ชินคอร์ป หลังไร้ผู้นำรัฐบาลเป็นเจ้าของซวนเซขนาดหนัก ไม่มีหน่วยงานรัฐช่วยเอื้อประโยชน์เหนือคู่แข่ง เอไอเอส กำลังร่อแร่ เลิกแอ็คเซสชาร์จเมื่อไรกระอักแน่ ส่วนไอทีวีไม่แคล้วเดี้ยงตาม หากผลตัดสินแพ้อีกรอบ ส่วนชินแซทกับซีเอส ล็อกอินโฟ รอวันถูกเช็คบิลเป็นรายต่อไป จับตาธุรกิจใหม่ตระกูลชิน จะได้อานิสงส์จากการเอื้อผลประโยชน์ของภาครัฐอีกบานตะไท
หลังการขายหุ้นชินคอร์ป ให้กับเทมาเส็กเรียบร้อยไปตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม เพียงเวลาแค่ 4 เดือน ปรากฏการณ์เลิกอุ้มบริษัทในเครือชินคอร์ป อันประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) ที่ถือในนาม ชิน บรอดแบนด์ ก็เริ่มมีให้เห็น
เพราะเมื่อคนที่ชื่อ ทักษิณ ชินวัตร และวงศ์วานว่านเครือไม่ได้เป็นเจ้าของชินคอร์ปแล้วไซร้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่หน่วยงานของรัฐจะช่วยอุ้มชู--ละเว้น หรือกระทำการใดๆอันเป็นประโยชน์ต่อบริษัทในเครือชินคอร์ปเพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันอีกต่อไป ดูอย่างการเตรียมยกเลิกค่าแอ็คเซสชาร์จของทศท. เป็นต้น
ไม่เพียงเท่านั้นกระบวนการเช็คบิลบริษัทในเครือชินคอร์ปเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม และประเทศก็เข้มข้นขึ้น เริ่มจากการที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่วินิจฉัยเกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้ไอทีวีต้องจ่ายค่าสัมปทานเป็นเงินร่วม 1,000 ล้านบาท จากที่เคยจ่ายเพียง 230 ล้านบาท และต้องปรับสัดส่วนรายการสาระและบันเทิงเป็น 70: 30 ตามเดิม จากปัจจุบันอยู่ในสัดส่วน 50:50 แน่นอนเมื่อผลออกมาเป็นเช่นนี้จึงต้องขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครอง เพราะเชื่อว่าที่ผ่านมาทำตามสัญญา (อ่านรายละเอียดการตัดสินของศาลปกครองได้ที่กรอบ ศาลปกครองตัดสินไอทีวีแพ้)
เลิกแอ็คแซสชาร์จเอไอเอสกระอักแน่
ท่ามกลางภาวะการแข่งขันอย่างรุนแรงของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ จำกัด(มหาชน) หรือเอไอเอส บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือดีแทค และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ ทรูมูฟ เข้มข้นอย่างมากนับตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา และมาแข่งขันกันอย่างหนักหน่วงตั้งแต่ช่วงต้นปี 2549
โปรโมชั่นแคมเปญต่างๆ ถูกงัดออกมาช่วงชิงฐานลูกค้าทั้งเก่าและใหม่กันอย่างสนุกสนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้โทรฟรีแบบไม่อั้นของแต่ละค่าย ได้ผลเกินคาดหมายทั้งสามารถดึงลูกค้าของคู่แข่งขันและสร้างฐานลูกค้าใหม่ที่ยังไม่เคยมีโทรศัพท์มือถือใช้มาก่อน ก็เริ่มที่จะเข้าสู่การเป็นลูกค้ามือถือกันในปีนี้
สีสันการแข่งขันตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมานั้น ต้องยกให้กับดีแทคที่สามารถสร้างปรากฎการณ์ใหม่ออกสู่ตลาดจนทำให้ทั้งเบอร์หนึ่งอย่างเอไอเอสต้องสูญเสียรางวัดไปก็หลายครั้งหลายหน และยังทำให้ทรูมูฟต้องขยับตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วย
อย่างไรก็ตามจุดโฟกัสการช่วงชิงตลาดมักจะเจาะไปที่ฐานของเอไอเอสมากกว่า เนื่องจากเอไอเอสมีฐานลูกค้าที่ใหญ่มากกว่า 16 ล้านราย ยิ่งช่วงที่เอไอเอสมีการเปลี่ยนแปลงจากการขายหุ้นของครอบครัวชินวัตรและมาดามพงศ์ กระแสการต่อต้านการใช้โทรศัพท์มือถือยี่ห้อเอไอเอสเหมือนคลื่นใต้น้ำที่ปะทุอยู่มากจนถึงทุกวันนี้ และกลายเป็นจุดอ่อนอย่างหนึ่งที่ถูกคู่แข่งขันนำมาเป็นประเด็นและออกแคมเปญโปรโมชั่นมาดึงลูกค้าเอไอเอสไปได้นับล้านราย
ยิ่งดีแทคมีการปรับเปลี่ยนเรื่องของโครงสร้างผู้ถือหุ้น หลังจากตระกูลเบญจรงคกุลตัดสินขายกิจการให้กับกลุ่มเทเลนอร์ ส่งผลให้ฐานะทางการเงินของดีแทคเข้มแข็งขึ้นอย่างมาก จนกลายจะกล่าวได้ว่าไม่มีความเสียเปรียบอำนาจเงินของเอไอเอสอีกต่อไป เนื่องจากเทเลนอร์ประกาศชัดเจนแล้วว่าพร้อมที่จะทุ่มเงินมหาศาลมาสู่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย เพื่อแย่งตลาดนี้จากเอไอเอสให้ได้
เมื่อเรื่องของความเสียเปรียบทางด้านการเงินหมดไป การขายกิจการของเอไอเอสสู่เทมาเล็ก และการพ้นจากอำนาจทางการเมืองของทักษิณ ชินวัตร ทั้งหมดทำให้คู่แข่งขันคนสำคัญอย่างดีแทค หรือแม้แต่ทรูมูฟ พร้อมที่จะเดินหน้ารุกตลาดมือถืออย่างหนัก
จุดเสียเปรียบที่ดีแทคและทรูมูฟ มีต่อเอไอเอสนั้น ยังมีเรื่องของค่าเชื่อมวงจร หรือแอ็คแซสชาร์จ 200 ต่อหมายเลขที่ดีแทคและทรูมูฟจะต้องจ่ายให้กับทีโอที ตามสัญญาที่ได้ทำไว้ตั้งแต่เริ่มต้นให้บริการ เนื่องจากการได้มาของสัมปทานดีแทคและทรูมูฟนั้นอยู่ภายใต้การสื่อสารแห่งประเทศไทย ซึ่งในช่วงเวลานั้นการสื่อสารแห่งประเทศไทยไม่มีเลขหมายภายในประเทศ จึงต้องดำเนินการผ่านทีโอที
การยอมจ่ายค่าแอ็คแซสชาร์จ 200 บาทต่อหมายเลขนั้น เนื่องจากดีแทคมองว่าหากผลักภาระส่วนนี้ไปให้กับผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ย่อมไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอส จึงรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้เอาไว้เอง และเป็นเหตุผลสำคัญที่ดีแทคไม่สามารถแข่งขันกับเอไอเอสได้อย่างเต็มที่
ที่ผ่านมาตระกูลเบญจรงคกุล ได้มีการขอแก้ไขจุดเสียเปรียบตรงนี้อย่างต่อเนื่อง แต่เหมือนกับคลื่นที่กระทบฝั่ง ที่มักจะเงียบหายไป ยิ่งเมื่อทักษิณ ชินวัตร ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อ 5 ปีที่แล้ว การแก้ไขสัญญาสัมปทานยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลเลย
“เราไม่สามารถสู้กับคนที่มีอำนาจทางการเมืองได้” เป็นคำกล่าวของบุญชัย เบญจรงคกุล อดีตประธานกรรมการบริหารดีแทค ในวันที่ตระกูลเบญจรงคกุล ตัดสินใจขายกิจการให้กับกลุ่มเทเลนอร์
แต่เมื่อไร้เงาทักษิณ ทั้งในกลุ่มชินคอร์ปและการเมือง การขอยกเลิกแอ็คแซสชาร์จจากทั้งดีแทคและทรูมูฟ จึงมีความเป็นได้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างการทำงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ถูกจับตามองกับการพิจารณายกเลิกสัญญาสัมปทานที่ไม่เป็นธรรมนี้มาก
ที่สำคัญช่วงนี้มีการหยิบยกเรื่องของการกำหนดอัตราค่าเชื่อมโครงข่าย หรือไอซี (อินเตอร์คอนเนกชั่น ชาร์จ) และมีแนวโน้มว่าจะให้มีผลบังคับใช้ในปีนี้ ย่อมเป็นอีกจุดหนึ่งที่สามารถทำให้การพิจารณาเรื่องของแอ็คแซ็สชาร์จมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากหากมีการใช้อินเตอร์คอนเนกชั่นชาร์จ การที่ดีแทคและทรูมูฟจะต้องเสียค่าแอ็คแซ็สชาร์จ ถือว่าเป็นเรื่องที่ทับซ้อนอย่างแน่นอน ซึ่งน่าที่จะนำไปสู่การแก้ไขในที่สุด
ก่อนหน้านี้ศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) กล่าวว่าหากมีการประกาศใช้ไอซี กทช.ไม่ควรให้มีการจัดเก็บค่าแอ็คแซ็สชาร์จ เพราะอาจจะทำให้เหมือนมีมาตรฐานที่ทับซ้อนกัน มีความเหลื่อมล้ำไม่ชัดเจน
ทั้งนี้ศุภชัย ได้มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายไปศึกษาผลกระทบและรูปแบบการจัดเก็บจากร่างประกาศกิจจานุเบกษา ที่กทช.ได้ประกาศใช้ ก่อนที่จะเสนอตัวเลขหรือการเจรจาถึงปัญหาเรื่องค่าแอ็คแซ็สชาร์จกับทีโอทีและกทช.
หากมีการยกเลิกค่าแอ็คแซ็สชาร์จ เชื่อแน่ว่าย่อมมีผลต่อรูปแบบการแข่งขันในวงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของประเทศไทยอย่างแน่นอน เนื่องจากทั้งดีแทคและทรูมูฟ ไม่มีภาระอันหนักอึ้งอยู่บนหลังอีกต่อไป การขับเคลื่อนธุรกิจแบบเต็มกำลังจะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และมีผลกระทบต่อเอไอเอสแบบหนักหน่วงแน่นอน
ITV ทีวีเสรีในแบบของไอ
เป็นเรื่องปกติในเส้นทางแห่งการครอบครองอำนาจ สร้างอิทธิพล สถานีโทรทัศน์ คือเป้าหมายหลักที่ผู้มุ่งหวังอำนาจจะต้องยึดครอง เพื่อสร้างกองบัญชาการหลักยึดครองมวลชนในยุคแห่งการสื่อสาร เพียงแต่ทักษิณ ชินวัตร ไม่ได้ใช้รถถัง หรือกองกำลังติดอาวุธ บุกเข้ายึดสถานีเหมือนการปฏิวัติ รัฐประหารครั้งใด ๆ หากเป็นการใช้ พวกพ้องบริวาร เงิน และช่องว่างทางกฎหมาย ช่วงชิงสถานีโทรทัศน์แห่งประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย ทีวีเสรี ระบบยู เอช เอฟ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องเสรีภาพสื่อซึ่งถูกปิดกั้นจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 แปลงสภาพกลายเป็นสื่อสนับสนุนกิจการพรรคการเมือง และรัฐบาลแห่งพรรคไทยรักไทย โดยหารายได้เลี้ยงสถานีจากการผลิตรายการบันเทิงไม่ต่างจากสถานีโทรทัศน์ทั่วไป และที่สำคัญยังสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ถือหุ้นด้วยมูลค่าหุ้นที่พุ่งสูงขึ้นจากการสร้างภาพความเคลื่อนไหวของสถานี
การเข้าครอบครองสถานีโทรทัศน์ของกลุ่มชินวัตร หากมองว่าเป็นการเปลี่ยนมือทางธุรกิจที่เจ้าของเดิมไม่สามารถบริหารงานต่อไปได้ ก็เปลี่ยนมือสู่เจ้าของใหม่ที่อาจมีฝีมือในการบริหารงานมากกว่า ยึดรูปแบบคล้ายสถานบันเทิงย่านรัชดา กรณีไอทีวี ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก หากแต่เงื่อนไขจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งเกิดขึ้นคาบเกี่ยวระหว่างรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน และรัฐบาลนายชวน หลีกภัย นั้นบัญญัติเป็นกฎหมายพระราชบัญญัติ ที่จะให้สถานีนี้เป็นสถานีสาระข่าวสารที่ครบถ้วน ถูกต้อง รวดเร็ว ทันเหตุการณ์ เป็นกลางและเป็นธรรม อันจะเป็นทางเลือกในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารและรายการที่มีคุณค่าให้แก่ประชาชน คำนึงถึงสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และมีการกระจายข่าวสารอย่างทั่วถึง เพื่อประโยชน์ของรัฐ สังคม และประชาชน
โดยบังคับให้นำเสนอรายการสาระ 70% และรายการบันเทิง 30% ของเวลาออกอากาศทั้งหมด พร้อมตั้งเงื่อนไขป้องกันการผูกขาดโดยให้ผู้ยื่นบริหารสถานีต้องเป็นกลุ่มที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 10 บริษัท และแต่ละบริษัทถือหุ้นได้ไม่เกินรายละ 10% นั้น สร้างความน่าแปลกใจอย่างยิ่งว่า ชินคอร์ปฯ ใช้ช่วงเวลาแห่งการเถลิงอำนาจของทักษิณ ชินวัตร ลบกฎหมายเปลี่ยนจุดยืนของไอทีวีจากหน้ามือเป็นหลังมือได้อย่างไม่น่าเชื่อ
เส้นทางของทีวีเสรีไอทีวี ที่เดินมาเข้าทางบริษัทสื่อสารยักษ์ใหญ่ เหมือนจะเป็นเส้นทางที่มีใครตั้งใจจะขีดไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับคนกลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่ถ้าบอกว่าใครคนนั้น คือนายโอฬาร ไชยประวัติ อดีตผู้บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ แกนนำในการประมูลทีวีเสรี เมื่อปี 2538 ก็เป็นเรื่องน่าแปลกใจขึ้นไปอีกที่บุคคลผู้นี้ต่อมามีตำแหน่งทั้งเป็นกรรมการ ในบริษัทชินคอร์ป กรรมการ ในการบินไทย และกรรมการ ในการแปรรูป กฟผ. นโยบายสำคัญของรัฐบาลทักษิณ
เวลานั้น ธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นแกนนำกลุ่มสยามทีวี แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เสนอเงินตอบแทนสัมปทานทีวีเสรีให้กับรัฐบาล จำนวน 25,200 ล้านบาท จนได้รับสัมปทานมาดำเนินการ สร้างความฉงนให้กับคู่แข่ง ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ และเจ้าของสื่อรายอื่น ๆ ที่เห็นว่า จำนวนผลตอบแทนมหาศาลนั้น ไม่สามารถจ่ายได้ หากต้องผลิตรายการตามเงื่อนไขกำหนดที่มุ่งเน้นรายการข่าว และสาระ เป็นหลัก
และในที่สุดก็เป็นดังที่หลายฝ่ายคาดไว้ หลังการบริหารไอทีวีได้เพียง 4 ปี ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจปล่อยมือจากธุรกิจสถานีโทรทัศน์ ด้วยเหตุไม่สามารถรับภาระขาดทุนต่อไป ก็ให้บังเอิญที่ชินคอร์ป คือผู้เสนอตัวเข้ามาบริหารต่อ โดยซื้อหุ้นสามัญจำนวน 106,250,000 หุ้น ในราคาหุ้นละ 10.6573 บาท จากธนาคารไทยพาณิชย์ และผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่น ๆ พลิกสภาพกลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เพียงรายเดียวของทีวีเสรีไอทีวีทันที
ปฏิบัติการปั่นหุ้นเสรี
ชินคอร์ป ครอบครองไอทีวีเบ็ดเสร็จในปลายปี 2544 และเริ่มดำเนินการหาประโยชน์จากหุ้นไอทีวีเป็นลำดับแรก โดยการเปลี่ยนแปลงมูลค่าหุ้นจาก 10 บาท เหลือ 5 บาทต่อหุ้น ทำให้หุ้นของไอทีวีเพิ่มขึ้นทันทีเป็น 1,200 ล้านหุ้น เป็นหุ้นที่ชำระแล้วจำนวน 850 ล้านหุ้น ข้ามมาถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2545 จึงมีการเสนอขายหุ้นไอทีวีให้กับประชาชนทั่วไป จำนวน 300 ล้านหุ้น ราคาหุ้นละ 6 บาท จากนั้นได้จดทะเบียนเพิ่มทุนชำระแล้วเป็น 5,750 ล้านบาท ในต้นเดือนมีนาคมปีเดียวกัน จนถึงวันที่ 13 มีนาคม 2545 หุ้นไอทีวี ก็เปิดขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
หุ้นไอทีวี ที่ดูไม่น่าสนใจ มีการเคลื่อนที่ไม่หวือหวา กลับกลายเป็นหุ้นฮอตของตลาดฯ ในช่วงสิ้นปี 2546 เมื่อคณะกรรมการบริษัท ประกาศเพิ่มทุนจดทะเบียน เป็น 7,800 ล้านบาท จัดสรรเป็น 1,560 ล้านหุ้น มูลค่าหุ้นละ 5 บาท โดยออกหุ้นสามัญใหม่อีก 300 ล้านหุ้น เป็นเงิน 1,500 ล้านบาท จัดสรรให้กับ 2 พันธมิตรที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นมือดีในวงการโทรทัศน์ กลุ่มบริษัทกันตนา และนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ ซึ่งเดินเข้ามาร่วมผลิตรายการป้อนให้กับไอทีวีแข่งขันกับช่องอื่น ๆ และเสียงตอบรับก็เป็นไปตามที่ชินคอร์ปคาดการณ์ไว้ หุ้นไอทีวี ขยับจากเลขหลักเดียว พุ่งสูงถึง 32 บาท แม้สุดท้ายทั้งกันตนา และไตรภพ จะล้มดีลนี้ กลับไปยืนอยู่ในตำแหน่งผู้ผลิตรายการ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาที่ผู้บริหารไอทีวีใส่ใจเท่าไรนัก ราคาหุ้นที่ทะยานขึ้นต่างหาก ถึงจะเป็นการขยับขึ้นไปช่วงสั้น ๆ แต่แค่นั้นก็สร้างความร่ำรวยให้กับผู้ถือหุ้นไอทีวีหลายต่อหลายคน
แปลงทีวีเสรี เป็นทีวีธุรกิจ
ชินคอร์ป ยังไม่หยุดที่จะใช้ไอทีวี เป็นเครื่องมือสร้างรายได้ โดยไม่ใส่ใจต่อวัตถุประสงค์การตั้งสถานีต่อไป ช่วงปี 2547 ไอทีวี ร้องต่ออนุญาโตตุลาการ ขอแก้ไขสัญญาสัมปทานที่ต้องผลิตการสาระ 70% และรายการบันเทิง 30% ให้เหลือ 50/50 และขอลดค่าสัมปทานที่ต้องจ่ายให้กับรัฐปีละ 800 – 1,000 ล้านบาท เหลือเพียง 230 ล้านบาท โดยอ้างเหตุว่า สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) เจ้าของสัมปทานไอทีวี ละเมิดสัญญาสัมปทานที่ปล่อยให้ โทรทัศน์ช่อง 11 และยูบีซี เคเบิลทีวี มีโฆษณาได้ เนื่องจากจะทำให้ไอทีวี เสียรายได้ ซึ่งอนุญาโตตุลาการก็ตัดสินเห็นตามที่ไอทีวีร้อง
ไอทีวีจึงกลายเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อการทำธุรกิจโดยสมบูรณ์ ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
อย่างไรก็ตาม กรณีการแก้ไขสัญญาไอทีวีที่เหยียบย่ำเจตนารมณ์การก่อตั้งสถานีก็ยังถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์ จนส่งผลให้ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้เสียประโยชน์โดยตรง ต้องฝืนลุกออกมาฟ้องร้องต่อศาลปกครอง แม้จะรู้สึกตะขิดตะขวงใจบ้างที่บริษัทซึ่งตนฟ้องร้องนั้น คือธุรกิจของเจ้านายตนเอง จนในวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากชินคอร์ปเพลิดเพลินกับผลประกอบการของไอทีวีที่กลับมาเห็นกำไรได้ 2 ปี พร้อมราคาหุ้นที่เคลื่อนอยู่เหนือราคาพาร์ในระดับ 10 – 12 บาท ศาลปกครองก็มีมติยกเลิกคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ ส่งผลให้ไอทีวี ต้องกลับแปรสภาพกลายเป็นโทรทัศน์ที่เน้นรายการข่าวสาร 70% และบันเทิง 30% พร้อมจ่ายค่าสัมปทานให้กับรัฐปีละ 1,000 ล้านบาท รวมถึงต้องคืนเงินสัมปทานที่ค้างชำระใน 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมดอกเบี้ย และเงินค่าปรับในการปรับผังรายการวันละ 10% สร้างความยินดีให้กับผู้ที่เคยร่วมเรียกร้องทีวีเสรีมายาวนาน หุ้นไอทีวี ดิ่งลงมาอยู่ระดับ 4 – 5 บาทในปัจจุบัน
สปน.อุ้มสุดตัว ปรับหมื่นจ่ายแค่ร้อยชินคอร์ปฯ ไม่ยอมแพ้
รองพล เจริญพันธุ์ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ฝ่ายเลขานุการ สปน.ได้สรุปมูลค่าที่ไอทีวีค้างชำระ สปน. ประกอบด้วย ค่าสัมปทานปี 2547 ค้างชำระ 570 ล้านบาท และปี 2548 ค้างชำระ 670 ล้านบาท รวม 1,240 ล้านบาท ซึ่งจะต้องบวกดอกเบี้ย 15% และค่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ค้างชำระ รวมทั้งสิ้น 1,709,749,314 บาท ส่วนค่าปรับจากการที่ไอทีวีปรับผังรายการ 10% ต่อวัน ได้รับแจ้งว่าเป็นมูลค่านับหมื่นล้านบาทนั้น เชื่อว่าเป็นการคำนวนที่ไม่ถูกต้อง โดยจำนวนควรจะอยู่ราว 700-800 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินค่าสัมปทานแล้ว ราว 2,000 ล้านบาท ก็เชื่อว่าไอทีวีจะสามารถจ่ายได้
น่าแปลกใจที่ถึงวันนี้ แม้ชินคอร์ปฯ จะกอบโกยกำไรจากราคาหุ้นไอทีวีมาตลอด 5 ปี จนกระทั่งขายธุรกิจให้กับกลุ่มทุนสิงคโปร์ เทมาเส็ก ไปแล้ว แต่ผู้บริหารอย่าง นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด(มหาชน) ก็ยังคงหวังที่จะให้ไอทีวียังคงเป็นสถานีโทรทัศน์ที่เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจเหมือนเดิม โดยตัดพ้อผ่านสื่อมวลชนว่า การทำธุรกิจต้องแข่งขัน ต้องมีรายการที่ดี ต้องมีรายการที่พอสมควร ถ้าเทียบค่าสัมปทานของไอทีวี เทียบกับคู่แข่งไม่ได้เลย โอกาสการแข่งขันของไอทีวี จะน้อยลง เป็นความเสียเปรียบของไอทีวีในโลกของการแข่งขันวันนี้
แต่ ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กลับแสดงความเห็นว่า ชินคอร์ปพยายามสร้างภาพไอทีวี เพื่อหวังผลในการปั่นราคาหุ้นไอทีวีเท่านั้น มิได้มีความคิดจะบริหารไอทีวีให้เป็นทีวีเสรีอย่างแท้จริง การสร้างข่าวดึงผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง เช่น ไตรภพ ลิมปะพัทธ์ หรือกลุ่มกันตนา ก็เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างราคาหุ้น รวมถึงการปรับผังราคาที่อ้างว่าประชาชนไม่ต้องการบริโภคข่าว หันไปเพิ่มสัดส่วนรายการบันเทิง ก็เพื่อสร้างผลกำไรทางธุรกิจเท่านั้น
“พฤติกรรมนี้ถือเป็นเรื่องปกติในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะทำเรื่องอะไรก็ได้ จะบิดเบี้ยวเจตนารมณ์อย่างไรก็ได้ แม้ผลการวินิจฉัยของศาลปกครองจะออกมาเช่นนี้ ก็เชื่อว่าเรื่องนี้จะยังไม่จบ หากพรรคไทยรักไทยยังคงเป็นรัฐบาล ทางชินคอร์ปก็จะยื้อทุกอย่าง เพื่อไม่ให้ไอทีวี แม้ปัจจุบันอยู่ในความครอบครองของเทมาเส็ก ต้องกลับมาเป็นทีวีเสรีตามเจตนารมณ์เมื่อครั้งก่อตั้งแน่นอน”
เอสซี แอสเสท สบายใจไร้กังวล
แม้จะเป็นบริษัทในตระกูลชินวัตร แต่ด้วยความที่ เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือเอสซี ไม่ได้อยู่ภายใต้ปีกของชินคอร์ป จึงไม่ได้รับความกระทบกระเทือนในการดำเนินธุรกิจเหมือนเอไอเอส หรือไอทีวี มิหนำซ้ำกลับมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นซะอีก ดังจะเห็นได้จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2549 พบว่า บริษัทมียอดขายโครงการที่พักอาศัยกว่า 600 ล้านบาท สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2548 ถึง 200% บริษัทมีรายได้รวม 426 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับรายได้ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้โครงสร้างรายได้หลักมาจาก 2 ส่วนธุรกิจ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 โครงการพัฒนาที่พักอาศัย จำนวน 234 ล้านบาท และส่วนของอาคารสำนักงานให้เช่า จำนวน 185 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 55 และ 45 ของรายได้รวมตามลำดับ
นี่คือธุรกิจใหม่ที่ยังเป็นของตระกูลชินวัตร จึงต้องได้รับการทะนุถนอมเป็นพิเศษ ต่างจากบริษัทในชินคอร์ปที่เป็นของเทมาเส็กไปแล้ว จึงเป็นเรื่องของเจ้าของใหม่ที่ต้องไปแก้ปัญหา และต่อสู้กันกันเอาเอง โดยปราศจากตัวช่วยทางการเมือง
เมื่อราวกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตผู้ถือหุ้น และผู้บริหารชินคอร์ป เพิ่งเปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการหลังเข้ามานั่งตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทเอสซีฯ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549 แทนตำแหน่งของบุษบา ดามาพงศ์
งานแรกที่ยิ่งลักษณ์เข้ามาทำก็คือ การรีแบรนดิ้ง ปรับภาพขององค์กรเสียใหม่ ซึ่งเธอไม่ได้บอกถึงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องปรับภาพลักษณ์ โดยบอกเพียงว่า ต้องมีการปรับแบรนด์ใหม่ แต่ยังไม่สามารถบอกได้ในตอนนี้ เพราะยังต้องรอผลการทำวิจัยก่อนว่าประชาชนมองเอสซีฯว่าอย่างไร
แต่กระนั้นคนในวงการหลายคนก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า การทำเช่นนั้นก็เพื่อจะลบภาพการพัวพันกับการเมืองออกไป เพราะตลาดหลักของเอสซีฯอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ภาพเก่าๆหายไปโดยเร็ว เนื่องจากเอสซีฯยังมีแผนที่จะเข้ามารุกตลาดอสังหาริมทรัพย์อีกมากมาย
นับจากนี้ไปให้มองต่อไปว่ารัฐบาลจะมีมาตรการอะไรใหม่ๆออกมา เพื่อเอื้อหรือกระตุ้นให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สามารถเติบโตได้ ซึ่งอาจไม่ใช่แค่ธุรกิจบ้านจัดสรร และคอนโดมิเนียมอย่างเดียวเท่านั้น จับตาไว้ให้ดี
ชินแซท คิวเชือดรายต่อไป
บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL มีผลประกอบการไตรมาสแรกของปี 2549 มีรายได้รวมจำนวน 1,970 ล้านบาท และขาดทุนสุทธิ 58 ล้านบาท ซึ่งการขาดทุนนั้นเป็นเรื่องปกติของธุรกิจดาวเทียมที่ต้องหักค่าเสื่อมฯ ไปกับค่าเสื่อมราคาดาวเทียมไอพีสตาร์และดอกเบี้ยจ่าย ก่อนที่ธุรกิจมีผลกำไรและรับรู้รายได้ภายในอนาคต
ส่วนรายได้ในไตรมาสแรกของชินแซทนั้น มีรายได้จากการให้บริการวงจรดาวเทียมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องรวม 1,153 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่เพิ่มขึ้น 52.7 % เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากดาวเทียมไอพีสตาร์ 508 ล้านบาท หลังจากยิงสู่วงโคจรเมื่อเดือนสิงหาคม 2548
นอกจากนั้น ชินแซทฯ ยังมีรายได้จากธุรกิจโทรศัพท์ในประเทศลาวและกัมพูชาเพิ่มขึ้น 26.5 % และรายได้จากบริการอินเทอร์เน็ตของบริษัท ลาวเทเลคอมและกัมพูชาชินวัตรเพิ่มขึ้น 42 % ขณะที่กลุ่มซีเอส ล็อกซอินโฟ จำกัด (มหาชน) มีรายได้ 25 ล้านบาท
การขาดทุนในผลประกอบการของ ชินแซทฯ ณ วันนี้ คงไม่ใช่ปัญหาและอุปสรรคในการทำธุรกิจ เพราะ การทำธุรกิจของชินแซทฯยังมีโอกาสที่คุ้มต้นทุนได้อย่างแน่นอน โดยธนทิต เจริญจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการส่วนงานการเงินและบัญชี บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SATTEL กล่าวไว้ว่า
"คาดว่าไทยคม จะสร้างรายได้ให้คุ้มต้นทุนได้โดยเร็ว นั่นเป็นเพราะว่าดาวเทียมไทยคม 5 ที่บริษัทจะยิงขึ้นสู่วงโคจรปลายเดือนพฤษภาคมนี้ มีต้นทุนเพียง 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และจ่ายค่าสัมปทานปีละ 7 ล้านดอลลาร์เท่านั้น"
ทว่า ยังมีเหตุผลอื่นๆที่เกื้อหนุนทำให้ ชินแซทฯ ดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นใจ เพราะว่าในช่วง 5 ปีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีนั้น ได้มีการแก้กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจโทรคมนาคม ซึ่งเป็นการกระทำที่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของครอบครัว โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้บริษัทชินแซทมากกว่า 16,000 ล้านบาท รวมถึงธนาคารนำเข้าและส่งออกของรัฐต้องเข้าไปค้ำประกันสินเชื่อที่รัฐบาลพม่าซื้อบริการดาวเทียมของบริษัทชินแซท 4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการเมืองที่กำลังร้อนระอุและยังไม่มีบทสรุปอยู่ในขณะนี้ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่จะกำหนดชี้ชะตาของ ชินแซทฯ ด้วยเช่นกัน
จากนี้ไป อนาคตของ ชินแซทฯ จะเป็นไปในทิศทางไหน ความชัดเจนจะปรากฏขึ้น ก็ต่อเมื่อหลังการเลือกตั้งที่กำลังเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ซึ่งหากภาพของรัฐบาลชุดใหม่ที่เกิดขึ้น ปราศจากร่างเงาของพ.ต.ท.ทักษิณ ทักษิณ ชินแซท ก็คงตกที่นั่งลำบาก เพราะจะไม่มีรัฐบาลสนับสนุนคอยชงข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆ ที่เกื้อหนุนให้กับธุรกิจมีความได้เปรียบได้อีกต่อไป
****************
ศาลปกครองตัดสินไอทีวีแพ้
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีระหว่างสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (ผู้ร้อง) ผู้ร้องกับบริษัทไอทีวี จำกัด (มหาชน) ผู้คัดค้านในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ที่ให้สปน.ต้องจ่ายเงินชดเชยให้แก้ไอทีวีเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท ในกรณีให้ช่อง 11 มีโฆษณา ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนจากปีละ 1,000 ล้านบาท เหลือปีละ 230 ล้านบาท เท่ากับช่อง 7 รวมทั้งให้ออกอากาศรายการบันเทิงในช่วงไพร์มไทม์ (19.00-21.30น.) และลดสัดส่วนรายการข่าวสาร สารคดี และสาระจาก 70 เหลือ 50% ของผังรายการ
คดีนี้ สปน.ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลางว่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 ผู้ร้องกับผู้คัดค้านได้ทำสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการในสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ มีกำหนด 30 ปี
ต่อมาผู้คัดข้นได้มีหนังสือถึงผู้ร้องให้พิจารณาหามาตราเพื่อชดเชยความเสียหายเนื่องจากผู้ร้องให้สัมปทานกับบุคคลอื่นเข้าดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีการโฆษณาได้ ผู้ร้องจึงได้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการประสานงานการดำเนินการตามสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ เพื่อพิจารณา และต่อมาได้ปฏิเสธคำขอของผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงเสนอเรื่องมาให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาด
ในช่วงที่ทักษิณยังครองอำนาจอยู่นั้น แน่นอนว่าคณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดในข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญา ปรับลดเงินรับประกับผลประโยชน์ขั้นต่ำ และให้คืนเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้คัดค้านได้ชำระระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ กับให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศช่วงเวลา 19.00-21.30 น.ได้โดยไม่ต้องถูกจำกัด เฉพาะรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์จากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50
ผู้ร้องเห็นว่าคำชี้ขาดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นคำชี้ขากที่ไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และเกินขอบเขตแห่งข้อตำลงในการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ และการที่จะยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมของประชาชน จึงยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดดังกล่าว โดยมีอยู่ 3 ประเด็นคือ
ประเด็นแรก ข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการตามข้อ 15 ของสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้น ได้บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาหรือข้อตกลงในสัญญาที่คู่กรณีตกลงเสนอข้อพิพากษาทางแพ่งที่เกิดขึ้นแล้วหรือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็ตาม แต่ในขณะที่มีการลงนามในสัญญาเข้าร่วมงาน ยังไม่มีการแบ่งแยกประเภทของสัญญาว่า สัญญาใดเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง
ดังนั้น ไม่ว่าสัญญาที่ทำขึ้นจะเป็นสัญญาทางปกครองหรือไม่ก็ตาม คู่สัญญาอาจตกลงให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในการระงับข้อพิพาทได้ ซึ่งต่อมามาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ได้บัญญัติรับรองให้ใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการในสัญญาทางปกครองได้ นอกจากนั้น ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามไม่ให้รัฐทำสัญญากับเอกชน โดยมีข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทตามสัญญาโดยวิธีการอนญาโตตุลาการ จึงเห็นว่าข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการดังกล่าวมีผลใช้บังคับได้ ข้ออ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่สอง ผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 เป็นสัญญาซึ่งรัฐยอมให้เอกชนเข้ามาแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติด้านคลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุโทรทัศน์โดยมีค่าตอบแทนให้แก่รัฐเพื่อจัดทำบริการด้านสาธารณะด้านการสื่อสารวิทยุโทรทัศน์ สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง ซึ่งการยื่นฟ้องร้องคดีจะต้องยื่นฟ้องภายในหนึ่งปี นับตั้งแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
ดังนั้น การยื่นคำเสนอข้อพิพาทของผู้คัดค้านต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม จึงต้องยื่นภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ
เมื่อการยื่นข้อเรียกร้องของผู้คัดค้านตั้งแต่ต้นเป็นเพียงขั้นตอนการเจรจาของคู่สัญญาโดยไม่ได้มีการตกลงในรายละเอียดให้เป็นที่ยุติแต่ประการใด โดยผู้ร้องก็ยังแจ้งให้ผู้คัดค้านชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาหาข้อยุติต่อไปจึงยังไม่อาจถือว่าเป็นเหตุที่ผู้ร้องจะเสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2543 ผู้ร้องและผู้คัดค้านได้ร่วมประชุมกัน และ ผู้ร้องมีมติปฎิเสธข้อเรียกร้องของผู้คัดค้าน จึงถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่ผู้ร้องรู้ หรือความรู้ถึงเหตุแห่งการเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ การที่ผู้คัดค้านยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานอนุญาโตตุลาการ กระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2545 จึงเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่รู้ หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการเสนข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ผู้ที่ร้องอ้างว่าผู้คัดค้านได้เสนอข้อพิพาทต่อคณะอนุญาโตตุลาการเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น จึงเป็นข้ออ้างที่ไม่อาจรับฟังได้
ประเด็นที่สาม คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักระงับข้อพิพาทสำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2545 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 เป็นคำชี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม ข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 29/2545 ข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 4/2547 ลงวันที่ 30 มกราคม 2547 เป็นคำขี้ขาดที่เกินขอบเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 คณะอนุญาโตตุลาการมีหน้าที่จ้องวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามข้อสัญญา คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะต้องระบุเหตุผลของคำชี้ขาดไว้โดยชัดแจ้ง และจะชี้ขาดเกินของเขตแห่งสัญญาอนุญาโตตุลาการ หรือเกินคำขอของคู่พิพาทมิได้ เมื่อชี้ขาดข้อพิพาทแล้วคู่พิพาทที่ไม่เห็นด้วยกับคำชี้ขาดดังกล่าว ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดนั้นได้ แต่ศาลจะมีอำนาจตรวจสอบและเพิกถอนคำชี้ขาดได้เฉพาะกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ในมาตรา 40 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
สำหรับคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการที่ให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นระหว่างปี 2541-2544 ให้แก่ผู้คัดค้านเป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท เฉพาะกรณีกรมประชาสัมพันธ์ยอมให้สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยช่อง 11 มีการโฆษณานั้นเห็นว่า ผู้คัดค้านได้ทราบเงื่อนไขรายละเอียดแล้วว่าโครงการนี้เป็นโครงการที่จะต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการดำเนินโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ และเป็นผู้มีหนังสือถึงผู้ร้องเพื่อขอให้เปิดการเจรจาเพื่อแก้ไขสัญญา โดยเพิ่มเติมข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาดังกล่าว
ดังนั้น แม้จะได้มีการเสนอร่างสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วก็ตาม แต่เมื่อคู่สัญญาตกลงให้เพิ่มเติมข้อ 5 วรรคสี่ ในสัญญาดังกล่าวซึ่งเป็นการเพิ่มเติมในเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของคู่สัญญารวมทั้งเปลี่ยนแปลงหลักการที่สำคัญในสัญญาเข้าร่วมงาน
กรณีนี้จึงต้องเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในเรื่องนี้ผู้ร้องและผู้คัดค้านยอมรับว่าได้มีการลงนามในสัญญาเข้าร่วมงาน และดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2538 โดยที่ไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนและวิธีการอันเป็นสาระสำคัญดังกล่าว และเชื่อว่าคู่สัญญาได้ลงนามในสัญญาโดยรู้ หรือควรรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวนั้น ข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานจึงไม่มีผลผูกพันคู่สัญญาคณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่อาจอาศัยข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานมีคำชี้ขาดกำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายต่างๆ ให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งรวมถึงความเสียหายในประเด็นนี้ด้วย
ดังนั้น การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้ จึงเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 40 วรรคสาม (2) (ข) แห่งพระราบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 แม้ว่าผู้ร้องจะมิได้ยกเป็นข้อโต้แย้งในชั้นอนุญาโตตุลาการอันเป็นเหตุให้คณะอนุญาโตตุลาการมิได้วินิจฉัยในประเด็นนี้ก็ตาม แต่ศาลสามารถหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เนื่องจากเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย หรือศัลธรรมอันดีของประชาชน
สำหรับคำชี้ขาดให้ปรับลดผลประโยชน์ตอบแทนตามข้อ 5 วรรคหนึ่ง ของสัญญาเข้าร่วมงาน และให้ผู้ร้องคืนเงินค่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ผู้คัดค้านได้ชำระโดยมีเงื่อนไขระหว่างพิจารณาข้อพิพาทนี้ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2546 จำนวน 800 ล้านบาท ให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 570 ล้านบาทนั้นเห็นว่า เมื่อคณะอนุญาโตตุลาการไม่อาจนำข้อ 5 วรรคสี่ของสัญญาเข้าร่วมงานมากำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้านเนื่องจากข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาดังกล่าวไม่มีผลผูกพันคู่สัญญา คณะอนุญาโตตุลาการจึงไม่มีอำนาจชี้ขาดให้ปรับลดเงินผลประโยชน์ตอบแทนที่ผู้คัดค้านต้องชำระให้แก่ผู้ร้องตามข้อ 5 วรรคหนึ่งของสัญญาเข้าร่วมงาน
เนื่องจากเป็นการชี้ขาดที่ขัดกับข้อสัญญาหรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อสัญญา ซึ่งเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของคู่สัญญาที่จะตกลงกันตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น ทั้งนี้ ตามมรตรา 34 วรรคสี่ และมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ดังนั้น คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในประเด็นนี้จึงไม่อยู่ในขอบเขตของสัญญาอนุญาโตตุลาการ และการยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
สำหรับคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชดเชยความเสียหายโดยให้ผู้คัดค้านสามารถออกอากาศในช่วงเวลาไพร์มไทม์ คือช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.30 น.ได้ โดยไม่ต้องถูกจำกัดเฉพาะรายการข่าวจากเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ขงเวลาออกอากาศทั้งหมดเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 50 นั้น เห็นว่า เมื่ออนุญาโตตุลาการไม่อาจนำข้อ 5 วรรคสี่ ของสัญญาเข้าร่วมงานมากำหนดมาตรการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้คัดค้าน
การที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดให้ปรับสัดส่วนการเสนอรายการข่าว สารคดี และสารประโยชน์ลงเหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของเวลาออกอากาศทั้งหมด โดยที่ผู้คัดค้านไม่ได้ร้องขอ จึงเป็นการวินิจฉัยที่ขาดเกินคำขอของผู้คัดค้านและขัดต่อมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 ทั้งยังมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของการจัดทำบริการสาธารณะ เป็นการขัดกับข้อสัญญาและวัตถุประสงค์หลักในการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ดังกล่าวที่ประสงค์จะจัดทำบริการสาธารณะให้ประชาขนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารต่างๆ ไม่ใช่เป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงเช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆทั่วไป
|