|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
*การสร้างแบรนด์ของธุรกิจความงามในแถบเอเชียที่มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็ว…
*ในอดีต...สิงคโปร์ถือว่าเป็นจ้าวตลาดความงาม
*แต่วันนี้...ไทยสามารถก้าวขึ้นแท่นผู้นำเบอร์หนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
*การที่จะรักษาแชมป์ให้อยู่ในมือจึงเป็นเดิมพันทางธุรกิจที่สำคัญ
*หวังผลักดันให้เป็นเมดิคัลฮับแห่งเอเชีย...
10 ปีที่แล้วศูนย์กลางการให้บริการทางการแพทย์ในแถบเอเชียอยู่ที่ สิงคโปร์ แต่ปัจจุบันพฤติกรรมชาวต่างชาติจากเดิมที่เข้าไปใช้บริการในประเทศสิงคโปร์เริ่มเปลี่ยนไป จนทำให้ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมามีชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาใช้บริการด้านความงามในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้น่าจะมาจากปัจจัยรอบด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหรือการให้บริการที่ไม่เหมือนใครของคนไทยบวกกับฝีมือของแพทย์ไทยที่ถูกยอมรับไปทั่วโลกเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพมาตรฐานพอที่ชาวต่างชาติจะไม่ลังเลในการตัดสินใจ
หลังจากที่รัฐบาลสิงคโปร์เริ่มรู้ตัวว่ากำลังสูญเสียตลาดความงามให้กับไทยนั้น มีการปรับตัวเพื่อหวังช่วงชิงตลาดกลับคืนทันที ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษที่ดูแลเกี่ยวกับการส่งเสริมธุรกิจด้านความงามขึ้นมาลงสนามแข่งขันสู้กับประเทศไทย เม็ดเงินจำนวนมหาศาลถูกนำมาใช้ด้านการประชาสัมพันธ์และสนับสนุนให้ทีมแพทย์เดินทางไปดูงานต่างประเทศ จนกระทั่งล่าสุดกรณีที่นำคู่แฝดชาวอิหร่านศรีษะติดกันไปผ่าตัดถึงประเทศสิงคโปร์โดยออกค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด เพียงเพื่อโปรโมทศักยภาพของทีมแพทย์และเครื่องมืออันทันสมัย แต่ผลสุดท้ายความฝันก็ดับลง
ระยะเวลากว่า 5 ปีที่รัฐบาลสิงคโปร์กัดฟันต่อสู้กับประเทศไทยเรื่องธุรกิจความงาม หลังจากนั้นก็มีการประเมินงานซึ่งผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามเป้าและต้องปิดฉากหน่วยงานดังกล่าวลงในที่สุด
แม้ว่าเครื่องมือเทคโนโลยีของสิงคโปร์จะมีมาตรฐานสูสีกับไทย...อีกทั้งทีมแพทย์เองฝีมือก็อยู่ในระดับต้นๆ แต่สิ่งหนึ่งที่สิงคโปร์ยอมแพ้คือ การให้บริการที่ไม่เหมือนใครของคนไทย นั่นเอง และถ้าหากสิงคโปร์จะกลับมาสู้เรื่องการให้บริการจะต้องใช้เวลาถึง 20 ปีทีเดียว เพราะโดยพื้นฐานแล้วการปลูกฝังเรื่องบริการต้องเริ่มจากเด็ก ดังนั้นเหตุผลนี้เองที่ทำให้สิงคโปร์ยอมยกธงขาวให้กับไทย
แผนการที่ถูกวางไว้เพื่อที่จะลงสนามสู้ศึกกับไทยในธุรกิจความงามจึงถูกพับไว้ก่อน...แต่สิงคโปร์กลับไปลงทุนเรื่องของการเทคโอเวอร์ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสอดคล้องกันแทน...ซึ่งเห็นได้จากการเข้าซื้อหุ้นของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์หวังต่อยอดธุรกิจให้แข็งแรงเพื่อผลักดันให้ตัวเองเป็น เมดิคัล ฮับ แห่งเอเชีย
ปรับธุรกิจรับกระแส
ธุรกิจสวยๆงามๆของไทยมีเป้าหมายไปที่คนไทยที่ร่ำรวย ชาวต่างชาติ และนักท่องเที่ยว และเดิมทีอุตสาหกรรมความงามเครื่องมือแพทย์ถูกนำมาใช้น้อยมาก...ลองจินตนาการไปสัก 4-5 ปีที่ผ่านมากลุ่มที่ใช้จะจำกัดอยู่ในวงแคบโดยเฉพาะกลุ่มของเมดิคัล...ซึ่งต่อมาระยะหลังๆแนวโน้มของเทคโนโลยีเปลี่ยนไปรวมทั้งแพทย์เองก็กระโดดเข้ามาในธุรกิจความงามกันมากขึ้น สังเกตได้ว่าในช่วงแรกแพทย์ผิวหนังจะเข้ามาก่อน โดยเฉพาะการรักษาสิว
ขณะที่กลุ่มตลาดความงามทั้งคนไทยและต่างชาติกับให้ความนิยมเพิ่มขึ้นและดูถ้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ...สังเกตได้จากเมื่อสิวหายก็อยากให้ผิวพันธุ์ดูดีเรียบสวย จึงมีการต่อยอดธุรกิจเกิดขึ้นสิ่งนี้เองทำให้แพทย์ผิวหนังเห็นโอกาสช่องทางธุรกิจจึงกระโดดเข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ขณะเดียวกันแพทย์กลุ่มที่สองที่ทำเกี่ยวข้องกับศัลยกรรมตกแต่งก็ตามเข้ามาจนเกิดศูนย์ความงามแบบครบวงจรขึ้นในปัจจุบัน
คนเริ่มรู้คุ้นเคยกับสิ่งที่เกิดขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติ 2.ราคาค่าใช้จ่ายถูกลงและแน่นอนถูกกว่าในต่างประเทศ กอปรกับเมื่อมีธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหยิบนำมาใช้เป็นจุดขายด้วยการออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าพอที่จะออกมาใช้บริการสอดคล้องกับสโลแกน “สวยด้วยแพทย์”เป็นการันตีถึงความปลอดภัยของ รพ.ยันฮี จึงทำให้เป็นแบรนด์ที่รู้จักคุ้นหน้าคุ้นตาของกลุ่มลูกค้า
อาณิสงส์ตกที่เครื่องมือแพทย์
เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนทำให้ตลาดมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นกลุ่มผู้ประกอบการขายเครื่องมือแพทย์จึงไม่ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดไป.....
“ธุรกิจของคนอื่นผมไม่ทราบแต่ที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 46-48 ธุรกิจของบริษัทตัวเลขยอดขายเกี่ยวกับเครื่องมือแพทย์นั้นโตเกือบเท่าตัวทุกปี”อนุวัตร เลิศพิทักษ์สุนทร กรรมการผู้จัดการ ฟิลเทค เอ็นเตอรืไพรส์(1994) จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องมือแพทย์บอกกับผู้จัดการรายสัปดาห์
ขณะเดียวกันเมื่อผู้บริโภคยอมรับและเชื่อมั่นว่าเทคนิคต่างๆปลอดภัยรวมทั้งค่าใช้จ่ายถูกลง...การเข้าทำตลาดของธุรกิจความงามดูง่ายขึ้น จึงไม่แปลกที่จะทำให้ธุรกิจความสวยความงามที่ผ่านมาเป็นธุรกิจบูมมาโดยตลอด
“ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นช่วงที่พีคมากสำหรับธุรกิจทางด้านนี้ถ้าเกี่ยวข้องกับแพทย์นะ”อนุวัตร ออกปากยืนยัน
หากแยกตลาดความสวยความงามด้วยเครื่องมือแพทยสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ 1.ส่วนที่เป็นบุคคลากรแพทย์ 2.ส่วนที่เป็นสปา และ 3.ส่วนที่เป็นร้านเสริมสวยบางแห่ง...
อย่างไรก็ตามยังมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้านความงาม แต่ธุรกิจเครื่องมือแพทย์ยังเจาะตลาดเข้าไปไม่ได้เท่าที่ควรคือตลาดทำรูปร่างให้สวยงาม จนทำให้มีหลายบริษัทเปิดตัวธุรกิจประเภทนี้ออกมาแข่งขันกันอย่างจริงจังที่เห็นๆก็คือ บอดี้เชฟ กับ เมอรี่ฟร๊าน สองยักษ์ใหญ่ที่ออกแคมเปญมาฟาดฟันกันเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาและจนทำให้มีการคาดการณ์กันว่าตลาดธุรกิจความงามโดยเฉพาะทำรูปร่างสวยมีเม็ดเงินสะพัดมูลค่ากว่า 4-5 พันล้านบาท
“ถ้าเป็นเรื่องสวยๆงามๆ งบประมาณบอกได้เลยว่าไม่จำกัด” นี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ตลาดธุรกิจความงามเติบโตและบูมสุดๆ บวกกับฝีมือของแพทย์ที่ทำแล้วได้ผลจริง แถมพ่วงด้วยการให้บริการที่แสนจะประทับใจลูกค้า...ส่งผลให้ธุรกิจความงามของไทยที่จากเดิมเป็นเพียงแค่ลูกค้าขาจรเข้าไปใช้บริการและแปรเปลี่ยนไปเป็นลูกค้าประจำในที่สุด...
กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้กับธุรกิจความงามในปัจจุบันนอกจากรูปแบบที่ทำให้สวยขึ้นแล้วคงจะไม่เพียงพอ เพราะถ้าสวยแล้วต้องให้สวยนานที่สุด ทำให้กลุ่มลูกค้าประเภทนี้จึงต้องกลับมาใช้บริการอยู่ตลอดและต่อเนื่อง
สถานบริการเร่งปรับตัว
การเข้ามาใช้บริการความงามของกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับวันจะมีเพิ่มขึ้นด้วยเทคโนโลยีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ล้ำสมัยจนทำให้ตลาดมีความต้องการในอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่อง แน่นอนศักยภาพของการรองรับตลาดกลุ่มนี้ต้องเกิดขึ้นโดยเฉพาะธุรกิจโรงพยาบาลคือหนึ่งในธุรกิจความงามที่จำเป็นต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับตลาดส่วนนี้เป็นพิเศษ
ภาพการปรับโฉมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจึงมีให้เห็นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการจ้างล่ามหลายภาษาเข้ามาประจำอยู่ในโรงพยาบาล หรือการให้บริการต่อวีซ่ากันถึงภายในโรงพยาบาลเอง และก็มีบางแห่งถึงกับสร้างคอนโดมิเนียมเพื่อไว้บริการญาติผู้ป่วย นอกจากนี้ป้ายประชาสัมพันธ์ภายในโรงพยาบาลบางแห่งยังมีหลากหลายภาษาเพื่อความสะดวกต่อลูกค้าที่เป็นชาวต่างชาติไม่ว่าจะเป็นภาษา ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ และไทย
ความเคลื่อนไหวที่กลุ่มโรงพยาบาลเอกชนเริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้นและสามารถดึงดูดความสนใจนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่กล้าพอจะตัดสินใจเข้ามาใช้บริการทันที และสามอันดับแรกของนักท่องเที่ยวชาวต่างชิติที่เข้ามาใช้บริการคือ 1.ตะวันออกกลาง 2.ยุโรป แถบสแกนดิเนเวียและ 3. สหรัฐอเมริกา
ด้วยศักยภาพความพร้อมด้านเครื่องมือการแพทย์ บวกกับฝีมือของแพทย์ไทยที่มีชื่อกระฉ่อนไปทั่วโลกทั้งสองปัจจัยไม่อาจทำให้สิงคโปร์กระเทือนได้ ยกเว้นเรื่องของหัวใจด้านบริการที่สิงคโปร์ไม่มี และถ้าปัจจัยทั้งหมดถูกนำมารวมกันเพื่อบริหารจัดการในธุรกิจความงามจึงทำให้ไทยสามารถขึ้นมาผงาดเป็นจ้าวตลาดได้โดยไม่ยากนัก
ปัจจุบันในแถบภูมิภาคเอเชียประเทศไทยคือเบอร์หนึ่งในด้านผู้นำเรื่องของธุรกิจความงามไปแล้ว ขณะเดียวกันการเป็นผู้นำทางธุรกิจคือเดิมพันที่ประเทศไทยต้องรักษาไว้ให้นานที่สุดเพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็นเมดิคัลฮับแห่งเอเชีย และแม้ว่าประเทศสิงคโปร์จะยอมถอยในส่วนของธุรกิจความงาม แต่ก็ยังมีประเทศเวียดนามที่คาดว่าเป็นประเทศหนึ่งที่จะก้าวขึ้นมาลงสนามแข่งขันกับประเทศไทย นอกจากปัจจัยที่เหมือนกันแล้วโดยเฉพาะเรื่องของค่าใช้จ่ายที่มีราคาถูก และหากเวียดนามมีการพัฒนาด้านศักยภาพด้านการแพทย์รวมทั้งเครื่องมือให้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นมาเมื่อไร....วันนี้น่าจะเป็นคู่แข่งขันที่น่ากลัวไม่น้อย
.........................................
สวยด้วยเครื่องมือแพทย์...ธุรกิจผูกขาดความงาม
ด้วยข้อจำกัดการทำตลาดของธุรกิจความงาม ที่มีตัวบทกฎหมายข้อบังคับห้ามโฆษณาชวนเชื่อ จึงทำให้ธุรกิจเครื่องมือแพทย์อยู่ในกรอบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น การปรับตัวเพื่อให้ธุรกิจสอดคล้องกันจึงต้องเกิดขึ้น แน่นอนกลยุทธ์ในการทำตลาดจึงไม่ง่ายนักและที่แน่ๆเครื่องมือแพทย์ต้องเจ๋งจริงๆ หากต้องพึ่งพาองค์กรนั้นๆ ด้วยการออกเป็นโบว์ชัวร์ หรือโปสเตอร์ติดภายในองค์กร เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้ทราบถึงข้อมูลว่ามีเทคโนโลยีและใช้ประโยชน์อย่างไรบ้างจึงเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่สถานบริการเหล่านั้นต้องทำขึ้นเอง และในทางกลับกันผู้ประกอบการเครื่องมือแพทย์เองต้องป้อนข้อมูลใหม่ๆให้กับสถาบันที่เป็นลูกค้าด้วยเช่นกัน
ขณะที่ผู้ประกอบการขายเครื่องมือแพทย์เองก็ต้องมีข้อมูลที่ครบถ้วนชัดเจนเพราะกลุ่มลูกค้านั้นเป็นแพทย์ ดังนั้นกรรมวิธีที่ถูกหยิบมาใช้ในการทำตลาดคือ พนักงานขายที่ต้องคอยส่งข้อมูลต่างๆให้กับลูกค้าตลอดเวลา แต่จะใช้พนักงานขายอย่างเดียวก็คงไม่ได้สำหรับธุรกิจนี้ การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์ขึ้นมาอีกกลุ่มหนึ่งเพื่อตอบสนองกระบวนการบริการหลังการขายนั่นเอง
“การไปหาลูกค้าจึงต้องมีคนของบริษัทเข้าไปถึงสองกลุ่มกลุ่มหนึ่งคือพนักงานขาย ส่วนอีกกลุ่มคือผู้เชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ซึ่งทั้งสองกลุ่มต้องทำงานร่วมกัน”อนุวัตร กล่าว
เนื่องจากเทคโนโลยีเครื่องมือแพทย์เปลี่ยนแปลงเร็วมากความสำคัญของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่กลุ่มลูกค้ามีความต้องการเป็นพิเศษโดยเฉพาะแพทย์ที่ประกอบธุรกิจความงามเพราะเครื่องมือที่ใช้จะต้องทันสมัยและอัฟเดทอยู่ตลอด
“การให้ข้อมูลไม่จริงไม่ตรงกับเครื่องมือมีการดัดแปลงข้อมูลก็อาจเสียเครดิตและลูกค้าไปในที่สุด”อนุวัตร กล่าว
กลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้เพื่อสร้างสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างองค์กรและลูกค้า คือการจัดสัมมนาขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าได้รับข้อมูลที่เป็นจริง กอปรกับเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาให้ความรู้กับลูกค้าโดยตรงอีกด้วย
“นี่คือยุทธวิธีที่ทำการตลาดของบริษัทที่มีทั้งก่อนและหลังการขายเครื่องมือแพทย์ออกไป”อนุวัตร กล่าว ขณะเดียวกันเครื่องมือแพทย์ที่นำเข้าจากต่างประเทศต้องได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยและยาของสหรัฐอเมริกาก่อนทุกครั้ง เพราะนั้นหมายถึงการการันตีว่าเครื่องมือแพทย์ชิ้นนั้นจะขายได้อย่างแน่นอน
|
|
|
|
|