารับผิดชอบธุรกิจกิจการไอทีเทอร์มินัล
ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของสหวิริยา โอเอ ในขณะที่กนกวิภาจบการศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์และเรียนรู้งานในสหวิริยามาตั้งแต่การเป็นพนักงานขาย
อุปกรณ์ต่อพ่วง จนกระทั่งมาบุกเบิกธุรกิจทางซิสเต็มอินทริเกรชั่น (เอสไอ)
ให้กับสหวิริยา โอเอ ก่อนจะได้รับตำแหน่งผู้อำนวยการของกลุ่มนี้
หากเปรียบหน้าที่การงานแล้ว ภารกิจที่วีระได้รับมอบหมายอาจดูโดดเด่น และหนักอึ้งมากกว่า
เพราะไอทีเทอร์มินัลเป็นกลุ่มธุรกิจดั้งเดิมที่ทำรายได้สูงสุดถึง 50% ให้กับสหวิริยาโอเอ
แม้จะฐานะที่ดี และมีสินค้าที่โดดเด่นในมือหลายตัว แต่ก็ต้องเผชิญความผันผวนที่มาจากการแข่งขัน
และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่ทำให้ผลกำไรลดลงทุกขณะ
ในขณะที่กลุ่มเอสไอที่กนกวิภารับผิดชอบมีขนาดเล็กกว่าแต่ก็เป็นธุรกิจใหม่ที่มีแนวโน้มที่ดี
โดยเฉพาะผลกำไรที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวของวีระนั้น เป็นคนสนุกสนาน ไม่ชอบปัญหาความขัดแย้ง
ทำให้กลายเป็นคนไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เฉียบขาด ผิดกับแจ็ค ผู้เป็นพี่ชายอย่างสิ้นเชิง
"ต้องยอมรับว่า คุณวีระเป็นคนน่ารัก ใจดี คนรอบข้างจะรัก แต่ด้วยนิสัยเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าจะได้ผลที่ดีในการทำธุรกิจ
เพราะเวลาเกิดปัญหาขัดแย้งกันขึ้น คุณวีระจะไม่กล้าตัดสินใจอะไรเลย"
แหล่งข่าวเล่าให้ "ผู้จัดการรายเดือน" ฟัง
แจ็คเองก็ตระหนักถึงจุดเหล่านี้ นอกจากจะมอบหมายให้เหล่าขุนพลทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แล้ว
แจ็คยังต้องติวเข้มน้องชายคนนี้อยู่ตลอดเลา
ในขณะที่กนกวิภา อาจมีภาษีดีกว่าในเรื่องของการเรียนรู้งานด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะความโดดเด่นในการติดต่อกับบรรดา
"ผู้ใหญ่" ที่เป็นลูกค้าสำคัญ ๆ เช่น ธนาคาร ที่กนกวิภาทำได้ดีพอควร
แม้ว่าจะต้องอาศัยแจ็คในการเปิดและปิดการขายกับลูกค้ารายสำคัญ ๆ ทุกครั้งก็ตาม
แต่ความสุขในชีวิตการทำงานของกนกวิภาในวันนี้ไม่ได้อยู่ที่สหวิริยาโอเอเท่านั้น
ในอีกมุมหนึ่งเธอยังมีกิจการขายเสื้อผ้าชั้นดีจากฝรั่งเศส "เทียร์รี่
มูแกลร์" ธุรกิจส่วนตัวที่เธอและพี่สาวได้ร่วมลงขันกันเปิดกิจการนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว
กนกวิภา ยืนยันว่า งานส่วนใหญ่ของเธอยังอยู่ที่สหวิริยามากกว่า 90% เพราะเธอใช้เวลาเพียง
2-3% ในการทำธุรกิจที่ชอบนี้เท่านั้น
เวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ใครจะเป็นทายาทคนต่อไประหว่างวีระ
หรือกนกวิภา หรือดึงมืออาชีพภายนอกเข้ามา ?